วันที่ 24 พฤษภาคมของทุกปีจะเป็นวันตระหนักรู้แห่งการมีตัวตนของคนมีรสนิยมไม่จำกัดเพศ (Pansexual and Panromantic Visibility Day หรือ Pan Visibility Day) เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับคนที่นิยามตนเองว่าเป็น pansexual และ panromantic ว่าหมายถึงอะไร มีความเหมือน หรือความต่างกันอย่างไร และมีชุดความคิดผิดๆ อะไรที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มบ้าง เนื่องในวัน Pan Visibility Day หรือ วันตระหนักรู้แห่งการมีตัวตนของชาวแพน ทาง Sapphic Union มีบทความดีๆ มาฝากทุกคน เพื่อที่จะได้ช่วยสร้างความเข้าใจกับกลุ่มคนเพศหลากหลายกัน
ชวนทำความรู้จัก Pansexuality และ Panromanticism คืออะไร?
แพนเซ็กชวล (pansexual) คือ คำอธิบายเพศวิถี (sexual orientation) ของกลุ่มคนที่มีแรงดึงดูดทางเพศ (sexual attraction) ต่อคนอื่นโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงเพศสภาพ (gender identity) ของอีกฝ่ายว่าจะเป็นชาย หญิง นอนไบนารี่ (non-binary) เจนเดอร์เควียร์ (genderqueer) หรือเพศหลากหลายอื่นๆ
ในขณะที่ แพนโรแมนติก (panromantic) คือ คำอธิบายแรงดึงดูดทางจิตใจ (romantic attraction) ของกลุ่มคนที่มีความรู้สึกในเชิงโรแมนติกต่อคนอื่นโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงเพศสภาพของอีกฝ่ายว่าจะเป็นอะไรเช่นเดียวกันกับแพนเซ็กชวล โดยที่แพนโรแมนติกจะไม่มีแรงดึงดูดทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง
ถึงแม้ว่า แพนเซ็กชวล และ แพนโรแมนติก จะมีความเกี่ยวข้องกันในเชิงความรู้สึกดึงดูดต่อบุคคลหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพอีกฝ่าย แต่บุคคลหนึ่งสามารถนิยามตัวเองว่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เนื่องจาก แพนเซ็กชวล นั้นเป็นแรงดึงดูดทางเพศ (sexual attraction) ในขณะที่ แพนโรแมนติก เป็นแรงดึงดูดทางจิตใจ (romantic attraction) ซึ่งแรงดึงดูดทางเพศ และแรงดึงดูดทางจิตใจ เป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น เราอาจนิยามตนเองว่ามีแรงดึงดูดทางเพศกับเพศตรงข้าม (heterosexual) แต่ก็มีความรู้สึกเชิงโรแมนติกกับคนอื่นได้แบบไม่ได้คำนึงถึงเพศสภาพของอีกฝ่าย (panromantic) ได้เช่นกัน
Pan Visibility Day: เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Pan
Pansexual กับ Bisexual คืออัตลักษณ์เดียวกัน สามารถใช้แทนกันได้
ความเข้าใจนี้ เป็นเรื่องที่แม้คนในกลุ่ม LGBTQIAN+ เองก็ยังเข้าใจผิด และสับสน ไบเซ็กชวล (bisexual) คือ คำอธิบายเพศวิถีของกลุ่มคนที่มีแรงดึงดูดทางเพศกับบุคคลอื่นตั้งแต่สองเพศขึ้นไป โดยอาจดึงดูดเพศเดียวกันกับของตนเอง และเพศอื่นๆ
ความแตกต่างของไบเซ็กชวลกับแพนเซ็กชวลนั้น จะต่างกันตรงที่ แพนเซ็กชวลมีแรงดึงดูดทางเพศโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงเพศสภาพของอีกฝ่าย ในขณะที่ไบเซ็กชวลนั้นยังคงมีแรงดึงดูดทางเพศที่ยึดโยงและเฉพาะเจาะจงกับเพศของบุคคลหนึ่งอยู่ เช่น คนที่เป็นไบเซ็กชวลจะมีความชื่นชอบในความเป็นชาย หรือความเป็นหญิงของบุคคลนั้นๆ อยู่
แพนเซ็กชวลเกลียดกลัวทรานส์ (transphobia)
เนื่องจากคนที่เป็นแพนเซ็กชวล นิยามตนเองว่า มีแรงดึงดูดทางเพศกับบุคลโดยไม่คำนึงถึงถึงเพศของอีกฝ่าย ทำให้ถูกเข้าใจผิดว่าไม่ได้มองคนข้ามเพศตามเพศสภาพที่นิยามไว้ เช่น ไม่ได้มองชายข้ามเพศ (trans man) เป็นผู้ชาย หรือหญิงข้ามเพศ (trans woman) เป็นผู้หญิง ซึ่งชุดความคิดนี้เป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากการนิยามตนเองว่ามีแรงดึงดูดต่อใครสักคน ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนที่เป็นเพศหลากหลาย (LGBTQIAN+) หรือเป็นคนที่เป็นรักตรงเพศ (straight people) ไม่ได้หมายความว่าเป็นการลบเลือนอัตลักษณ์ หรือกระทบต่อการมีอยู่ของเพศสภาพของใคร เพียงแต่ “เพศ” ไม่ได้เป็นตัวแปรสำหรับคนที่เป็นแพนเซ็กชวลในการที่จะตกหลุ่มรักใครสักคน
คนที่เป็นแพนจะรักคนไปทั่ว และมีโอกาสนอกใจมากกว่ากลุ่มคนรักเพศตรงข้าม
เพียงเพราะใครคนหนึ่งนิยามตนเองว่าเป็นแพน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตกหลุมรักทุกคนที่เจอ หรือมีโอกาสนอกใจมากกว่าคนอื่น ชุดความคิดนี้มีพื้นฐานมาจากการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (homophobia) ที่ว่าผู้ชายที่ชอบผู้ชายมักจะชอบผู้ชายทุกคนที่ได้พบปะ หรือผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงจะต้องรู้สึกดึงดูดกับผู้หญิงทุกคนที่พบเจอ คนที่เป็นแพนก็มีวิถีเช่นเดียวกันกับกลุ่มคนรักต่างเพศ (heterosexual) ที่ไม่ได้ตกหลุมรักเพศตรงข้ามทุกคนที่เจอ
คนที่เป็นแพนชอบมีความสัมพันธ์แบบสองสามคน
ความเชื่อชุดนี้เป็นสิ่งที่ผิดมาก การมีความสัมพันธ์แบบคนรักหลายคน (polyamory) หรือความสัมพันธ์แบบคู่รักเดียว (monogamy) ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นมีแรงดึงดูดกับใครได้บ้าง แต่ขึ้นอยู่กับการตกลงยินยอมในความสัมพันธ์จากคนที่เกี่ยวข้องในความสัมพันธ์นั้นๆ
เป็นแพนก็แค่สับสนเองปะ?
ผู้ชายที่นิยามตนเองว่าเป็นแพน จะถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่สามารถยอมรับได้เต็มปากว่าชอบผู้ชาย (homosexual) หรือกลัวการเปิดเผยตัวตนของตนเอง (coming out) ในขณะที่ผู้หญิงที่นิยามตนเองว่าเป็นแพน จะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงที่ชอบผู้ชาย (heterosexual) แต่แค่อยากรู้อยากลองมีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ชุดความเชื่อนี้เป็นการลบเลือนตัวตัวของคนที่เป็นแพน และพวกเขานี้ไม่จำเป็นต้องนิยามว่าตนเองชอบกี่เพศ มีเพศอะไรบ้างเพื่อพิสูจน์ตัวตน คนที่เป็นแพนนั้น พวกเขาที่มีอยู่จริง และไม่ใช่ภาวะของการสับสนในอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง
การมีความตระหนักรู้เรื่อง pansexuality และ panromanticism จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรทำความเข้าใจ เพื่อที่จะได้ไม่มองข้ามอัตลักษณ์ หรือลบตัวตนของคนที่เป็น pansexual และ panromantic หวังว่าบทความนี้จะช่วยทำให้ทุกคนเข้าใจคนรอบข้างที่เป็น pansexual และช่วยให้ทุกคนที่กำลังค้นหาตัวตน ได้สำรวจ และเข้าใจตนเองด้วย สุขสันต์วันตระหนักรู้แห่งการมีตัวตนของคนมีรสนิยมไม่จำกัดเพศ (Pan Visibility Day)
Sources:
- https://www.papyrus-uk.org/pan-visibility-day/
- https://www.stonewall.org.uk/about-us/news/5-common-misconceptions-about-pansexuality
- https://www.therainbowstores.com/blogs/blogs-guides/pansexual-and-panromantic-visibility-day
- https://www.verywellmind.com/what-is-panromantic-7098113