นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นเวลากว่า 23 ปี ที่มีการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิเท่าเทียมกับบุคคลตรงเพศในประเทศไทย ในที่สุด “สิทธิในการสมรส” หรือ “สมรสเท่าเทียม” นั้น ได้มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศในเวลา 120 วัน หรือสามารถใช้จริงได้ในวันที่ 22 มกราคม 2025 หลังจากได้มีการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกในรัฐบาลของ เศรษฐา ทวีสิน
อ่านราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567
สมรสเท่าเทียม คืออะไร?
สมรสเท่าเทียม คือ การสมรสมอบคืนสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของคู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้ได้เทียบเท่ากับสามี-ภรรยา ตามกฎหมายเดิม เพื่อให้พวกเขาได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามหลากความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ก่อให้เกิดสิทธิต่างๆ กับคู่สมรส เช่นเดียวกับสิทธิของสามี-ภรรยา โดยผูกพันตามกฎหมาย ทั้งในด้านการหมั้น การจดทะเบียนสมรส การจัดการทรัพย์สินสมรส การรับมรดก การรับบุตรบุญธรรม ไปจนถึงสิทธิต่างๆ ที่กฎหมายรับรอง
เหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้
ภายในประกาศของราชกิจจานุเบกษา ได้มีการให้เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้เอาไว้ด้วยว่า สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญในการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่การก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศหลากหลาย โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อรองรับให้บุคคลเพศหลากหลายสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะมีเพศใด เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดเรื่องครอบครัวหรือมรดกไว้เป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สิทธิที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศจะได้รับคืนสิทธิจากกฎหมาย
การได้มาของ สมรสเท่าเทียม ในครั้งนี้ ถือเป็นการคืนสิทธิให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยที่บุคคลตรงเพศและบุคคลรักต่างเพศยังคงได้รับสิทธิทุกอย่างเหมือนเดิมทุกประการ นั่นหมายความว่า ทุกคนจะได้รับประโยชน์และเข้าถึงสวัสดิการจากภาครัฐได้เท่าเทียมกันทุกคนนั่นเอง ซึ่งสาระสำคัญที่ได้มีการปรับจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมมีทั้ง
- การสมรส ไม่ว่าบุคคลจะมีเพศสภาพ หรืออัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร เมื่อจดทะเบียนสมรสกัน ให้ถือว่าเป็น “คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย”
- คำว่า “คู่สมรส” ไม่จำกัดแค่ที่ ชาย กับ หญิง เท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงทุกเพศสภาพ
- ปรับให้ใช้คำที่เป็นกลางทางเพศมากขึ้น เช่น “สามี-ภรรยา” ปรับเป็น “คู่สมรส” และคำว่า “ชาย-หญิง” ปรับเป็น “บุคคล” ไปจนถึงคำว่า “ผู้หมั้น” และ “ผู้รับหมั้น” ด้วย
- ปรับอายุขั้นต่ำในการสมรสจาก 17 ปี เป็น 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่ยังคงข้อยกเว้นให้บุคคลสามารถสมรสอายุต่ำกว่า 18 ปี ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรและศาลอนุญาต
- คู่สมรสสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ และให้บุตรบุญธรรมใช้นามสกุลคู่สมรสได้ โดยจะต้องมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/26)
- การเรียกค่าทดแทนและเหตุฟ้องหย่า ครอบคลุมกรณีที่คู่หมั้นหรือหรือคู่สมรสฝ่ายหนึ่งไปมีความสัมพันธ์กับบุคลอื่นไม่ว่าจะเป็นเพศใด (แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1445 และมาตรา 1516 (1))
- ระยะเวลาการสมรสใหม่ มีการแก้ไขเงื่อนไขว่าให้ใช้เฉพาะกับกรณีที่หญิงมีชายเป็นคู่สมรสเดิม และจะสมรสใหม่กับชายเท่านั้น (แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1453)
นอกจากนี้ คู่สมรสจะได้รับสิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิในการเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา เช่นเดียวกับสามี-ภรรยา สิทธิในการรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต สิทธิในการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม สิทธิในการฟ้องหย่า สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม สิทธิในการเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย สิทธิในการจัดการศพ ไปจนถึงสิทธิและสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม สิทธิในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น
การได้มาถึงสิทธิในการสมรสที่เท่าเทียมเช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศนั้น ถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญในการต่อสู้ของชุมชน LGBTQIAN+ ในประเทศไทย และความก้าวหน้าในครั้งนี้ จะไม่หยุดอยู่แค่เพียงกฎหมายฉบับนี้เท่านั้น แต่เป็นการเปิดประตูไปสู่กฎหมายต่างๆ เพื่อให้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ และคนชายขอบ ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างแท้จริง
Photo by Aiden Craver on Unsplash