กระแสการรับรู้เกี่ยวกับสงครามอเมริกา (Kháng chiến chống Mỹ) หรือสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 (Chiến tranh Đông Dương lần thứ hai) หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนามสงครามเวียดนาม กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังจากการออกฉายของ The Sympathizer ฉบับมินิซีรีส์ ของ MAX ผลงานดัดแปลงจากหนังสือชื่อดังของเหวียน แทญห์ เวียต (Nguyễn Thanh Việt) บอกเล่าภารกิจหักเหลี่ยม เฉือนคมของสายลับสองหน้าผู้ยึดมั่นในระบอบคอมมิวนิสต์กับปฏิบัติการแทรกซึมนายพลฝั่งเวียดนามใต้ท่ามกลางไฟสงคราม
ทว่า สงครามเวียดนามไม่ได้มีแค่เรื่องราวของสายลับผู้ชายแต่เพียงอย่างเดียว มาทำความรู้จักอีกหนึ่งแง่มุมของสงครามที่ผู้หญิงเวียดนามมากมายต่างเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมากในการต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งสมควรได้รับการจดจำในความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวของพวกเธอ
ผู้หญิงเวียดนามในประวัติศาสตร์ยุคใหม่
บทบาทของผู้หญิงเวียดนามรักชาติกับการต่อต้านประเทศมหาอำนาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตกอยู่ภายใต้ยุคเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสในปี 1884 จนประสบความสำเร็จในการปฏิวัติเดือนสิงหาคมและประกาศเอกราชโดยโฮจิมินห์ในวันที่ 2 กันยายน 1945 ทำให้ชีวิตของผู้หญิงเวียดนามได้รับการปลดปล่อยและรับรองโดยรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สนับสนุนสิทธิอันทัดเทียมกับผู้ชายในฐานะประชาชนชาวเวียดนาม
กระทั่งฝรั่งเศสเปิดฉากสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง (Chiến tranh Đông Dương) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 1946 ทำให้ผู้หญิงเวียดนามต้องเข้าร่วมรบเคียงบ่าเคียงหลังกับสหายร่วมชาติอีกครั้ง
สงครามดังกล่าวสิ้นสุดลงหลังจากการพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู นำมาซึ่งการเจรจาเพื่อหาทางยุติสงครามในภูมิภาคตามอนุสนธิสัญญาสันติภาพเจนีวา (Geneva Accord) ในปี 1954 ทำให้ประเทศเวียดนามถูกแบ่งตามเส้นขนานที่ 17 ได้แก่ เวียดนามเหนือที่ปกครองด้วยระบบสังคมนิยม และเวียดนามใต้ที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยถูกควบคุมจากสหรัฐอเมริกาในฐานะรัฐบาลหุ่นเชิด มีเป้าหมายเพื่อใช้เวียดนามใต้ในการหยุดการขยายตัวของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้หญิงเวียดนามกลับคืนสู่สมรภูมิเพื่อรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่น หลังจากระบอบการปกครองที่ต่างกันของฝั่งเหนือและใต้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนปะทุเป็นสงครามเวียดนาม หนึ่งในสมรภูมิที่ดุเดือดที่สุดของโลกยุคใหม่ เกิดขึ้นระหว่างช่วง 1 พฤศจิกายน 1955 – 30 เมษายน 1975
นอกจากการรบในแนวหน้าหรือนักรบกองโจรแล้ว ในแนวหลังยังมีหน้าที่อื่นๆ ที่พวกเธอต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็น คนงาน มีหน้าที่หลากหลาย ตั้งแต่ปลูกข้าว ดูแลเสบียง ขุดสนามเพลาะ ขุดอุโมงค์ บรรจุกระสุนหรือสร้างกับดัก แพทย์และพยาบาล รักษาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากสนามรบภายใต้สภาพแวดล้อมที่จำกัดในอุโมงค์ ช่างเครื่องหญิง คอยดูแลรถบรรทุกที่เดินทางไปมาระหว่างสนามรบและฐานทัพ เพื่อขนส่งทหาร อาวุธและเสบียง รวมไปถึงซ่อมถนนหรือสะพานที่สำคัญต่อการสัญจรหลังจากโดนทำลายด้วยแรงระเบิดจากฝ่ายศัตรู
แม้แต่นักบวชอย่างแม่ชี ก็ยังร่วมออกมาเคลื่อนไหวแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองเพื่อต่อต้านสงครามและเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมือง รวมทั้งนักการเมืองหญิงที่คอยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศต่างๆ ที่ต่อต้านสงครามในเวียดนาม
สายลับหญิงสร้างชาติ
อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญที่สามารถพลิกโฉมประวัติศาสตร์สงคราม ได้แก่ สายลับที่คอยส่งข่าวสารและข้อมูลที่จำเป็น ทั้งในช่วงสงครามต่อต้านฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้ทักษะการปลอมตัว การแอบซุกซ่อนเอกสารหรือจดหมายลับไปกับสิ่งของต่างๆในชีวิตประจำวัน เพื่อปกปิดเจ้าหน้าที่ของฝ่ายตรงข้าม เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงและเชื่อมโยงกลุ่มก้อนของผู้ต่อต้านในแต่ละพื้นที่ของประเทศเวียดนามเข้าด้วยกัน
หนึ่งในตัวอย่างวีรสตรีที่มีชื่อเสียงในช่วงสงครามอเมริกาที่ได้รับการเชิดชูวีรกรรมจวบจนถึงปัจจุบัน อาทิ
หวอ ถิ ถัง (Võ Thị Thắng) หญิงสาวจากครอบครัวนักปฏิวัติในอำเภอเบ้น ลึ้ก (Bến Lức) จังหวัดลอง อาน (Long An) ที่ทำหน้าที่สนับสนุนการปฏิวัติในเขตบ้านเกิด ก่อนจะเข้าร่วมกับขบวนการกู้ชาติอย่างเป็นทางการในวัย 16 ปี
ในปี 1968 เธอได้รับภารกิจให้ไปตามสืบพฤติกรรมของเทริ่น วัน โด๊ะ (Trần Văn Đỗ) ซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นสายลับให้กับฝ่ายศัตรู โดยวางแผนบุกลอบสังหารในวันที่ 27 กรกฎาคม 1968 แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากปืนของเธอด้าน ส่งผลให้หวอ ถิ ถังถูกจับกุม ตามด้วยการทรมานสารพัด แต่เธอไม่เคยปริปากเผยความลับของขบวนการปฏิวัติแม้แต่น้อย
ต่อมาในวันที่ 2 สิงหาคม 1968 หวอ ถิ ถังถูกตัดสินให้ต้องโทษจำคุกและใช้แรงงานเป็นระยะเวลา 20 ปี จากข้อหาพยายามฆ่า แต่สิ่งที่เธอทำหลังได้ยินคำตัดสินคือคลี่ยิ้มออกมาและกล่าวประโยคในตำนาน
“ดิฉันเกรงว่ารัฐบาลหุ่นเชิดชุดนี้คงจะอยู่ไม่นานขนาดนั้นหรอก”
ภาพเหตุการณ์ในวันตัดสินคดีที่รู้จักกันในนามรอยยิ้มแห่งชัยชนะ (Nụ cười chiến thắng) กลายเป็นหนึ่งในภาพถ่ายสำคัญทางประวัติศาสตร์ช่วงสงครามที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของผู้หญิงเวียดนาม
หวอ ถิ ถังถูกคุมขังในหลายเรือนจำ รวมถึงเรือนจำโกน ด่าว (Côn Đảo) ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนรกบนดินจากการใช้คุกกรงเสือ (Tiger Cage หรือ Chuồng cọp Côn Đảo) มรดกอันน่าอดสูตั้งแต่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส นักโทษจะอยู่ในพื้นที่ปิดสามด้าน มีเพียงซี่ลูกกรงด้านบนของแต่ละห้องขัง ถูกทรมาน จำกัดอาหารและน้ำ
ในเวลาที่ว่างเว้นจากการถูกทรมานและการใช้แรงงาน เธอพยายามรักษาจิตวิญญาณนักสู้ของตัวเองไว้ผ่านการทำงานฝีมือ ด้วยศรัทธาที่อยากจะไปกราบไหว้วัดเจดีย์เสาเดียวในกรุงฮานอย เมืองหลวงแห่งการปฏิวัติให้ได้สักครั้งในชีวิต ผ้าปักของหวอ ถิ ถังที่ใช้เวลา 1 ปีในการสร้างสรรค์กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการต่อสู้
ท้ายที่สุดแล้ว เธอได้รับการปล่อยตัวในเดือนมีนาคม 1973 และยังทำงานอย่างต่อเนื่องร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
สายลับสาวอีกคนที่มีบทบาทไม่แพ้กัน ได้แก่ ฮวิ่ง ถิ หง็อก (Huỳnh Thị Ngọc) กับอุบายแกล้งสติฟั่นเฟือนตบตาศัตรู เธอทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานลับส่งจดหมายให้แม่และกองกำลังปฏิวัติตั้งแต่อายุ 9 ขวบ
ในเดือนกุมภาพันธ์ 1972 ฮวิ่ง ถิ หง็อก วัย 21 ปี พร้อมกับหน่วยรบเยาวชนได้บุกลอบสังหารเหวียน วัน ชึ๊ก (Nguyễn Văn Chức) ผู้ว่าราชการจังหวัดบิ่งญ์ ดิ่ง (Bình Định) ซึ่งขี้นชื่อเรื่องความโหดเหี้ยม ผลจากภารกิจดังกล่าว ทำให้เหวียน วัน ชึ๊กบาดเจ็บสาหัส พร้อมกับการเสียชีวิตของลูกน้องอีก 5 ราย ซึ่งทำให้มีการล่าตัวผู้ก่อการอย่างเข้มข้น
ท้ายที่สุดเธอถูกจับในขณะถือบัตรประชาชนปลอมในชื่อเหวียน ถิ ทู กู๊ก (Nguyễn Thị Thu Cúc) และไม่ยอมบอกตัวตนที่แท้จริงของตนเอง
ตั้งแต่ถูกควบคุมตัวฮวิ่ง ถิ หง็อกก็ได้อาละวาดคล้ายกับบุคคลจิตไม่สมประกอบ แม้จะถูกทรมานสารพัดจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรงข้าม กระทั่งถูกให้นั่งบนเก้าอี้ประหารด้วยการยิงเป้า เธอก็ยังไม่แสดงความหวาดกลัวใดๆ กลับยิ่งทวีความบ้าคลั่งจนเป็นที่วุ่นวายของฝ่ายตรงข้าม ทำให้เธอถูกส่งตัวไปคุมขังที่โรงพยาบาลจิตเวชเบียนฮว่า (Biên Hòa Psychological and Mental Hospital)
ตลอดระยะเวลา 6 เดือนในโรงพยาบาลที่มักจะให้ผู้ป่วยรับยาให้อยู่ในสภาวะอัมพาตเพื่อสงบสติอารมณ์ เธอได้พบเจอกับจิตแพทย์หญิงชาวเบลเยี่ยมชื่อโอลิเวต์ มิคูไลชัค (Olivette Mikolajczak) ที่เป็นอาสาสมัครทำงานอยู่ในโรงพยาบาลดังกล่าว
ความเมตตาจากจิตแพทย์หญิงและสหายร่วมรบ ทำให้ฮวิ่ง ถิ หง็อกสามารถหลบหนีจากโรงพยาบาลจิตเวชได้อย่างปลอดภัยในเดือนมีนาคม 1975 ก่อนที่จะเธอจะเข้าร่วมปลดปล่อยเวียดนามใต้ในวันล่มสลายของไส่ก่อน (Fall of Saigon หรือ Sài Gòn thất thủ) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 1975 หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนต้นของซีรีส์ The Sympathizer
แม่วีรชนผู้เสียสละ
แม้ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายช่วงสงคราม การทำหน้าที่แม่ยังคงเป็นหน้าที่อันสำคัญยิ่งของผู้หญิงเวียดนาม พวกเธอต้องสามารถเลี้ยงดูลูกได้สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเด็กอย่างอุโมงค์และสนามรบ
แต่เมื่อถึงเวลาที่ชาติต้องการความช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน แม่ย่อมสามารถเสียสละลูกหลานไปทำหน้าที่ต่างๆ เพื่อร่วมก่อร่างสร้างประเทศ แม้ว่าอาจจะเป็นการสิ้นสุดการทำหน้าที่ของตัวเองก็ตาม ซึ่งเป็นแบบอย่างที่รัฐและพรรคคอมมิวนิสต์คาดหวังให้ชาวเวียดนามปฏิบัติตาม
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการแต่งตั้ง แม่วีรชนผู้กล้าแห่งเวียดนาม (Heroic Mothers of Vietnam หรือ Bà mẹ Việt Nam anh hùng) เพื่อเป็นการยกย่องผู้หญิงผู้อยู่เบื้องหลังการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต ในวันที่ 24 กันยายน 1994 โดยคณะกรรมการสภาแห่งชาติชั่วคราว (Permanent Committee of the National Assembly หรือ Uỷ ban Thường vụ Quốc hội) ได้แต่งตั้งแม่วีรชนผู้กล้าแก่ผู้หญิงที่ต้องสูญเสียลูกมากกว่า 2 คน หรือลูกคนเดียว รวมทั้งสามีในสงคราม
ผู้หญิงที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าวมีอยู่ราว 50,000 คนทั่วประเทศ โดยบุคคลที่ได้รับความเคารพสูงสุดจากชาวเวียดนาม ได้แก่ เหวียน ถิ ถื้อ (Nguyễn Thị Thứ) หญิงที่ได้เสียสละชีวิตของทายาทเป็นจำนวนทั้งสิ้น 12 รายในสงครามที่ประเทศต้องเผชิญ
สิ่งของพลิกสงคราม
ปัจจุบัน เรื่องราวของการต่อสู้เพื่อต่อต้านการกดขี่และการรุกรานจากชาติตะวันตกของผู้หญิงเวียดนามผ่านสิ่งของต่างๆที่เคยใช้จริง รวมถึงรูปภาพในประวัติศาสตร์ที่ช่วยยืนยันสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ถูกเก็บรวบรวมไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ผู้หญิงเวียดนาม (Vietnamese Women’s Museum หรือ Bảo tang Phụ nữ Việt Nam) ในกรุงฮานอย ก่อตั้งขึ้นปี 1987 และพิพิธภัณฑ์ผู้หญิงภาคใต้ (Southern Women’s Museum หรือ Bảo tàng Phụ nữ Nam Bộ) ในนครโฮจิมินห์ ก่อตั้งขึ้นปี 1985
พิพิธภัณฑ์ผู้หญิงทั้งสองแห่งถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของผู้หญิงอย่างเป็นทางการประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในส่วนการจัดแสดงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นผู้หญิงในประวัติศาสตร์สงคราม พบว่า สายลับหญิงใช้กลยุทธ์ในการส่งต่อความลับและข้อมูลที่จำเป็นต่อการปฏิวัติด้วยการดัดแปลงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
สิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูเหมือนจะไม่มีความสำคัญเหล่านี้ ล้วนมีเรื่องราวที่น่าทึ่งของผู้หญิงเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็น หน้ากากคลุมหน้าทำจากผ้าดิบเพื่ออำพรางตัวในการประชุมลับ แจกัน บัตรประชาชนปลอม ตลับแป้งที่สายลับหญิงใช้เพื่อส่งเอกสารลับของศัตรูซึ่งซุกซ่อนอยู่หลังกระจกให้แก่นายทหารฝั่งเวียดกงในช่วงปี 1973-1974
ไม้กวาดทางมะพร้าวของเล ถิ คา (Lê Thị Kha) วัย 61 ปี ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารช่วงปี 1964 และปลอมตัวเป็นแม่ค้าเร่ขายไม้กวาดทางมะพร้าวจากจังหวัดเบ๊น แจ (Bến Tre) ไปยังจังหวัดหมี ทอ (Mỹ Tho) โดยใส่เอกสารลับบริเวณด้ามจับของไม้กวาดทางมะพร้าวที่สภาพไม่น่าใช้ที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของนักโทษหญิงที่ถูกคุมขัง แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ในเรือนจำและวิถีชีวิตที่นักโทษการเมืองหญิงใช้เพื่ออยู่รอดจากความโหดร้ายจากการรีดเค้นข้อมูลและการทรมานสารพัด
ข้าวของเครื่องใช้ของนักโทษหญิงมีทั้งงานเย็บปักถักร้อยในรูปแบบของปลอกหมอนและผ้าเช็ดหน้า สมุดกลอน สมุดจดวิชาคณิตศาสตร์และภูมิศาสตร์ รวมทั้งผ้าขาวม้าที่ใช้ซับเลือดประจำเดือน
สิ่งของจัดแสดงที่สร้างผลกระทบต่อจิตใจอย่างต่อผู้เขียนอย่างมาก คือ เส้นผมของเหวียน ถิ ซึง (Nguyễn Thị Dzung) นักโทษหญิงที่ถูกควบคุมตัว ณ เรือนจำโกนด๋าว ระหว่างปี 1970 และได้บริจาคของสิ่งนี้ให้กับพิพิธภัณฑ์ผู้หญิงเวียดนามเมื่อปี 1988
ส่วนหนึ่งของร่างกายที่นำมาเพื่อถักทอร้อยต่อกันเป็นราวตากผ้ายาว 3 เมตร เพื่อดำรงชีวิตท่ามกลางสภาวะอันแร้นแค้นที่นักโทษต้องกินและขับถ่ายรวมอยู่ในที่เดียวกัน
นักโทษหญิงในเรือนจำแห่งนี้จะได้รับอนุญาตให้อาบน้ำทุกๆ 3 เดือน ในแต่ละวันจะได้รับน้ำสำหรับดื่มกินแค่ 2 กระป๋องเท่านั้น ดังนั้นแล้วช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดของผู้หญิงตอนมีประจำเดือน พวกเธอต้องฉีกเศษเสื้อผ้าที่สวมใส่ของตัวเองมาใช้แทนผ้าอนามัยและซักล้างด้วยน้ำที่มีอย่างจำกัด บ้างก็ใช้ปัสสาวะของตัวเองในการทำความสะอาด จากนั้นพัดให้แห้งหรือตากไว้กับราวตากผ้าที่ทำขึ้นเอง
The Sympathizer สงคราม และชะตากรรมของผู้หญิง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามได้สร้างพื้นที่ใหม่ในสังคมแทนพื้นที่ในบ้านตามความคิดดั้งเดิมของขงจื้อที่ฝังรากลึกในเวียดนาม จนกลายมาเป็นลักษณะหรือภาพจำอันโดดเด่นในฐานะนักสู้ที่ไม่ย่อท้อต่อความโหดร้าย แม้จะเป็นแค่เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นผู้หญิงเวียดนามได้รับความสำคัญทัดเทียมกับผู้ชายจากความสามารถที่ตนเองมี ซึ่งมากไปกว่าการเป็นแค่ภรรยาที่ดีเพื่อให้กำเนิดทายาทหรือการทำหน้าที่แม่ในครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ความโหดร้ายในฐานะเหยื่อของสงครามที่ผู้หญิงเวียดนามต้องเผชิญยังมีมากไปกว่าความรุนแรงในสนามรบและเรือนจำ ความรุนแรงรอบด้านในสมรภูมิชีวิตจากความรุนแรงทางเพศและปัญหาครอบครัวมากมายได้ทิ้งบาดแผลที่มองเห็นและมองไม่เห็นให้กับพวกเธอภายหลังการรับใช้ชาติ โดยเฉพาะความกดดันจากการเป็นแม่ที่ดี ซึ่งไม่ควรมีใครต้องประสบกับชะตากรรมดังกล่าว
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ที่เหล่าสายลับหญิงเวียดนามได้เข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งได้รับความเคารพและเป็นที่จดจำของผู้คน ยังมีอีกหลายเรื่องราวท่ามกลางไฟสงครามที่รอการค้นพบจากผู้ที่สนใจ รวมถึงภารกิจเสี่ยงตายของสายลับสองหน้าใน The Sympathizer ที่กำลังออกฉายมาได้ครึ่งทางและกำลังเข้มข้นขึ้นในทุกขณะ
เอกสารอ้างอิง
- ดุสิดา วรชาติเดชชัย (2559). ภาพลักษณ์ของผู้หญิงเวียดนามผ่านการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ผู้หญิงเวียดนามกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะศิลปศาสตร์
- Vietnamese Women’s Museum, Everlasting Memories, (Hanoi : Women’s Publishing House, 2008,)
- Hy Van Luong, Gender Relations: Ideologies, Kinship practices and Political Economy”, (Maryland: Rowman & Littlefield Publishers Inc, 2003)