BIPOC Queer Reads: ชวนอ่านงานเควียร์ โดยเควียร์ เพื่อเควียร์

| | ,

เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศเวียนมาถึงอีกครั้ง แน่นอนว่าในแต่ละปีก็จะมีเรื่องราวที่น่าสนใจจากคนในชุมชนมาแนะนำให้ทุกๆ คนได้ทำความรู้จักกัน 

ในปีนี้ เราคัดสรรงานเขียนเล่มโปรดที่มีภาพตัวแทน LGBTQIAN+ จากนักเขียนเควียร์สารพัดเชื้อชาติ สีผิว และอัตลักษณ์ทางเพศที่นำเสนอมุมมองอันหลากหลายสำหรับนักอ่านเควียร์และพันธมิตร (Ally) ที่กำลังหาหนังสือเพิ่มแรงบันดาลใจและโอบกอดความแตกต่างที่สวยงาม

พื้นที่ของผลงาน BIPOC Queer Reads

ศัพท์คำว่า BIPOC ย่อมากจาก Black, Indigenous, people of color หมายความถึงกลุ่มคนผิวดำ ชนพื้นเมืองและคนผิวสีอื่นๆ นอกเหนือจากผิวขาว อาทิ คนเอเชีย ซึ่งมักถูกผลักให้เป็น
กลุ่มคนชายขอบของสังคม เพียงเพราะความต่างทางสีผิว วัฒนธรรมหรือถิ่นกำเนิด 

การนำเสนอเรื่องราวของเควียร์ในหนังสือนับเป็นพื้นที่สำคัญที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้และไม่ควรจำกัดแค่ผู้อ่านเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะเยาวชนซึ่งกำลังอยู่ในช่วงค้นหาตัวเองและเยาวชนเควียร์ที่ไม่ใช่คนขาว เพราะการที่พวกเขาได้เห็นภาพตัวแทนของกลุ่มคนที่เหมือนกันหรือมีประสบการณ์ชีวิตใกล้เคียงในสื่อต่างๆ สามารถพัฒนาเป็นความมั่นใจที่จะเป็นตัวของตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจยิ่งขึ้น

แม้ว่ากรอบความคิดที่มองว่าโลกนี้มีมนุษย์แค่สองเพศจะฝังรากลึกในสังคมและสร้างความท้าทายให้กับเควียร์ที่กำลังเติบโต ดังจะเห็นได้จากการที่ queer reads หลายเล่มที่ได้ยกมาอยู่ในรายชื่อหนังสือที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครอง องค์กรภาคประชาสังคมและนักการเมืองสายอนุรักษ์นิยมในสหรัฐอเมริกาว่ามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็กและวัยรุ่น เพียงเพราะหนังสือเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ สีผิวและอัตลักษณ์ทางเพศ จนกลายเป็นหนังสือต้องห้าม 

อัตราการแบนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวในห้องสมุดและโรงเรียนในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงปี 2021 และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน โดยงานที่รังสรรค์โดยนักเขียนที่มีความหลากหลายและเป็นเจ้าของประสบการณ์ หรือที่เรียกว่าผลงาน Own Voices มักเป็นเป้าหมายแรกๆ ที่ถูกโจมตี 

ดังนั้นแล้ว การสนับสนุนงานของนักเขียนเควียร์ที่เป็น BIPOC จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการแสดงออกเพื่อสนับสนุนชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต่อสู้กับการกีดกันทางสังคม อีกทั้งยังเป็นการสร้างการรับรู้จากเรื่องราวและความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญในฐานะเควียร์ เพื่อสร้างความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ส่งต่อความหวังถึงสังคมที่เปิดกว้างและน่าอยู่สำหรับผู้คน

Let’s celebrate Pride month by supporting queer reads by BIPOC queer authors 

Cemetery Boys โดย Aiden Thomas (he/they) 

BIPOC Queer Reads - Cemetery Boys โดย Aiden Thomas
BIPOC Queer Reads – Cemetery Boys โดย Aiden Thomas

Representation: Transgender / Achillean / Latinx
Genre: YA Contemporary / Paranormal 
TW: Blood / Transphobia 

ความลี้ลับของเวทมนตร์และสิ่งเหนือธรรมชาติตามความเชื่อชาวลาตินอเมริกันผ่านมุมมองของ Yadriel เด็กหนุ่มที่เพิ่งผ่านกระบวนการข้ามเพศ (Transition) กับการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนและตัวตนของตัวเอง เพื่อให้ได้รับการยอมรับในตัวตนปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงต้องการพิสูจน์ตัวเองกับครอบครัวในฐานะนักเวทย์ชาย (Brujo) โดยพยายามติดต่อกับวิญญาณลูกพี่ลูกน้องที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา เพื่อสืบเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่ดันพาวิญญาณเด็กหนุ่มมาดกวนอย่าง Julian มาแทน เกิดเป็นภารกิจสุดป่วน เพื่อตามหาวิญญาณลูกพี่ลูกน้องที่หายไปและส่ง Julian ไปสู่สุขคติ 

หนังสือยังกล่าวถึงปัญหาครอบครัวของทรานส์ รวมถึงการทอดทิ้งเด็กให้เติบโตโดยลำพัง เพียงเพราะไม่ได้เติบโตตามที่ผู้ปกครองคาดหวัง โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นเควียร์ 

ในปี 2021 หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในบรรดาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับชาติพันธ์ุและอัตลักษณ์ทางเพศราว 850 เล่มที่ถูกแบนจากห้องสมุดและโรงเรียนในรัฐเท็กซัส

นอกจากจะเป็นผลงานเควียร์จากนักเขียนทรานส์ที่นำเสนอวิถีชีวิตของชาวลาตินอเมริกันภายใต้บริบทของการข้ามเพศ ผู้เขียนเองยังให้การสนับสนุนปาเลสไตน์และเรียกร้องให้มีการหยุดยิงถาวรมาอย่างต่อเนื่อง

An Unkindness of Ghosts โดย Rivers Solomon (fae/faer หรือ they/them)

BIPOC Queer Reads - An Unkindness of Ghosts โดย Rivers Solomon
BIPOC Queer Reads – An Unkindness of Ghosts โดย Rivers Solomon

Representation: Non-binary / Intersex / Trans / Black / Autism
Genre: Fantasy
TW: Ableism / Slavery / Rape / Violence / Self-harm / Death

โลกดิสโทเปียบนยาน HSS Matilda ของมนุษย์กลุ่มสุดท้ายที่ล่องลอยเพื่อตามหาดินแดนเพื่อสร้างอาณานิคมใหม่ ทว่าแนวคิดเรื่องการแบ่งแยกคนจากสีผิวและเพศยังคงเข้มข้น มีการแบ่งแยกผู้คนออกเป็นชั้นต่างๆ บนยาน ซึ่งกลุ่มคนชนชั้นล่างจะต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหนาวเหน็บและมืดมิดจากการจำกัดพลังงาน 

Aster อาศัยอยู่ในสลัมที่แร้นแค้นที่สุด แต่ด้วยความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์จากการอ่านหนังสือมากมายและจดจำได้ทั้งหมด ทำให้มีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยของ Theo ศัลยแพทย์และลูกชายของอดีตผู้ปกครองยาน

เมื่อได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชนชั้นอื่นๆ ในยานมากขึ้น ทำให้ Aster เริ่มสืบหาต้นตอการตายของแม่จากจดหมายและสมุดบันทึกต่างๆ เพื่อสานต่อภารกิจลับที่แม่พยายามสร้างไว้ก่อนจะจากไป โดยมี Giselle เพื่อนสนิทมาช่วยไขปริศนา ขณะเดียวกันความโหดร้ายจากผู้ปกครองยานคนใหม่ยิ่งตอกย้ำให้ Aster ลุกขึ้นมาต่อสู้กับการกดขี่และปกป้องเพื่อนในทุกๆ ทางที่จะทำได้

ความสำคัญของหนังสือเควียร์เล่มนี้คือภาพตัวแทนอันหลากหลายที่หาได้ยากในสื่อ จากบทสัมภาษณ์ของนักเขียน Aster มีอัตลักษณ์เป็น intersex butch lesbian และอัตลักษณ์ของ Theo คือ nonbinary trans woman ซึ่งมีการนำเสนอออกมาอย่างเด่นชัดตลอดทั้งเล่ม 

ทั้งนี้ Rivers Solomon ยังเป็นอีกหนึ่งนักเขียนให้ร่วมออกมาเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องให้แก่ชาวปาเลสไตน์ 

Iron Widow โดย Xiran Jay Zhao (they/them)

BIPOC Queer Reads - Iron Widow โดย Xiran Jay Zhao
BIPOC Queer Reads – Iron Widow โดย Xiran Jay Zhao

Representation: Queer / East Asian / Polyamory / Disable 
Genre: Fantasy
TW: Violence and abuse / Femicide

เมื่อกำแพงเมืองจีนถูกสร้างขึ้นเพื่อปกป้องอาณาจักร Huaxia จากการรุกรานของแมลงยักษ์ ด้วยนวัตกรรมหุ่นเหล็กที่เรียกว่า Chrysalise ขับเคลื่อนโดยพลังงานหยินหยางจากนักบินหลักเพศชายที่จะได้รับทั้งเกียรติยศและชื่อเสียง 

ทว่านักบินผู้ช่วยเพศหญิงหรือ Concubine Pilot จะได้รับสิ่งตอบแทนอันเที่ยงแท้เพียงอย่างเดียว คือ ความตายขณะปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีผู้หญิงคนไหนได้กลับมาจากการขึ้นบินที่สูบพลังชีวิตของพวกเธอไปจนหมดสิ้น รวมถึงพี่สาวของ Zetian

ปิตาธิปไตยที่ฝังรากลึกในสังคมและความแค้นที่สั่งสมมาตลอดชีวิต บีบให้ Zetian อาสาเป็นนักบินฝึกหัด แม้จะมีอุปสรรคจากการที่เท้าของเธอโดนพับให้สวยงามตามแบบฉบับของหญิงที่ดีในยุคนั้นตั้งแต่เด็ก จึงไม่สามารถเดินได้ด้วยตัวเอง แต่แรงแค้นสุดท่วมท้น ทำให้เธอต้องพยายามมีชีวิตต่อไปให้ได้จนกว่าจะสังหารนักบินที่เป็นต้นเหตุให้พี่สาวจากเธอไปตลอดกาล และล้มล้างระบบดังกล่าวให้สิ้นซาก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีผู้หญิงคนไหนประสบชะตากรรมเหมือนพี่สาวเธออีก

Xiran นับว่าเป็นนักเขียนเควียร์อีกคนที่มีการเรียกร้องให้ยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์และปัญหาทางสังคมอื่นๆ ผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัวมาโดยตลอด 

Felix Ever After โดย Kacen Callender (he/they) 

BIPOC Queer Reads - Felix Ever After โดย Kacen Callender
BIPOC Queer Reads – Felix Ever After โดย Kacen Callender

Representation: Transgender / Black
Genre: YA Contemporary
TW: Transphobia / Bullying

เส้นทางสายชีวิตของ Felix Love เด็กหนุ่มทรานส์ที่ยังไม่เคยมีความรักครั้งแรกและอยากจะรู้จักคำว่ารักให้ได้เหมือนชื่อตัวเอง 

กระทั่งมีบุคคลนิรนามเอารูปตัวเองก่อนจะผ่านกระบวนการผ่าตัดยืนยันเพศ ชื่อที่เป็นตัวตนเก่า (Deadname) มาเปิดเผยไปทั่วโรงเรียนโดยไม่ได้รับความยินยอม รวมถึงจดหมายขู่ จน Felix ต้องหาทางเอาคืนและหาว่าใครเป็นคนทำ

การลองผิดลองถูกเพื่อผ่านพ้นความว้าวุ่นของวัยรุ่นที่ตั้งคำถามกับการเป็นตัวเองเพื่อต้องการเป็นที่ยอมรับ ความเครียดเรื่องเรียนต่อมหาวิทยาลัยในสาขาศิลปะที่ขัดใจครอบครัว ไหนจะความบังเอิญที่ต้องไปอยู่ในความสัมพันธ์แบบรักสามเส้าตอกย้ำแบบงงๆ ยิ่งตอกย้ำว่าตัวเราที่ไม่สมบูรณ์แบบมีคุณค่าที่จะได้รับความรักเสมอ เริ่มต้นจากความรักที่มีให้กับตัวเอง

เช่นเดียวกับหนังสือเควียร์เล่มอื่นๆ Felix Ever After กลายเป็นหนังสือต้องห้ามสำหรับเยาวชนในรัฐเท็กซัส

Last Night at the Telegraph Club โดย Malinda Lo (she/her) 

BIPOC Queer Reads - Last Night at the Telegraph Club โดย Malinda Lo
BIPOC Queer Reads – Last Night at the Telegraph Club โดย Malinda Lo

Representation: Sapphic / East Asian 
Genre: YA Historical
TW: Homophobia / Racism

ซานฟรานซิสโกปี 1950 ท่ามกลางความตึงเครียดจากการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ เด็กสาวเชื้อสายจีน-อเมริกัน Lily Hu ค้นพบตัวเองว่าไม่ได้อยากเป็นลูกสาวตามขนบครอบครัวจีนที่ต้องหาคู่และแต่งงานสร้างครอบครัวหลังจบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย เพราะเธอที่มีความสนใจเกี่ยวกับยานอวกาศและวิทยาศาสตร์ตั้งใจจะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา โดยได้แรงบันดาลใจจากคุณน้าซึ่งทำงานอยู่ห้องแล็บ Jet Propulsion Laboratory ของนาซ่า

ชีวิตของ Lily เปลี่ยนแปลงไปตลอด หลังจาก Kathleen Miller เพื่อนร่วมชั้นผิวขาวที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักบิน ได้พาเธอไปผับเลสเบี้ยนลับท่ามกลางบริบทสังคมที่ไม่เปิดรับคู่รักเพศเดียวกัน 

BIPOC Queer Reads เล่มนี้ เป็นหนังสืออิงเหตุการณ์สำคัญระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกามาเล่าเรื่องราวของสมาชิกครอบครัว Lily ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ มาจนรุ่นลูก ซึ่งทุกคนต่างก็ค้นหาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง บางครั้งก็เหมือนตัวเองเป็นคนนอกที่เป็นอะไรไม่ได้สักอย่าง ไม่เป็นอเมริกันมากพอหรือเป็นจีนก็ไม่แท้

Last Night at the Telegraph Club เป็นผลงานเควียร์อีกเล่มที่ถูกร้องเรียนและมีคำสั่งแบนกว่า 34 ครั้งใน 14 รัฐทั่วสหรัฐอเมริกา อาทิ รัฐเท็กซัส รัฐเพนซิลเวเนียและรัฐมิสซูรี 

She Is a Haunting โดย Trang Thanh Tran (they/she) 

BIPOC Queer Reads - She Is a Haunting โดย Trang Thanh Tran
BIPOC Queer Reads – She Is a Haunting โดย Trang Thanh Tran

Representation: Bisexual / Southeast Asian 
Genre: YA Contemporary / Paranormal 
TW: Body Horror / Insects / Blood 

Jade Nguyen เด็กสาวจากครอบครัวผู้อพยพรุ่นสองที่ตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกากับทริปหวนคืนสู่เวียดนาม เพื่อให้แม่ได้กลับบ้านเกิดไปหาญาติๆ ในรอบหลายสิบปี รวมทั้งทำภารกิจของเธอที่ต้องช่วยพ่อ ซึ่งห่างหายไปนานจากชีวิต สร้างเว็บไซต์โรงแรมแห่งใหม่ในดาลัต แลกกับเงินค่าเทอมเรียนต่อมหาลัย

ทว่า ที่พักดังกล่าวรีโนเวทมาจากบ้านของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสที่เข้ามายึดครองประเทศ โดยบรรพบุรุษของเธอเคยเป็นคนรับใช้ให้เจ้านายคนขาว 

ยิ่งเวลาผ่านไป ความแปลกประหลาดในบ้านเริ่มทวีความเฮี้ยนขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันรอคอยที่จะได้เหยื่อมาสังเวยรายต่อไปด้วยความอยากกระหาย กระทั่ง Jade เผชิญหน้ากับวิญญาณในชุดเจ้าสาวที่ปรากฏตัวให้เห็นในทุกคืน มิหนำซ้ำการมาถึงของ Florence Ngo เด็กสาวเจ้าถิ่นที่เป็นญาติของหุ้นส่วนพ่อยังชวนให้จิตใจว้าวุ่น 

Jade และ Florence จึงได้รวมทีมล่าท้าผีเพื่อพิสูจน์เรื่องราวแสนพิกล สืบเสาะประวัติความเป็นมาของบ้านและศึกษารากเหง้าของตัวเองในแผ่นดินแม่ โดยหวังว่าจะช่วยปลดปล่อยดวงวิญญาณให้พ้นจากความทรมานและปกป้องคนที่เธอรักจากภยันอันตรายที่คืบคลานใกล้ตัวมาทุกขณะ

Take a Hint, Dani Brown โดย Talia Hibbert (she/he/they)

BIPOC Queer Reads - Take a Hint, Dani Brown โดย Talia Hibbert
BIPOC Queer Reads – Take a Hint, Dani Brown โดย Talia Hibbert

Representation: Bisexual / Black / Queer in heterosexual relationship
Genre: Romantic Comedy / Adult / Chick Lit
TW: Anxiety / Panic Attack 

เมื่อคลิปเหตุการณ์ซ้อมหนีไฟในมหาวิทยาลัยของ Danika Brown หญิงสาวกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก เพื่อความก้าวหน้าในเส้นทางสายวิชาการ กับ Zafir อดีตนักกีฬารักบี้ดาวรุ่งที่ชีวิตพลิกผัน จนต้องมาทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยกลายเป็นไวรัลจนเกิดเป็นกระแส #DrRugbae ไปทั่วโลกออนไลน์ ทำให้ทั้งคู่ตกกระไดพลอยโจนมาเป็นคู่รักแบบหลอกๆ เพื่อช่วยโปรโมทโครงการสอนรักบี้การกุศลแก่เด็กๆ 

หนึ่งในหนังสือจากชุด Brown Sisters ที่บอกเล่าเรื่องราวความรักและความผูกพันของพี่น้องตระกูลดังกล่าว โดยหนังสือเล่มนี้นำเสนอภาพตัวแทนของตัวเอกที่มีอัตลักษณ์เป็น Bisexual จากเดิมที่ Danika ไม่อยากเริ่มต้นใหม่กับใครอีก เพราะความสัมพันธ์เก่ากับแฟนสาวที่เลิกรากันไป หลังจากที่ได้ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น ความบังเอิญก่อเกิดเป็นความรักที่จริงจัง

Dread Nation โดย Justina Ireland (she/they)

BIPOC Queer Reads - Dread Nation โดย Justina Ireland
BIPOC Queer Reads – Dread Nation โดย Justina Ireland

Representation: Bisexual / Asexual / Black
Genre: YA Historical / Horror
TW: Blood / Racism

เมื่อศพทหารที่เสียชีวิตในสงครามกลางเมืองอเมริกาฟื้นจากความตายและเริ่มออกล่าคนเป็น โดยมีศัพท์เฉพาะที่เรียกว่า Shamblers ทำให้รัฐมีการบัญญัติกฎหมายให้คนผิวดำและชาว Native American ส่งบุตรหลานของตนเองเข้าเรียนในโรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้และมารยาท เพื่อเป็นผู้อารักขาส่วนตัว คอยเสี่ยงชีวิตเพื่อดูแลนายหญิงผิวขาว การเป็นทาสรูปแบบใหม่อันเป็นหนทางเดียวที่คนชายขอบจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้โดยที่ปากท้องอิ่มและมีที่ซุกหัวนอน

Jane McKeene กำลังจะจบการศึกษาจากโรงเรียนในบัลติมอร์ แต่กลับเข้าไปพัวพันกับการหายตัวไปของครอบครัวหนึ่งโดยบังเอิญ ท่ามกลางเรื่องแปลกๆ ที่มากกว่าแค่การกระทำของ Shamblers ทำให้เธอกับเพื่อนร่วมชั้นอย่าง Katherine Deveraux ถูกลงโทษเพื่อปิดปาก 

ทั้งคู่โดนส่งตัวไปยังเมืองจำลองชื่อ Summerland ในอีกฟากของประเทศที่ไม่มีการจัดการปัญหาเรื่องศพเดินดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องร่วมมือกันต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดจากความชั่วร้ายของคนด้วยกันเองที่น่ากลัวกว่าสิ่งอื่นใด

แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน โดย Alok Vaid-Menon (they/them)

BIPOC Queer Reads - แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน โดย Alok Vaid-Menon
BIPOC Queer Reads – แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน โดย Alok Vaid-Menon

Representation: Non-binary / Asian 
Genre: Contemporary 
TW: Gender dysphoria 

หนังสือชวนตั้งคำถามถึงสิ่งที่เรียกว่าชายจริงหญิงแท้อันเป็นมรดกจากระบบสองเพศ เปิดมุมมองเกี่ยวกับนอน-ไบนารีและทรานส์ในบริบทการเมือง วัฒนธรรมและชีววิทยาได้อย่างรวบรัด รวมทั้งบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนจากครอบครัวเชื้อสายอินเดีย-มลายู ซึ่งมีบรรทัดฐานทางสังคมที่ยึดติดกับความเป็นชายหญิงอย่างเข้มข้น ขัดแย้งกับตัวตนที่เติบโตในสหรัฐอเมริกา 

ทั้งนี้ Alok ถือเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศที่ลื่นไหลและไม่ตกภายอยู่ภายใต้กรอบของความเป็นชายหรือหญิงที่สังคมประกอบสร้างขึ้น ผ่านงานแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น งานศิลปะ แฟชั่น หนังสือ บทกวีและเดี่ยวไมโครโฟน 

อันกามการุณย์ (Non fa niente) โดย LADYS (he/she/they)

BIPOC Queer Reads - อันกามการุณย์ (Non fa niente) โดย LADYS
BIPOC Queer Reads – อันกามการุณย์ (Non fa niente) โดย LADYS

Representation: Transgender / Southeast Asian 
Genre: Contemporary 
TW: Gender dysphoria / Body dysmorphia
สำนักพิมพ์: Ladys and Moonscape 

สายใยแห่งความผูกพันผ่านจดหมายของชายข้ามเพศในฐานะผู้ให้กำเนิดถึงลูกที่เป็นสรณะของชีวิต แม้ว่ารูปกายภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนก็ตาม

งานเขียนกระแสสำนึกที่เป็นเอกลักษณ์จากปลายปากกาของนักเขียนเควียร์ชาวไทยที่ The Noize Magazine ได้มีโอกาสไปร่วมงานเปิดตัวหนังสืออันกามการุณย์ ณ ร้าน Arteasia Desserts & Cafe แห่งถนนทรงวาด สถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด

หนังสือระบายความทุกข์ตรมที่ไม่เคยรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหนังที่ห่อหุ้มของ ลลนา ตั้งแต่ช่วงที่ตั้งคำถามกับอัตลักษณ์ของตน กระทั่งมีคนเข้ามาโอบรับในตัวตนที่เป็นอย่างการุณย์ในฐานะผู้ชายคนหนึ่ง ไม่ใช่ลูกสาว แม่และเมียแบบที่สังคมคาดหวังจากเพศกำเนิด

นอกจากงานเขียนที่ท้าทายระบบเพศแบบทวิลักษณ์ (Gender binary) ที่แบ่งแยกคนออกเป็นแค่เพศชายหรือเพศหญิง LADYS ยังเป็นนักเขียนเควียร์อีกรายที่ได้ออกมาเรียกร้องให้แก่ชาวปาเลสไตน์และมีส่วนสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นสังคมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

นอกเหนือจาก BIPOC Queer Reads ที่ได้แนะนำมาข้างต้นแล้วนั้น หากนักอ่านคนไหนที่ต้องการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวปาเลสไตน์ สามารค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://ceasefiretoday.com/ หรือ https://thaiforpalestine.carrd.co/ รวมทั้ง ติดตามข่าวสารฉบับภาษาไทยจาก https://x.com/THforPalestine และร่วมบริจาคช่วยเหลือปาเลสไตน์ได้ที่มูลนิธิอุมมะตี 

แม้ว่าเราจะมีความแตกต่างกันในมิติต่างๆ แต่ทุกคนล้วนเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างเห็นอกเห็นใจกันในฐานะมนุษย์ โดยมีหนังสือเป็นสื่อกลางเชื่อมโยง 

sources:

  • https://edition.cnn.com/2023/12/16/us/queer-liberation-library-combats-lgbtq-book-bans-reaj/index.html 
  • https://www.oif.ala.org/an-interview-with-author-rivers-solomon/
  • https://www.malindalo.com/blog/2023/10/3/book-banning-2023
  • https://www.mosaiccommunitylibrary.org/blog/banned-book-spotlight-cemetery-boys
  • https://www.mosaiccommunitylibrary.org/blog/bannedchallenged-book-spotlight-felix-ever-after 
Previous

มูฟออน ทิ้งอดีตไว้ข้างหลัง! Jamie Miller ประกาศซิงเกิลใหม่ “Nothing To Miss”

King Krule เปิดตัวอีพีอัลบั้ม SHHHHHH! พร้อมปล่อยเอ็มวีใหม่ “Time For Slurp”

Next