สมรสเท่าเทียม ผ่านวาระสาม มุ่งสู่วุฒิสภา ก่อนประกาศใช้จริง!

| | , ,

จากการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิเท่าเทียมกับบุคคลตรงเพศในประเทศไทย อย่าง “สิทธิในการสมรส” นั้น ใช้เวลามากว่า 23 ปี (นับตั้งแต่ พ.ศ. 2544) กว่าจะสร้างประวัติศาสตร์ให้กลุ่มคนเพศหลากหลายได้สิทธิสมรสเท่าเทียมเฉกเช่นเดียวกับการสมรสของคู่รักต่างเพศ ล่าสุด สภาผู้แทนราษฎร ในรัฐบาลของ เศรษฐา ทวีสิน ได้มีมติผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม 400 เสียง ต่อ 10 เสียง

สำหรับการพิจารณาสมรสเท่าเทียมในวาระแรกนั้น เป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ใจความหลักคือการแก้ไขบรรพห้า ที่เกี่ยวข้องกับการสมรส ซึ่งแต่เดิมมีการรับรองเพียงแค่ชายและหญิงเท่านั้น แต่สำหรับการแก้ไขในครั้งนี้ จะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดการรับรองการสมรสของบุคคลไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ให้ได้สิทธิเท่าเทียมกันตามกฎหมาย

ภายในการประชุมเพื่อการพิจารณาร่างสมรสเท่าเทียม หลังจากผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญในวาระสอง จึงทำการพิจารณาและลงมติเห็นชอบในวาระสามต่อ หลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็จะส่งร่างไปยังวุฒิสภาเพื่อให้สภาพิจารณาอีกครั้ง หากได้รับความเห็นชอบ นายกรัฐมนตรีก็จะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศเป็นกฎหมายและมีผลใช้ได้อย่างเป็นทางการ

หากมีการประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้อย่างเป็นทางการ จะส่งผลให้ ประเทศไทย เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ถัดจากไต้หวันและเนปาลที่ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

สมรสเท่าเทียม คืออะไร?

สมรสเท่าเทียม คือ การสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ครอบคลุมทุกเพศสภาพ ทั้งเพศวิถี และอัตลักษณ์ทางเพศ เพื่อให้พวกเขาได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ตามหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งการมีอยู่ของ ‘สมรสเท่าเทียม’ นั้น จะก่อให้เกิดสิทธิต่างๆ กับคู่สมรสของกลุ่มคนเพศหลากหลาย เช่นเดียวกับสิทธิของสามี-ภรรยา โดยผูกพันกันตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น การหมั้น การจดทะเบียนสมรส การจัดการทรัพย์สินสมรส การเป็นผู้จัดการแทนทางอาญา การรับมรดก การรับบุตรบุญธรรม รวมไปถึงสิทธิต่างๆ ที่ทางกฎหมายรับรอง และสวัสดิการจากรัฐ เป็นต้น

นั่นหมายความว่า สมรสเท่าเทียม จะนำมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของคู่สมรสเพศหลากหลาย เช่นเดียวกับ สามี-ภรรยา ตามกฎหมาย

ถกกฎหมาย สมรสเท่าเทียม หลังผ่าน กมธ. | THE STANDARD (LIVE)

ส.ส. ลงมติผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม 400 เสียง ต่อ 10 เสียง

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสำหรับการลงมติร่างกฎหมายฉบับนี้นั้น ทางด้านของ ดนุพร ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ได้ชี้แจงรายละเอียดก่อนทำการลงมติร่างกฎหมายว่า ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในมาตรา 4 กล่าวถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เป็นการทำเพื่อคนไทยทุกคน

“กฎหมายฉบับนี้แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อทุกคนในประเทศไทย เพราะหลังจากที่ได้มีการผ่านวาระ 1 ไปแล้ว เราได้ฟังเสียงรอบด้าน และมีการพูดคุยว่ากฎหมายฉบับนี้ทำเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ กมธ.พิจารณาด้วยความรอบคอบ และขอยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ ชายหญิงทั่วไป ท่านเคยได้รับสิทธิอย่างไร ท่านจะไม่เสียสิทธิแม้แต่น้อย สิทธิของท่านในทางกฎหมายยังเท่าเดิมทุกประการ และกฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแล้วแต่จะเรียกว่าเป็น LGBTQ+ ผู้ชายข้ามเพศ หญิงข้ามเพศ หรืออะไรก็ตาม

วันนี้ทุกสังคมไม่ว่าในประเทศไทยหรือต่างประเทศ เชื่อว่าทุกคนทราบดีว่าเราไม่ได้มีเพียงแค่เพศชาย เพศหญิง อีกต่อไปแล้ว มีคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะเกิดมาเป็นเพศชาย หรือเพศหญิง เขาเลือกเกิดไม่ได้ แต่คนเหล่านี้เลือกที่จะเป็นตามสิ่งที่เขาต้องการได้ เพราะฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ ต้องการที่จะ ‘คืนสิทธิ’ ให้กับคนกลุ่มนี้ เราไม่ได้ให้สิทธิเขา แต่เป็นสิทธิเบื้องต้นที่คนกลุ่มนี้สูญเสียไป ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการรักษาพยาบาล การเสียภาษี การลดหย่อนภาษีต่างๆ รวมถึงการเซ็นยินยอมให้เข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาล คนเหล่านี้เขาไม่เคยได้สิทธิแบบนี้ ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เป็นการคืนสิทธิ และตอนหาเสียงเลือกตั้งทุกพรรคการเมือง บอกว่าอยากจะทำให้สังคมนี้เป็นสังคมที่เท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ

ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเท่าเทียม กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ยาที่จะรักษาได้ทุกโรค แต่อย่างน้อยเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่จะสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมไทย ขอเชิญชวน ส.ส.ทุกท่านมาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ให้ประเทศไทย เราจะเป็นประเทศที่สาม ในภูมิภาคเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เราจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเซาท์ อีสท์ เอเชีย และเราจะภาคภูมิใจในเวทีโลกว่าประเทศไทยเห็นความสำคัญของความเหลื่อมล้ำในสังคม ความเหลื่อมล้ำทางเพศ หวังว่าวันนี้พวกเราในฐานะตัวแทนประชาชนทั้งประเทศ จะร่วมสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทย”

Two women wear rainbow flags on Congress Street in Portland, Maine during the annual Pride parade Photo by Mercedes Mehling on Unsplash
Photo by Mercedes Mehling on Unsplash

สาระสำคัญโดยสรุปของร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม

สำหรับร่างกฎหมายที่ผ่านชั้นกรรมาธิการวิสามัญ ที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีทั้งสิ้น 38 มาตรา ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุป 3 หัวข้อ นั่นคือ

1. บทบัญญัติของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ในบางมาตรา มีถ้อยคำที่ไม่สอดคล้องกับบริบทสังคมในปัจจุบัน ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญจึงปรับถ้อยคำให้มีความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ

2. เกณฑ์อายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรสนั้น ควรกำหนดอายุไว้ที่ 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้ผู้ที่จะทำการหมั้นหรือการสมรส มีอายุพ้นจากความเป็นเด็ก และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายในประเทศ ที่มีบทบัญญัติคุ้มครองเด็กเพื่อป้องกันปัญหาการแต่งงานในวัยเด็กจากการถูกบีบบังคับ ซึ่งเชื่อมโยงเข้ากับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พันธสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย

3. คณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้เพิ่มบทบัญญัติใหม่ขึ้นมาจำนวน 1 มาตรา เพื่อกำหนดให้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่งใดๆ ที่อ้างถึงคู่สมรสที่ก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายฉบับนี้ ให้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางกฎหมายตามกฎหมายอื่นๆ ที่กำหนดเอาไว้ให้กับ “สามี ภรรยา” เพื่อลดภาระให้กับหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขกฎหมาย และมีการบัญญัติให้หน่วยงานรัฐทำการทบทวนกฎหมายต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม โดยต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 180 วัน

Sapphic Union at Bangkok Pride 2023 - Photo by Pinot noir
Sapphic Union at Bangkok Pride 2023 – Photo by Pinot noir

การสงวนญัตติเพื่อทำการพิจารณาในขั้นลงมติของ ส.ส.

ซึ่งในระหว่างขั้นตอนที่มีการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการวิสามัญ มีการสงวนญัตติเอาไว้ เพื่อให้ทาง ส.ส. ได้ทำการลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบในมาตราเหล่านั้น ซึ่งเนื้อหาที่มีการสงวนญัตติเอาไว้มีในส่วนของ

1. อายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรส

เนื่องจากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีการบังคับใช้อยู่ตาม มาตรา 1448 มีการกำหนดเงื่อนไขอายุขั้นต่ำในการสมรสไว้ที่ 17 ปี จึงจะสามารถทำการหมั้นได้ และในการพิจารณาร่างกฎหมายชั้นกรรมาธิการ มีการเสนอให้แก้ไขอายุขั้นต่ำในการสมรสได้เมื่ออายุ 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 

ในมตินี้ สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขอายุขั้นต่ำในการสมรสจาก 17 ปีเป็น 18 ปีบริบูรณ์ แต่ยังคงข้อยกเว้นให้บุคคลสามารถสมรสอายุต่ำกว่า 18 ปี ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรและศาลอนุญาต

2. การเพิ่มคำว่า “บุพการีลำดับแรก” เพื่อความเป็นกลางทางเพศ และครอบคลุมคู่สมรสที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหลากหลาย

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีการบังคับใช้นั้น มีการกำหนดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรเอาไว้ ซึ่งการใช้คำว่า “บิดา-มารดา” นั้น เป็นคำที่ไม่ครอบคลุมคู่สมรสที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย

กรรมาธิการจากภาคประชาชนได้เสนอให้มีการแก้ไขในส่วนนี้ โดยเพิ่มคำว่า “บุพการีลำดับแรก” เข้าไปในหลายมาตรา เพื่อให้เกียรติครอบครัวที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย ซึ่งมติในชั้นกรรมาธิการวิสามัญนั้น การเสนอแก้ไขเป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ทำให้มีการสงวนญัตติเพื่อให้ ส.ส. ร่วมลงมติในส่วนนี้

ทางด้านของกรรมาธิการเสียงข้างมาก ได้มีการชี้แจงเกี่ยวกับคำว่า “บุพการีลำดับแรก” เอาไว้ว่าการแก้ไขคำต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง และการเสนอแก้เพิ่มคำว่า “บุพการีลำดับแรก” ยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบอย่างเป็นทางการมารองรับ ไม่มีการกำหนดนิยามมาก่อน การสร้างถ้อยคำใหม่ขึ้นมาเพื่อการบัญญัติเอาไว้ในระบบกฎหมายไทย อาจทำให้เกิดปัญหาในการตีความถ้อยคำได้ นอกจากนี้ การเพิ่มคำว่า “บุพการีลำดับแรก” ต่อจากคำว่า บิดา-มารดา จะส่งผลกระทบต่อกฎหมายอื่นๆ อีก 47 ฉบับ ที่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม และต้องรื้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ทางกรรมาธิการเสียงข้างมาก เห็นว่า รายละเอียดในส่วนนี้สามารถแก้ไขได้ในภายหลัง เฉพาะการแก้ไขในกฎหมายฉบับที่จำเป็นต่อการรับสิทธิต่างๆ เช่น การรับบุตรบุญธรรม และกฎหมายคุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขที่ตรงจุด และไม่กระทบต่อระบบกฎหมาย

ในมตินี้ ทางสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ที่ไม่เพิ่มเติมคำว่า “บุพการีลำดับแรก” เข้าไปหลังคำว่า “บิดา มารดา” ทำให้ข้อเสนอในส่วนนี้ของภาคประชาชนเป็นอันตกไป

progress pride flag 2021 - LGBTQIAN Flag
Photo by chris robert on Unsplash

สิทธิที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศจะได้รับคืนสิทธิจากสมรสเท่าเทียม

จากที่ทาง ดนุพร ปุณณกันต์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ชี้แจงก่อนทำการลงมติว่าหากร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับนี้ผ่าน จะเป็นการคืนสิทธิให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยที่บุคคลตรงเพศและบุคคลรักต่างเพศ ยังคงได้รับสิทธิทุกอย่างเหมือนเดิมทุกประการ นั่นหมายความว่า ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ ทุกคนจะได้รับประโยชน์และเข้าถึงสวัสดิการจากภาครัฐได้เท่าเทียมกันทุกคน โดยมีการปรับและแก้ไขในหัวข้อต่างๆ ดังนี้

หมวดป.พ.พ. เดิมร่างแก้ไข ป.พ.พ. ใหม่
การสมรสชาย-หญิง, สามี/ภรรยาบุคคล, คู่สมรส
การหมั้นชาย-หญิงบุคคล, ผู้หมั้น/ผู้รับหมั้น
อายุของการหมั้น/สมรส17 ปี18 ปี
การฟ้องหย่ากรณีมีชู้เป็นเพศเดียวกันทำไม่ได้ทำได้

นอกจากนี้ คู่รักเพศหลากหลายจะได้รับสิทธิ ความเท่าเทียม และการคุ้มครองทางกฎหมาย ตามหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกันกับคู่รักต่างเพศ ไม่ว่าจะเป็น

  • การสมรส ไม่ว่าบุคคลจะมีเพศสภาพ หรืออัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร เมื่อจดทะเบียนสมรสกัน ให้ถือว่าเป็น “คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย”
  • คำว่า “คู่สมรส” ไม่จำกัดแค่ที่ ชาย กับ หญิง เท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงทุกเพศสภาพ
  • ปรับให้ใช้คำที่เป็นกลางทางเพศมากขึ้น เช่น “สามี-ภรรยา” ปรับเป็น “คู่สมรส” และคำว่า “ชาย-หญิง” ปรับเป็น “บุคคล”
  • ปรับอายุขั้นต่ำในการสมรสจาก 17 ปี เป็น 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่ยังคงข้อยกเว้นให้บุคคลสามารถสมรสอายุต่ำกว่า 18 ปี ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรและศาลอนุญาต
  • คู่สมรสสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ และให้บุตรบุญธรรมใช้นามสกุลคู่สมรสได้ โดยจะต้องมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/26)

นอกจากนี้ คู่สมรสจะได้รับสิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิในการเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา เช่นเดียวกับสามี-ภรรยา สิทธิในการรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต สิทธิในการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม สิทธิในการฟ้องหย่า สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม สิทธิในการเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย สิทธิในการจัดการศพ ไปจนถึงสิทธิและสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม สิทธิในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

ที่สำคัญเลยก็คือ หากกรณีที่มติคณะรัฐมนตรีใด มีการอ้างถึงสามี-ภรรยา ให้ถือว่าอิงตามคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายนี้ด้วย

สมรสเท่าเทียม - sapphic union - bangkok pride 2023
Sapphic Union at Bangkok Pride 2023 – Photo by nurseu123

อนาคตของเพศหลากหลาย สมรสเท่าเทียม และก้าวแรกของความเสมอภาค

ในอดีต ประเทศไทยมีการบันทึกถึงคู่แต่งงานเพศเดียวกัน อย่างเห็นได้ชัดในปี พ.ศ. 2471 (หรือ ค.ศ. 1928) ในงานมงคลสมรสของถม-ช้อย คู่รักเพศเดียวกัน ถูกตีพิมพ์ลงหน้าหนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง” ด้วยคำว่า “วิวาห์ลักเพศ” แม้ทั้งคู่จะอยู่กินกันอย่างคู่สมรส แต่สุดท้ายกลับเกิดโศกนาฏกรรม และชีวิตคู่ของทั้งสองคนก็จบลงด้วยปลายกระบอกปืนที่สังคมเป็นคนหยิบยื่นให้

ในปัจจุบัน ประวัติศาสตร์การต่อสู้ร่วมสมัยของเพศหลากหลาย เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น สมรสเท่าเทียมถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญ ที่รับรองให้ทุกคนได้รับสิทธิตามที่กฎหมายและรัฐธรรมนูญได้ตราไว้ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงในประเทศไทย

สมรสเท่าเทียม ถือเป็นก้าวแรกและก้าวใหญ่ที่สำคัญในการต่อสู้ของชุมชน LGBTQIAN+ ในประเทศไทย และความก้าวหน้าในครั้งนี้ จะไม่หยุดอยู่แค่เพียงการตราสมรสเท่าเทียมเท่านั้น แต่มันคือการเปิดประตูไปสู่การตรากฎหมาย เพื่อให้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ และคนชายขอบ ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างแท้จริง

หวังว่านี่จะช่วยจุดประกายให้กับการต่อสู้ในทุกๆ รูปแบบ เพื่อโอบกอดทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเพศหลากหลายที่ถูกกดทับและตีตรามาอย่างยาวนาน ให้พวกเขาได้รับสิทธิและหน้าที่ ตามที่กฎหมายได้บัญญัติเอาไว้ เฉกเช่นเดียวกับประชาชนชาวไทยทุกคน

Sources:

  • https://thematter.co/thinkers/woman-woman-marriage-in-siam/100878
  • https://web.parliament.go.th/view/1/รายละเอียดข่าว/ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร/1407/TH-TH
  • https://www.bbc.com/thai/articles/cn0edj0dq6lo
  • https://www.ilaw.or.th/articles/3667
  • https://www.matichon.co.th/politics/news_4495302
Previous

rouri404 Leans Into Raw Emo Stylings on New Single “shotgun carousel”

St. Vincent ส่งซิงเกิลที่สอง “Flea” จากอัลบั้มใหม่ ‘All Born Screaming’ ปล่อย 26 เม.ย. นี้

Next