เย็นย่ำวันอาทิตย์ ณ คาเฟ่ที่แทรกตัวอยู่ในตึกผลไม้ริมถนนทรงวาด สถานที่แห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่คูหาของหมู่ตึกทรงเสน่ห์ในย่านเก่าแก่ แต่สำหรับใครคนหนึ่งแล้ว ที่นี่เก็บรวบรวมชิ้นส่วนความทรงจำซึ่งกลายเป็นส่วนผสมสำคัญในการร้อยเรียงเรื่องราวเพื่อก้าวข้ามผ่านกรอบความเป็นชายหญิงที่สังคมประกอบสร้างขึ้น
ทุกอย่างมาบรรจบกันในจุดเริ่มต้นที่งานเปิดตัวหนังสืออันกามการุณย์ Non fa niente ผลงานเล่มล่าสุดจากปลายปากกาของ LADYS นักเขียนที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์พื้นที่ของ LGBTQIAN+ ในแวดวงวรรณกรรมให้อยู่ในการรับรู้กระแสหลัก หนึ่งในสองผู้ก่อตั้งลาดิดและมูนสเคป (Ladys and Moonscape) สำนักพิมพ์ที่มุ่งเน้นผลิตงานเขียนเพื่อผลักดันให้ภาพตัวแทนของเควียร์ (Queer representation) ในหนังสือมีความแพร่หลายขึ้น
บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายที่หาไม่ได้จากที่อื่น เมื่อนักเขียน นักวาดภาพปก บรรณาธิการ ผู้ประกอบการท้องถิ่น และพันธมิตรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนความตระหนักรู้ด้านความหลากหลายทางเพศในสังคมมารวมตัวกันเพื่อแสดงความยินดีกับงานเขียนโดยเควียร์ เพื่อผู้อ่านเควียร์จะได้มีโอกาสรับรู้ถึงการมีตัวตนของตัวเองในสื่อ พร้อมทั้งช่วยกันส่งต่อความหวังให้กันและกัน
Destroy the ‘cis’-tem
อันกามการุณย์ งานเขียนแนวกระแสสำนึกที่ชวนดื่มด่ำไปกับห้วงความคิดของตัวละครตามแบบฉบับของ LADYS นำเสนอภาพตัวแทนของตัวเอกที่เป็นผู้ชายข้ามเพศ (Trans man) ผ่านมุมมองความห่วงหาอาทรในฐานะบุคคลผู้ให้กำเนิดที่ไม่มีวันแปรเปลี่ยน แม้ว่าอัตลักษณ์จะลื่นไหลพ้นความเป็นขนบของสังคมไปแค่ไหนก็ตาม
ผู้เขียนเน้นย้ำว่า “กาม” ในบริบทนี้ ไม่ได้หมายความถึงแค่ความใคร่ทางกามารมณ์ แต่ต้องการสื่อความหมายของการยอมรับ โดยเฉพาะการยอมรับในอัตลักษณ์และตัวตนของผู้คน ตามด้วยคำว่า “การุณย์” ที่มาจากการกระทำของตัวละครในเรื่องที่ได้รับการต้อนรับด้วยความการุณย์
ในส่วนของชื่อภาษาอิตาเลียน Non fa niente แปลว่า ไม่เป็นไร สะท้อนถึงการไม่ติดใจ ถ้าหากใครสักคนจะเปลี่ยนแปลงไปจากที่เราเคยรู้จัก จากเพศกำเนิดที่ยึดโยงกับอวัยวะอย่างมดลูก เต้านม หรือหน้าที่ของความเป็นแม่ของผู้หญิงตามบรรทัดฐานสังคม
ภายหลังจากการอ่านบางช่วงบางตอนของหนังสือให้ผู้เข้าร่วมงานได้ฟัง มวลอารมณ์ของผู้เข้าร่วมงานในห้วงนั้นถูกเติมเต็มไปด้วยความรู้สึกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความตื้นตันระหว่างสายใยของผู้ให้กำเนิดกับลูก รวมทั้งความอัดอั้นที่บีบคั้นอยู่ภายในอก แต่นั่นเทียบไม่ได้เลยกับความทุกข์ทรมานใจที่เกิดจากความเป็นอื่นในร่างกายตัวเองที่คนข้ามเพศ (Transgender) ต้องเผชิญ
“ลลนา-ตัวเอกของเรื่อง นับเป็นตัวละครที่ชอบมากที่สุด จากการที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงคนข้ามเพศอย่างตรงไปตรงมา ถ่ายทอดปัญหาและอุปสรรคที่คนกลุ่มนี้ต้องเจอโดยไม่ต้องใส่สัญญะทางวรรณกรรมใดๆ”
ยิ่งไปกว่านั้น ขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลได้มีการศึกษาจากประสบการณ์ของชายข้ามเพศในสังคมจากเพจเฟสบุ๊ค FTM Thailand สังคมของผู้ชายข้ามเพศ ชุมชนออนไลน์ที่มีจุดประสงค์ให้ความรู้และคำปรึกษาแก่บุคคลข้ามเพศและคนที่สนใจ เพื่อให้มั่นใจว่านำเสนอภาพของชายข้ามเพศได้อย่างถูกต้อง รวมถึงเป็นการให้เกียรติกลุ่มคนเจ้าของเรื่องราวที่ถูกหยิบยกมาในหนังสือ
การท้าชนระบบสองเพศที่ฝังรากลึกในสังคมผ่านการบอกเล่าเรื่องราวของเควียร์ทำให้ความหลากหลายทางเพศกลายเป็นเรื่องปกติ โดยปราศจากการอธิบายความในหนังสือให้ยืดยาว แต่คนอ่านสามารถเข้าใจ เรียนรู้ที่จะยอมรับและเคารพในความแตกต่างของผู้อื่น ไม่ตีขลุม แปะป้ายหรือสันนิษฐานเอาเองจากเนื้อกายภายนอก เพราะแต่ละคนต่างมีมิติทางเพศที่แตกต่างกันไป
“เราเป็นนักเขียนที่อยากจะทำลายคอนเซ็ปต์เพศทวิลักษณ์ (Gender Binary) ทั้งหมด นี่คือสิ่งที่เราต่อสู้ เพราะงานเขียนที่เป็นเสียงของเควียร์ไม่ใช่ตลาดหลักไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ” LADYS กล่าว
Listen Closely to Your Voice
ฉากหลังของการถ่ายทอดเรื่องราวอันกามการุณย์เกิดขึ้นในสองพื้นที่แห่งความผูกพันในใจของผู้เขียนอย่างย่านทรงวาดและเมืองฟลอเรนซ์ หรือเมืองฟีเรนเซในภาษาอิตาเลี่ยน ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันในหลายมิติ โดยเฉพาะความเป็นเมืองเก่าที่โดดเด่นไปด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมสะท้อนวิถีชีวิตหลากหลาย
ฟีเรนเซเป็นเมืองที่ LADYS เคยไปเยือนขณะศึกษาอยู่ในคณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 และตั้งใจจะกลับไปอีกครั้งให้ได้ คราวนี้เขาได้กลับไปในบทบาทของนักเขียน ผู้ที่ทุ่มเทพลังตลอด 40 วันตั้งแต่ยามบ่ายจนถึงเย็นย่ำ นำประสบการณ์ส่วนตัวที่ไม่เคยพูดมาเรียบเรียงผ่านตัวละครที่โลดแล่นอยู่ในหนังสือ จนเกิดเป็นผลงานฉบับสมบูรณ์ที่มีความยาวกว่าชิ้นอื่นๆ ที่ผ่านมา
เมื่อต้องไปใช้ชีวิตต่างบ้านต่างเมือง โดยไม่สามารถรู้ได้เลยว่าการแสดงออกว่าตัวเองคือเควียร์อย่างชัดเจนจะปลอดภัยหรือถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศหรือไม่ แล้วคนต่างวัฒนธรรมที่นั่นมีทัศนคติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างไร สิ่งน่ากังวลเหล่านี้ทำให้การรับรู้ถึงปัญหาที่คนข้ามเพศต้องเจอได้เด่นชัดขึ้น ทั้งจากการที่ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายตนเอง หรือความหวาดระแวงที่ทำให้ต้องปกปิดความเป็นตัวเองไว้
“ในฐานะนอน-ไบนารี่ (Non-binary) ที่สามารถลื่นไหลไปมาระหว่างการเป็นหญิงหรือชาย เราไม่เคยได้มานั่งพิจารณาร่างกายตัวเองอย่างใกล้ชิดขนาดนี้ ทำให้ตระหนักถึงสิทธิพิเศษที่มีร่างกายตรงกับสิ่งที่เป็น แม้ว่าในบางวันจะรู้สึกว่าเนื้อหนังที่ห่อหุ้มตัวเราไม่พอดีสักเท่าไหร่”
ระหว่างที่งานเปิดตัวหนังสือดำเนินไป แสงสุดท้ายของวันก็ได้สาดส่องผ่านกระจกสีอันเป็นเอกลักษณ์ของร้าน Arteasia Desserts & Cafe บนถนนทรงวาด สถานที่ที่เปรียบเสมือนสารตั้งต้นให้ LADYS ตัดสินใจก้าวเดินจากสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย จนเป็นโอกาสให้หันกลับมาสะท้อนมองดูชีวิต หาบทสรุปให้กับเรื่องราวในอดีตด้วยตัวเอง ปลดเปลื้องตะกอนความคิดที่ติดค้างออกไป และเป็นเครื่องเตือนความจำให้นึกถึงช่วงเวลาสำคัญที่ลืมไม่ลงผ่านงานดังกล่าว
“ถ้าไม่เคยทำงานที่ร้านนี้ คงไม่มีวันคิดออกเดินทางไกลบ้าน”
ประสบการณ์ชีวิตในฟีเรนเซเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากถ่ายทอดความรักความห่วงใยจนออกมาเป็นมุมมองที่ตัวเอกของเรื่องสื่อสารกับลูกภายในใจถึงสิ่งต่างๆ ที่พบเจอ เหมือนที่ตนเองได้รับจากคนเป็นแม่ตลอดการเดินทาง ไม่ว่าตัวจะอยู่ห่างไกลแค่ไหน
เพราะลูกคือสรณะที่อยู่ในห้วงคำนึงของผู้ให้กำเนิดเสมอ
อันกามการุณย์ Non fa niente
ผู้เขียน: LADYS
วาดภาพประกอบ: จัง เสนารักษ์
สำนักพิมพ์: ลาดิดและมูนสเคป
จำนวนหน้า: 258 หน้า
ISBN: 978-616-94434-1-4
ขนาด: 108 x 175 mm
ปก: อาร์ตการ์ดเคลือบด้าน