Internalized Homophobia เมื่อรากลึกคือความเกลียดชัง เพียงแค่คุณยังไม่รู้ตัว

| |

ตลอดเวลาที่เราเติบโตมา เรามักจะเจอกับคำที่ผู้ใหญ่ในสังคมชอบพูดกัน ว่าคนที่รักเพศเดียวกัน มักจะเป็น “สิ่งที่ไม่ดี” “สิ่งที่ผิด” “สิ่งที่แย่” ยิ่งไปกว่านั้น เป็น “สิ่งที่ผิดศีลธรรม” และอาจจะมาพร้อมกับคำว่า “คนดีๆ เขาไม่ทำกันหรอก” ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่นำไปสู่ความรู้สึกรังเกียจตัวเอง เกลียดตัวเอง และความรู้สึกเหล่านั้นนำไปสู่ “ความเกลียดกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศจากภายใน” หรือ “โฮโมโฟบภายใน” หรือ Internalized Homophobia นั่นเอง

Internalized Homophobia คืออะไร?

ก่อนที่เราจะไปทำความเข้าใจคำว่า Internalized Homophobia ว่าคืออะไร เราต้องไปทำความรู้จักกับคำว่า Homophobia กันก่อน

Homophobia คำนี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดย จอร์จ ไวน์เบิร์ก นักจิตวิทยาจากสหรัฐอเมริกา ในช่วงทศวรรษที่ 1960 มีรากศัพท์มาจากสองคำ นั่นก็คือคำว่า Homo ที่เป็นคำอุปสรรคภาษากรีก หมายถึง เดียวกัน, เหมือนกัน และ Phobia ที่เป็นคำปัจจัยภาษากรีกที่หมายถึง ความกลัวอะไรบางอย่างโดยปราศจากเหตุผล ซึ่งเมื่อรวมกันสองคำเป็นคำว่า Homophobia จะแปลว่า ความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน โดยความกลัวหรืออคตินี้ เกิดขึ้นจากสังคมหรือวัฒนธรรมที่ต่อต้านคนรักเพศเดียวกัน ในบางครั้ง ก็ถูกแสดงออกผ่านทางข้อจำกัดทางกฎหมาย การกลั่นแกล้ง ไปจนถึงความรุนแรงต่อคนรักเพศเดียวกัน

ในปัจจุบันนี้มีการนำคำว่า heterosexism เข้ามาใช้แทนแล้ว หลายคนอาจจะคิดว่ามีความคล้ายคลึงกัน แต่จริงๆ แล้ว คำว่า heterosexism นั้น มีความแตกต่างกับ homophobia ตรงที่ homophobia นั้น คือการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นความรู้สึกส่วนตัวที่ยึดถือ แต่สำหรับ heterosexism หมายถึงความเชื่อ และความคาดหวังว่าทุกคนในสังคมควรประพฤติหรือยึดถือวิถีรักต่างเพศ (heterosexuality) ส่วนแนวคิด Heterosexism มีความเชื่อว่า ความรักต่างเพศคือวิถีเดียวที่ “ถูกต้อง” หรือ “เป็นธรรมชาติ” นั่นหมายความว่า คนที่รักเพศเดียวกัน หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น เป็นกลุ่มคนที่ไม่ตรงตามที่สังคมวางรากฐานเอาไว้

นอกจากนี้ ยังมีคำที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด นั่นคือคำว่า Heteronormativity ซึ่งหมายถึง ระบบอำนาจที่แสดงออกในรูปแบบของวิถี วาทกรรม หรือการปฏิบัติ ที่อยู่บนพื้นฐานของรักต่างเพศ (heterosexuality) ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น กลุ่มคน LGBTQIAN+ มักจะถูกนำเสนอเรื่องราวผ่านสื่อในสัดส่วนที่น้อย หรือถ้ามีการนำเสนอ อาจเป็นเชิงการตีตรา เหมารวมในด้านลบ อย่างเช่น ในวงการการศึกษา กลุ่มคน LGBTQIAN+ ไม่ได้ถูกพูดถึงในบทเรียนเรื่องสุขภาวะทางเพศ และถูกละเลยจากการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา หรือในทางกฎหมาย คนกลุ่มนี้ในบางประเทศจะไม่สามารถแต่งงานกันได้ เนื่องจากการเลือกปฏิบัติ และให้ค่าในความสัมพันธ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศน้อยกว่ากลุ่มคนรักต่างเพศ

โดยสรุปคือ heteronormativity เป็นระบบ อำนาจ การเลือกปฏิบัติต่อคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งสามารถมองเห็นได้เป็นรูปธรรม โดยพฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นการสนับสนุนให้ การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (homophobia) และ ความเชื่อที่ว่า ความรักต่างเพศ คือวิถีเดียวที่ถูกต้อง (heterosexism) เกิดความชอบธรรมในสังคม

และหลังจากนี้ จะใช้คำว่า heterosexism แทนคำว่า homophobic

แล้วคำว่า Internalized heterosexism คืออะไรล่ะ?

Internalized heterosexism หรือ โฮโมโฟเบียภายใน เกิดขึ้นจากทัศนคติด้านลบที่สังคมมีผลต่อคนเหล่านี้ ทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบจากทัศนคติของสังคม และทำให้เกิดความรู้สึกรังเกียจตัวเองอยู่ลึกๆ ทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม 

อย่างไรก็แล้วแต่ internalized heterosexism หมายถึง มุมมองเชิงลบเกี่ยวกับตัวตนของกลุ่มคนชายขอบด้านเพศ ทั้งต่อตัวเองและของผู้อื่น เนื่องจากใช้ชีวิตในสังคมที่เป็นสังคมที่มีความรักต่างเพศเป็นหลัก ซึ่ง internalized heterosexism สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งคนรักต่างเพศและในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่เติบโตและได้รับการสอนว่าการรักต่างเพศ เป็นบรรทัดฐานทางสังคม และแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งการเห็นและการได้ยินเกี่ยวกับเรื่องราวพวกนี้ ทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าใจหรือรับข้อความเชิงลบเหล่านี้ไป และทำให้ประสบกับความทุกข์ทางจิตใจได้อีกด้วย

Internalized heterosexism ส่งผลอย่างไรบ้าง?

ปัญหาเกี่ยวกับโฮโมโฟเบียที่เกิดขึ้นภายในนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากการกระทำจากกลุ่มคนรักต่างเพศ หรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันเอง กล่าวคือ ถึงแม้เราจะเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เรายังสามารถเป็นทั้งผู้ถูกกระทำและผู้กระทำเอง ทั้งนี้ เราควรสังเกต และปรับพฤติกรรมตัวเองได้ด้วยเช่นกัน

ผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศผลกระทบต่อกลุ่มคนรักต่างเพศ
– เชื่อว่ามีวิธีที่ถูกหรือผิดในการเป็นสมาชิกของชุมชน LGBTQIAN+ 
– เกิดปัญหาในการใช้คำศัพท์ คำสรรพนาม และชื่ออื่น ๆ
– ไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะยอมรับรสนิยมทางเพศของตนเอง– ถือว่าความรักของเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลซึ่งมีรากฐานมาจากแบบแผนของความรักต่างเพศ
– รู้สึกละอายต่ออัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศของตน– เหยียดหยามหรือไม่ชอบคนที่เปิดตัวว่ามีรักเพศเดียวกัน
– ปฏิเสธที่จะยอมรับคู่รักเพศเดียวกันในที่สาธารณะ
– พยายามไม่ประพฤติตนในลักษณะที่พวกเขาเห็นว่าสอดคล้องกับแบบแผนของคนรักเพศเดียวกัน
– กลัวการเป็นเกย์หรือกลัวการที่คนอื่นมองว่าตัวเองเป็นเกย์
– ลดความสามารถของตัวเอง หรือพยายามจนมากเกินไปเพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับ
– หลีกเลี่ยงหรือกังวลที่จะอยู่ใกล้กับเด็กเพราะกลัวจะถูกมองว่าเป็น เปโดฟีเลีย

แล้วทำไมมันถึงเกิดขึ้นได้?

แม้ว่าในปัจจุบันนี้จะมีการเปิดรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังพบว่าพวกเขายังคงถูกตีตราจากสังคม มีอัตราการฆ่าตัวตายและภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพจิตในระดับสูงอีกด้วย นอกจากนี้แล้ว อาชญากรรมจากความเกลียดชังผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ยังคงพบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย จิตใจ หรือทางวาจา จากสมาชิกในครอบครัว ญาติ เพื่อน หรือคนที่ไม่รู้จัก เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว การศึกษาและสภาพแวดล้อมของสังคมเองก็ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น หลายคนเติบโตมาพร้อมกับอคติต่อเกย์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เกิดอคติและความเกลียดกลัวต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ ทั้งการยอมรับต่ออคติที่มี หรือทำไปด้วยความไม่รู้ตัว นอกจากนี้แล้ว จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ที่เกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็อาจจะทำให้หลายๆ คนที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตัดสินใจที่จะปิดบัง เปลี่ยนแปลง หรือไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น เพื่อปกป้องตัวเองไม่ให้เป็นเหยื่อของความรุนแรงเหล่านั้น

มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อ internalized heterosexism

– ศาสนา: หลายๆ ครั้ง ศาสนาเองก็เป็นตัวส่งเสริมอคติต่อต้านเกย์ โดยเฉพาะในทางอ้อมผ่านการเทศน์ การให้ข้อมูลที่ผิด ไปจนถึงการพยายามปรับเปลี่ยนรสนิยมทางเพศของผู้ที่นับถือศาสนานั้นๆ 

– การขาดการสนับสนุนทางสังคม: ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่สนับสนุน หรือสังคมที่ตั้งแง่ ในส่วนนี้อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับการเหยียดผู้มีความหลากหลายทางเพศ การถูกปฏิเสธจากครอบครัว ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในชุมชนที่ต่อต้านเกย์ ซึ่งนั่นเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงในการทำให้มุมมองของการเหยียดเพิ่มมากขึ้นเป็นวงกว้าง

– การขาดการศึกษา: ทั้งจากแบบเรียนในห้องเรียน และทัศนคติของผู้สอน ล้วนแล้วแต่สามารถครอบงำและนำความคิดของผู้เรียนได้ตั้งแต่เล็ก หากผู้สอนมีอคติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ นั่นเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะไม่ส่งต่อทัศนคติหรือแนวคิดผิดๆ ให้ผู้เรียน อีกทั้งยังรวมไปถึงการไม่ปรามหรือเตือนผู้เรียนที่ก่อความรุนแรงทั้งในเชิงร่างกายหรือวาจาต่อผู้เรียนคนอื่นที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ

– ความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้: บางครั้งผู้คนก็เป็นพวกเกลียดเพศเดียวกันเพราะพวกเขาไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ และไม่รู้ว่าพวกเขามีความคล้ายคลึงกันมากกว่าที่แตกต่างจากกันและกัน

– การขาดการยอมรับในตัวตน: ความกลัวคนรักเพศเดียวกันสามารถกลายเป็นเรื่องภายในได้หากคนๆ หนึ่งไม่ต้องการยอมรับตัวตนของตนเอง สิ่งนี้สามารถทำให้พวกเขาแสดงท่าทีต่อต้านผู้อื่น

ถ้าหากกลัวว่าตัวเองจะกลายเป็น internalized heterosexism ต้องทำอย่างไร

การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน และผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น ไม่ควรที่จะต้องเป็นสิ่งเรื่องธรรมดาในสังคม และไม่ควรที่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในสังคม เราสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ในหลายๆ ด้าน เพื่อทำความเข้าใจ เปิดรับ และยอมรับ

อย่าคาดเดา

โลกใบนี้เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายประเภท ไม่มีใครรู้ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไรจนกว่าจะได้ทำความรู้จักกับพวกเขา หากคุณพบว่าตัวเองกำลังตั้งคำถามว่าใครคนนั้นเป็น LGBTQIAN+ หรือไม่ ให้หยุดความคิดนั้นทันที ระลึกไว้เสมอว่า คุณไม่รู้จักพวกเขา และพวกเขาไม่ควรได้รับความรู้สึกด้านลบจากคุณ

เช่นเดียวกันกับที่บอกเสมอว่า ไม่ควรทึกทักไปเองว่าเขาเป็น LGBTQIAN+ หรือไม่ เพียงเพราะคำสรรพนามของเขา

เติมความรู้ตัวเอง

ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ชมภาพยนตร์ ติดตามโซเชียลมีเดียของ LGBTQIAN+ หลายๆ คน คุณจะพบว่า พวกเขาเหมือนกับคนอื่นทั่วๆ ไป นอกจากนี้แล้ว ยังสามารถเข้าร่วมเวิร์คช็อป ทำกิจกรรม ที่เกี่ยวกับ homophobia เพื่อเปลี่ยนมุมมองในอดีตและทำความเข้าใจถึงผลร้ายที่เกิดขึ้น

อย่าเล่นตลก

ไม่ว่าจะเป็นมุก การล้อเลียน LGBTQIAN+ สิ่งเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องอันตรายของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และปัญหานี้ทำให้พวกเขาได้รับอันตรายจริง ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เช่น “เธอดูเกย์จัง” หรือ มุกแย่ๆ เกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมาก นั่นถือเป็นการดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยาม และทำร้ายจิตใจเป็นอย่างมาก เพราะคุณพยายามผลักสิ่งที่เขาเป็นให้เป็นเรื่องแย่หรือด้อยกว่า

หากคุณมีคำถาม จงถาม

หากคุณสงสัยเกี่ยวกับตัวตนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ คุณสามารถถามพวกเขาอย่างสุภาพได้ ทางที่ดีควรสอบถามและทำให้แน่ใจว่าคำถามของคุณจะได้รับการต้อนรับอย่างดี เพราะไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะตอบคำถาม

เป็นพันธมิตรที่ดี

ไม่ว่าคุณจะเก็บไว้คนเดียวหรือบอกคนอื่น จงมุ่งมั่นที่จะเป็นพันธมิตรกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ คุณจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากการพยายามไม่ให้ผู้อื่นมีสิทธิเช่นเดียวกับคุณ ในขณะที่การสนับสนุนพวกเขา คุณสามารถช่วยชีวิตคนได้เป็นจำนวนมาก

สังคมที่หลากหลายจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเปิดรับความหลากหลายในทุกๆ รูปแบบ ไม่ว่าคุณจะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนหรือไม่ก็ตาม คุณสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจผ่านสื่อในหลายๆ รูปแบบได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นคอร์สเรียน สื่อต่างๆ โซเชียลมีเดีย หรือแม้กระทั่งการร่วมขบวนเดือนไพรด์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และร่วมเป็นพันธมิตรที่ดีของพวกเรา เพื่ออนาคตอันหลากหลายของทุกคน

อ่านเพิ่มเติม

Sources:

Previous

“The Ministry of Ungentlemanly Warfare” ปฏิบัติการเหนือชั้น พลิกเกมสงครามโลก เมษายนนี้ ในโรงภาพยนตร์

Slowdive Embarks On Sea Tour In March 2024 Bangkok & Singapore

Next