กว่าจะขึ้นทะยานสู่ดวงจันทร์ Fly Me To The Moon ก็ยังชวนไปทำความรู้จักกับนักแสดงเจ้าบทบาทอย่าง Scarlett Johansson ที่ในครั้งนี้มาพร้อมกับบทบาทหลังกล้อง ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง ผ่านทาง These Pictures บริษัทของเธอ ที่เธอก่อตั้งร่วมกับโจนาธาน เลีย ซึ่งเธอเองก็ได้เปิดเผยว่า “ฉันไม่เคยตั้งใจจะรับบทเคลลีเลย” สการ์เล็ตต์กล่าว “แต่ตอนที่บทหนังเรื่องนี้เข้ามา มันก็ยอดเยี่ยมเหลือเกิน มันเป็นบทที่วิเศษสุดและไดอะล็อคก็แข็งแรงมากๆ ในฐานะผู้อำนวยการสร้างผู้หญิง ที่ทำงานกับมือเขียนบทผู้หญิง ผู้สร้างตัวละครหญิงแกร่งขึ้นมา มันก็ให้ความรู้สึกที่ใช่ค่ะ” เธอต้องแสดงบทนี้
สำหรับงานกำกับ สการ์เล็ตต์เลือก ตามตื๊อ และท้ายที่สุดก็กล่อมเบอร์แลนติให้มากุมบังเหียนภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ เบอร์แลนติ หนึ่งในมือเขียนบท/ผู้อำนวยการสร้างจอแก้วที่มีผลงานมากที่สุด แทบจะไม่เคยเลือกงานกำกับเลย โดยเฉพาะภาพยนตร์ แม้ว่า Love, Simon เมื่อปี 2018 ของเขา จะได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมและกลายเป็นขวัญใจของผู้ชมก็ตาม ตอนที่ทาบทามเขา พวกเขาก็ตระหนักดีว่า เบอร์แลนติมีงานยุ่งมาก และผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาก็เข้าฉายตั้งหกปีมาแล้ว “เกร็กแทบจะไม่เคยไขว่คว้าหาโปรเจ็กต์ไหนเลย” เลียกล่าว “แต่เขาเข้าใจบทหนังเรื่องนี้ตั้งแต่นาทีแรกที่เขาได้อ่านมัน และเขาก็รู้สึกอย่างแรงกล้าว่าเขารู้วิธีที่จะเล่าเรื่องราวนี้”
เบอร์แลนติหลงเสน่ห์แนวคิดของภาพยนตร์เกี่ยวกับอพอลโล 11 “ตอนเป็นเด็ก ผมคลั่งเรื่องอวกาศมาก” เขากล่าว “ตอนที่เรามีลูกชายเมื่อแปดปีที่แล้ว สิ่งแรกที่เราซื้อมาแต่งห้องของเขาคือภาพขนาดเท่าของจริงของชุดนักบินอวกาศของนีล อาร์มสตรองครับ”
“เกร็กมักจะทำงานทั้งหมดของเขา ไม่ว่าจะในฐานะผู้กำกับหรือมือเขียนบทหรือผู้อำนวยการสร้าง จากมุมมองความเป็นมนุษย์ อารมณ์ขันและหัวใจ” เช็ชเตอร์กล่าว “เขาเชี่ยวชาญด้านการผสมผสานโทนต่างๆ ทางด้านอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นในหนังเรื่อง Love, Simon ของเขาหรือโปรเจ็กต์จอแก้วเรื่องไหนๆ ของเขาก็ตาม แนวทางของเกร็กคือการรักษาทุกสิ่งที่วิเศษสุดเกี่ยวกับบทเอาไว้ ทั้งความแปลกใหม่ของมัน ฉากเยี่ยมๆ ทั้งหมด แล้วจับมันมาผสมกันเพื่อให้ผู้ชมได้เพลิดเพลิน”
แน่นอนว่าในครั้งนี้ Fly Me to the Moon ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรนาซาและได้ร่วมงานกับที่ปรึกษาด้านเทคนิคหลายคน ผู้มีบทบาทสำคัญในหน่วยงานด้านอวกาศในช่วงโครงการอพอลโล
คนอาจจะคิดว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะได้รับความร่วมมือจากนาซา สำหรับภาพยนตร์ที่เล่าถึงบุคคลลึกลับจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สั่งให้มีการถ่ายทำฉากลงสู่ดวงจันทร์ปลอมขึ้นมา หลายคนเชื่อว่าทฤษฎีสมคบคิดนั้นเป็นเรื่องจริง ไม่ว่าจะมีหลักฐานมากมายแค่ไหนว่ามนุษย์ได้ไปเหยียบบนดวงจันทร์จริงๆ “หลายคนบอกเราว่าเราเสียเวลาไปกับการขออนุญาตถ่ายทำที่เคนเนดี้ สเปซ เซ็นเตอร์ กับหนังที่มีการปลอมฉากลงสู่พื้นดวงจันทร์” เลียกล่าว “แต่นาซาดูบทของเราและเรื่องราวของเราอย่างเป็นกลาง และพวกเขาก็เห็นในสิ่งที่เราเห็นในบทหนังเรื่องนี้ นั่นคือโอกาสในการเฉลิมฉลองความสำเร็จยิ่งใหญ่ในสเกลที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือคนจำนวน 400,000 คนที่ทำงานในโครงการนี้”
ในบรรดาแนวทางทั้งหมดที่การร่วมงานกับนาซาได้ช่วยเติมเต็มภาพยนตร์เรื่องนี้ให้สมบูรณ์ขึ้น บางที หนึ่งในสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับผู้คลั่งไคล้อวกาศอย่างเบอร์แลนติก็คือการที่เขาได้รับสิทธิในการเข้าถึงฟุตเตจที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อนจากช่วงเวลาของโครงการอพอลโล
การสนับสนุนจากนาซายังเปิดประตูไปสู่ที่ปรึกษาทางเทคนิคหลายคน ผู้นำเราไปสู่ดวงจันทร์เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา “มันเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่เราจะได้ความสมจริงจากผู้คนที่เคยอยู่ตรงนั้นจริงๆ ครับ” ฟลินน์กล่าว “พวกเขามีเรื่องราวที่ตัวเราเองไม่อาจจะจินตนาการได้ครับ”
เกอร์รี กริฟฟินรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการลินในการควบคุมภารกิจระหว่างภารกิจอพอลโลที่มีผู้บังคับยาน ในบรรดาการลงจอดที่ดวงจันทร์หกครั้ง เขาเป็นคนควบคุมทีมที่ลงจอดที่นั่นสามครั้ง หลังจากนั้น เขาได้รับหน้าที่รองผู้อำนวยการศูนย์เคนเนดี้ สเปซ เซ็นเตอร์ ก่อนที่จะมารับตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์จอห์นสัน สเปซ เซ็นเตอร์
สำหรับกริฟฟิน ไอเดียในการสำรวจอวกาศข้องเกี่ยวกับประสบการณ์ความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้ง “การสำรวจอยู่ในดีเอ็นเอของเรา” เขากล่าว “เราจะทำอะไรได้ เราจะหาอะไรได้ เราจะไปที่ไหนได้ เราจะทำอะไรได้ดีขึ้นบ้าง…ไอเดียเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นในตัวของเราครับ”
“ผู้อำนวยการการบินในการควบคุมภารกิจเหมือนกับวาทยกรวงออร์เคสตรามากเลยครับ” กริฟฟินอธิบาย แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษแล้วนับตั้งแต่อพอลโล 11 แต่บุคคลสำคัญหลายคน ซึ่งรวมถึงกริฟฟิน ก็ยังคงอยู่กับเราเพื่อเล่าถึงประสบการณ์และความชำนาญของพวกเขา ซึ่งนั่นเป็นเพราะนาซานำงานของการทำงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติให้สำเร็จมาอยู่ในมือของกลุ่มคนที่อายุน้อยมากๆ “เราต่างก็อายุน้อยกันอยู่เลยครับ” เขากล่าว “มีพวกเราหกคนที่ทำงานทั้งหมดเกี่ยวกับอพอลโล ผมอายุ 33 ปีตอนที่ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการบิน และผมก็มีอายุอยู่ตรงกลางในบรรดาหกคนนั้น คนที่อายุมากที่สุดอายุ 36 ปีและคนที่อายุน้อยที่สุดอายุ 32 ปี มันก็เลยเหมือนกับเด็กๆ กลุ่มหนึ่งมาสนุกสนานกับการทำงานที่จริงจังมากๆ และมันก็ได้ผลครับ”
ท้ายที่สุดแล้ว แฟรงค์ ฮิวจ์ก็กลายมาเป็นหัวหน้าฝ่ายฝึกฝนสำหรับนาซาทั้งหมด แต่ในตอนที่เขาเข้าทำงานที่หน่วยงานนี้ครั้งแรกในปี 1966 เขาทำหน้าที่เป็นครูสอนซิมูเลเตอร์ ที่ได้ร่วมงานกับนีล อาร์มสตรอง, บัซ อัลดรินและไมเคิล คอลลินส์ (รวมไปถึงนักบินคนอื่นๆ ของยานเจมินีและอพอลโล) ใน Fly Me to the Moon เขาได้ร่วมงานกับนักแสดงนิค ดิลเลนเบิร์ก, โคลิน วู้ดเดลและคริสเตียน ซูเบอร์ ผู้รับบทอาร์มสตรอง, อัลดรินและคอลลินส์ตามลำดับ เพื่อให้พวกเขาแสดงได้อย่างเหมาะสม “สิ่งที่เราทำกันในวันนั้น ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทุกอย่างที่เราทำเป็นสิ่งที่เพิ่งเคยถูกทำขึ้นมาเป็นครั้งแรก” ฮิวจ์กล่าว