เมื่อพูดถึงพื้นที่สามเสน หลายคนอาจจะนึกถึงพื้นที่เขาดินเก่า หนึ่งในสี่แยกที่รถติดมากๆ พื้นที่โรงเรียนเอกชนหญิงล้วนและชายล้วน ซึ่งทั้งสองแห่งตั้งอยู่ติดกัน รวมไปถึงความแออัดของการเดินทางจากรถและถนนที่คับแคบ แต่รู้หรือไม่ว่าในพื้นที่นี้ ถือเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรม ศาสนา และผู้คนจากหลายพื้นที่เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะโบสถ์คริสต์ทั้งสองแห่งอย่างโบสถ์นักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน (วัดนอก หรือ วัดญวน) และวัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้า (วัดใน หรือ วัดเขมร) โบสถ์พี่น้องที่อยู่คู่กันมาอย่างยาวนาน
เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 350 ปี วัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้าในปีนี้ จึงอยากจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโบสถ์ดังกล่าวที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ ความเชื่อ และความเป็นชุมชน
เลือกอ่านหัวข้อที่ต้องการ:
โบสถ์คาทอลิกที่เก่าแก่กว่ากรุงเทพมหานคร
ย้อนเวลากลับไปยังสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (ค.ศ. 1632-1688) ยุคเฟื่องฟูที่ชาวต่างชาติเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะโปรตุเกส ชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปี 1500 ในสมัยนั้น ในปี 1674 สมเด็จพระนารายณ์พระราชทานที่ดินในบางกอกให้กับชาวโปรตุเกสเพื่อสร้างวัดสำหรับชุมชนคาทอลิกในบริเวณวัดสมอราย (วัดราชาธิวาส ในปัจจุบัน) ซึ่งผู้รับพระราชทานที่ดินสร้างวัดคือ พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน ตั้งชื่อว่า Immaculee conception เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า“แม่พระปฏิสนธินิรมล” หรือที่คุ้นหูกันดีว่า “วัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้า”
บันทึกในพงศาวดารได้มีการเขียนถึงวัดคอนเซ็ปชัญเอาไว้ว่า “วัดแม่พระปฏิสนธิ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ได้โปรดหามลทินมิได้” เรียกได้ว่าเป็นหลักฐานที่เห็นได้ชัดว่าพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน นับถือแม่พระเป็นอย่างมาก เนื่องจากในสมัยนั้น พระศาสนจักรยังไม่ได้มีการประกาศข้อความเชื่อที่ว่าแม่พระทรงพ้นจากบาปกำเนิดตั้งแต่ปฏิสนธิ เนื่องจากชาวคาทอลิกเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนแล้วแต่มีบาปกำเนิดจากมนุษย์คู่แรกของโลก ‘อดัม’ และ ‘เอวา (หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าอีฟ)’ นั่นเอง โดยข้อความที่ว่าพระนางมารีย์ทรงเป็นผู้ปฏิสนธินิรมลนั้น ได้รับการประกาศในวันที่ 8 ธันวาคม 1854 โดยพระสันตะปาปาปีโอที่ 9
8 ธันวาคม 2024 ทางวัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้าได้มีการฉลองวัด ซึ่งตรงกับวันสมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธิมิรมล และถือโอกาสฉลองชุมชนแห่งความเชื่อ ครบรอบ 350 ปี วัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้า (1674-2024) ในคราวเดียวกัน
ในครั้งนี้ พระสังฆราชเปาโล ไตรรงค์ มุลตรี ประมุขแห่งสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี มาเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคุณพ่ออีกจำนวนมาก สัตบุรุษวัด และผู้มีความศรัทธา มารวมตัวกันเพื่อร่วมฉลองวัดครั้งประวัติศาสตร์ ทั้งยังมีการแห่แม่พระรอบวัด เพื่ออวยพรชาวคาทอลิก ณ พื้นที่ชุมชนแห่งความเชื่อนี้
วัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้า ชุมชนความเชื่อที่ยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของไทย
วัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้า ก่อตั้งขึ้นในปี 1674 หลังจากที่สมเด็จพระนารายณ์พระราชทานที่ดินใกล้กับวัดสมอรายให้กับพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน และได้มีการใช้พื้นที่นี้ รองรับชาวคาทอลิกที่เป็นโปรตุเกสให้มาตั้งชุมชนในพื้นที่แห่งนี้โดยตลอด วัดหลังแรกมีโครงสร้างลักษณะเดียวกันกับอาคารสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่มีขนาดที่ผิดสัดส่วนจากอาคารที่สร้างในกรุงศรีอยุธยาในยุคสมัยเดียวกัน จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าโบสถ์หลังแรกมีรูปแบบมาจากอาคารวิลันดาขนาดเล็กในสมัยอยุธยา
ในสมัยรัชกาลที่ 1 ในปี 1782 พงศาวดารมีการเปิดเผยว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้ชาวเขมร 500 คน ที่หลบหนีลี้ภัยมาจากเขมร มาอยู่รวมกับชาวโปรตุเกสในหมู่บ้านนี้เท่านั้น และได้มีการเรียกหมู่บ้านว่าบ้านเขมร
ในปี 1785 มิชชันนารีในกัมพูชาได้พาคริสตชนชาวโปรตุเกสและชาวเขมรอพยพมาที่วัดคอนเซ็ปชัญ และอัญเชิญพระรูปแม่พระ ที่แกะสลักด้วยไม้มาที่นี่ด้วยเช่นกัน รูปสลักแม่พระมีขนาดสูงประมาณ 100 เมตร แกะสลักด้วยฝีมือประณีตบรรจง ลงรักปิดทองงดงาม นำมาประดิษฐานที่วัดคอนเซ็ปชัญแห่งนี้ ซึ่งชื่อของพระรูปแม่พระเรียกว่า “แม่พระไถ่ทาส” หรือคนในพื้นที่เรียกกันว่า “แม่พระตุ้งติ้ง” เนื่องจากประดับด้วยต่างหูตุ้งติ้งนั่นเอง
ต่อมาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อถึงรัชกาลที่ 4 บาทหลวงฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัวซ์ ที่หลายคนอาจจะรู้จักในฐานะของพระสหายคนสนิทของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตั้งแต่สมัยดำรงพระยศเป็น “พระวชิรญาณภิกขุ” และผนวชจำพรรษาอยู่ที่วัดสมอราย หรือผู้เขียนงานภาษาศาสตร์ ไวยกรณ์ และพจนานุกรมของไทย แต่สำหรับชาวคาทอลิกเองนั้น ท่านคือพระสังฆราชองค์ที่ 7 ที่ได้มาประจำที่วัดคอนเซ็ปชัญ
ขณะที่ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญ ปี 1836 – 1837 ก็ได้มีการสร้างวัดขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับจำนวนคริสตังในชุมชนแห่งนี้ที่มีจำนวนมากขึ้น โดยเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน งานสถาปัตยกรรมตามแบบเรอเนสซองส์ อัญเชิญรูปแม่พระจากเขมร มาประดิษฐานไว้ในวัดหลังใหม่ โดยระฆังยังใช้ของเดิมที่มีอยู่แล้ว การสร้างวัดหลังใหม่สำเร็จในปี 1838 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ท่านได้เลื่อนสมณะศักดิ์เป็นพระสังฆราชอีกด้วย จึงได้ทำการฉลองพร้อมกันที่วัดแห่งนี้
ต่อมาได้มีการสร้างหอระฆังก่ออิฐถือปูนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เนื่องจากหอระฆังเดิมพังทลายลงมาในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ที่ 22 มีนาคม 1883 คุณพ่อ มาร์แต็ง ยัง ปิแอร์ (เจ้าอาวาสปี 1857 – 1886) ได้มอบหมายให้ โยอาคิม กรัสซี (สถาปนิกชาวอิตาลี) มาออกแบบหอระฆังขึ้นมาใหม่ตามสถาปัตยกรรมนีโอโรมันเนสก์ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับหอระฆังวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา ซึ่งหอระฆังใหม่นี้ ใช้เวลาประมาณ 2 ปีในการสร้าง มีลักษณะเป็นหอสูงด้านหน้าประตูประธาน ตั้งอยู่ห่างจากตัวโบสถ์ จนกระทั่งคุณพ่อ เออเยน เล็ตแชร์ เจ้าอาวาสปี (1919 – 1922) เชื่อมหลังคาของวัดเข้ากับหอระฆังจนเรียบร้อย
11 มิถุนายน 2017 ท่านดยุคแห่งบรากันซ่า (Duke of Braganza) แห่งราชวงศ์โปรตุเกส ได้นำพระรูปแม่พระผู้ปฏิสนธินิรมล องค์อุปถัมภ์ของประเทศโปรตุเกส มาให้กับวัดคอนเซ็ปชัญ เพื่อให้เกียรติสัตบุรุษวัดแห่งนี้ที่รักษาความเชื่อมาจนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่ชาวโปรตุเกสอพยพจากกรุงศรีอยุธยามาสร้างวัดที่นี้
และในปี 2024 ถือว่าเป็นปีสำคัญของชุมชนแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการฉลองครบรอบชุมชนแห่งความเชื่อ 350 ปี ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวสำคัญในทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ศาสนา และผู้คนในพื้นที่ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชนวัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้า
ด้วยระยะเวลากว่า 350 ปีของชุมชนวัดคอนเซ็ปชัญแห่งนี้ ย่อมมีการผสมผสานทางวัฒนธรร, ทั้งความเป็นไทย คาทอลิก โปรตุเกส และกัมพูชาเข้าด้วยกัน ทำให้ธรรมเนียมปฏิบัติของพื้นที่แห่งนี้มีความพิเศษและน่าสนใจอย่างมากเมื่อเทียบกับชุมชนคาทอลิกแห่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นพิธีถอดพระในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (หรือที่รู้จักกันในนามของ Good Friday) การฉลองแม่พระไถ่ทาส (หรือในพื้นที่ชุมชนเรียกว่า ฉลองแม่พระขนมจีน) ไปจนถึงการฉลองแม่พระปฏิสนธินิรมล ซึ่งถือเป็นวันฉลองวัดและชุมชนแห่งนี้ด้วยกัน
พิธีถอดพระ – วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ หรือวันที่ชาวคาทอลิกถือว่าเป็นวันที่พระเยซูสิ้นพระชนม์ตามปีพิธีกรรม ที่วัดคอนเซ็ปชัญได้มีพิธีกรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษกว่า 100 ปี เพื่อระลึกถึงพระมหาทรมารของพระเยซูขณะตรึงกางเขน สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และฟื้นคืนชีพในวันที่สาม ตามความในพระคัมภีร์
พีธีถอดพระเป็นประเพณีเก่าอย่างหนึ่งของทางยุโรป ในประเทศไทยมีพิธีถอดพระแค่เพียง 2 วัดเท่านั้น คือ วัดคอนเซ็ปชัญ และวัดซางตาครู้ส ล้วนแล้วแต่เป็นวัดของชาวโปรตุเกสทั้งสิ้น ซึ่งพิธีถอดพระของวัดคอนเซ็ปชัญจะเริ่มด้วยการเดินรูป 14 ภาค และจำลองพิธีถอดพระ แห่พระศพของพระเยซูเข้าไปภายในวัด และให้สัตบุรุษเข้าสักการะตามสมควร
พิธีถอดพระนั้น จะเป็นการแสดงที่บอกเล่าเรื่องราว 24 ชั่วโมงสุดท้ายในชีวิตของพระเยซู โดยในปัจจุบัน จะเริ่มตั้งแต่การตรึงกางเขนพระเยซู และจบลงที่การอัญเชิญพระศพลงจากไม้กางเขน แล้วนำมามอบแก่แม่พระ ก่อนจะแห่รอบโบสถ์และนำไปประดิษฐานไว้ที่หน้าโบสถ์ ซึ่งการจัดพิธีกรรมนี้ จะมีการจัดแสงสีเสียงอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ในอดีตยังเป็นการจัดพิธีกรรมภายในโบสถ์ มีการใช้รูปหล่อโลหะตรึงติดอยู่กับไม้กางแขน แต่ส่วนแขนไม่สามารถหุบลงได้ ต่อมาคุณพ่อเลอง กียา (เจ้าอาวาสวัดปี 1904-1914) จึงสั่งซื้อรูปสลักพระเยซูที่สลักจากไม้มาจากฝรั่งเศส ซึ่งมาพร้อมกับแขน 2 ชุด ที่สามารถใช้ได้ทั้งแขนกางและแขนหุบ โดยรูปสลักนี้มีอายุประมาณ 100 ปีแล้ว
ทั้งนี้ วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์นั้น ไม่ได้มีการจัดขึ้นในวันเดิมของทุกปี ผู้ที่สนใจเข้าร่วมสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์คาทอลิก
การฉลองแม่พระไถ่ทาส – 24 กันยายน
เมื่อพูดถึงแม่พระไถ่ทาส (หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ เดแมร์เซเด (de Mercede)) ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ประเทศสเปน โดยคณะนักบวชที่ชื่อว่า คณะแม่พระไถ่ทาส (Our Lady of Ransom) ในปี 1218 เนื่องจากพระนางมารีย์เสด็จมาประจักษ์ให้กับนักบุญเปโตร โนลาสโก (St. Peter Nolasco), นักบุญเรมอนแห่งเปนาฟอร์ท (St. Raymond of Penafort) และพระเจ้าเจมส์ที่ 1 กษัตริย์แห่งอารากอน (King James I of Aragon) เพื่อให้ไปช่วยคริสตชนที่ถูกแขกมัวร์จับไปเป็นทาส จึงได้มีการตั้งคณะนักบวชขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคริสตชนตามที่พระนางมารีย์ได้บอกเอาไว้ ซึ่งการฉลองแม่พระไถ่ทาส ตรงกับวันที่ 24 กันยายนของทุกปี
สำหรับในประเทศไทย ชุมชนวัดคอนเซ็ปชัญเริ่มฉลองมาตั้งแต่คราวที่ชาวเขมรอพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 1 และได้มีการนำพระรูปแม่พระไถ่ทาสมาด้วย ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตั้งแต่ปี 1785 จนถึงปัจจุบัน
จนกระทั่งปี 1793 ชาวเขมรที่อพยพมานั้น เห็นว่าที่กัมพูชาสงบแล้ว จึงต้องการเดินทางกลับแผ่นดินเกิด แต่เมื่ออัญเชิญรูปสลักแม่พระกลับไปด้วยนั้น เรือของพวดเขากลับหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่เมื่อแจวเรือกลับมาทางวัดคอนเซ็ปชัญ เรือก็ยอมแล่นอย่างง่ายดาย พอจะแจวออกอีกครั้ง ก็ไม่ขยับเขยือน ชาวเขมรจึงแน่ใจว่า แม่พระต้องการที่จะให้พระรูปสลักนี้ประทับอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญ จึงได้อัญเชิญพระรูปกลับมา ก่อนที่พวกเขาจะเดินทางกลับกัมพูชาอย่างปลอดภัย
แน่นอนว่าการฉลองนั้นต้องมีอาหารเพื่อเลี้ยงผู้ที่มาร่วมงานด้วย นั่นก็คือ “ขนมจีนคั่วไก่” ที่ได้มีการสันนิษฐานว่าเป็นอาหารดั้งเดิมของชาวโปรตุเกสที่แถบเอเชียที่ได้มีการนำเข้ามาพร้อมกันนั่นเอง ซึ่งขนมจีนคั่วไก่เป็นอาหารที่ชุมชนเลี้ยงกันเฉพาะในงานฉลองแม่พระไถ่ทาส หรืองานมงคลสำคัญ เนื่องจากขั้นตอนที่มีความซับซ้อนนั่นเอง
ชุมชนวัดแห่งนี้จึงได้มีการเรียกแม่พระไถ่ทาสอีกชื่อด้วยว่า “แม่พระขนมจีน” ที่ได้มีการสันนิษฐานมาว่าลักษณะเส้นผมของแม่พระนั้นสยายคล้ายกับเส้นขนมจีนด้วย และในปัจจุบันนี้ สามารถรับประทานขนมจีนคั่วไก่ได้แค่ในพื้นที่ชุมชนวัดคอนเซ็ปชัญ และชุมชนวัดซางตาครู้สเท่านั้น โดยทั้งสองแห่งเป็นชุมชนโปรตุเกสที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย
ซึ่งการฉลองแม่พระไถ่ทาสนั้น ถือเป็นประเพณีที่เก่าแก่ที่สุดในชุมชนคาทอลิกในกรุงเทพที่ยังคงสืบสานต่อมาจนถึงทุกวันนี้
การฉลองแม่พระปฏิสนธินิรมล – 8 ธันวาคม
วันฉลองแม่พระปฏิสนธินิรมล หรือ Immaculate Conception นั้น แต่เดิมไม่ได้มีการกำหนดเอาไว้ เพียงแต่มีการฉลองกันเฉพาะในพื้นที่ประเทศอังกฤษ และแคว้นนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ยาวนานมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ซึ่งในประเทศไทยนั้น พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน ก็นับถือแม่พระเป็นอย่างมาก จึงได้มีการนำชื่อนี้มาตั้งเป็นชื่อวัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้าด้วยนั่นเอง
สำหรับคาทอลิกนั้น การประกาศถึงข้อความเชื่อประเภทต่างๆ จำเป็นที่จะต้องผ่านการรับรองจากสมเด็จพระสันตปาปาเสียก่อน ซึ่งข้อความเชื่อที่ว่า แม่พระปฏิสนธินิรมล นั้น เป็นสิ่งที่พระเจ้ามีพระประสงค์ให้เกิดขึ้นนั่นเอง ซึ่งการยืนยันข้อความเชื่อนี้ เกิดขึ้นในสมัยพระสันตปาปาปีโอที่ 9 ในปี 1854 เหมือนบทภาวนาขอแม่พระอย่างบท “วันทามารีย์”
สำหรับที่ชุมชนวัดคอนเซ็ปชัญ นอกจากจะเป็นการฉลองแม่พระปฏิสนธินิรมลแล้ว ยังถือเป็นวันฉลองวัด และชุมชนแห่งความเชื่อนี้ในทุกๆ ปี ซึ่งจะเป็นการฉลองตรงวัน ภายในชุมชนจะมีทั้งงานฉลองวัด และชาวบ้านในพื้นที่ จะทำอาหารมาเลี้ยงผู้ที่มาร่วมมิสซา โดยเฉพาะเมนูพิเศษที่หาได้เฉพาะที่วัดแห่งนี้ และวัดซางตาครู้สเท่านั้น ได้แก่ “ขนมจีนคั่วไก่” ซึ่งจะรับประทานได้ก็ต่อเมื่อมีมิสซาฉลองในวันสำคัญเท่านั้นสำหรับชุมชนวัดคอนเซ็ปชัญ
ปีศักดิ์สิทธิ์ 2025
และในปี 2025 พระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ได้ประกาศให้เป็นปีศักดิ์สิทธิ์ หรือ Jubilee ที่จัดขึ้นในทุกๆ 25 ปี เพื่อให้คริสตชนได้ใกล้ชิดกับพระเจ้ามากยิ่งขึ้น ผ่านการแสวงบุญ สารภาพบาป และรับพระคุณการุณย์ ในปีนี้มาในธีม “บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง” (Pilgrims of Hope)” และมาพร้อมกับมาสคอตประจำปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 ที่มีชื่อว่า Luce (ลูเช่) ในภาษาอิตาเลียน แปลว่า แสงสว่าง หรือ ความสว่าง เพื่อเชื่อมโยงเยาวชนเข้ากับกิจกรรมของปีศักดิ์สิทธิ์ และมีทั้งหมด 4 ตัวด้วยกัน ผู้อแอกแบบมาสคอตประจำปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 คือ Simone Legno ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ tokidoki
ซึ่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ก็ได้มีการประกาศวัดทั้ง 4 ที่เป็นเส้นทางจาริกแสวงบุญเพื่อรับพระคุณการุณย์ ไม่ว่าจะเป็นอาสนวิหารอัสสัมชัญ วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา วัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้า และสักการสถานบุญราศี นิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง และสำหรับสังฆมณฑลอื่นๆ นั้น ก็ได้มีการประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับปีศักดิ์สิทธิ์ แนวทางปฏิบัติ และการแสวงบุญไปยังวัดต่างๆ ของคาทอลิกด้วย สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://jubilee2025th.com/
ที่ตั้งวัดคอนเซ็ปชัญ
167 ซอยมิตตคาม แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพ 10300
เวลามิสซา:
วันจันทร์-ว้นพฤหัสบดี: 18:30 น.
วันศุกร์: 06:30 น.
วันศุกร์ต้นเดือน: 06:30 น. และ 18:30 น.
วันเสาร์: 17:00 น. (มีพิธีนพวารก่อนเริ่มพิธีบูชาขอบพระคุณ)
วันอาทิตย์: 07:00 น และ 09:00 น.
เวลาเปิดให้แสวงบุญภายในวัด:
วันเสาร์: 10:00 – 16:00 น.
วันอาทิตย์: 10:00 – 12:00 น.
หมายเหตุ: ทางวัดเปิดก่อนเวลามิสซา ประมาณ 1 ชั่วโมง
นอกจากนี้แล้ว ยังสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับวัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้าได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/conception.bkk
YouTube: https://www.youtube.com/@immaculateconceptionchurch7784/
เบอร์โทรศัพท์: 089-826-5252 (เจ้าอาวาส) และ 087-686-7346 (เจ้าหน้าที่)
อ้างอิง:
- https://anurakmag.com/art-and-culture/03/30/2023/conception-a-christian-temple-that-is-older-than-bangkok/
- https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/digital/api/DownloadDigitalFile/dowload/170334
- https://kukr.lib.ku.ac.th/kukr_es/kukr/search_detail/dowload_digital_file/28901/64113
- https://olransom.org/who-is-our-lady-of-ransom
- https://ojs.lib.buu.ac.th/index.php/huso2/article/view/9001
- https://minimore.com/b/H5ztj/1
- https://sure.su.ac.th/xmlui/handle/123456789/1620
- http://www.catholic.or.th/main/บริการ/คาทอลิก-มัลติมีเดีย/แวดวงคาทอลิก/6377-พิธีต้อนรับแม่พระแห่งโปรตุเกส
- http://www.catholic.or.th/events/news/news66/66w.html
- http://www.catholic.or.th/main/our-services/พระนางมารีอา-และ-วันฉลองแม่พระที่สำคัญ/1675-สมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล-8-ธันวาคม
- http://www.catholic.or.th/main/บริการ/คาทอลิก-มัลติมีเดีย/ข่าววาติกัน/20458-การ์ตูนสัญลักษณ์ของวาติกันตัวใหม่นี้มีชื่อว่า-“ลูเช่”-luce
- https://catholichaab.com/main/index.php/2015-09-22-02-42-26/biography/2015-09-22-08-08-12/445-baptiste-pallegoix
- https://catholichaab.com/main/index.php/1/church7/2/1257-2016-07-15-03-39-19
- https://catholichaab.com/main/index.php/2015-09-22-02-42-26/biography/2015-09-22-08-08-12/445-baptiste-pallegoix
- https://catholichaab.com/main/index.php/2015-09-22-02-42-26/biography/2015-09-22-08-08-12/455-louis-laneau
- https://www.cbct.or.th/jubilee-2025-vatican-announces-motto-of-jubilee-year-2025/
- https://www.cbct.or.th/20241206-2/
- http://www.shb.or.th/article/nanasara/immaculatemary/immaculatemary.html
- https://www.silpa-mag.com/history/article_134171
- https://www.facebook.com/groups/750772255456236/posts/1844023246131126/
- https://www.missionbkk.com/index.php/21-home/2013-05-27-02-41-30/646-8-2
- https://www.thepeople.co/blogs/read/history/50252