เดือนไพรด์แบบนี้ แน่นอนว่า The Noize Team ก็มาพร้อมกับลิสต์หนังและซีรีส์ LGBTQIAN+ ที่คุณไม่ควรพลาดมาฝากกันเป็นประจำ หลังจากปี 2021 ที่คัดลิสต์ผลงานที่อยู่บนสตรีมมิ่งมาฝากคุณแล้ว อย่างใน ‘รวมลิสต์หนังและซีรีส์ LGBTQIAN+ ที่คุณไม่ควรพลาด‘ นั่นเอง
สำหรับปี 2022 พวกเราก็ได้รวบรวมหนังและซีรีส์ LGBTQIAN+ ดีๆ ที่คุณอาจจะไม่เคยได้รับชม หรือไม่ค่อยคุ้นหูมาฝากกัน จากทีมเขียนหลากหลาย ที่คุณอาจจะคุ้นชื่อหรือไม่คุ้นชื่อ แต่ก็สามารถติดตามผลงานของพวกเขาได้เลย แล้วในปีนี้จะมีเรื่องไหนกันบ้าง ก็ต้องห้ามพลาด รีบตามมาดูกันเลย
Summerland (2020)
เมื่อความเจ็บปวดจากอดีตทำให้เธอโดดเดี่ยว
และในบางความทรงจำยังคงตรึงตราอยู่ที่ใจ
Summerland หนัง Sapphic สุดงดงาม เล่าถึงนักเขียนสาวชาวอังกฤษ Alice Lamb (รับบทโดย Gemma Arterton) ที่มีปมฝังใจ ทำให้เธอกลายเป็นคนแปลกแยก ไม่เป็นมิตร เธอถูกบังคับให้ต้องดูแลผู้ลี้ภัยจากลอนดอนอย่าง Frank (รับบทโดย Lucas Bond) เด็กชายผู้ร่าเริงที่ไม่รู้ว่าชะตากรรมของพ่อแม่เขาจะเป็นเช่นไรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ ทว่าการพากันค้นหาความจริงของการปรากฏขึ้นอย่าง ‘summerland’ กลับทำให้ทั้งคู่ค่อยๆ เติมเต็มสิ่งที่ขาดหายของชีวิตให้กันและกัน อีกทั้งอดีตของอลิซจะค่อยๆ เปิดเผยอย่างละเมียดละไม ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคม และอดีตแฟนสาว Vera (รับบทโดย Gugu Mbatha-Raw) ที่ยังคงตรึงอยู่ในใจแม้เวลาจะล่วงเลยไปไกลแล้วก็ตาม
สิ่งที่ประทับใจคือภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามตั้งคำถามกับคนดูถึงตำนาน ความเชื่อต่างๆที่มีทั้งที่มา ที่ไป ซึ่งหากลองพินิจให้ดีคงจะเห็นว่าความเชื่อเหล่านั้นคือการปิดกั้นความเป็นปัจเจก ความหลากหลายของมนุษย์ด้วยกันเองทั้งนั้น อลิซก็คือหนึ่งในคนที่ถูกสภาพสังคมหล่อหลอมให้เธอต้องจำยอม ใช้ชีวิตด้วยความกลัวจนได้สร้างกำแพงกั้นระหว่างเธอและผู้คนเอาไว้ แต่เมื่อดูจบ คุณจะรู้สึกได้ถึงการถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ การถูกโอบกอดด้วยความรัก และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องงดงามตรึงตราอยู่ใจเสมอมา
LOEV (2015)
โดย plustard
LOEV หนังเกย์จากประเทศอินเดียเรื่องนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์คนที่ต้องการความรักหวานฉ่ำ เพราะแม้เรื่องราวจะย่อยง่าย แต่ก็มีประเด็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างจะซับซ้อนไปกว่าเรื่องทั่วๆ ไประหว่างซาฮิล ไจและอเล็กซ์ ทั้งความสัมพันธ์ของเพื่อนตั้งแต่วัยเด็กที่ก็เหมือนจะไม่ใช่เพื่อนและความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักเกย์ที่ต้องออกแรงประคองกันอยู่พอสมควร แต่ด้วยแนวคิดของผู้กำกับที่บอกว่าภาพยนตร์ไม่ได้ผูกติดอยู่กับเรื่องการเมือง แต่ตัวเรื่องกลับเชื่อมโยงความเป็นเกย์ในอินเดียกับระบอบการเมืองแบบจัดหนักจัดเต็ม ก็ทำให้รู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ควรค่าแค่รับชมได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
Anaïs in Love (2021)
โดย sharphorn
หากใครกำลังมองหาหนังแซฟฟิกดีๆ แต่เบื่อโทรปเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวพีเรียด, Bury your gay, รักต้องห้ามในสังคมที่เกลียดกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยังไม่นับภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องที่สร้างมาเพื่อขายฉากเซ็กซ์ชวนอึดอัดอีก Anaïs in Love (2021) ภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดีจากฝรั่งเศสเรื่องนี้อาจเป็นคำตอบที่คุณตามหาอยู่ก็ได้
Anaïs (Anaïs Demoustier) หญิงสาววัย 30 ปี ผู้ไม่เอาการเอางานใดๆ ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบราวกับกลัวว่ากาลเวลาจะตามทัน เธอตกหลุมรักนักเขียนคนหนึ่งผ่านตัวอักษร ซึ่งนักเขียนผู้นั้นก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล หากแต่เป็นคนรักของหนุ่มใหญ่คราวพ่อที่กำลังคบชู้อยู่กับเธอนั่นเอง ภารกิจพิชิตใจสาวนักเขียน ณ เมืองชายทะเลของเธอจึงเริ่มขึ้น!
หากเปรียบ Anaïs in Love เป็น The Worst Person in The World เวอร์ชันเฟรนช์+แซฟฟิก ก็คงไม่แปลกนัก ต่อให้ Anaïs จะก่อเรื่องแค่ไหนแต่เราที่เป็นคนดูกลับไม่ตัดสินการกระทำของเธอเลย สุดท้ายแล้วไม่ว่า Anaïs จะสมหวังกับรักครั้งนี้หรือไม่ เชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะชวนให้ผู้ชมยกยิ้มทุกครั้งที่นึกถึง
Anne+: The Film (2021)
โดย Kinder Joy
หลังจากฉบับซีรีส์ในปี 2018 ได้การตอบรับจากผู้ชมในในประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นอย่างดี ในช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา Anne+ กลับมาในรูปแบบของภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า “Anne+ : The Film” ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวหลังจากที่ Sara แฟนของเธอย้ายไปทำงานที่แคนาดา ทั้งสองพยายามที่จะประคับประคองความสัมพันธ์ระยะไกลนี้ แต่ก็เหมือนจะมีเรื่องที่ทำให้ทั้งคู่ไม่สามารถพูดคุยได้เหมือนก่อน ทางด้านตัว Anne เองก็กำลังวุ่นอยู่กับการเขียนหนังสือเล่มแรกของเธอ ตัวละครในหนังสือที่เธอเขียนยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน อะไรคือสิ่งตัวละครต้องการจะบอก ซึ่งก็เหมือนชีวิตของ Anne ตอนนี้ที่ดูจะติดๆ ขัดๆ ไปเสียหมด จนวันหนึ่งเธอได้ไปพบกับ Non-binary drag king ชื่อว่า Lou ที่จะพาเธอไปค้นพบมุมมองใหม่ๆ ในชีวิต
Anne+: The Film ยังคงมาตรฐานที่เคยทำไว้ในฉบับซีรีส์ได้เป็นอย่างดี แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่ามี Anne+ ฉบับซีรีส์มาก่อน ซึ่งต้องบอกว่าแนะนำให้ดูฉบับซีรีส์ก่อน เพื่ออรรถรสในการรับชมอย่างเต็มที่ เนื่องจากฉบับภาพยนตร์จะไม่เล่าย้อนความสัมพันธ์ของตัวละครให้เราเลย และความสัมพันธ์ของ Anne นั้นเป็นส่วนสำคัญมากของซีรีส์ชุดนี้ เพราะชื่อเรื่อง “Anne+” มีที่มาจาก Anne “plus” someone in her life. ใครกำลังตามหาซีรีส์ที่บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ดีๆ และถ่ายทอดความ Queer ออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ Anne+ คือซีรีส์ที่คุณไม่สามารถข้ามไปได้เลย สามารถรับชมซีซั่น 1 ได้ทาง YouTube ซีซัน 2 ทาง Channel 4 และ Anne+: The Film ทาง Netflix
I am Jonas (2018)
โดย plustard
I am Jonas ภาพยนตร์ coming of age สัญชาติฝรั่งเศสที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงนี้ ว่าด้วยเรื่องของเด็กชายวัยมัธยมคนหนึ่งที่เข้ากับเพื่อนไม่ได้อย่างโจนาส แต่แล้วก็มีเด็กหนุ่มเข้าใหม่กลางเทอมที่พร้อมจะเป็นเพื่อนกับเขาอย่างเต็มใจ จนความสัมพันธ์ของทั้งคู่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่ท่ามกลางความรักอันหอมหวาน จู่ๆ ก็มีเรื่องหักมุมที่ทำให้คนดูอย่างเราต้องน้ำตาแตกไปตามๆ กัน
ตัวหนังเล่าเรื่องแตกต่างจากหนังทั่วไปเพราะสลับการเล่าเหตุการณ์ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ให้เราได้เห็นทั้งอารมณ์ ความรู้สึก และค่อยๆ ทำความเข้าใจว่าทำไมตัวละครที่ทำหน้าที่ดำเนินเรื่องทั้งหมดอย่างโจนาสถึงเป็นชายหนุ่มที่ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้ขนาดนี้
สามารถรับชมได้ทาง Netflix
Kajillionaire (2020)
จะทำอย่างไร ไม่ให้ “ลัก” แบบผิด ๆ
พบกับ “Kajillionaire” ผลงานกำกับและเขียนบทจาก Miranda July ว่าด้วยเรื่องราวของ Old Dolio (Evan Rachel Wood) หญิงสาวในวัย 26 ปี ที่เติบโตมากับครอบครัวนักต้มตุ๋น ทั้งพ่อและแม่ต่างสอนให้เธอลักเล็กขโมยน้อยเป็นอาชีพ แต่เรื่องราวทุกอย่างกลับเริ่มบานปลาย เมื่อพวกเขาต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเช่าบ้าน จนกระทั่งได้พบกับแนวร่วมหัวขโมยคนใหม่อย่าง Melanie (Gina Rodriguez) เหตุการณ์ไม่คาดฝันและเรื่องราววุ่นๆ จึงเกิดขึ้น ทำให้ Old Dolio ที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร้หัวจิตหัวใจ ได้สัมผัสและรู้จักกับคำว่า “รัก” อย่างแท้จริง
เมื่อพูดถึงหนัง LGBTQIAN+ หลายคนอาจมองข้ามเรื่องนี้ไป ด้วยเพราะประเด็นหลักของมัน คือการบอกเล่าถึงปัญหาครอบครัว ฉายให้เห็นถึงปลายทางผลผลิตของคนชายขอบ ที่ถูกสังคมผลักออกจากกรอบตรงกลาง คล้ายเป็นการตั้งคำถามถึงบทบาทของพ่อ แม่ และสังคม ว่าเด็กคนหนึ่งจะเติบโตมาอย่างไร ในสภาพแวดล้อมที่บีบบังคับให้พวกเขาต้องเอาตัวรอด แต่ความงดงามของมัน คือการทำให้เราได้เห็นว่า แม้ Old Dolio จะถูกเลี้ยงดูอย่างไร้ความรัก ความเอาใจใส่ และหล่อหลอมให้เธอเติบโตมาอย่างไร้ความรู้สึก ไร้หัวจิตหัวใจ แต่เนื้อแท้ข้างในนั้นแสนเปราะบางและพร้อมบุบสลาย หากแต่เศษซากผุพังของเธออาจประกอบขึ้นใหม่ได้ ด้วย “รัก” จากใครบางคน
นี่คือหนังที่จะทำให้เราได้ปลดปล่อยทั้งน้ำตาและหัวใจ เยียวยาทุกบาดแผลและโอบกอดเราไว้ ไปพร้อมๆ กัน
Handsome Devil (2016)
โดย First S.
คนเราไม่จำเป็นต้องชอบเพียงอย่างเดียว
นายอาจจะเป็นทั้งนักรักบี้ และนักดนตรีได้เหมือนกัน
Handsome Devil เป็นหนัง LGBTQIAN+ coming-of-age ของเด็กชายในโรงเรียนประจำที่ประเทศไอร์แลนด์ ที่ชวนให้เรามองเห็นถึงความแตกต่าง และกล้าที่จะยอมรับมัน แม้ว่าคนในสังคมจะไม่เห็นด้วย แต่ถ้ามันไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็เปิดรับมันซะ
เรื่องนี้เล่าเรื่องราวของเด็กสองแบบในโรงเรียนประจำชายล้วน ที่แบบหนึ่งก็คลั่งไคล้กีฬารักบี้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทีมนักกีฬาเอง หรือเป็นกองเชียร์ก็ตาม กับอีกแบบที่ไม่ได้สนใจกีฬาเลย แถมยังโดนบุลลี่อยู่บ่อยๆ เพราะความแตกต่างของเขาเอง ซึ่งเด็กในโรงเรียนแห่งนี้ก็ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เน็ดและคอเนอร์ก็เช่นกัน ทั้งคู่เป็นรูมเมท แถมยังเป็นเด็กหนุ่มทั้งสองแบบข้างต้นอีกด้วย
เน็ด เด็กผมแดงที่ดูอ่อนแอและเหมือนจะเป็นเด็กที่โดนบุลลี่อยู่บ่อยๆ ในโรงเรียน เพียงเพราะว่าเขาไม่สนใจกีฬา ชอบอ่านหนังสือ เล่นดนตรี แต่ทุกคนก็เอาแต่ล้อว่าเขาเป็นเกย์ เพียงเพราะเขาไม่ได้เหมือนเด็กในอื่นๆ ในโรงเรียนแค่เพียงเท่านั้น ต้องมาเป็นรูมเมทกับคอเนอร์ หนุ่มนักกีฬารักบี้ ที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ เพราะเป็นพวกโมโหร้าย ชอบใช้กำลัง ทำให้ต้องย้ายมาเรียนที่นี่แทน
หลายคนอาจจะคิดว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่ในเรื่องนี้มันก็เหมือนคู่เกย์จากเรื่องอื่นรึเปล่า ต้องบอกเลยว่าทั้งความสัมพันธ์ของทั้งสองคนไม่ได้ไดรฟ์ไปในด้านโรแมนติกเลยเป็นหลัก แต่กลับชวนให้เราทบทวนและมองเห็นถึงพัฒนาการในด้านต่างๆ การเปลี่ยนแปลง การปรับตัว การยอมรับคนอื่น ไปจนถึงการยอมรับตัวเองอย่างแท้จริง ถ้าใครอยากที่จะหาหนังอบอุ่นหัวใจ ก็ต้องห้ามพลาดกับเรื่องนี้
สามารถรับชมได้ทาง Netflix
The Half of It (2020)
The Half of it ภาพยนตร์แฝงปรัชญาแนว coming of age บอกเล่าถึง วัยรุ่น 3 คน ได้แก่ ‘พอล’ ที่ดันไปตกหลุมรักสาวสวยคนหนึ่ง ‘เอสเตอร์’ และเขาไม่กล้าแม้แต่จะเข้าไปพูดคุยด้วย จึงจ้าง ‘เอลลี่ ชู’ หญิงสาวชาวเอเชียนักเรียนหัวกะทิที่รับจ้างเขียนเรียงความวิชาปรัชญาให้เพื่อนร่วมห้องอยู่ก่อนแล้ว เพราะขาดแคลนทางการเงินภายในครอบครัว ชู จึงยอมเขียนจดหมายรักเสมือนเป็นสื่อกลางสร้างสะพานรักให้พอลกับเอสเตอร์ แต่แล้วความรักอย่างลับๆ ก็เริ่มต้นขึ้น เพราะชูเองก็สนใจเอสเตอร์เช่นกันในการเขียนจดหมายรักตอบกลับกันและกัน แม้ชูจะเขียนในนามของ พอล ทว่าถ้อยคำที่แลกเปลี่ยนร่วมกันกลับมีบางสิ่งบางอย่างเชื่อมโยงพวกเธอให้ดึงดูดเข้าหากัน จนเส้นแบ่งกั้นเริ่มทลายเปลี่ยนแปรเปลี่ยนเป็นการเปิดใจซึ่งกันระหว่าง ชู และ เอสเตอร์
เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงตำนานว่า “เดิมทีมนุษย์มี 4 แขน 4 ขา 2 หัวติดกัน ก่อนจะถูกพระเจ้าทำให้แยกจากกัน นั่นทำให้มนุษย์ถวิลหาอีกครึ่งหนึ่งที่เคยเป็นคู่ของเราเสมอ” หากมองผิวเผินอาจดูเหมือนการตามหาคนรักเพื่อเติมเต็มชีวิต ทว่าหากมองลึกลงไปอีกคงไม่ได้มีแค่นั้น หนังชี้ชวนให้เห็นถึงชีวิตที่เรากำหนดเอง และหากมันผิดพลพาดก็สามารถที่จะเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้งเหมือนอย่างที่ชู ได้พูดไว้ ““ความรักคือการยินดีที่จะทำลายภาพวาดดีๆ ที่เราวาดขึ้นเพื่อโอกาสที่จะวาดภาพชิ้นใหม่ที่ยอดเยี่ยมกว่าเดิม” ด้วยการเล่าเรื่องไม่หวือหวา แต่บทพูดที่ลุ่มลึก กระทั่งสายตาระหว่างตัวละครเปี่ยมล้นด้วยเสน่ห์ดึงดูดเราตลอดทั้งเรื่อง ถือเป็นภาพยนตร์คุณภาพงามที่ควรค่าแก่การดูถึงที่สุด
Gentleman Jack (2019-2022)
โดย Pinot Noir
ซีรีส์แนวย้อนยุคจากฝั่งอังกฤษที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านไดอารี่ของ “Anne Lister” หญิงชนชั้นสูงผู้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์อังกฤษ ทุกเหตุการณ์ในช่วงชีวิตของเธอถูกบันทึกไว้ในไดอารี่กว่า 4 ล้านคำ และได้นักเขียนฝีมือดีอย่าง Sally Wainwright มาเรียบเรียง และถ่ายทอดให้เข้มข้น ขบขัน และคมคาย ตลอดทั้งเรื่อง
Gentleman Jack นำเสนอชีวิตของหญิงสาวที่มีจิตวิญญาณและลักษณะนิสัยไม่เข้าขนบของผู้หญิงในศตวรรษที่ 18 ด้วยความที่ Anne Lister ชอบเรียนรู้ ชอบเดินทาง ชอบทำธุรกิจ และที่สำคัญเธอรักและชื่นชอบผู้หญิง ทำให้ตลอดชีวิตเธอต้องหลบซ่อนความสัมพันธ์กับผู้หญิงที่เธอคบหาด้วยมาตลอด
ความพิเศษของ Gentleman Jack คือการสะท้อนประสบการณ์จริงระหว่างผู้หญิงสองคนในยุคสมัยที่การรักเพศเดียวกันยังไม่เป็นที่ยอมรับ การถูกตรีตราจากสังคมภายนอกเพียงเพราะตัวตนไม่เป็นไปตามกรอบที่สังคมกำหนดไว้ โดยเรื่องนี้จะชี้ให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิด การเติบโตของตัวละครในเรื่อง ซึ่งสะท้อนประสบการณ์ของการถูกกดทับ และความยากลำบากในแง่มุมต่าง ๆ ของคนในกลุ่ม LGBTQIAN+ ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ซีรีส์ยังได้นำเสนอประเด็นที่เข้มข้น เช่น ครอบครัวที่สร้างบาดแผลให้ลูกหลาน การต่อสู้ทางธุรกิจ การเจรจาต่อรอง การชิงไหวชิงพริบระหว่างนักธุรกิจผู้หญิงและผู้ชาย ในบริบทที่กรอบปิตาธิปไตย และอำนาจของเพศชายเข้มข้นในยุคสมัยนั้น เรียกได้ว่าใครที่ชอบชมซีรีส์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวละครผู้หญิงที่ทั้งเก่ง และกระตือรือร้น มีความเป็นผู้นำ Gentleman Jack จะเป็นตัวเลือกที่ไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน
The Way He Looks (2014)
The Way He Looks ภาพยนตร์อินดี้แนว Coming-of-Age จากประเทศบราซิล ที่ได้ Daniel Ribeiro นั่งแท่นเขียนบทและกำกับด้วยตัวเอง มันถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของ Leonardo (Ghilherme Lobo) เด็กหนุ่มผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นตั้งแต่เกิด ทำให้เขาต้องพบเจอกับอุปสรรคอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากชีวิตประจำวันและในรั้วโรงเรียนเองก็ตาม หากไม่พบเจอกับ Giovana (Tess Amorim) เพื่อนสนิทที่คอยดูแลและช่วยเหลืออยู่เสมอ ชีวิตอันน่าเบื่อหน่ายและไร้สีสันดำเนินไปอย่างปกติ จนกระทั่งเด็กหนุ่มอัธยาศัยดีอย่าง Gabriel (Fabio Audi) ย้ายเข้ามาเป็นเพื่อนร่วมชั้นคนใหม่ ก้าวแรกที่ Gabriel เดินเข้ามา ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่นำพาแสงสว่างมาสู่ชีวิตอันมืดมนและสับสนของ Leonardo ด้วยเช่นกัน
หนังพาเราร่วมสำรวจไปในช่วงวัยแห่งความสับสน ทั้งเรื่องตัวตน เพศ และอนาคตการเรียนของเด็กมัธยมคนหนึ่ง ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เขาต้องเผชิญ ยามถูกผลักให้แปลกแยกและเป็นอื่น เพียงเพราะ “ความแตกต่าง” ของตัวเอง ในขณะเดียวกัน มันก็นำเสนอให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันอบอุ่นของครอบครัว มิตรภาพอันงดงามระหว่างเพื่อน และความรักอันบริสุทธิ์ระหว่างเด็กผู้ชายทั้งสองคน เป็นการย้ำเตือนได้ดีว่าบางสิ่งบางอย่างแม้ไม่อาจมองเห็นด้วยตา ก็ไม่ได้ทำให้เราสูญเสียความรู้สึกที่สัมผัสได้ด้วยหัวใจ
The Way He Looks เป็นหนังที่อบอวลไปด้วยมวลแห่งความสุข ที่เราอยากให้หลายคนได้มาพิสูจน์ ร่วมออกเดินทาง ก้าวข้ามผ่านวัย และปล่อยให้ “แสงสว่าง” นำทางไปด้วยกัน
Genera+ion (2021)
โดย sharphorn
หากเอ่ยถึงซีรีส์วัยรุ่นทางช่อง HBO แล้ว ใครๆ ก็คงนึกถึง Euphoria กันทั้งนั้น น้อยคนนักที่จะรู้จัก Hidden gem อย่าง Genera+ion (2021) ในขณะที่ Euphoria พาผู้ชมไปสำรวจโลกสีเทาเข้มของวัยรุ่น Genera+ion เลือกที่จะพาเราไปสำรวจ เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และโอบอุ้มโลกสีรุ้งของกลุ่มนักเรียนไฮสคูลในรัฐแคลิฟอร์เนีย
ใน Genera+ion นั้นไม่มีตัวละครใดเป็นตัวหลักชัดเจนเพราะแต่ละคาแรคเตอร์ต่างก็โดดเด่น ต้องเผชิญปัญหา และก้าวข้ามอุปสรรคแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างครู-นักเรียน เฟมินิสต์ อาการจิตเวช รวมถึงชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศซึ่งถือเป็นจุดเด่นของซีรีส์เรื่องนี้
Genera+ion ถือเป็นหนึ่งในโชว์ที่มี LGBTQIAN+ representation ที่หลากหลายที่สุดเลยก็ว่าได้ น้อยครั้งที่เราจะได้เห็นตัวละครที่เป็น asexual ผ่านสื่อแบบนี้ นั่นถือว่าเป็นอีกหนึ่งโชว์ที่ทำให้เราเห็นภาพได้ชัดมากยิ่งขึ้น และหลายคาแรคเตอร์ในเรื่องก็รับบทโดยนักแสดง LGBTQIAN+ จริงๆ โดยเฉพาะ Sydney Mae Diaz ทรานส์เจนเดอร์ที่ได้มารับบทเป็น cis gender ในซีรีส์เรื่อง
ถึงแม้ว่า Genera+ion จะถูกแคนเซิลหลังจากสร้างได้เพียง 1 ซีซั่นไปอย่างน่าเสีย แต่เชื่อว่าเพชรสีรุ้งเม็ดงามเรื่องนี้จะอยู่ในลิสต์ซีรีส์แนะนำของทุกคนแน่นอน
DC’s Legends of Tomorrow (2016-2022)
โดย Zugroß
DC’s Legends of Tomorrow ซีรีส์ซุปเปอร์ฮีโร่ในจักรวาล Arrowverse ที่มีจุดกำเนิดจากการรวมกลุ่มซุปเปอร์ฮีโร่เกรดซีนั่งยานย้อนเวลาออกไปแก้ไขเหตุผิดปกติในประวัติศาสตร์ เหตุผลที่ถูกเลือกขึ้นยานนั้นสุดจะดราม่าคือเป็นพวกที่ไม่มีความสำคัญต่อไทม์ไลน์ ฟังดูแล้วอาจเป็นซีรีส์แอคชั่นจริงจัง แต่เปล่าเลย เพราะเรื่องนี้เน้นความตลก แฟนตาซี และกาวสุดเหวี่ยง ดูได้จากตัวละครที่โผล่มาในทั้ง 7 ซีซั่น เช่น ยูนิคอร์นกินหัวใจมนุษย์ กอริลล่ายักษ์ลักพาตัวโอบาม่า ตุ๊กตาขนฟูสีฟ้าต่อสู้กับปีศาจโบราณ (Praise Beebo!)
แม้ว่าเหล่าเลเจนด์ (ใช่แล้ว พวกเขาเรียกตัวเองแบบนี้) อาจไม่ใช่ซุปเปอร์ฮีโร่ต้นแบบ ไม่เคยดำเนินตามแผนการที่วางไว้และกลับสร้างหายนะกว่าเดิมในบางครั้ง แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นและเป็นหัวใจของซีรีส์เรื่องนี้คือ ‘การยอมรับในความแตกต่างของแต่ละคน‘ ทั้งในเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา เพศ เป้าหมายในชีวิต ทุกคนล้วนมีความสำคัญและได้เล่าเรื่องของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการถูกมองเป็นผู้ก่อการร้ายของชาวมุสลิม การถือศีลอด การไม่ดื่มแอลกอฮอลล์ การให้คนผิวดำพูดถึงการใช้แรงงานทาสเองโดยไม่ต้องผ่านมุมมองของคนผิวขาว การมีซุปเปอร์ฮีโร่สูงวัยชาวยิว และที่สำคัญซีรีส์เรื่องนี้สนับสนุน LGBTQIAN+ อย่างแท้จริง ด้วยการมีกัปตันร่วมของยานเป็นคู่แซฟฟิค ไบเซ็กชวลและเลสเบี้ยน ที่เป็นคู่ชีวิตด้วยเพราะพวกเขาแต่งงานกันแล้ว (เย้!) นอกจากนี้ยังมีตัวละครไบเซ็กชวล เกย์ชาย แพนเซ็กชวลที่เป็นนอนไบนารี่ และน้องใหม่ล่าสุดคือ อะเซ็กชวลที่เพิ่งคัมเอาท์ไปเมื่อซีซั่น 7
ท่ามกลางความวุ่นวายของโลกชีวิตจริง อยากเชิญให้ทุกคนลองมาสัมผัสความกาวแฝงสาระ และอ้อมกอดแสนอบอุ่น ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นคนชายขอบของสังคมหรือมนุษย์สุดห่วยแค่ไหน แต่ครอบครัวเลเจนด์พร้อมโอบรับทุกคนอย่างจริงใจ ร่วมติดตามแก๊งที่บอกว่า “We screw things up for the better” แก๊งนี้ได้ทาง Netflix และ HBO GO
Her Story (2016)
โดย First S.
TW: Transphobic
หากคุณเคยสงสัยว่า แท้จริงแล้ว ทรานส์วูแมนสามารถเป็นแซฟฟิคหรือเป็นคนกลุ่มหญิงรักหญิงได้หรือไม่ อ่านบทความ L with the T แล้วก็ยังสงสัยอยู่ว่ามันจะมีปัญหาแบบนั้นจริงๆ หรือ ที่ทรานส์วูแมนยังโดนเหยียดจากกลุ่มเลสเบี้ยนอยู่ Her Story จะมาเผยเรื่องราวในส่วนนี้ให้คุณเห็นกัน และทำความเข้าใจว่า ในกลุ่มของเลสเบี้ยนเอง ก็ยังมีการกีดกันกลุ่มคนข้ามเพศอยู่ดี
Her Story (2016) เรื่องราวของทรานส์เจนเดอร์สองคนในโลกที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว กับการเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ที่แม้กระทั่งคนในคอมมูนิตี้ LGBTQIAN+ ที่ยังคงกีดกันคนในกลุ่มนี้กันเอง ซึ่งทรานส์เจนเดอร์ทั้งสองคนก็คือ ไวโอเล็ต และ เพจ สำหรับไวโอเล็ตเป็นทรานส์วูแมนที่คนอื่นเห็นแล้วก็อาจจะรู้ แต่สำหรับเพจ เธอเป็นทรานส์วูแมนที่ไม่ได้ปิดบัง แต่คนอื่นๆ ก็จะมองไม่ออกว่าเธอเป็นคนข้ามเพศ
เรื่องราวมันเกิดขึ้นเอาตอนที่ อัลลี่ เลสเบี้ยน นักเขียนบทความเกี่ยวกับ LGBTQIAN+ มาขอสัมภาษณ์ไวโอเล็ตลงนิตยสารของเธอ ไปๆ มาๆ ก็เกิดสปาร์คกัน แต่ว่าไวโอเล็ตอยู่กับผู้ชายอีกคนหนึ่ง ที่ความสัมพันธ์นั้นก็เป็น Toxic Relationship แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นมา อัลลี่ก็เลยอยู่เป็นเพื่อนคอยปลอบคอยให้กำลังใจกัน จนกระทั่งวันที่ไวโอเล็ตตัดสินใจเดินออกจากความสัมพันธ์นั้น
ซึ่งตัวซีรีส์ทำให้เราเห็นได้ชัดเลยว่ากลุ่ม cis women ก็ยังคงเหยียดทรานส์วูแมนอยู่ดี อีกทั้งคอมมูนิตี้เลสเบี้ยนก็ยังคงกีดกันคนข้ามเพศอยู่เช่นกัน แม้ว่าอัลลี่จะพยายามป้อนข้อมูลให้กับกลุ่มเพื่อนแล้วก็ตาม แต่ใจคนมันจะเหยียดก็ยังคงเหยียดอยู่วันยังค่ำ นอกจากนี้แล้ว ตัวซีรีส์เรื่องนี้ยังพาเราไปให้เห็นถึงช่วงเวลาและความรู้สึกของทรานส์เจนเดอร์ ทั้งความรู้สึกตอนที่เธออยู่กับผู้ชาย และความรู้สึกกังวลเวลาที่อยู่กับผู้หญิง ว่าเธอจะไม่กลมกลืนไปกับกลุ่มคนเหล่านั้นหรือไม่ ใครจะสังเกตเห็นบ้างนะ ไปจนถึง การที่เธอเป็นทรานส์เจนเดอร์ มันจะทำให้เธอชอบผู้หญิงไม่ได้รึเปล่า เป็นตัวตลกในมุมมองของคนอื่นหรือไม่ ต้องลองไปรับชมกัน
Her Story เข้าชิง Emmy ปี 2016 รับชมได้ทาง YouTube
Giant Little Ones (2018)
โดย GR
ไม่จำเป็นต้องอธิบายกับใคร แต่จำเป็นที่จะต้องเข้าใจตัวเอง
ภาพยนตร์นอกกระแสแนว Coming of age ที่ดูได้ทุกเพศทุกวัย แต่น่าจะโดนใจคนวัยกำลังค้นหาตัวเอง บอกเล่าเรื่องราวของวัยรุ่นวัยวุ่นที่โฟกัสไปที่ Franky (Josh Wiggins) และ Ballas (Darren Mann) สองเพื่อนรักที่วันหนึ่งดันมีเรื่องให้หักเหลี่ยมโหด เมื่อคืนหลังปาร์ตี้วันเกิดของ Franky กลับนำพามาซึ่งเหตุการณ์ที่เขาสองคนเองไม่เคยคาดคิดมาก่อน และมันก็ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเขาทั้งสองอย่างยากที่จะหวนกลับ
Giant Little Ones ดำเนินเรื่องไปอย่างไม่หวือหวา ซึ่งถือเป็นเสน่ห์สำคัญของมัน หนังพาเราไปเฝ้าดูชีวิตของวัยรุ่นที่กำลังเจอกับความทุลักทุเล ความไม่มั่นใจ ความสงสัย และความกลัวที่จะต้องเข้าไปสัมผัสกับตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง รวมถึงถ่ายทอดถึงความสำคัญของสภาพแวดล้อมรอบข้าง ว่ามีผลต่อชีวิตของเด็กคนหนึ่งได้มากแค่ไหน นอกจากนี้ยังสอดแทรกประเด็นเรื่องของครอบครัว, Sexual Harassment ในวัยรุ่น และการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนอีกด้วย
ด้วยเนื้อเรื่องที่ดูไม่มีอะไร กลับทำให้รายละเอียดเล็กๆ ในนั้นสำคัญขึ้น เราชอบที่สุดท้ายแล้ว หนังไม่ได้เฉลยในสิ่งที่อาจจะเป็นข้อสงสัยสำหรับใครหลายคน แต่มันกลับไม่ได้ทิ้งความรู้สึกค้างคาใจไว้ให้เลยสักนิด
หวังว่า 1 ชั่วโมง 33 นาทีของหนังเรื่องนี้ จะทำให้คุณพบเจอกับความสบายใจที่จะเป็นตัวเอง แม้จะเพียงมุมเล็กๆ ก็ยังดี
They (2017)
โดย First S.
ภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของ J วัยรุ่นตอนต้นที่ต้องก้าวข้ามผ่านเหตุการณ์และสถานการณ์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทบทวนกับตัวเองเกี่ยวกับการข้ามเพศ การใช้ชีวิตในวงสังคม การทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ การเลือกแต่งกายที่ตัวเองต้องการ ไปจนถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับเพศสภาพของตัวเอง
ด้วยความที่หนังเรื่องนี้พูดถึงความพร่าเลือนของกรอบต่างๆ ตัวของผู้กำกับเองก็เลือกที่จะถ่ายทอดตัวของ J ผ่านทางเงาสะท้อนของกระจก หรือเบลอภาพของเจ และถ่ายทอดออกมาให้เราได้เห็นถึงภาพเหล่านั้น ซึ่งเราเองก็รู้สึกไม่แปลกใจสักเท่าไหร่ และรู้สึกว่าผู้กำกับเขาตัดสินใจได้ดีมากๆ อีกด้วยที่จะเลือกการสะท้อนความเบลอเหล่านั้นออกมาให้เราได้รับชมกัน
เรื่องราวของ They เกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์สั้นๆ ที่พี่สาวของเจกลับมาเยี่ยมบ้านพร้อมพาแฟนหนุ่มชาวอิหร่านมาด้วย ซึ่งเธอก็ได้บอกแฟนตัวเองแล้วว่าน้องของเธอใช้สรรพนามว่า they นะ เป็นใครก็อาจจะงง แต่แฟนของพี่สาวเขาเลือกที่จะถามทุกครั้งเมื่อไม่เข้าใจ มันเป็นเรื่องง่ายๆ ที่เราสามารถถามได้ และแน่นอนว่าเจและพี่สาวของเจก็พร้อมที่จะอธิบายให้กับแฟนพี่สาวให้เข้าใจอีกด้วย ซึ่งมันทำให้เราเห็นเลยว่า มันเป็นเรื่องง่ายๆ ที่หลายคนอาจจะมองข้าม แต่ผู้กำกับตัดสินใจที่จะใส่มันลงมาให้เราได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
และท่ามกลางการตัดสินใจระหว่างสองสิ่ง ซึ่งมันชวนให้เรากลับมาคิดทบทวนว่าทางเลือกมันมีแค่นั้นจริงๆ เหรอ เราจะเป็นที่จะต้องเลือกจริงๆ ใช่หรือไม่ นอนไบนารี่จำเป็นที่จะต้องเลือกระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่งจริงๆ หรือไม่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ชวนให้เรากลับไปคิดต่อถึงทางเลือกเหล่านั้น และอาจจะทำให้คุณฉุกคิดถึงบางสิ่งบางอย่าง ที่คุณอาจจะเคยหลงลืมไป