เมื่ออสุรกายแห่งห้วงอวกาศกลับมาสร้างความหวาดกลัวอีกครั้งใน Alien: Romulus ภาพยนตร์ภาคแยกจากแฟรนไชส์สยองขวัญแนววิทยาศาสตร์สุดคลาสสิคอย่าง เอเลี่ยน (Alien) ซึ่งเข้าฉายครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1979 และเป็นหนึ่งในผลงานอันเลื่องชื่อของผู้กำกับ ริดลี่ย์ สก๊อต (Ridley Scott)
ก่อนเปิดฉากการไล่ล่าครั้งใหม่ อยากชวนมาทำความรู้จักกับประเด็นเรื่องเพศ โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวข้องกับผู้หญิงที่แฝงไว้อยู่ในต้นฉบับความสยอง
ภาพยนตร์เรื่องนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในจอเงินของตัวละครหญิงที่ไม่ได้มีหน้าที่เป็นเพียงแค่ผู้ช่วยหรือคู่รักของตัวละครชาย บทบาทของ เอลเลน ริปลี่ย์ (Ellen Ripley) ตัวละครเอกหญิงสุดแกร่ง รับบทโดย ซีกอร์นีย์ วีเวอร์ (Sigourney Weaver) กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงจวบจนถึงปัจจุบัน
ริปลี่ย์ ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 8 จาก 50 ตัวละครฝ่ายดีในภาพยนตร์ที่เป็นที่จดจำมากที่สุดและเป็นตัวละครหญิงที่อยู่ในอันดับสูงที่สุดในการจัดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Heroes & Villains จัดทำโดยสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน (American Film Institute หรือ AFI) เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของสถาบันแห่งนี้ในเดือนมิถุนายน 2003
ยิ่งไปกว่านั้น สัตว์ประหลาดที่รู้จักกันว่าเอเลี่ยน หรือชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ซีโนมอร์ฟ (Xenomorph) ก็ถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 14 จากฝั่งตัวละครฝ่ายร้ายเช่นกัน
Warning:
บทความนี้ดัดแปลงมาจากบทความในวิชา SE418 GENDER AND SEXUALITY
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของผู้เขียน และมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน
เพื่ออรรถรสในการรับชมภาพยนตร์ ผู้อ่านควรพิจารณา
อีกทั้งมีการกล่าวถึงเลือด การให้กำเนิดและความรุนแรงทางเพศ
เอเลี่ยนกับความเป็นหญิงแสนชั่วร้าย (Monstrous-Feminine)
ความเป็นหญิงแสนชั่วร้าย (Monstrous-Feminine) เป็นทฤษฏีที่คิดขึ้นโดย บาร์บาร่า ครีด (Barbara Creed) ศาสตราจารย์สาขาวิชาภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น เพื่อใช้อธิบายถึงความคิดของเพศชาย โดยเฉพาะความกลัวต่อเพศหญิงที่สื่อออกมาผ่านภาพยนตร์สยองขวัญ (หนังสือ The Monstrous-Feminine: Film, Feminism, Psychoanalysis) ซึ่งมองว่าผู้หญิง คือ ความเป็นอื่น (The Other) ในรูปของสัตว์ประหลาดจากต่างดาว แม่มด ผีดูดเลือด ตัวกลางของโลกวิญญาณ หรือพาหะที่รอให้ปีศาจร้ายมายึดครองและสิงสู่ร่างกายตนเอง เนื่องจากเพศหญิงเป็นเพศที่อิงกับธรรมชาติสูง ไม่ว่าจะเป็นการมีประจำเดือนตามวงรอบของธรรมชาติหรือการตั้งครรภ์ ซึ่งแต่เดิมธรรมชาติตามความเชื่อของมนุษย์จะเกี่ยวข้องกับอำนาจลึกลับที่มองไม่เห็น ทำให้เพศหญิงกลายเป็นสิ่งลี้ลับที่ผู้ชายไม่สามารถเข้าถึง
เมื่อผู้หญิงถูกเหมารวมไปอยู่กับสิ่งเหนือธรรมชาติและมาเจอกับการประกอบสร้างทางสังคมชายเป็นใหญ่ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเพศหญิงจึงเป็นสิ่งน่ากลัวไปโดยปริยาย ดังความเชื่อที่ว่าไม่ควรลอดใต้ผ้าถุงของผู้หญิง รวมทั้งความเชื่อเรื่องเลือดประจำเดือน
ด้วยความลึกลับของเพศหญิงนี่เองทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอความกลัวของผู้ชายออกมาผ่านฉากการเกิด (Primal Scene) จำนวน 3 ครั้ง แสดงถึงการให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป
การเกิดครั้งแรก คือ ฉากแรกของภาพยนตร์ที่ลูกเรือบนยานสินค้าชื่อนอสโตรโม (Nostromo) ตื่นขึ้นมาจากแคปซูลจำศีล (Hypersleep Pod) ด้วยการปลุกของคอมพิวเตอร์ประจำยาน ชื่อว่า MU-TH-UR6000 ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า Mother ที่แปลว่า แม่ ประหนึ่งเป็นการจำลองการเกิดในอุดมคติของมนุษย์ในอนาคตด้วยเทคโนโลยี ไร้ซึ่งความเจ็บปวดและกลิ่นคาวเลือด ผิดจากการให้กำเนิดของเพศหญิงโดยปกติ ยิ่งไปกว่านั้นมนุษย์ที่เกิดใหม่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมจะทำหน้าที่ของตัวเองได้และไม่มีวัยเด็กที่พ่อแม่ต้องคอยอบรมเลี้ยงดูให้วุ่นวาย
ฉากจำลองการเกิดต่อมาเป็นฉากที่ลูกเรือลงสำรวจซากยานปริศนาบนดาว LV-426 หลังจากได้รับสัญญาณลึกลับ จะสังเกตได้ว่ายานดังกล่าวมีลักษณะมืด ชื้นแฉะและเต็มไปด้วยไข่ปริศนาวางเรียงรายกันอยู่มากมาย แสดงให้เห็นว่าลูกเรือไม่ได้เพียงแต่สำรวจยานอวกาศธรรมดาๆ หากแต่เป็นการเข้าไปสำรวจยังแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิตนอกโลก รวมทั้งได้ให้กำเนิดชีวิตหนึ่งขึ้น เมื่อกิลเบิร์ท เคน (Gilbert Kane) ถูกสิ่งมีชีวิตที่ฟักออกมาจากไข่โจมตีเข้าที่ใบหน้าก่อนที่จะสลบไป
กระทั่งถึงการให้กำเนิดครั้งสุดท้าย อันเป็นฉากโหดในตำนานของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ทำเอาหลายคนต้องปิดตา ได้แก่ ฉากการตายของเคน หลังจากที่สัตว์ประหลาดได้ปลดปล่อยพันธนาการออกจากใบหน้าของเขา เคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้ง แค่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนความสยองขวัญบนโต๊ะอาหารจะเกิดขึ้น ตัวอ่อนของอสุรกายก็ได้ทำการแหวกช่องอกของเคนออกมาสู่โลกภายนอก
เลือดแดงฉานที่สาดกระจาย ความสับสนอลหม่านของลูกเรือ และเสียงกรีดร้องด้วยความเจ็บปวดแสดงให้เห็นถึงความกลัวของผู้ชายที่มีต่อความสยดสยองของการให้กำเนิดมนุษย์โดยทั่วไป นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ผู้ชายจินตนาการถึงการเกิดที่เรียบง่ายสงบและปลอดภัยเหมือนเช่นการเกิดจากแคปซูลจำศีลในฉากแรก
เบื้องหลังการออกแบบสิ่งมีชีวิตสุดอันตรายของห้วงจักรวาลมีการผสมผสานความน่าเกรงขามตามแบบฉบับของสัตว์ประหลาดจักรกลชีวะ (Biomechanics) และเรื่องเพศเข้าด้วยกัน โดยฮานส์ รูดอล์ฟ กีเกอร์ (Hans Ruedi Giger) หรือที่รู้จักกันในนาม เฮช อาร์ กีเกอร์ (H.R. Giger) ศิลปินชาวสวิสเซอร์แลนด์ผู้ล่วงลับ
เริ่มจาก เฟซฮักเกอร์ (Facehugger) การเจริญเติบโตขั้นที่ 2 หลังจากการออกมาจากไข่ ซึ่งเป็นตัวเดียวกันกับที่โจมตีเคน มันจะทำการกระโดดเกาะใบหน้าเหยื่อ ใช้หางบีบรัดหลอดลมจนขาดอากาศหายใจจนสลบไป จากนั้นจึงเริ่มสอดท่อปล่อยน้ำเชื้อลงไปผ่านช่องปากเพื่อให้ตัวอ่อนลงไปฝังในทรวงอกของผู้เคราะห์ร้าย
ลักษณะของเฟซฮักเกอร์จำลองมาจากอวัยวะเพศหญิง และการสอดท่อลงไปในปากเพื่อปล่อยน้ำเชื้อคือการมีเพศสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีการปล่อยน้ำเชื้ออสุจิเข้าไป ดังที่ รีเบคคก้า เบล-มีเทอร์ริว (Rebecca Bell-Metereau) ได้บรรยายเอาไว้ว่า “ฉากนี้ไม่สามารถเป็นอะไรไปได้เลยนอกจากภาพของความกลัวในหนังสือของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่ได้พูดถึง อวัยวะเพศหญิงที่มีฟันขบเคี้ยว (Toothed Vagina) และได้ทำการบุกรุกเครื่องเพศชายอย่างตะกรุมตะกราม จนทำให้ผู้ชายกลายเป็นคนไร้สมรรถภาพ” (“This scene couldn’t be a more direct symbolic pictoralization of Freud’s textbook phobia: the vagina with teeth clutches and eats alive the intrusive phallus, rendering it impotent, castrated.” จากหนังสือ Woman: The Other Alien in Alien)
เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตมาในขั้นที่ 3 จะเปลี่ยนแปลงเป็น เชสเบิร์สเตอร์ (Chestburster) ที่ได้รับสารอาหารจากร่างของเหยื่อมาหล่อเลี้ยงประหนึ่งทารกที่ได้รับอาหารจากแม่ผ่านสายรก เมื่อมันสามารถออกมาสู่โลกภายนอกได้แล้ว สัตว์ประหลาดตัวนี้ก็จะค่อยๆ ลอกคราบทีละชั้นและเติบโตเป็นซีโนมอร์ฟตัวเต็มวัยที่เราเห็นในภาพยนตร์
สุดท้าย ซีโนมอร์ฟ มีต้นแบบมาจากทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยลักษณะของหัวที่เป็นท่อนเรียวยาวคล้ายกับอวัยวะเพศชาย และรูปร่างที่มีส่วนเว้าโค้งเรียวระหงเหมือนผู้หญิง อีกทั้งสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศชายยังกลายมาเป็นอาวุธสังหารชิ้นสำคัญของอสุรกายตัวนี้ ได้แก่ ลิ้นเจาะ (Inner Pharyngeal Jaw) อวัยวะที่สามารถยืดหรือหดตัวได้ และส่วนปลายของลิ้นเจาะยังมีลักษณะเป็นเขี้ยวเล็กๆ ซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่ง
โดย นางพญา (Xenomorph Queen) มีลักษณะเหมือนกับสัตว์ประหลาดตัวอื่นทุกประการ เพียงแต่จะมีขนาดตัวใหญ่กว่าและสามารถวางไข่ได้ การที่นางพญาสามารถวางไข่เพื่อให้กำเนิดชีวิตได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเพศตรงข้ามเพื่อผสมพันธุ์ หรือมีสัญลักษณ์ของเครื่องเพศชายอยู่ในตัวเอง หมายความถึงสภาวะไร้สมรรถภาพของเพศชาย (หนังสือ The Monstrous-Feminine: Film, Feminism, Psychoanalysis โดย Barbara Creed) โดยสามารถตีความได้ว่าผู้หญิงที่มีลักษณะดังกล่าวเป็นผู้หญิงที่ชั่วร้าย ไม่ได้อยู่ในขนบของสังคมที่ประกอบสร้างภายใต้แนวคิดชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงที่ดีจะต้องสำรวมและไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของกามารมณ์อย่างเปิดเผย
เช่นเดียวกับเมดูซา (Medusa) หญิงสาวที่มีผมเป็นงูในเทพปกรณัมกรีก ลักษณะเรียวยาวของลำตัวงูเปรียบได้กับการมีสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศชายอยู่ในตัวเช่นกัน ทั้งนางพญาและเมดูซาต่างไม่ใช่คนปกติ แต่เป็นสัตว์ประหลาดที่หิวกระหาย จึงต้องถูกกำจัด ดังที่ซีโนมอร์ฟถูกจัดการโดยริปลี่ย์ และเมดูซาที่ถูกเพอร์ซิอัส (Perseus) บุตรชายของเทพซุสสังหาร
ทั้ง ลิ้นเจาะของเอเลี่ยน ท่อสอดน้ำเชื้อของเฟซฮักเกอร์ และหัวรูปทรงคล้ายอวัยวะเพศชายของเชสเบิร์สเตอร์ ต่างมีจุดร่วมเดียวกัน คือ เป็นอาวุธที่มีรูปร่างเหมือนอวัยวะเพศชาย (Phallic Weapon) ที่พร้อมทิ่มแทงเพื่อสังหารเหยื่อ ถือเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่าฝ่ายใดก็ตามที่ถือครองอวัยวะเพศชายหรือสัญลักษณ์ของความเป็นชายจะเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่า ในที่นี้ก็คือซีโนมอร์ฟที่เป็นผู้คุมชะตากรรมของลูกเรือทั้งหมดเอาไว้
ปิตาธิปไตยที่เป็นภัยกว่าอสุรกายอวกาศ
เมื่อภาพยนตร์เริ่มฉายจะเห็นได้ว่าริปลี่ย์เป็นเพียงแค่ลูกเรือหญิงธรรมดาในบรรดาลูกเรือที่แทบจะเป็นเพศชายทั้งหมด แต่ในท้ายที่สุดเธอกลับเป็นถึงหญิงสาวผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย (Final Girl) ทว่าสิ่งที่เธอต้องเผชิญไม่ได้มีแค่การต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดจากซีโนมอร์ฟ แต่เป็นการอยู่ภายใต้อำนาจที่เพศชายเป็นใหญ่ในสังคมบนยานนอสโตรโมด้วยเช่นกัน
คำว่า Final Girl หรือหญิงสาวผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย คิดค้นโดย แครอล เจโคลเวอร์ (Carol J. Clover) ผู้เขียนหนังสือในตำนานของภาพยนตร์แนวไล่เชือด Men, Women, and Chainsaws: Gender in the Modern Horror Film ในปี 1992 หมายถึง ผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในบรรทัดฐานของสังคมซึ่งต้องดำรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ (Virginity) ของตัวเอง นั่นจะทำให้พวกเธอจะไม่โดนลงโทษด้วยการถูกสังหาร
โดยปัจจัยหลักๆ ของการเป็นหญิงสาวผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายในภาพยนตร์ไล่เชือดประกอบไปด้วย (อ้างอิงจากหนังสือ The Final Girl versus Wes Craven’s A Nightmare on Elm Street: Proposing a Stronger Model of Feminism in Slasher Horror Cinema โดย Kyle Christensen)
1. ฆาตกรที่โอบอุ้มความเป็นชายเอาไว้ (Masculine Killer)
2. สถานที่เกิดเหตุ (Terrible Place) มักเป็นสถานที่ปิดตายที่มีพื้นที่จำกัด
3. อาวุธที่มีรูปร่างเหมือนอวัยวะเพศชาย (Phallic Weapon)
4. หญิงสาวผู้รอดชีวิต (Final Girl) ที่ดำรงตนอยู่ในกฎระเบียบอันดีงามของสังคม มีความระแวดระวังตัวจนเกือบถึงขึ้นหวาดระแวง (Paranoia) แต่นั่นทำให้เธอสามารถเอาตัวรอดได้เมื่อมีอันตราย และมีนิสัยเหมือนเด็กผู้ชาย (Boyish) หรือการโอบอุ้มความเป็นชายเข้ามา
ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ต่างอะไรไปจากภาพยนตร์สยองขวัญแนวไล่เชือด เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่ไปอยู่นอกโลก ภายในยานอวกาศที่เป็นสถานที่ปิดตาย เปลี่ยนจากฆาตกรโรคจิตที่เป็นคนธรรมดาเป็นสิ่งมีชีวิตสุดอันตรายที่โอบอุ้มทั้งความแข็งแกร่งเหมือนเพศชายและสัญลักษณ์ของเพศชาย ดังที่ได้เห็นในหัวข้อการออกแบบเอเลี่ยน แม้ว่าเรื่องของพรหมจรรย์ของริปลี่ย์จะไม่มีการกล่าวถึง แต่เธอก็ไม่ได้แสดงความต้องการทางเพศออกมาตลอดเวลาทั้ง 117 นาทีของภาพยนตร์เรื่องนี้
โดยชิ้นส่วนสุดท้ายในการรอดชีวิตของริปลี่ย์ คือ ปืนไฟ (Harpoon Gun) อาวุธที่เป็นตัวแทนของเครื่องเพศชาย เพื่อสร้างความเหนือกว่าหรือเท่ากับให้เกิดขึ้นระหว่างตัวเธอกับซีโนมอร์ฟ
อย่างไรก็ตาม การเผชิญหน้ากับอสุรกายยังไม่ท้าทายเท่ากับการเผชิญกับปิตาธิปไตย (Patriarchy) ทำให้ตัวเอกของเราต้องพยายามค้นหาพื้นที่ของตัวเองและรักษาพื้นที่นั้นไว้ให้มากพอกับการรักษาชีวิตของเธอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหารายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงหรือผู้หญิงกับการเป็นผู้นำ ซึ่งผู้ชายส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องการที่จะอยู่ใต้บังคับบัญชา
ภาพยนตร์ยังนำเสนอประเด็นการข่มขืนกับการกำจัดเสียงของผู้หญิง หลังจากริปลี่ย์รู้ถึงภารกิจลับ 937 ซึ่งเป็นภารกิจที่แท้จริงในการเดินทางครั้งนี้ โดยเป็นการจับสิ่งมีชีวิตเพื่อนำกลับมาทดลองให้ได้ แม้ว่าจะต้องแลกด้วยชีวิตของลูกเรือกี่คนก็ตาม
เมื่อริปลี่ย์ทราบจึงไปหา แอช (Ash) นักวิทยาศาสตร์ประจำยานทันที เขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการนองเลือด แต่กลับถูกแอชทำร้ายด้วยการพยายามยัดหนังสือโป๊ลงไปในปากของเธอ เป็นนัยยะของความรุนแรงทางเพศเพื่อปิดปาก แต่ เดนนิส ปาร์คเกอร์ (Dennis Parker) สามารถมาช่วยริปลี่ย์ได้ทันและค้นพบความลับที่ว่าที่จริงแล้วแอชเป็นหุ่นแอนดรอย์ชื่อ Hyperdyne Systems 120-A/2 ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำภารกิจลับ
นอกเหนือจากริปลี่ย์ที่ต้องเผชิญกับความโหดร้ายในรูปแบบต่างๆ บนยานนอสโตรโม ยังมีตัวละครที่เรียกได้ว่าถือว่าเป็นอีกหนึ่งความเป็นอื่นอย่าง โจแอน แลมเบิร์ต (Joan Lambert) ซึ่งถูกใส่เข้ามาใน Special Features ของภาพยนตร์ภาคต่อ Aliens (1986) บอกเล่าข้อมูลของลูกเรือในภาพยนตร์ต้นฉบับ รวมทั้งเปิดเผยอัตลักษณ์ของเธอในฐานะผู้หญิงข้ามเพศ (Trans Representation) ที่มีการผ่าตัดยืนยันเพศจากเพศกำเนิดชายเป็นหญิง แม้ว่าจะเป็นรายละเอียดเพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้ Alien เป็นภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ยุคแรกที่มีภาพตัวแทนของเควียร์ปรากฎอยู่ในสื่อ
การต่อสู้เพื่อหาพื้นที่ให้กับตัวเองของริปลี่ย์ดำเนินต่อไป จนกระทั่งเหลือเพียงแค่เธอในฐานะหญิงสาวผู้รอดชีวิตเป็นคนสุดท้าย ทำให้เธอเป็นที่จดจำของผู้ชมในฐานะหญิงแกร่งที่ลบล้างภาพลักษณ์ผู้หญิงทั่วไปที่สังคมกำหนดมาอย่างสิ้นเชิง
นับได้ว่า Alien เป็นภาพยนตร์ที่ไม่เพียงส่งมอบความบันเทิงท้าทายความคิดของผู้ชมที่ไม่สามารถหาได้ในภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์และสยองขวัญเรื่องอื่น
มาร่วมออกเดินทางไปกับกลุ่มนักตะลุยอวกาศรุ่นใหม่ ซึ่งกำลังทะยานเข้าสู่ฝันร้ายอย่างที่ไม่มีใครจินตนาการถึงกับ Alien: Romulus ด้วยผลงานการกำกับของเฟเด อัลบาเรซ (Fede Alvarez) ที่เคยฝากความสยองขวัญไว้กับ Evil Dead (2013) และมีริดลี่ย์ สก๊อตนั่งแท่นเป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์
ต่อให้กรีดร้องก้องกู่จนสุดเสียง ก็ไม่มีใครในจักรวาลอันเงียบงันที่สามารถได้ยิน
Sources:
- Men, Women, and Chainsaws: Gender in the Modern Horror Film โดย Carol J. Clover
- The Dread of Difference : Gender and the Horror Film โดย Barry Keith Grant
- The Final Girl versus Wes Craven’s A Nightmare on ElmStreet:Proposing a Stronger Model of Feminism in Slasher Horror Cinema โดย Kyle Christensen
- The Monstrous-Feminine: Film, Feminism, Psychoanalysis โดย Barbara Creed
- Woman: The Other Alien in Alien โดย Rebecca Bell-Metereau
- http://avp.wikia.com/wiki/Alien_(film)
- http://www.avp.siligon.com/a_giger.htm
- https://screenrant.com/alien-trans-woman-joan-lambert-lgbtq
- https://www.20thcenturystudios.com/movies/alien