ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกมิติในการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมล้วนแล้วแต่เกี่ยวพันกับการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่าง LGBTQIAN+ และการเมืองที่ตัดขาดกันไม่ได้ จากผลพวงของการออกนโยบายที่ทุกคนควรได้เข้าถึงสิทธิทางกฎหมายและสวัสดิการรัฐอย่างเท่าเทียม บ่อยครั้งกฎหมายต่างๆ ก็กลายเป็นเครื่องมือบ่มเพาะความเกลียดชังคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหลากหลาย (Homophobia) หรือแม้กระทั่งความเกลียดชังลึกๆ ต่อคนชายขอบที่มีอัตลักษณ์ไม่ตรงตามกรอบของสังคมชายจริงหญิงแท้ (Internalized Homophobia) ไปโดยปริยาย
Blue Jean (2022) ภาพยนตร์ดราม่าจากสหราชอาณาจักร บอกเล่าความยากลำบากของเควียร์ในยุค 80s ภายใต้การบริหารขั้วการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมของรัฐบาล Margaret Thatcher เจ้าของสมญานามสตรีเหล็ก โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชุมชนเควียร์ ได้แก่ กฎหมายมาตรา 28 ที่บังคับใช้เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ให้บริการสาธารณะต่างๆ หมายรวมถึงคุณครูในสถานศึกษา เผยแพร่สื่อทุกประเภทที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการรักเพศเดียวกัน ให้ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ หรือการแสดงออกอื่นใดที่เป็นการสนับสนุนและให้การยอมรับแก่กลุ่มคน LGBTQIAN+ ซึ่งส่งผลกระทบกับชีวิตของเด็กนักเรียนและครูผู้สอนที่เป็นเควียร์อย่างจินตนาการไม่ได้
การออกนโยบายดังกล่าวทำให้ผู้คนในชุมชนเควียร์และพันธมิตรรวมตัวกันประท้วงต่อต้านการกดขี่จากรัฐในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาเปิดตัวว่าเป็นเกย์ของนักแสดงเลื่องชื่อของสหราชอาณาจักร Ian McKellen ในรายการวิทยุของ BBC ในเดือนมกราคม 1988 เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านกฎหมายมาตรา 28 รวมถึงป็อปไอค่อนเกย์ Boy George กับบทเพลง No Clause 28 และวงอนาธิปไตย-ป็อปที่ขับเคลื่อนสังคมอย่างวง Chumbawamba ด้วยผลงานเพลง Smash Clause 28! ในปีเดียวกัน
เนื่องในวันครูแห่งชาติ 16 มกราคม นอกจากรำลึกถึงความสำคัญของครูบาอาจารย์ที่ช่วยอบรม สั่งสอนและถ่ายทอดความรู้ให้กับศิษย์แล้ว ยังเป็นโอกาสได้ทำความเข้าใจกับอีกหน้าประวัติศาสตร์ของคุณครูที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเผชิญกับการกีดกันและเลือกปฏิบัติจากนโยบายภาครัฐ
Blue Jean แม่พิมพ์ของชาติกับตัวตนเควียร์ที่ต้องปกปิด
ภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวของ Jean Newman (Rosy McEwen) คุณครูสอนพละศึกษาในโรงเรียนหญิงล้วนทางตอนเหนือของสหราชอาณาจักรที่ยังไม่ได้เปิดเผยอัตลักษณ์ต่อสาธารณะกำลังเผชิญกับทางแยกในชีวิต เพื่อปกป้องเด็กนักเรียนใหม่ Lois Jackson (Lucy Halliday) ผู้กำลังค้นหาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองท่ามกลางบริบทสังคมที่กำลังอยู่ในห้วงความหวาดกลัวและเต็มไปด้วยความเกลียดชังการรักเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศในที่ทำงาน ครอบครัวและสื่อโทรทัศน์ที่คนยุคนั้นได้สัมผัส
การตัดสินใจช่วยเหลือลูกศิษย์ในครั้งนี้อาจนำไปสู่การเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง จนก่อให้เกิดความสูญเสียด้านการงาน ความแตกร้าวในความสัมพันธ์รอบตัว ไม่ว่าจะครอบครัวที่ไม่ยอมรับในอัตลักษณ์ของเพศหลากหลาย และชีวิตรักอันล้มเหลวกับ Vivian Highton (Kerrie Hayes) พาร์ทเนอร์ที่สามารถแสดงออกในฐานะบุช (Butch) ไม่อยู่ภายใต้กรอบเพศแบบชายจริงหญิงแท้ได้อย่างชัดเจน
Blue Jean นับเป็นผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวชิ้นแรกของผู้กำกับเควียร์ Georgia Oakley สะท้อนภาพอคติทางการเมืองต่อคนชายขอบในอดีตที่ยังคงมีให้เห็นในปัจุบัน ตัวเขาและทีมโปรดิวเซอร์หนังมีการลงพื้นที่พูดคุยกับอดีตคุณครูที่สอนอยู่ตามเมืองต่างๆ โดยเฉพาะทางตอนเหนือของสหราชอาณาจักร รวมทั้งนักเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อถ่ายทอดมุมมอง อารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กฎหมายถูกบังคับใช้
ตัวของผู้กำกับได้ให้สัมภาษณ์กับ British Film Institute (BFI) ว่า บุคลากรทางการศึกษาที่ทำงานในสภาพแวดล้อมของเมืองใหญ่อย่างลอนดอน ที่มีความก้าวหน้าทางการเมืองและการแสดงความคิดได้เสรี มีแนวโน้มแสดงออกถึงความเป็นตัวเองได้มากกว่า เมื่อเทียบกับครูตามเมืองน้อยใหญ่โดยรอบที่ถูกกดดันภายใต้สังคมที่ไม่ได้เปิดกว้างมากนัก
นอกจากนี้ คุณครูที่เป็นสมาชิกในคอมมู LGBTQIAN+ ยังต้องสร้างขอบเขตแบ่งแยกระหว่างหน้าที่การงานกับพื้นที่ส่วนตัวอยู่คนละฟากของเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกศิษย์หรือผู้ปกครองพบเจอกับตนโดยบังเอิญในสถานที่ที่ขัดแย้งกับค่านิยมในยุคนั้น อย่างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจยามค่ำคืนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งมีการถ่ายทอดประเด็นดังกล่าวใน Blue Jean ด้วย
“คนส่วนมากที่เราได้พูดคุยไม่ได้ติดต่อกับครอบครัวของตนอีกหลังจากเปิดตัวว่าเป็นเควียร์ ความเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและชุมชนได้สูญหายไป พื้นที่ปลอดภัยของพวกเขามีเพียงผับบาร์สำหรับกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งต่างได้รับผลกระทบจากการปราบปรามจากนโยบายรัฐเช่นกัน”
ในการถ่ายทำได้เชิญอดีตคุณครู 2 คนที่หนังนำบางส่วนของประสบการณ์ที่พวกเขาพบเจอมาดัดแปลงมาร่วมงานในฐานะที่ปรึกษา ซึ่งคอยให้คำแนะนำในระหว่างการถ่ายทำจริงและการเตรียมเครื่องแต่งกายสำหรับนักแสดง เพื่อความสมจริงในการพาผู้ชมย้อนเวลากลับไปสู่ยุค 80s
หนังยังได้แรงบันดาลใจจากหนึ่งในบรรดาอดีตคุณครูที่ผู้กำกับได้สัมภาษณ์ระหว่างเก็บข้อมูลในประเด็นเรื่องเงินทุน Bog fund สำหรับเควียร์เกิร์ล ซึ่งมีอยู่จริงในเมืองนิวคาสเซิล กองทุนที่ผู้คนในชุมชนโดยเฉพาะบุคคลที่มีอาชีพมั่นคงจะรวมเงินกันเพื่อให้การสนับสนุนเพื่อนเควียร์ที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงิน นับเป็นอีกหนึ่งการเคลื่อนไหวของคนในคอมมูเพื่อดูแลและปกป้องซึ่งกันและกันภายใต้ความท้าทายรอบด้าน
ชนวนเหตุการห้ามกระทำความเควียร์
กฎหมายมาตรา 28 ในพระราชบัญญัติการปกครองท้องถิ่นปี 1988 ที่มีเนื้อหาไม่ให้เผยแพร่หรือส่งเสริมความหลากหลายทางเพศในทุกกรณี แม้กระทั่งการพูดคุยกับบุคคลที่นิยมตนเองว่าเป็นเควียร์ จนนำไปสู่การปิดตัวลงของกลุ่มและชมรมที่ให้ความช่วยเหลือแก่วัยรุ่นเควียร์ทั่วประเทศ เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนพฤษภาคม 1988
จุดกำเนิดของกฎหมายมาตรา 28 มาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) โดยพบเจอเป็นครั้งแรกในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1981 และมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 1,000 รายในปี 1987 สร้างความหวาดกลัวให้แก่สังคมในขณะนั้น ก่อให้เกิดภาพลักษณ์เชิงลบแก่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะผู้ชายที่รักเพศเดียวกัน
อีกหนึ่งสาเหตุการบังคับใช้กฎหมายแห่งการเลือกปฏิบัติต่อเควียร์ มาจากหนังสือภาพสำหรับเด็กชื่อ Jenny Lives with Eric and Martin โดย Susanne Bösche นักเขียนชาวเดนมาร์ก ตีพิมพ์ในปี 1983 นำเสนอภาพตัวแทนของครอบครัวในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและพยายามทำให้สถาบันครอบครัวของกลุ่มคนเพศหลากหลายเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับครอบครัวของตัวเอกอย่าง Jenny ที่มีคุณพ่อสองคน
กระทั่งในปี 1986 ก่อนการประกาศบังคับใช้กฎหมาย นิตยสาร The Sun ได้หยิบประเด็นการพบเจอหนังสือ Jenny Lives with Eric and Martin ในห้องสมุดโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งที่ดำเนินการโดยองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามของรัฐบาลในขณะนั้น พร้อมกับโจมตีหนังสือที่มีภาพคู่รักเพศเดียวกันในโรงเรียนว่าถือเป็นการบ่มเพาะความบิดเบี้ยว กระทั่งมีการเดินขบวนต่อต้านหนังสือดังกล่าว รวมถึงกล่าวโทษพรรคแรงงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเนื้อหาที่ไม่สมควรสำหรับเด็กไปเผยแพร่ในโรงเรียน
ทศวรรษแห่งความเจ็บปวด
หลังจากกฎหมายมาตรา 28 มีผลบังคับใช้ แน่นอนว่าทัศนคติเชิงลบของสังคมที่ต่อต้านกลุ่ม LGBTQIAN+ ก็เพิ่มสูงเป็นเงาตามตัว บาดแผลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวส่งผลต่อบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องทำงานภายใต้ความกดดันและครูที่มีอัตลักษณ์เควียร์ถูกจำกัดการแสดงออก
ในพื้นที่สถานศึกษามีการแบนสื่อการสอนทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับกับความหลากหลายทางเพศ การยกเลิกหลักสูตรการเรียนที่เกี่ยวข้องกับสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน และความเสี่ยงตกงานของครูผู้สอน หากพบเจอว่ามีการกระทำที่ส่งเสริมประเด็นต้องห้ามในโรงเรียน
จากรายงาน Fifteen years on: the legacy of section 28 for LGBT+ teachers in English schools ตีพิมพ์ในวารสาร Sex Education ปี 2019 พบว่า มีเพียง 20% ของคุณครูที่สอนอยู่ในช่วงเวลาที่กฎหมายมาตรา 28 ถูกบังคับใช้ได้คัมเอ้าท์กับที่ทำงาน ส่วนใหญ่แล้วทุกคนต้องการปกปิดชีวิตส่วนตัวให้ห่างจากการรับรู้ของเพื่อนร่วมงานและผู้ปกครองที่มีแนวคิดว่าผู้สอนที่เป็นเควียร์จะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีหรือเกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบในเด็ก บ้างถึงขั้นกดทับความเป็นตัวเองไว้เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมา มีคุณครูในยุคนั้นที่ปฏิเสธการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้บริหาร เพราะต้องมีการเข้าสังคมหรือปรากฏตัวในงานโรงเรียนมากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องนำพาร์ทเนอร์มาร่วมงานด้วย
นอกจากนี้ นักเรียนที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศยังได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสูญเสียพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียนและคุณครูที่พร้อมทำความเข้าใจพวกเข้าได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะโชคดีมีครอบครัวพร้อมสนับสนุนให้สามารถค้นหาตัวเองนอกกรอบเพศแบบทวิลักษณ์ (Gender Binary) ทำให้เด็กๆ ต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งที่โรงเรียนอย่างสาหัส โดยคุณครูไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้
ผลสำรวจของ Stonewall ในปี 2003 พบว่า 82% ของคุณครูที่ตอบแบบสอบถามรับรู้ถึงการกระทำความรุนแรงทางวาจาที่เกิดขึ้นกับนักเรียนเควียร์ อีก 26% ทราบถึงการทำร้ายร่างกายลูกศิษย์ แต่มีสถานศึกษาเพียงแค่ 6% เท่านั้นที่ยอมออกกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันเด็กๆ จากความรุนแรง
ในปี 2000 กฎหมายมาตรา 28 เริ่มถูกเพิกถอน เริ่มจากสกอตแลนด์ โดยกฎหมายนี้สิ้นสุดการบังคับใช้ทั่วทั้งสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2003 แม้ว่ายุคสมัยแห่งการลิดรอนสิทธิของ LGBTQIAN+ จะปิดฉากลงไปแล้ว แต่ผลพวงของความรุนแรงยังถูกส่งต่อมาอย่างต่อเนื่อง
หนึ่งในปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคือนักเรียนในยุคนั้นคือการถูกตัดโอกาสทางการศึกษาในบรรดาเด็กอีก 1-2 รุ่นถัดมา โดยเฉพาะการสอนเพศวิถีศึกษา (Gender Studies) รวมทั้งเครื่องมือสร้างความตระหนักรู้อย่าง SOGIESC ช่วยขยายความถึงเพศวิถี รสนิยมทางจิตใจ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศและเพศกำหนดของบุคคลที่มีหลากหลาย ซึ่งเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลตรงเพศหรือเควียร์จะได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อเปิดใจยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศว่าเป็นเรื่องธรรมดาและไม่ผลิตซ้ำความเกลียดชังไปสู่คนอีกรุ่น
ยิ่งไปกว่านั้น บทสัมภาษณ์เควียร์ที่เติบโตมาในระบบการศึกษาภายใต้กฎหมายมาตรา 28 จัดทำโดย openDemocracy สำนักข่าวอิสระของสหราชอาณาจักร พบว่า คนข้ามเพศ (Transgender) ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการรับบริการสุขภาพจากความเข้าใจของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งเกิดจากการไม่ได้บรรจุหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเพื่อยืนยันเพศสภาพ (Gender-affirming Care) ในสถานศึกษาและอคติที่มีต่อคนข้ามเพศ
เด็กและเยาวชนที่กำลังเรียนรู้ตัวตนนอกเหนือไปจากกรอบเพศที่สังคมกำหนด หรือได้ค้นพบและนิยามตัวเองภายใต้ร่มความหลากหลายทางเพศที่ไม่ใช่เพศกำเนิด พวกเขาทั้งหมดควรได้เติบใหญ่อย่างมีคุณภาพ มีพื้นที่ทางสังคมที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นบ้าน โรงเรียน หรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ได้รับความคุ้มครองในชีวิตและร่างกายตามกฎหมาย
ในขณะเดียวกัน ครูที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติควรได้รับอิสระในการเป็นตัวเองโดยปราศจากแรงกดดันมหาศาลจากอคติหรือความกลัว และประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตแก่ลูกศิษย์ พร้อมทั้งนำพาศักยภาพของพวกเขาออกมาอย่างเต็มที่เพื่อผลิตคนที่มีคุณภาพแก่สังคมต่อไป
Sources:
- https://www.bfi.org.uk/interviews/blue-jean-georgia-oakley-section-28
- https://inews.co.uk/news/education/lgbtq-teachers-section-28-law-scarred-study-research-england-268437
- https://www.bbc.com/bbcthree/article/cacc0b40-c3a4-473b-86cc-11863c0b3f30
- https://www.opendemocracy.net/en/5050/section-28-anti-lgbt-20-years-anniversary-repeal-not-enough/
- https://www.thepinknews.com/2022/11/18/what-was-section-28-law-lgbt/
- https://www.theguardian.com/world/2018/mar/27/section-28-protesters-30-years-on-we-were-arrested-and-put-in-a-cell-up-by-big-ben
- © Blue Jean Productions Ltd. Photo Courtesy of Magnolia Pictures.