ประวัติศาสตร์เก่าเล่าใหม่ใน Motherland: Fort Salem

| |

Motherland: Fort Salem เป็นซีรีส์ที่เกี่ยวกับเรื่องราวของสหรัฐอเมริกาที่มีแม่มดเป็นผู้ควบคุมกองกำลังทหาร อีกทั้งแม่มดเหล่านี้ยังถือเป็นกุญแจสำคัญสู่ชัยชนะในสงครามต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

วันนี้เราจึงอยากแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ในซีรีส์ ที่คุณอ่านแล้วอาจจะรู้สึกคุ้นเคยอยู่บ้าง ใช่แล้ว – ผู้สร้างเรื่องนี้อย่าง Eliot Lawrence ได้หยิบยืมหลายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงในโลกของเรามาปรับแต่งและเขียนขึ้นใหม่ในโลกแม่มดของเขา วันนี้เราเลยอยากพาทุกคนช่วยกันค้นหาว่ารูปภาพในมิวเซียมของเหล่าแม่มดนั้น จะกล่าวถึงเหตุการณ์ไหนที่มีความเกี่ยวข้องกับโลกเราบ้าง, มีการปรับแต่งเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน และจะมีอะไรบ้างนั้น? ตามเรามาเลย คิดเสียว่าคุณกำลังเดินชมพิพิธภัณฑ์ฟอร์ตเซเลมอยู่ก็แล้วกัน

Fort Salem Museum

The Revolutionary War

Motherland: Fort Salem the revolutionary war in 1734
Motherland: Fort Salem | The Revolutionary War in 1734

“ฤดูหนาวปี 1734, หนึ่งวันก่อนสงครามปฏิวัติ, อัลเดอร์ส่งนายพลที่เขาเชื่อใจมากที่สุด เพื่อเตรียมการจู่โจมทหารอังกฤษและเฮชชันแบบไม่ให้ตั้งตัวใกล้กับแม่น้ำฟอลล์, ซึ่งในตอนนั้นเป็นอาณานิคมอ่าวแมสซาชูเซตส์”

The Revolutionary War อ้างอิงมาจากสงครามปฏิวัติอเมริกา (American Revolutionary War) เป็นสงครามระหว่างสิบสามอาณานิคมอเมริกากับบริเตนใหญ่ (Great Britain) ซึ่งในสมัยนั้นคือพื้นที่ของสหราชอาณาจักรรวมกับสก็อตแลนด์ เหตุเนื่องมาจากการทำสงครามเจ็ดปีกับฝรั่งเศสทำให้รัฐบาลอังกฤษตกอยู่ในภาวะหนี้สินอย่างหนัก ทำให้บริเตนใหญ่ต้องกำหนดมาตรการให้อาณานิคมทั้ง 13 แห่ง จ่ายภาษีซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในสงคราม ชาวอาณานิคมไม่เห็นด้วยอย่างมาก เพราะพวกเขาไม่ได้มีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้งส่งตัวแทนไปนั่งในรัฐสภาบริเตนใหญ่ด้วยซ้ำ

สงครามได้เริ่มต้นขึ้นด้วยการที่ทหารบริเตนใหญ่และกองกำลังชาวอาณานิคมได้ยิงปืนใส่กันที่เล็กซิงตัน (Lexington) และคอนคอร์ด (Concord) ในเขตของแมสซาชูเซตส์ เสียงปีนที่ดังขึ้น เรียกชื่อว่า “เสียงปืนที่ได้ยินไปทั่วโลก (The Shot Heard Around The World.)” ในการต่อสู้กับบริเตนใหญ่ ชาวอาณานิคมได้รวมตัวกันเป็นสภาคองเกรสแห่งภาคพื้นทวีป (Continental Congress) และได้แต่งตั้งจอร์จ วอชิงตัน (George Washington) เป็นผู้บัญชาการสู้รบ ความคับแค้นใจที่สะสมนำไปสู่การประกาศเอกราชของชาวอาณานิคมในวันที่ 4 กรกฎาคม 1776 สภาคองเกรสแห่งภาคพื้นทวีป ได้อนุมัติคำประกาศอิสรภาพของอเมริกาตามที่ โทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) เป็นผู้ยกร่างขึ้นมา ทำให้อาณานิคมทั้ง 13 แห่งเป็นอิสระจากบริเตนใหญ่ และสงครามได้ดำเนินไปเรื่อยๆ โดยในช่วงแรกฝ่ายอเมริกาเพลี่ยงพล้ำมากกว่าเนื่องด้วยกำลังทางทหารและอาวุธสู้ฝั่งบริเตนใหญ่และพันธมิตรไม่ได้ ซึ่งเฮซชันในรูปด้านบน คือทหารเยอรมันซึ่งเป็นพันธมิตรของอังกฤษนั่นเอง แต่ภายหลังอเมริกาก็ได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตร (ฝรั่งเศส, สเปน และเนเธอร์แลนด์) จนสามารถพลิกกลับมาเอาชนะบริเตนใหญ่ได้ในตอนสุดท้าย

sources:

  • https://tridirek.com/3-independence-american-revolutionary-war/
  • https://www.wearethemighty.com/mighty-trending/6-revolutionary-war-veterans-photographed/

The First Mexican

Motherland: Fort Salem the First Mexican in 1801
Motherland: Fort Salem | the First Mexican in 1801

“ในขณะที่กองกำลังอเมริกันได้เข้าร่วมสงครามเม็กซิกันครั้งแรก เหล่านายพลแม่มดที่ทรงพลังถูกส่งไปจัดการความขัดแย้งที่เขตชายแดนซึ่งมีการข่มขู่ว่าจะทำลายความมั่นคงของยุโรปตะวันตก ที่นี่, นายพลฮิลเดรด เกเบิล ได้แสดงถึงให้เห็นถึงงานทางอากาศของอเมริกัน (สังเกตพายุทอร์นาโดที่ใกล้กับเส้นขอบฟ้า) ให้กองทหารฝรั่งเศสใกล้กับป่าเอเบอร์สเบิร์กในปี 1801”

ภาพนี้อิงมาจาก ยุทธการโฮเฮนลินเดน (The Battle of Hohenlinden) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส ยุทธการโฮเฮนลินเดนเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1800 กองทัพฝรั่งเศสภายใต้การนำของฌ็อง วิกตอร์ มารี มอโร (Jean Victor Marie Moreau) ได้รับชัยชนะเหนือชาวออสเตรียและชาวบาวาเรียที่นำโดยอาร์ชดยุคจอห์นแห่งออสเตรีย (Archduke John of Austria) ออสเตรีย หลังจากถูกบังคับให้ถอยทัพ ฝ่ายพันธมิตรก็ร้องขอการสงบศึกที่ส่งผลให้สงครามพันธมิตรครั้งที่สองยุติลง

กองทัพทหาร 56,000 นายของมอโรเข้าปะทะกับชาวออสเตรียและบาวาเรียราว 64,000 คน ชาวออสเตรียเชื่อว่าพวกเขากำลังไล่ตามศัตรูที่ถูกโจมตี แต่กลับกลายเป็นว่ามอโรนั้นเป็นฝ่ายซุ่มโจมตีออสเตรียในขณะที่พวกเขากำลังออกมาจากป่า Ebersberg เขาปล่อยกองทหารของอองตวน ริเชเพนเซ (Antoine Richepance) ออกมาโจมตีออสเตรีย ทำให้ทัพออสเตรียตั้งรับไม่ทัน แสดงให้เห็นถึงทักษะที่น่าทึ่งในการเข้าล้อมศัตรูของมอโรจนสามารถทำให้เขากำจัดกองทัพใหญ่ของออสเตรียได้สำเร็จ คนที่ถูกนำออกไปจากรูปแล้วแทนที่ด้วยรูปของนายพลฮิลเดรดก็คือมอโรนั่นเอง (End of the battle of Hohenlinden: General-in-chief Moreau, accompanied by Generals Grouchy and Ney, makes his junction with General Richepance, followed by the Austrian prisoners)

ชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่นี้ ประกอบกับชัยชนะของกงสุลใหญ่นโปเลียนโบนาปาร์ตที่ยุทธการมาเรนโกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1800 ได้ยุติสงครามพันธมิตรครั้งที่สอง – ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1801 ชาวออสเตรียได้ลงนามในสนธิสัญญาลูเนวิลล์ และยอมรับการควบคุมของฝรั่งเศส

source: https://en.wikipedia.org/wiki/Battle_of_Hohenlinden

The Battle of Juarez

Motherland: Fort Salem | The Battle of Juarez
Motherland: Fort Salem | The Battle of Juarez in 1811

“กลยุทธ์ของผสานกันระหว่างการเบี่ยงเบนความสนใจและความดุร้ายที่ถูกออกแบบอย่างสมบูรณ์แบบโดยนายพลเจ็ม เบลล์เวเทอร์ และแมดเดอไลน์ สไวท์ ประสบความสำเร็จในการเอาชนะกองทัพเม็กซิกัน ณ สมรภูมิฮัวเรซ, ปี 1811”

ภาพออริจินัลคือภาพ Storming of Chapultepec – Pillow’s Attack โดย Adolphe-Jean-Baptiste Bayot และ Carlos Nebel เป็นสงครามความขัดแย้งกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก จากภาพเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 1854 นำโดยผู้บัญชาการวินฟิลด์ สก็อตต์ (Winfield Scott)

ในบันทึกการรบของสก็อตต์ เขาเขียนไว้ว่า “เมืองนี้สร้างขึ้นบนเนินเตี้ย ใกล้กับศูนย์กลางของแอ่งที่ไม่สม่ำเสมอ และส่วนใหญ่อยู่ใกล้กับคูน้ำ เป็นช่องทางเดินเรือที่มีความกว้างและความลึกมาก ซึ่งยากมากที่จะข้ามไปต่อหน้าศัตรู” – การโจมตีเมืองครั้งใหญ่เริ่มต้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน และสุดท้ายกองทัพฝั่งอเมริกันก็เข้ายึด Castillo de Chapultepec ซึ่งเป็นศูนย์กลางการตั้งรับที่สำคัญของฝั่งเม็กซิโกได้สำเร็จ

source: https://www.bbc.com/mundo/noticias-america-latina-37319082

The Second Mexican War

Motherland: Fort Salem | The Second Mexican War in 1813
Motherland: Fort Salem | The Second Mexican War in 1813

“ภาพพอร์เทรตของนายพลอัลเดอร์หลังจากชัยชนะในสงครามเม็กซิกันครั้งที่สองในปี 1813 ภาพวาดนี้ถูกแขวนไว้ที่อนุสรณ์สถาน อัลเดอร์โพสท่านี้ที่มาร์เบิลเฮด, ใกล้กับฟอร์ตเซเลม”

หมายเหตุ : มาร์เบิลเฮด (Marblehead) เป็นเมืองชายฝั่งทะเลนิวอิงแลนด์ในเขตเอสเซกซ์ รัฐแมสซาชูเซตส์

The Battle of Eupatoria

Motherland: Fort Salem | The Battle of Eupatoria in 1853
Motherland: Fort Salem | The Battle of Eupatoria in 1853

“อัลเดอร์และบิดดี้มาถึงในช่วงเวลาชี้เป็นชี้ตาย ณ ยุทธการยูปาโทเรีย ในปี 1853, นำกองทัพพันธมิตรสู่ชัยชนะอันน่าอัศจรรย์เหนือจักวรรดิออตโตมัน”

ภาพออริจินัลมีชื่อว่า Combat Dans La Gorge De Malakoff, Le 8 Septembre 1855 มาจากสงครามที่มีชื่อว่า “The Siege of Sevastopol (1854-1855)” เกิดขึ้นช่วงระหว่างสงครามไครเมีย (Crimean War) โดยฝ่ายพันธมิตร (ฝรั่งเศส ซาร์ดิเนีย ออตโตมัน และอังกฤษ) เดินทัพไปยังที่ Eupatoria ตั้งใจจะเดินทัพสู่ Sevastopol ซึ่งเป็นเมืองหลวงของ Crimea โดยมีกำลังทหารทั้งหมด 50,000 นาย – ใช้เวลาหนึ่งปีในการต่อสู้กับรัสเซีย

การสู้รบที่สำคัญระหว่างทางคือ Alma (กันยายน 1854), Balaklava (ตุลาคม 1854), Inkerman (พฤศจิกายน 1854), Tchernaya (สิงหาคม 1855), Redan (กันยายน 1855) และสุดท้าย Malakoff (กันยายน 1855) – ในระหว่างการปิดล้อม กองทัพเรือพันธมิตรได้โจมตีเมืองหลวงทั้งหมดหกครั้ง โดยการล้อม Sevastopol เป็นหนึ่งในยุทธวิธีการปิดล้อมแบบดั้งเดิมที่เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย นอกจากนี้ Sevastopol นั้นยังเป็นที่ตั้งของกองเรือทะเลดำของซาร์ของรัสเซีย (Tsar’s Black Sea Fleet) ซึ่งคอยรุกรานทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่กองทัพภาคสนามของรัสเซียนั้นถอนกำลังก่อนที่พันธมิตรจะล้อมไว้ได้ การต่อสู้ครั้งนี้ถือเป็นตอนสุดท้ายในสงครามไครเมียอีกด้วย ผลลัพธ์คือฝ่ายพันธมิตรได้รับชัยชนะไป

source: https://en.wikipedia.org/wiki/Siege_of_Sevastopol_(1854%E2%80%931855)

World War I

Motherland: Fort Salem | World War I in 1909
Motherland: Fort Salem | World War I in 1909

“อัลเดอร์พร้อมกับบิดดี้อีกสองคน สำรวจกองทัพพันธมิตรที่ Rhineland ในปี 1909, หนึ่งปีก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ต่อมาในปีนั้น ผลงานในการโจมตีแนวรบด้านตะวันออกของเขาได้เปลี่ยนกระแสของสงคราม”

มาจากภาพออริจินัลที่มีชื่อว่า Blüchers Rheinübergang bei Kaub โดย Wilhelm Camphausen จากภาพออริจินัลนั้น Blücher และกองทัพแห่ง Silesia (ฝั่งปรัสเซีย) กำลังข้ามแม่น้ำไรน์ที่ใกล้กับ Kaub (เมืองหนึ่งในเยอรมัน) ในวันที่ 1 มกราคม 1814 เป้าหมายของกองทัพคือต้องการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำไรน์ในเขตเมือง Kaub ให้ได้เส้นทางที่สั้นที่สุด เพื่อที่จะสามารถไล่ตามนโปเลียนและกดดันให้เขาอยู่ในพื้นที่ประเทศของตัวเอง

source: https://bluechermuseum-kaub.de/en/200-jahre-bluechers-rheinuebergang-181314-bei-kaub-rhein/

The Battle of Alsace

Motherland: Fort Salem | The Battle of Alsace in 1861
Motherland: Fort Salem | The Battle of Alsace in 1861

“นายพลอัลเดอร์พร้อมด้วยบิดดี้ที่กำลังกวัดแกว่งอาวุธหลังถูกซุ่มโจมตีโดยกองกำลังปรัสเซียในช่วงสงครามอาลซัสในปี 1861”

ภาพออริจินัลมาจากยุทธการสงครามชื่อ “The Battle of Dybbøl” ซึ่งเป็นหนึ่งในสมรภูมิหลักของ Second Schleswig War (ความขัดแย้งทางการทหารระหว่างเดนมาร์กและปรัสเซีย) ยุทธการนี้จบลงเมื่อตอนเช้าของวันที่ 18 เมษายน 1864 หลังจากที่ล้อมไว้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน ผลคือเดนมาร์กประสบความพ่ายแพ้อย่างรุนแรงต่อกองทัพปรัสเซีย

source: https://en.wikipedia.org/wiki/Battle_of_Dybb%C3%B8l

แต่ในรูปของทางซีรีส์กล่าวถึงสงครามอาลซัส (Battle of Alsace) ซึ่งเป็นการโจมตีแรกของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งโดยฝรั่งเศสปะทะกับเยอรมัน หนึ่งในจุดประสงค์ของการโจมตีครั้งนี้ของทางฝรั่งเศสคือการพยายามยึดอาลซัสคืนมา หลังจากที่เสียพื้นที่ตรงนี้ไปให้กับเยอรมันเพราะแพ้สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War) ซึ่งหลังจากสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียจบลง ส่งผลให้ปรัสเซียนำแคว้นเยอรมันทั้งหมดประกาศสถาปนาจักวรรดิเยอรมันขึ้นมานั่นเอง แต่ผลของสงครามอาลซัสครั้งนี้ก็ลงเอยด้วยชัยชนะของทางเยอรมันอีกครั้ง

source: https://en.wikipedia.org/wiki/Battle_of_Mulhouse

Teaser | Dark Days Await Us | Motherland: Fort Salem

เป็นยังไงกันบ้างกับการชมพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้? จะเห็นได้ว่าทาง Eliot Lawrence ซึ่งเป็นผู้เขียนได้หยิบเค้าโครงประวัติศาสตร์จริงในโลกของเราเข้ามาใช้ แต่เอาไปเขียนใหม่ให้เข้ากับจักรวาลแม่มดมากขึ้น ปีของเหตุการณ์อาจจะไม่ตรงกันบ้าง แต่เนื้อหาหลักของสงครามครั้งนั้นๆ ก็ยังคงใกล้เคียงกับเค้าเดิมอยู่ หรือบางทีก็เอาเหตุการณ์มาเชื่อมโยงผสมกันเลยก็มี

ติดตามเรื่องราวของแม่มดในจักรวาลฟอร์ตเซเลมนี้ได้ใน Motherland: Fort Salem ดูได้แล้ววันนี้ที่ Disney+ Hotstar Thailand


Previous

พอดแคสต์ Be Witches, Bitches: EP.0 Answer the Witch call

What is air up? How does it flavour pure water without adding anything?

Next