[Exclusive Interview] Solids by the Seashore เมื่อทะเลคลื่นนั้น ล่องลอยไปไกลแสนไกล

| | , ,

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ทาง Sapphic Union ได้มีโอกาสร่วมชมภาพยนตร์เรื่อง “Solids by the Seashore (ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง)” ภาพยนตร์จากประเทศไทยที่ได้ร่วมฉายใน BFI Flare 2024 เทศกาลภาพยนตร์ LGBTQIA+ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยการจัดฉายรอบนี้ คุณกอหญ้า-ไอลดา พิศสุวรรณ ผู้รับบทเป็น “ชาตี” ในเรื่อง ได้ให้เกียรติมาร่วมพูดคุยและตอบคำถามหลังภาพยนตร์จบ ทางเราจึงเก็บภาพบรรยากาศภายในงาน และยังมีสัมภาษณ์สุดพิเศษจากคุณกอหญ้ามาฝากกันอีกด้วย

solids by the seashore - BFI Flare 2024 - 1
Solids by the Seashore – BFI Flare 2024

เลียบริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ ณ กรุงลอนดอน เพียงหันมองไปรอบข้างก็จะพบกับโรงภาพยนตร์ BFI Southbank สถานที่ที่พาให้เราหลุดไปยังโลกของศิลปะ ด้วยเพราะตรงจุดนั้นถือเป็นศูนย์รวมของฮอลจัดคอนเสิร์ต แกลอรี่ ละครเวที ดนตรีคลาสสิก และอีกมากมาย

เมื่อก้าวเท้าเข้ามาถึงโรงภาพยนตร์ บรรยากาศข้างในเต็มไปด้วยผู้คนที่จับจองที่นั่งกันอย่างคับคั่ง ก่อนไฟจะดับลง และภาพยนตร์จะขึ้นจอฉาย คุณกอหญ้าออกมาปรากฏตัวพร้อมกับพิธีกรเพื่อกล่าวทักทายและแนะนำตัวคร่าวๆ เสียงฮือฮาเกิดขึ้นเมื่อเธอบอกว่านี่เป็นผลงานการแสดงเรื่องแรก เพราะอาชีพหลักของเธอคือการเป็น “นักข่าวเศรษฐกิจ” และขณะนี้เธอก็กำลังศึกษาต่อปริญญาโทที่กรุงลอนดอนด้วยเช่นกัน

Solids by the Seashore: คลื่นทะเลจากแดนใต้ พัดมาไกลถึงลอนดอน

หลายคนอาจเคยได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Solids by the Seashore มาแล้ว มันบอกเล่าถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น อย่างเรื่องแนวกั้นคลื่นริมหาดทรายที่สะท้อนคู่ขนานไปกับความสัมพันธ์ของหญิงสาวสองคนที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งการใช้ชีวิต แนวคิด และศาสนา ภาพยนตร์ใช้ภาพและเสียงของธรรมชาติอันอ่อนโยน ร้อยเรียงตัดสลับไปกับความขัดแย้งที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นทางธรรมชาติและภายในจิตใจ เมื่อความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งสองพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ

เสียงปรบมือเกรียวกราวดังทั่วโรงเมื่อเครดิตท้ายเรื่องขึ้นจอ คุณกอหญ้าออกมากล่าวขอบคุณและเริ่มต้นช่วงตอบคำถามจากผู้ชม เธอกล่าวติดตลกว่าการแสดงเรื่องนี้คงเป็นเรื่องแรกและเรื่องสุดท้ายหลังจากที่ได้รับคำชมมากมาย เธอบอกว่าเป็นความบังเอิญที่ได้เจอกับคุณอิฐ-ปฏิภาณ บุณฑริก ผู้กำกับของเรื่อง เลยตกลงรับเล่นด้วย เพราะรู้สึกถึงความเชื่อมโยงของเธอกับตัวละครชาตีในเรื่อง ยิ่งเธอเติบโตมาในครอบครัวมุสลิมที่ค่อนข้างเคร่งครัด เลยอยากที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ออกมา

ภาพจากภาพยนตร์ Solids by the Seashore
ภาพจากภาพยนตร์ Solids by the Seashore

ความท้าทายในการถ่ายทอดประเด็นที่ละเอียดอ่อน

คำถามมากมายจากผู้ชมหลั่งไหลเข้ามาราวกับคลื่นซัด ที่เห็นได้ชัดคือความท้าทายที่มีต่อความเชื่อทางศาสนา โดยฉายภาพความใกล้ชิดระหว่างหญิงสาวสองคน รวมถึงฉากถอดฮิญาบ (ผ้าคลุมศีรษะของผู้หญิงมุสลิม) ออก ซึ่งการที่ตัวละครตัดสินใจถอดฮิญาบให้เห็นเส้นผม ที่เปรียบเหมือนสิ่งต้องห้ามของหญิงมุสลิม เป็นสิ่งที่ต้องซ่อนเร้นต่อสายตาคนนอก แต่ตัวละครชาตีในเรื่อง กลับอนุญาตให้ฝนได้ลูบไล้ผมยาวสลวยของเธออย่างนุ่มนวลและอ่อนโยน หนึ่งในผู้ชมถามว่าทำไมถึงเลือกใช้ฉากนี้ถ่ายทอดความใกล้ชิดและความรู้สึกในใจของตัวละคร แทนการแสดงอย่างอื่นที่มากกว่านั้น เช่น การจูบ คุณกอหญ้าตอบว่าเพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการบอกเล่าอย่างประนีประนอมต่อสังคมมุสลิมและใช้การแสดงออกที่แสนธรรมดา แต่ทว่าก็มีความหมายที่ไม่ได้ด้อยค่าไปกว่าการจูบเลย เธอยังบอกอีกว่ามีการจัดฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในชุมชนมุสลิมและได้รับคำตอบรับที่ดี ไม่มีการติติงอะไร ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เห็นว่าสังคมมีการเปิดรับในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

แต่คำถามที่ถูกถามมากที่สุดในวันนั้น คงไม่พ้น ‘ฉากจบ’ ของเรื่อง ที่ค่อนข้างคลุมเครือว่าเหตุการณ์ที่เห็นตรงหน้า อะไรคือความจริง อะไรคือภาพลวง คุณกอหญ้าตอบว่านั่นขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ชมว่าจะเลือกเชื่อในสิ่งไหน ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดกว้างต่อทุกคนและทุกการวิเคราะห์ ในความคิดของเธอ เธอมองว่าการเลือกเส้นทางหนึ่งคือการยอมสูญเสียอีกเส้นทาง แต่นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต

Solids by the Seashore - BFI Flare 2024
Solids by the Seashore – BFI Flare 2024

บทสัมภาษณ์พิเศษระหว่างคุณกอหญ้า และ Sapphic Union

มาถึงช่วงสัมภาษณ์สุดพิเศษกับ Sapphic Union ที่ทางที่คุณกอหญ้าให้โอกาสและสละเวลามาพูดคุยกัน เนื่องด้วย Solids by the Seashore บอกเล่าความสัมพันธ์ของแซฟฟิค (หรือหญิงรักหญิง) ท่ามกลางกระแสคลื่นของสื่อแซฟฟิคที่ผลิตออกมา ภาพยนตร์เรื่องนี้โดดเด่นในแง่ของการนำเสนอ และประเด็นในเรื่องก็น่าสนใจ ซึ่ง ‘หัวใจสำคัญ’ ของการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ คุณกอหญ้าบอกว่าคุณคาลิล พิศสุวรรณ ผู้เขียนบทของเรื่อง ต้องการบอกเล่าถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคใต้และเรื่องของผู้หญิงในสังคมมุสลิมที่ไม่ได้ถูกถ่ายทอดให้เห็นในสื่อมากเท่าที่ควร จากนั้นก็ขยายมาเป็นภาพยนตร์ที่พูดทั้งเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม สอดคล้องไปกับความสัมพันธ์แซฟฟิคตามที่ได้เห็นกัน

Q: กระแสของหนังเรื่องนี้ที่ไทยออกมาค่อนข้างดี มีการชมกันปากต่อปาก และตอนนี้ก็ขยับขยายไปฉายตามเทศกาลต่างๆ ในต่างประเทศ อยากทราบความรู้สึกของคุณกอหญ้า ว่ารู้สึกอย่างไรบ้างคะ ที่หนังที่เรามีส่วนร่วมได้เข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น

คุณกอหญ้า: ตอนแรกไม่ได้คิดว่ากระแสจะดีขนาดนี้นะคะ โดยเฉพาะกระแสในต่างประเทศด้วย ซึ่งตอนนี้เราก็เดินทางไปฉายในหลายประเทศมากๆ อยากจะบอกว่าขอบคุณทุกคนที่ช่วยสนับสนุนผลงานของพวกเรา ทุกการสนับสนุน ทุกกำลังใจ และคอมเมนต์ต่างๆ มันมีค่ากับคนทำงานมากๆ เลยนะคะ ก็รู้สึกขอบคุณจริงๆ ที่ช่วยให้ฟีดแบคต่างๆ กลับมา กอหญ้าคิดว่าเราเป็นจุดเล็กๆ ที่ช่วยผลักดันประเด็นที่เกี่ยวกับการส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่ทำงานสร้างสรรค์ แต่รวมไปถึงมิติอื่นๆ ด้วยเช่นกัน อย่างการผลักดันกฎหมายในอนาคต ก็ช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเด็นนี้ในสังคมไปด้วยกันนะคะ

Q: หลายคนยกให้ Solids by the Seashore เป็นหนังแซฟฟิคของไทยที่ชอบมากที่สุด ด้วยการนำเสนอของเรื่องราว การบ่มเพาะความสัมพันธ์ของตัวละคร กลุ่มเพศหลากหลายได้มองเห็นตัวตนของตัวเองอยู่บนหน้าจอ ทั้งความเป็นเควียร์ และเควียร์มุสลิม ตรงนี้คุณกอหญ้ามีอะไรอยากพูดถึงไหมคะ

คุณกอหญ้า: ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ถ้าพูดในภาพรวมทั่วไป ก็เป็นประเด็นที่เราเชื่อว่าทุกวันนี้มันเปิดรับมากขึ้นนะคะ แต่ถ้าพูดถึงการเป็นเควียร์ในสังคมมุสลิม ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นการพูดถึงแค่เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น การทำงานนี้ออกมาก็เหมือนเป็นการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาให้สังคมได้ขบคิดและพูดถึงกัน ซึ่งวิธีการที่เรานำเสนอมันก็ไม่ได้ aggressive (ดุดัน) เกินไป แต่เราพยายามนำเสนอความเป็นมนุษย์ของคนสองคน ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าเขาเป็นเพศอะไร ก็รู้สึกว่าสำหรับประเด็นนี้ การที่เราเลือกนำเสนอในลักษณะนี้ อาจทำให้คนที่อยู่ในสังคมมุสลิมเอง หรือคนที่สนใจประเด็นความหลากหลายทางเพศ เปิดใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น และก็ทำให้เราสามารถขับเคลื่อนให้สังคมก้าวหน้าขึ้นโดยเฉพาะเรื่องเพศมากกว่านี้ในอนาคตค่ะ

Q: การร่วมงานกับทีมงานทุกคนเป็นอย่างไรบ้างคะ อุปสรรคความยากง่ายต่างๆ ในการถ่ายทำ หรือมีโมเมนต์อะไรพิเศษที่ประทับใจและอยากแชร์บ้างไหม

คุณกอหญ้า: ตอนที่ทำงานกับทีมงาน พี่อิฐ (ผู้กำกับ) และพี่คาลิล (คนเขียนบท) ก็รู้สึกว่าเรามีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการเขียนบทเลย เพราะว่าเขาให้เราอ่านดราฟต์ทุกดราฟต์ที่ทำมาเลยค่ะ และสิ่งหนึ่งที่เรากังวลตลอดคือพอเราพูดถึงผู้หญิง โดยเฉพาะความรักของผู้หญิงกับผู้หญิง บางทีผู้กำกับหรือคนเขียนบทที่เป็นผู้ชายมาเล่า มันจะเป็นการมองจากมุมของผู้ชายมากเกินไปรึเปล่า แต่สำหรับเรื่องนี้ กอหญ้ากล้าพูดเลยว่ามันไม่เป็นแบบนั้นค่ะ พี่อิฐก็พยายามเช็คกับพวกเราตลอดว่าทั้งหมดที่ทำมา รู้สึกว่ามันเป็น male dominant (การครอบงำโดยผู้ชาย) มากเกินไปไหม ซึ่งเราก็ดูว่าฉากนี้อาจจะใช่ ฉากนี้อาจจะไม่ใช่ ก็ปรับกันมาเรื่อยๆ ค่ะ ที่สำคัญตากล้องที่เป็นคนถ่ายหนังทั้งเรื่องนี้เป็นผู้หญิงด้วย เพราะฉะนั้นฉากต่างๆ ที่มีศิลปะสวยๆ โดยเฉพาะการเห็นเรือนร่างหรือการเห็นส่วนต่างๆ ของผู้หญิง ก็ถ่ายทอดโดยช่างภาพที่เป็นผู้หญิง เราค่อนข้างมั่นใจว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นหนังที่ถ่ายถอดแบบ male gaze หรือ male dominant แน่นอน เราตั้งใจทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนได้ซึมซับกับความเป็นผู้หญิง ทั้งหมดทั้งเรื่องที่มันสวยงาม อยากบอกว่ามันเกิดจากความตั้งใจที่อยากให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากขึ้นด้วยค่ะ

Q: ร่างกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” วาระที่ 2-3 กำลังจะเข้าสู่สภาอีกครั้ง ในฐานะที่คุณกอหญ้าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานที่บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มคนเพศหลากหลาย มีอะไรที่อยากฝากถึงทุกคนไหมคะ

คุณกอหญ้า: สำหรับเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นรูปธรรมที่สุดเนอะ รู้สึกว่าการผ่านร่างแรกของสมรสเท่าเทียมในเมืองไทยถือเป็นนิมิตหมายอันดีมากๆ ตอนผ่านร่างแรกก็เป็นช่วงเดียวกับที่หนังของเราฉายเปิดตัวในเมืองไทยด้วย ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่ดีเนอะ แต่ว่าเราก็ยังมีเส้นทางอีกยาวไกลที่อยากจะผลักดันประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลากทางเพศ และความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะ ‘สมรสเท่าเทียม’ กอหญ้าคิดว่าเราเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของการผลักดันเรื่องนี้ แต่ว่าทุกคน ทั้งกลุ่ม Sapphic Union ด้วย หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่พยายามส่งเสียง พยายามเรียกร้องประเด็นนี้มาตลอด มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในเชิงสังคม โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมาย ก็มาติดตามกันต่อนะคะสำหรับเรื่อง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม คิดว่าน่าจะผ่านและอาจจะบังคับใช้ได้จริงในเร็วๆ นี้นะคะ (ยิ้ม)

Q: มาถึงคำถามสบายๆ กันบ้าง ดูเหมือนว่าคุณกอหญ้าชอบดูหนัง อยากทราบว่า 4 หนังโปรดตลอดกาลในใจ มีเรื่องไหนบ้างคะ

คุณกอหญ้า: โอเค เรื่องแรกนะคะ ชอบเรื่อง Past Lives (2023) ค่ะ เป็นหนังที่เล่นกับความรู้สึกของเรา มันทำให้เรารู้สึกอึดอัด แล้วก็ชอบหนังที่ให้ความสำคัญกับเรื่องบทค่ะ ก็คิดว่ามันเป็นหนังที่โอเคสำหรับเรา เรื่องที่ 2 คือ Green Book (2018) ค่ะ เป็นหนังที่ชอบมากๆ เหมือนกัน มันพูดถึงการตัดสินคนด้วยชาติกำเนิด ด้วยสีผิว รู้สึกว่าสุดท้ายคนเรามันไม่ได้ตัดสินกันที่รูปลักษณ์ภายนอกหรอก มันจะมีคำนึงที่ตัวละครพูดประมาณว่า “You only win when you maintain your dignity.” เลยรู้สึกว่าจริงๆ พฤติกรรมหรือว่าการให้เกียรติคนอื่นของเราสำคัญมากกว่าว่าเราคือใคร ส่วนเรื่องที่ 3 ก็เป็น The Lobster (2015) ของ Yorgos Lanthimos นะคะ มันเป็นไอเดียที่เราชอบมาก พูดเกี่ยวกับความโสด เหงา เป็นล็อบสเตอร์ เราชอบหนังที่มันมีความเหวอๆ คาดเดาไม่ได้ หนังที่มันมีความคัลท์ (cult) นิดๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชอบเหมือนกันนะคะ

(เงียบ) ยากจัง… เรื่องสุดท้าย Solids by the Seashore (2023) ค่ะ (หัวเราะ) ก็เป็นหนังของเราเองนะคะ รู้สึกขอบคุณหนังเรื่องนี้ที่ทำให้เราได้มารู้จักกับกลุ่ม Sapphic Union ด้วย เพราะเราไม่เคยรู้มาก่อนตอนที่ทำหนังว่ามันมีกลุ่มเหล่านี้อยู่ พอเราทำหนังเรื่องนี้ออกมา ก็ได้รู้จักกับกลุ่มนี้มากขึ้น เป็นกลุ่มที่เชื่อมโยงกันด้วยประเด็นที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เห็นว่าล่าสุดผลักดันความชอบของตัวเองจากทวิตเตอร์ไปสู่การผลักดันภาคสังคมเป็นเรื่องเป็นราว ก็เป็นกำลังใจให้กลุ่มแซฟฟิคด้วยนะคะที่ติดตามหนังของเรา แต่ขณะเดียวกันก็พยายามผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนทางสังคม ขอบคุณมากๆ นะคะ (ยิ้ม)

Solids by The Seashore (ตัวอย่างภาพยนตร์) ฉายแล้ววันนี้

สัมภาษณ์โดย Zugroß
เรียบเรียงโดย Zugroß และ  Poyhooood (ภวังค์​หนัง​)

ขอขอบคุณ คุณกอหญ้า – ไอลดา พิศสุวรรณ

Previous

เมืองแห่งมังกรเตรียมลุกเป็นไฟ House of the Dragon ซีซั่น 2 เตรียมฉาย 17 มิถุนายนนี้

rouri404 Leans Into Raw Emo Stylings on New Single “shotgun carousel”

Next