สมรสเท่าเทียมประกาศใช้แล้ว คู่รักเพศหลากหลายสามารถแต่งงานได้ตามกฎหมาย

| | , ,

เป็นเวลากว่า 23 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ที่มีการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิในการสมรสและสิทธิอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนสมรส ให้ได้รับคืนมาเช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศในประเทศไทย ในที่สุด “สิทธิในการสมรส” หรือ “สมรสเท่าเทียม” มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อย หลังจากได้มีการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกในรัฐบาลของ เศรษฐา ทวีสิน และใช้ครั้งแรกในรัฐบาลของ แพทองธาร ชินวัตร ในวันที่ 23 มกราคม 2568/2025 

กว่าที่คู่รักเพศหลากหลายจะได้รับสิทธิที่พวกเขาสมควรจะได้รับนั้น ใช้เวลาเดินทางกว่าสองทศวรรษ ด้วยการต่อสู้ของภาคประชาชน เพื่อเรียกร้องต่อสิทธิที่พวกเขาพึงจะได้รับ ในที่สุด ประชาชนชาวไทยได้รับสิทธิในการสมรสกับอีกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม เพื่อให้พวกเขาได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างครอบคลุม เช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ 

เพื่อเฉลิมฉลองการต่อสู้ รวมถึงเป็นการแสดงความยินดีแก่คู่รักเพศหลากหลายทั้งในอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน The Noize Magazine จะพาทุกคนไปเจาะลึกกับอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของชุมชน LGBTQIAN+ ในประเทศไทย

อ่านราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567

LGBTQIAN Parade sapphic Photo by Norbu GYACHUNG on Unsplash
Photo by Norbu GYACHUNG on Unsplash

สมรสเท่าเทียม คืออะไร?

สมรสเท่าเทียม คือ การมอบคืนสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของคู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้ได้เทียบเท่ากับสามี-ภรรยา ตามกฎหมายเดิม เพื่อให้พวกเขาได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามหลากความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ก่อให้เกิดสิทธิต่างๆ กับคู่สมรส เช่นเดียวกับสิทธิของสามี-ภรรยา โดยผูกพันตามกฎหมาย ทั้งในด้านการหมั้น การจดทะเบียนสมรส การจัดการทรัพย์สินสมรส การรับมรดก การรับบุตรบุญธรรม ไปจนถึงสิทธิต่างๆ ที่กฎหมายรับรอง

แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อรองรับให้บุคคลเพศหลากหลายสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะมีเพศใด เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดเรื่องครอบครัวหรือมรดกไว้เป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สิทธิที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศจะได้รับคืนสิทธิจากกฎหมาย

การได้มาของ สมรสเท่าเทียม ในครั้งนี้ ถือเป็นการคืนสิทธิให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยที่บุคคลตรงเพศและบุคคลรักต่างเพศยังคงได้รับสิทธิทุกอย่างเหมือนเดิมทุกประการ นั่นหมายความว่า ทุกคนจะได้รับประโยชน์และเข้าถึงสวัสดิการจากภาครัฐได้เท่าเทียมกันทุกคนนั่นเอง ซึ่งสาระสำคัญที่ได้มีการปรับจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิม ไม่ว่าจะเป็น

สิทธิในการสมรส 

เพื่อให้คู่รักทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งยังครอบคลุมไปถึงกฎหมายที่รองรับขั้นตอนอื่นๆ ในการเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น สิทธิในการหมั้น การจดทะเบียนสมรส การจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิในการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม สิทธิในการขอสัญชาติ สิทธิและสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม สิทธิในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มีการแก้ไขระเบียบในการจดทะเบียนครอบครัว เพื่อรองรับกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ด้วย รวมไปถึงการแก้ไขข้อมูลการจดทะเบียนสมรสกับบุคคลอื่น (ถ้ามี) เพื่อป้องกันการสมรสซ้อน ให้สอดคล้องกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่ได้มีการแก้ไขระยะเวลาการสมรสใหม่ 

นอกจากนี้แล้ว ยังได้มีการปรับให้ใช้คำที่เป็นกลางมากขึ้น เช่น “สามี-ภรรยา” ปรับเป็น “คู่สมรส”และคำว่า “ชาย-หญิง” ปรับเป็น “บุคคล” ไปจนถึงคำว่า “ผู้หมั้น” และ “ผู้รับหมั้น” รวมไปถึงการปรับอายุขั้นต่ำในการสมรสจาก 17 ปี เป็น 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่ยังคงข้อยกเว้นให้บุคคลสามารถสมรสอายุต่ำกว่า 18 ปี ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรและศาลอนุญาต

สิทธิในการดูแลคู่รักของตน

คู่สมรสสามารถดูแลกันและกันได้ตามสิทธิทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ทั้งสิทธิในการเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา เช่นเดียวกับสามี-ภรรยา การตัดสินใจเรื่องทางการแพทย์ การเบิกค่ารักษาพยาบาล การตัดสินใจสำคัญทางการแพทย์ในกรณีที่คน ๆ นั้นไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ สิทธิในการเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย ไปจนถึงสิทธิในการจัดการศพ 

สิทธิในการดูแลบุตร/รับบุตรบุญธรรม

จากกฎหมายเดิมที่ให้สิทธิในการดูแลบุตร/รับบุตรบุญธรรมเฉพาะคู่รักชาย-หญิงเท่านั้น แต่เมื่อได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ตามกฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมว่าคู่สมรสสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ และให้บุตรบุญธรรมใช้นามสกุลคู่สมรสได้ โดยจะต้องมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี

สิทธิในการหย่าร้อง

นอกเหนือจากสิทธิในการจดทะเบียนสมรสอย่างเท่าเทียมกับคู่รักชาย-หญิงแล้ว การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ ยังได้มีการแก้ไขเกี่ยวกับสิทธิในการหย่าร้องด้วย ทั้งสิทธิในการฟ้องหย่า สิทธิในการฟ้องร้องอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการสมรส ไม่ว่าจะเป็น สิทธิการเลี้ยงดูบุตร การเรียกค่าเลี้ยงชีพตามแต่กรณีการหย่าร้างที่เกิดขึ้น และสิทธิในสินสมรส ไปจนถึงสิทธิในการเรียกค่าทดแทนและเหตุฟ้องหย่า ครอบคลุมกรณีที่คู่หมั้นหรือหรือคู่สมรสฝ่ายหนึ่งไปมีความสัมพันธ์กับบุคลอื่นไม่ว่าจะเป็นเพศใด เป็นต้น

LGBTQIAN sapphic Photo by Aiden Craver on Unsplash
Photo by Aiden Craver on Unsplash

การได้มาถึงสิทธิในการสมรสที่เท่าเทียมเช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศนั้น ถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญในการต่อสู้ของชุมชน LGBTQIAN+ ในประเทศไทย และความก้าวหน้าในครั้งนี้ จะไม่หยุดอยู่แค่เพียงกฎหมายฉบับนี้เท่านั้น แต่เป็นการเปิดประตูไปสู่กฎหมายต่างๆ เพื่อให้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ และคนชายขอบ ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างแท้จริง

อ่าน ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2568

ซึ่งในวันที่ 23 มกราคมนี้ คู่รักทุกคนที่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรส ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม สามารถจดทะเบียนสมรสที่สำนักทะเบียนและอำเภอทั้ง 878 แห่ง พร้อมทั้งสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร 50 เขต สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลไทยในต่างประเทศ 94 แห่ง อีกด้วย

Sources:

Previous

VANARIN released new album “Hazy Days”, out via Dischi Sotterranei