สัมผัสความหวานสุดล่องลอย และความขมที่แผ่ซ่านในหัวใจ พร้อมกับเปียโนบรรเลงและเชลโล่เพราะๆ ผลงานของ Laufey อาจจะเป็นอีกหนึ่งคำตอบสำหรับคุณ
Laufey (อ่านว่า เลย-เวย์ (ตามภาษาไอซ์แลนด์), เล-เวย์ (ตามภาษาอังกฤษ)) ศิลปินไอซ์แลนด์-จีน ผู้เติบโตมาในเมืองเรคาวิกและวอชิงตัน ดีซี ที่หลายๆ คนอาจจะคุ้นเคยกันผ่านโซเชียลมีเดีย หรือผ่านศิลปินคนโปรดที่เคยเปิดเพลงของศิลปินคนนี้ วันนี้ เราอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักกับเลเวย์ ศิลปินโมเดิร์นแจ๊ส ที่นำเอาดนตรีแจ๊สและคลาสสิกมาฝากเอาไว้ในหัวใจของเราทุกคน
แต่ก่อนอื่นเลย สำหรับคนที่ไม่เคยฟังเพลงของเลเวย์มาก่อนเลย เธอบอกผ่านรายการ Laufey Live บนแอปพลิเคชั่น amp ว่าเพลงของมันมีความ jazzy, cinematic แล้วก็หวังว่าเพลงของเธอมันจะ timeless ด้วย ถ้าเกิดใครชอบเพลงแจ๊ส ชอบเพลงประกอบภาพยนตร์ ก็ต้องห้ามพลาดเลยล่ะ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
Short Brief
ชื่อ: Laufey Lín Bing Jónsdóttir [ˈlœiːvei] หรือ เลย-เวย์ หรือ เล-เวย์ (林冰)
วันเกิด: 23 เมษายน 1999
บ้านเกิด: Reykjavík, Iceland
ครอบครัว: แม่ Wei Lín นักไวโอลิน, พ่อ นักเศรษฐศาสตร์, ฝาแฝด – Junia Lín Hua Jónsdóttir (เกิดหลังเลเวย์ 11 นาที), คุณตา Lín Yao Ji (林耀基), คุณยาย Hu Shi-Xi นักเปียโน
ภาษา: ภาษาไอซ์แลนด์, ภาษาอังกฤษ, ภาษาจีนกลาง
Astrology Birth: Sun – Taurus, Rising – Scorpio
การศึกษา: Berklee College of Music (2021)
สัตว์ที่ชอบ: กระต่าย
ค่ายเพลง: AWAL
แนวเพลง: Modern Jazz, Jazz pop, bedroom pop, R&B
เพลงที่ชอบสำหรับการเล่นเชลโล่: Elgar: Cello Concerto
แนวภาพยนตร์ที่ชอบ: รอมคอม
ภาพยนตร์เรื่องโปรด: You’ve Got Mail, When Harry Met Sally, 13 Going on 30, Sleepless in Seattle, Notting Hill, Serendipity, About Time, Love, Rosie
ความฝันต่อไป: อยากเขียนสกอร์ให้กับภาพยนตร์ (James Bond)
ศิลปินคนโปรด: Chet Baker, Frédéric Chopin, Sergei Rachmaninoff, Ella Fitzgerald, Billie Holiday, Taylor Swift
ศิลปินที่อยากจะร่วมงานด้วย: Taylor Swift, Norah Jones, Beabadoobee
นักเขียนคนโปรด: Joan Didion
ความสนใจพิเศษ: ดนตรีแจ๊ส และ the Great American Songbook
Me & My Family
ชื่อของ Laufey มาจากคุณย่าทวดของเธอ อิงจากตำนานพื้นบ้านนอร์ส (เลเวย์ แม่ของโลกิ) และเป็นชื่อที่พบได้ทั่วไปในประเทศไอซ์แลนด์ “ผู้หญิงทุกคนในตำนานนอร์สเป็นตัวละครที่แข็งแกร่งมาก ฉันคิดว่ามันเจ๋งมากที่ได้ตั้งชื่อผู้หญิงแกร่งแบบนี้”
เลเวย์รู้จักดนตรีคลาสสิกและเครื่องดนตรีผ่านคุณแม่ของเธอ “แม่เป็นคนที่สอนพื้นฐานทั้งหมดให้กับฉัน ทั้งเปียโนและเชลโล่เลย แม่ฉันเป็นคนจีน แล้วก็เป็นนักดนตรีที่เข้มงวดมาก แม่ปลูกฝังให้ฉันมีระเบียบวินัยและความหลงใหลในงานศิลปะเป็นอย่างมาก ความซาบซึ้งในดนตรี ที่ไม่ว่าเราจะซ้อมเยอะ ซ้อมหนักแค่ไหน ในตอนท้ายของคืนนั้น คุณก็จะวางเครื่องดนตรีของคุณลง แล้วก็เพลิดเพลินไปกับเสียงเพลง นั่นเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่แม่สอนฉันมา”
คุณพ่อของเธอคือคนที่เปิดโลกดนตรีแจ๊สให้กับเธอ จากแผ่นเสียงที่เปิดในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นผลงานของ Ella Fitzgerald, Billie Holiday หรือแม้กระทั่ง Nat King Cole ก็ตาม และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการตามหาเสียงและพื้นที่ของเธอ จนกระทั่งพบว่า นี่แหละคือสิ่งที่เธอต้องการ
ในวันที่เธอไม่มั่นใจในตัวเอง คุณแม่กับคุณพ่อคือกำลังใจที่ดีที่สุด “พ่อกับแม่คือกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฉัน” เลเวย์บอก “ฉันคิดมากและกลัวอยู่เสมอว่าจะไม่มีแผนรองรับฉันอยู่ แล้วเขาก็เตรียมสิ่งพวกนั้นให้กับฉัน มันมีค่าทางใจมากๆ ช่วยได้มากเลย”
นอกจากคุณพ่อกับคุณแม่แล้ว ยูเนีย คู่แฝดของเธอ คือเพื่อนสนิทที่ดีที่สุดของเธอ เลเวย์ย้ำตลอดในหลายๆ บทสัมภาษณ์ และหากติดตามโซเชียลมีเดียของทั้งเลเวย์และยูเนีย เราจะเห็นเลยว่าพวกเขาสนิทกันมากๆ ทั้งคลิปที่เดินทางทัวร์ในสหรัฐอเมริกาด้วยกัน เล่นดนตรีด้วยกัน หรือแม้กระทั่งขึ้นแสดงบนเวทีซิมโฟนีออร์เคสตราด้วยกัน พวกเขาก็ทำมาแล้ว
“ฉันกับยูเนียสนิทกันมากนะ เธอเป็น creative direction ให้กับฉันในอัลบั้ม Everything I Know About Love ด้วย แถมยังเล่นไวโอลินให้ฉันถึง 5 เพลง” นอกจากนี้แล้ว พวกเธอยังเล่นสนุกเพื่อแกล้งคนอื่นด้วยในตอนเกรด 7 “นั่นเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่เราทำ เราอยู่คนละห้องตอนเกรด 7 แล้วก็ตัดสินใจสลับกันในคาบเรียนภาษาเดนมาร์ก แต่สุดท้ายก็พัง เพราะว่าเธอต้องทำแบบทดสอบแทนฉัน ส่วนฉันก็ดูหนังในคลาสของเธอ”
จาก Reykjavík สู่ Washington D.C. และ Los Angeles
เลเวย์เติบโตในหลายๆ สถานที่ ทั้งเมืองเรคาวิก ประเทศไอซ์แลนด์ วอชิงตัน ดี.ซี สหรัฐอเมริกา ก่อนจะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ Berklee College of Music ที่บอสตัน และลงหลักปักฐานที่ลอสแอนเจลิส
“ฉันสนิทกับครอบครัวมากๆ เพราะต้องย้ายบ้านไปมาบ่อยๆ แน่นอนว่ามันลำบาก ฉันเคยอยู่ในภาวะที่ช็อกวัฒนธรรมตลอดเวลา ฉันไม่รู้สึกถึงการเป็นเจ้าของที่ไหนเลย จนกระทั่งเมื่อหนึ่งหรือสองเดือนก่อน ฉันมักจะรู้สึกเหมือนมีที่อื่นที่ฉันต้องไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันจะต้องทำต่อไป และตอนนี้ เป็นครั้งแรกที่ฉันรู้สึกว่าฉันถึงที่หมายแล้ว จนกว่าฉันจะไปทัวร์!” และเลเวย์ออกทัวร์ของตัวเองในปี 2022 ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับเธอ
ด้วยพื้นที่ของประเทศไอซ์แลนด์นั้นเป็นประเทศเกาะ เลเวย์ว่า “ฉันคิดว่าการเติบโตในไอซ์แลนด์มันค่อนข้างจะเงียบสงบ” ไอซ์แลนด์ระหว่างเกาะกรีนแลนด์และประเทศนอร์เวย์ มีฤดูร้อนที่สั้นและเย็น มีฤดูหนาวที่ยาวนาน และถือเป็นประเทศแห่งพระอาทิตย์เที่ยงคืนแห่งหนึ่งด้วย “คุณจะเติบโตมาพร้อมกับการเป็นนักฝันที่มีความคิดล่องลอยไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะฝันถึงการใช้ชีวิตในต่างแดนหรืออะไรก็ตาม และฉันคิดว่า ทั้งหมดนี้มันไปพร้อมกับดนตรีที่มีมนต์ขลังได้ เพราะงั้น ฉันก็เลยเริ่มร้องเพลงและเรียนดนตรีแจ๊สด้วยตัวเอง และพบว่า แทนที่จะไปเรียนดนตรีคลาสสิก ฉันก็เลยลงเอยด้วยการไปเรียนที่ Berklee ที่เป็นโรงเรียนสอนดนตรีแจ๊สเป็นหลักเลย” แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายเลย เลเฟ
วย์บอกเสมอกับหลายๆ สัมภาษณ์ว่า มันมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เธอกลับมานั่งคิดทบทวนกับตัวเองว่าจะเดินไปในเส้นทางไหนต่อ
Berklee College of Music เป็นวิทยาลัยดนตรีเดียวที่เลเฟ
วย์สมัครเข้าเรียน ซึ่งทางเลือกอีกทางหนึ่งของเธอคือการเรียนต่อเศรษฐศาสตร์ที่ University of St Andrews สหราชอาณาจักร ซึ่งต่างจากยูเนีย ฝาแฝดของเธอที่ไปเรียนในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สหราชอาณาจักร
ที่เบิร์กลีย์ เลเวย์ได้สัมผัสพื้นที่ทั้งสองโลกและหลอมรวมมันเข้าด้วยกัน ไม่ใช่แค่เพียงการศึกษาในภาคทฤษฎีดนตรีเท่านั้น แต่รวมไปถึงการสร้างผลงานของเธอเอง “ฉันพบว่าฉันสามารถนำโลกทั้งหมดนี้มารวมเข้าด้วยกันด้วยตัวของฉันเอง ผ่านการแต่งเพลงของฉัน”
“เบิร์กลีย์เป็นสถานที่ที่ยอดเยี่ยม! แตกต่างจากโรงเรียนสอนดนตรีอื่นๆ ตรงที่คุณมีนักดนตรีทุกประเภทในที่เดียว มีนักดนตรีแจ๊ส นักดนตรีคลาสสิก นักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ นักแต่งเพลงคลาสสิก และอื่นๆ เหมือนกับว่าคุณมีทุกอย่างอยู่ที่นั่น มันเป็นสถานที่ที่ยอดเยี่ยมในการหาแรงบันดาลใจ แบบตอนที่ฉันมาที่ Berklee ครั้งแรก มีนักร้อง-นักแต่งเพลงเก่งๆ อยู่รอบตัวฉัน แล้วฉันก็กลัวมากเพราะฉันเป็นแค่นักร้อง ไม่ก็นักดนตรีมาโดยตลอด ฉันไม่เคยสร้างเพลงของตัวเองเลย คือฉันต้องการสิ่งนั้นมากจริงๆ ฉันแค่ไม่แน่ใจว่าจะเข้าถึงมันอย่างไร หรือเพลงประเภทไหนที่ฉันต้องการเขียน เพราะฉันร้องเพลงแจ๊สและเล่นเพลงคลาสสิก ฉันชอบฟังนักร้อง-นักแต่งเพลงอย่าง Sara Bareilles แล้วฉันก็คิดว่า ฉันจะผสานทั้งหมดนี้เข้าด้วยกัน และบอกเล่าเรื่องราวสมัยใหม่ด้วยเสียงที่ชวนคิดถึงได้อย่างไร”
การเข้าเรียนที่นั่น ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและเติบโต “สิ่งที่ใหญ่ที่สุดที่ฉันได้เรียนรู้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือการกล้าที่จะเสี่ยง ฉันมาที่เบิร์กลีย์ในฐานะนักเชลโล่ และฉันก็กลัวมากที่จะเข้าสู่อาชีพนักดนตรี มันไม่เมคเซนส์สำหรับฉันเท่าไหร่ ฉันคิดว่ามันไม่สมจริง คือฉันเห็นเส้นทางที่เป็นเส้นตรงมากกับตัวเลือกอาชีพบางอย่าง และวิธีการบรรลุผลที่แบบตรงเกินไป ไม่มีอะไรเกี่ยวกับอาชีพที่ดูเป็นเส้นตรงสำหรับฉัน ฉันแทบไม่เชื่อว่าฉันจะเป็นคนที่โชคดีคนหนึ่ง มันดูสนุกเกินไปสำหรคับสิ่งที่ฉันชอบ มันแบบ จริงปะเนี่ย ทำอาชีพจริงๆ ใช่มั้ย เอาจริง ชีวิตสนุกขึ้นเมื่อฉันเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง แบบปล่อยวางจริงๆ”
เธอบอกต่อด้วยว่า “ฉันทิ้งความพยายามอย่างหนักเพื่อให้ได้เกรดดีๆ หรือทำให้คนอื่นพอใจ หรือทำอะไรที่เข้ากับที่คนอื่นทำ” สิ่งนั้นเกิดขึ้นเมื่อเธอพบกับงานในฝัน “ฉันได้งานในฝันในวินาทีที่ฉันปล่อยวางและปล่อยให้ตัวเองเชื่อว่าฉันก็สามารถเป็นนักดนตรีได้ และทำสิ่งบ้าๆ บอๆ ได้ ศิลปินต่างโชคดีมากที่พวกเขารู้สึกถึงการเรียกร้องและความหลงใหลนั้น มันไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นแบบนั้น เพราะงั้น หากคุณรู้สึกบางอย่าง แม้ว่ามันจะเป็นแค่เพียงความเฉลียวฉลาดอะไรก็ตาม คุณก็เป็นหนี้ตัวเองที่จะพยายามไล่ตามมัน คุณสามารถกลับไปเรียนได้เสมอ คุณสามารถกลับไปทำสิ่งที่แตกต่างได้เสมอ ใครๆ ก็คาดหวังว่าคุณจะงี่เง่าในวัยนี้ ไม่มีใครคาดหวังให้คุณฉลาดตอนอายุ 20 หรอก คุณได้รับบัตรผ่านฟรีเพื่อที่จะเป็นคนโง่นะ เพราะงั้น คุณควรรับมันไว้ รู้ป่าว”
หลังจากที่เรียนจบในปี 2021 เธอตัดสินใจย้ายมาที่ลอสแอนเจลิส อีกฝั่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา “ตอนนี้ฉันอยู่ที่ Los Angeles และจุดที่ฉันชอบมากที่สุดก็คือชายหาด ฉันชอบไปที่มาลิบู ในอีกทางหนึ่งมันก็ทำให้ฉันคิดถึงไอซ์แลนด์ด้วย ฉันหมายถึง ใน LA มันอุ่น ส่วนที่ไอซ์แลนด์มันหนาวมากๆ แต่ฉันคิดว่ามันมีบางอย่างลมทะเลที่ทำให้ฉันคิดถึงบ้าน” เธอบอกต่อด้วยว่า “มีหลายอย่างที่ฉันคิดถึงไอซ์แลนด์ตอนที่ฉันอยู่แอลเอ อันดับแรกเลยก็คือ ฉันคิดถึงครอบครัวและเพื่อนๆ ของฉัน ปกติฉันสนิทกับที่บ้านมากๆ และฉันคิดถึงธรรมชาติมากๆ”
As an Asian descent
“ฉันเติบโตในหลายประเทศ รายล้อมด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมากมาย ฉันรู้สึกว่าเป็นคนนอกเสมอไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม” เลเวย์บอก “ซึ่งฉันก็คิดว่ามันได้ให้มุมมองที่ไม่เหมือนใครเกี่ยวกับชีวิตเหมือนคนทั่วๆ ไป แล้วก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ฉันสนใจดนตรีมาตั้งแต่เด็กจนโต ทั้งความมีระเบียบวินัยและความมุ่งมั่นที่ฉันทุ่มเทให้กับการฝึกดนตรี ล้วนแล้วมาจากค่านิยมของชาวจีน”
เลเวย์บอกว่าเธอรู้สึกว่าตัวเองเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของชุมชนชาวจีนและชาวไอซ์แลนด์ “แน่นอนเลย โดยเฉพาะชุมชนชาวเอเชีย ยิ่งเป็นคนเอเชียที่เติบโตนอกเอเชีย คือพอโตขึ้น ฉันก็ไม่มีตัวอย่างในด้านดนตรีที่เป็นคนจีนหรือคนเอเชียเลย มีนักดนตรีคลาสสิกมากมายก็จริง แต่ฉันไม่เคยเห็นใครในโลกร่วมสมัยเลย โดยเฉพาะผู้หญิง ที่ใช้เสียงของตัวเองและเขียนเพลงเกี่ยวกับประสบการณ์ของตัวเอง เพราะงั้น ฉันก็เลยรักที่จะได้เป็นคนที่เด็กผู้หญิงจีนและเอเชียสามารถมองเห็นได้ มันมีความหมายสำหรับฉันมาก”
ตัวของเธอก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับตัวเองเพิ่มขึ้นจากเดิม “โดยปกติแล้วมักจะเป็นผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่าที่ยื่นมาเข้ามาช่วย ธรรมชาติของดนตรีที่ฉันทำมันเป็นแบบเก่าเลย มันก็เลยเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมฉันถึงชอบที่ผู้ฟังของฉันอยู่ในกลุ่มเด็กๆ เพราะเป้าหมายของฉันคือการนำดนตรีแจ๊สและดนตรีคลาสสิก และแนวเพลงที่น่ากลัวสำหรับคนรุ่นใหม่ ดึงเข้ามาให้ใกล้กับเขาและทำให้พวกเขาสนุกขึ้น มันค่อนข้างจะมีกำแพงอยู่ไม่น้อย ถ้าคุณคิดว่าใครไปดูซิมโฟนีก็มักจะเป็นคนที่มีอายุมากและมั่งคั่ง แต่ฉันก็แค่อยากให้ทุกคนได้ดู”
อุตสาหกรรมดนตรีในไอซ์แลนด์
แวดวงดนตรีในไอซ์แลนด์ เราอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกันสักเท่าไหร่ แต่เลเวย์บอกว่า ที่นั่นมันเต็มไปด้วยความสดใสและมีชีวิตชีวาเอามากๆ “มีเทศกาลดนตรีและคอนเสิร์ตเยอะมากสำหรับศิลปินไอซ์แลนด์และศิลปินต่างชาติที่จะมาแสดง สำหรับประเทศเล็กๆ แบบนี้ มีนักดนตรีเจ๋งๆ เพียบเลย และเป็นชุมชนที่ใจดีและซัพพอร์ตกันมาก ทุกคนรู้จักกันและช่วยเหลือกัน แม้ว่าจะไม่ได้ทำดนตรีประเภทเดียวกันก็ตาม นักดนตรีคลาสสิกช่วยนักดนตรีป๊อป นักร้องนักแต่งเพลงโฟล์คทำงานร่วมกับแรปเปอร์ คือเส้นแบ่งระหว่างแนวเพลงนั้นเบลอมากๆ ทำให้แวดวงดนตรีตรงนั้นมันน่าสนใจ”
“ฉันเติบโตมาในโลกที่ฉันเคยฟังแม่เล่นไวโอลินในคอนเสิร์ตคลาสสิกของ Iceland Symphony แล้วอีกวันนึงก็ไปฟังแม่เล่นคอนเสิร์ตป๊อปในโบสถ์ ส่วนวันรุ่งขึ้นแม่ก็ไปเล่นไวโอลินกับกลุ่มเดธเมทัล มันมีการผสมผสานของแนวเพลงเยอะมาก” เธอบอก “มีการมิกซ์แอนด์แมทช์และดัดแปลงแนวเพลงมากมายในไอซ์แลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ว่าทำไมฉันถึงรู้สึกว่าตัวเองผสมผสานสไตล์ต่างๆ มากมาย ฉันต้องการทลายกำแพงของแนวเพลงพวกนั้น เพราะฉันไม่ได้เติบโตมาในโลกที่มีกำแพงของแนวเพลงสูงขนาดนั้น และนั่นคือผลกระทบทางวัฒนธรรมของฉันเลย ฉันเป็นลูกครึ่งจีน-ไอซ์แลนด์ เติบโตช่วงนึงในสหรัฐอเมริกา ทุกอย่างผสมผสานกัน เพลงของฉันก็เช่นกัน”
ของกิน เรื่องใหญ่
ระหว่างอาหารไอซ์แลนด์ อาหารจีน และอาหารอเมริกัน ชอบอะไรที่สุดM
“เริ่มจากอาหารจีนก่อนเลย เพราะนั่นเป็นอาหารอันดับต้นๆ ที่กินในแต่ละวัน เอาตามตรง ฉันชอบทุกอย่าง อย่างเป็ดปักกิ่ง อาหารเสฉวนอย่างบะหมี่เสฉวนเผ็ดๆ หรืออะไรทำนองนั้น ติ่มซำ คือครอบครัวของฉันมาจากตอนใต้ของกวางโจว แล้วฉันก็คิดถึงอาหารที่นั่นมาก”
“ส่วนอาหารไอซ์แลนด์ ฉันบอกเลยว่าชอบไอศกรีม มันเหมือนกับว่าวัฒนธรรมทั้งหมดในไอซ์แลนด์ไม่ยึดติดอยู่กับฤดูกาลใดๆ เลย ไม่ใช่แบบ วันนี้แดดออก ไปหาไอติมกินกัน ไรงี้ เขาทำซอฟต์เสิร์ฟที่มีท็อปปิ้งให้เลือกได้ 3 อย่าง แล้วก็ผสมเข้าด้วยกัน เหมือนกับ Blizzard แล้วร้านไอศกรีมที่นั่นเปิดจนถึงตีหนึ่ง แบบคุณสามารถขับรถไปซื้อไอศกรีมชิ้นโตๆ กินกับเพื่อนตอนขับรถดูพระอาทิตย์เที่ยงคืนในไอซ์แลนด์ตอนฤดูร้อนได้ เพราะมันยังสว่างอยู่ตอนเที่ยงคืน แล้วก็ขับรถไปชายหาดดูพระอาทิตย์ไม่ตกดินก็ยังได้เลย”
“ส่วนอเมริกา ฉันชอบเบอร์เกอร์นะ แต่เป็นของร้าน Shake Shack”
เด็กสาวจากบ้านดนตรีคลาสสิกสู่ศิลปินโมเดิร์นแจ๊ส
เลเวย์เติบโตมาครอบครัวแห่งเสียงเพลง คุณแม่เป็นนักไวโอลินคลาสสิก คุณพ่อเป็นแฟนตัวยงของเพลงแจ๊ส อีกทั้งคุณตาของเธอก็ยังเป็นอาจารย์สอนไวโอลินในวิทยาลัยดนตรีที่ประเทศจีนอีกด้วย
คุณแม่ของเลเวย์เป็นนักไวโอลินคลาสสิก นั่นทำให้เธอจดจำช่วงเวลาที่ไม่มีดนตรีไม่ได้ และความทรงจำแรกเกี่ยวกับดนตรีของเธอก็คือการที่คุณตามอบไวโอลินตัวแรกให้เป็นของขวัญ “มันเหมือนกับเป็นของเล่นชิ้นหนึ่งของฉันเลย” เธอบอก “ฉันได้ไวโอลินตัวแรกตอนอายุสองขวบ เริ่มเรียนเปียโนตอนอายุสี่ขวบ และเรียนเชลโล่ตอนอายุแปดขวบ เพลงจึงเป็นสิ่งที่ฉันได้ยินอยู่เสมอในบ้าน มีคนซ้อมอยู่ตลอด หรือตอนที่ฉันอยู่หลังเวทีที่วงออร์เคสตราแสดงที่ Iceland Symphony ก็ตาม มันเป็นสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติของฉันมาก แต่ในตอนแรกมันเป็นโรงเรียนนะ เป็นอีกหนึ่งวิชาที่ฉันเรียน ฉันเลิกเรียนกลับบ้านมาก็ซ้อมสักหนึ่งหรือสองชั่วโมง”
นอกจากนี้แล้ว คุณยายก็ยังเป็นคนสอนเปียโนให้กับเธอ “คุณยายสอนเปียโนให้ฉันทุกฤดูร้อนเลย แล้วแกก็ปลูกฝังให้ฉันรักดนตรีคลาสสิกสุดโรแมนติกจากนักแต่งเพลงอย่าง Frédéric Chopin หรือ Sergei Rachmaninoff ซึ่งเป็นศิลปินคลาสสิกที่ฉันได้แรงบันดาลใจเยอะมากในตอนที่เขียนเพลง” เลเวย์เล่าต่อว่า “คุณยายบอกฉันเสมอว่าฉันถูกกำหนดให้เป็นนักดนตรี แม้ว่าฉันจะยังเด็กอยู่ก็ตาม แล้วแกก็พูดถูก”
นอกจากเปียโนและไวโอลินแล้ว เลเวย์เริ่มตกหลุมรักในเชลโล่และเรียนเชลโล่ตอนอายุ 8 ขวบ ก่อนจะเปิดตัวเป็นนักเชลโล่เดี่ยวให้กับวง Iceland Symphony Orchestra ด้วยวัยเพียง 15 ปี
“แม่ของฉัน นักไวโอลิน แม่สอนฉันทุกอย่างที่ฉันรู้เกี่ยวกับเชลโล่และโลกดนตรีคลาสสิก”
แม้ว่าเธอจะเติบโตมาในบ้านดนตรีคลาสสิก แต่ว่าเส้นทางนี้กลับไม่ใช่เส้นทางที่เธอต้องการ เธอเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “ช่วงอายุประมาณ 13-14 ปี ฉันก็เริ่มร้องเพลง และพบว่ามันเป็นการแสดงตัวตนของฉัน ฉันรู้สึกเป็นธรรมชาติมากๆ แล้วก็ไม่ต้องฝึกฝนมากเหมือนเครื่องดนตรีอื่นๆ” และสำหรับเครื่องดนตรีอื่นๆ เลเวย์บอกว่า “ฉันแค่คิดว่าฉันไม่มีแรงจูงใจที่จะฝึกฝนเท่าไหร่ ฉันอยู่กับเด็กที่มีแรงผลักดันมากที่สุดและฝึกฝนวันละหลายชั่วโมง ในขณะที่ฉันอยากจะใช้เวลาไปกับการร้องเพลงมากกว่า”
เลเวย์ในวัย 15 ปี ร่วมแข่งขันในรายการ Ísland Got Talent เมื่อปี 2014 และเข้ารอบสุดท้าย ในปีต่อมา เธอยังปรากฏตัวในฐานะผู้เข้าแข่งขันในรายการ The Voice Iceland และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ในเวลานั้น เธอเป็นผู้เข้าแข่งขันที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของรายการนี้
“ตอนฉันเริ่มร้องเพลง พ่อของฉันฟังศิลปินเก่าหลายๆ คนในยุค Ella Fitzgerald จากนั้น ฉันก็มุ่งความสนใจไปที่ภาพยนตร์มิวซิคัลอย่าง Singing in the Rain และ My Fair Lady ซึ่งทั้งสองเรื่องก็มีแนวดนตรีแจ๊ส ฉันสะท้อนกับเสียงนั้น มันเป็นความรู้สึกเหมือนอยู่ตรงกลางระหว่างดนตรีใหม่และดนตรีเก่าที่ดูคุ้นเคยเป็นพิเศษ”
จังหวะตกหลุมรัก
“ดนตรีคลาสสิกคือรักแรกของฉัน แต่ก็แค่ในทางเทคนิค แต่รักแรกจริงๆ ของฉันคือเพลงแจ๊สเก่าๆ”
ไม่ใช่เรื่องแปลกหากคุณรู้สึกคุ้นเคยกับบางสิ่งบางอย่างมากกว่าสิ่งที่คนทั่วไปคุ้นเคย เลเวย์ก็เช่นกัน ในช่วงเริ่มต้นของการร้องเพลง เธอไม่รู้สึกว่าเสียงของตัวเองจะไปเข้ากับศิลปินป๊อปได้เลย เพราะด้วยเสียงที่เบาและค่อนข้างต่ำ อีกทั้งยังเติบโตมากับโลกของดนตรีคลาสสิก ทำให้เธอกลัวที่จะเดินไปในทางนั้น จนกระทั่งครั้งแรกที่เลเวย์ได้ยินเสียงของ Ella Fitzgerald เธอก็ตกหลุมรักโดยทันที นี่คือเสียงร้องที่เธอสามารถร้องตามได้ และมันคือที่สำหรับเธอ
“ครั้งแรกที่ฉันได้ยินเสียงตัวเองอยู่ในเพลงเหล่านั้น หรือใครก็ตามที่เสียงต่ำกว่านั้น” เลเวย์อธิบายว่า “ฉันสามารถร้องไปพร้อมกับ Ella Fitzgerald และ Billie Holiday ได้ พวกเขามีน้ำเสียงทุ้มลึก สำหรับฉันที่โตมาแล้วได้ฟัง บวกกับเล่นดนตรีคลาสสิกด้วย กลับรู้สึกว่ามันคุ้นเคยเอามากๆ แต่ก็มีความแปลกใหม่ในตัวด้วยเหมือนกัน”
“Ella Fitzgerald ร้องเพลงเหมือนกับเชลโล่ มันน่าเหลือเชื่อมากๆ ในฐานะนักเชลโล่ ฉันรู้สึกเหมือนเจอที่ของฉัน”
จากการตกหลุมรักดนตรีแจ๊สและหาที่สำหรับตัวเองเจอแล้ว ปณิธานหนึ่งของเลเวย์คือการนำเพลงแจ๊สและดนตรีคลาสสิกกลับมาเผยแพร่ใหม่อีกครั้งให้กับผู้ฟังรุ่นใหม่ แม้ว่าดนตรีคลาสสิกและดนตรีแจ๊สจะเป็นแนวเพลงที่ดูจะเข้าถึงยากสำหรับหลายๆ คน อาจจะเพราะด้วยภาพจำที่ถูกสร้างขึ้นมาจากภายนอก หรือเพราะมีกำแพงเอาไว้ไม่ให้คนหันมาสนใจเพิ่ม เลเวย์ก็มองเห็นปัญหาในจุดนี้เช่นเดียวกัน
“พอนึกถึงคนฟังดนตรีแจ๊ส มันจะมีความคิดโผล่ขึ้นมาเลยว่าจะต้องเป็นคนผิวขาวที่มั่งคั่งหรืออะไรทำนองนั้นที่จะฟัง แล้วยิ่งเป็นดนตรีคลาสสิก ก็ยิ่งลึกลงไปในหลุมนั่นเลย” เธอบอก “มันเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่จะส่งต่อให้คนรุ่นใหม่และคนผิวสีนะ เพราะงั้น เป้าหมายของฉันคือการทำให้แนวเพลงเหล่านี้ดูน่ากลัวน้อยลง และเอาความจริงจังออกไป เพราะว่าท้ายที่สุดแล้ว แนวเพลงเหล่านี้มันมีความเป็นอมตะและคงอยู่ต่อไปอีกนาน”
Chet Baker คือแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงของเธอ ทั้งวิธีการร้องราวกับเครื่องดนตรี และวิธีที่เขาร้องเหมือนกับวิธีเล่นทรัมเป็ตของเขา “ฉันรักสิ่งที่เขายังคงเก็บมันเอาไว้ในการร้องเพลง เป็นเรื่องง่ายๆ แต่มันบอกอะไรได้หลายอย่าง”
นอกจากศิลปินแจ๊ส เลเวย์ยังมี Taylor Swift เป็นแรงบันดาลใจในการเริ่มเขียนเพลงอีกด้วย “ฉันชอบที่เธอสามารถเล่าเรื่องราวด้วยเพลงทุกเพลงของเธอเอง มันเป็นสิ่งที่ฉันใฝ่ฝันที่จะทำกับเพลงของตัวเองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เธอเป็นภาพวาดที่สดใส เธอทำให้ฉันหัวเราะและร้องไห้กับประสบการณ์ที่ฉันไม่เคยมี”
แต่สำหรับเรื่องของความรัก เลเวย์บอกว่า “มันเป็นสิ่งที่สวยงาม พอๆ กับความยุ่งเหยิง”
“เป้าหมายของฉันคือการนำดนตรีแจ๊สกลับมาให้คนรุ่นใหม่ฟัง”
“Ella Fitzgerald และ Chet Baker นักดนตรีแจ๊สผู้ยิ่งใหญ่ ฉันเป็นแฟนเพลงแจ๊ส และมันก็เป็นแรงบันดาลใจให้ฉันนำดนตรีแจ๊สกลับมามอบให้กับผู้ฟังรุ่นใหม่”
สำหรับดนตรีแจ๊สและดนตรีคลาสสิกมักจะประสบปัญหาในการเข้าถึงอยู่เสมอ และเป็นปัญหาที่เลเวย์พยายามแก้ไข “ฉันคิดว่าคงเพราะมีกำแพงอยู่ล่ะมั้ง แล้วเมื่อคุณนึกถึงคนฟังดนตรีแจ๊สทั่วไปในตอนนี้ มันจะมีความคิดโผล่ขึ้นมาเลยว่าเป็นคนผิวขาวที่มั่งคั่งหรืออะไรทำนองนั้น แล้วยิ่งเป็นดนตรีคลาสสิก มันก็ยิ่งลึกลงไปในหลุมนั้น มันเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่จะส่งต่อให้คนรุ่นใหม่และคนผิวสี เพราะงั้น เป้าหมายของฉันคือการทำให้แนวเพลงเหล่านี้ดูน่ากลัวน้อยลงและเอาความจริงจังออกไป เพราะท้ายที่สุดแล้ว แนวเพลงเหล่านี้มันมีรูปแบบที่เป็นอมตะ และคงอยู่ไปอีกนาน”
ในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ที่เลเวย์ต้องเดินทางกลับบ้านที่ไอซ์แลนด์ นอกเหนือจากการเรียน เธอใช้เวลาไปกับการทำเพลงคัฟเวอร์เพลงแจ๊สที่เธอรัก และปล่อยลงบนช่องยูทูบของเธอ หรือไม่ก็คัดสรรเพลย์ลิสต์เพลงแจ๊สที่เธอได้แรงบันดาลใจนอกเหนือจากศิลปินคนโปรดของเธอมาลงให้แฟนๆ ได้ตามไปฟัง “ฉันได้แรงบันดาลใจมาจากทั้ง Pied Pipers, Mills Brothers, The Ink Spots ที่เป็นวงแจ๊สที่เก่าแก่มากๆ ฉันชอบเวลาที่เสียงประสานมันใกล้กันจนคุณไปถึงจุดที่แบบ ‘มันใช่จริงๆ ใช่มั้ย’ และเมื่อตัวโน้ตหนึ่งขยับ แล้วทุกอย่างก็จบลง มันเหมือนกับการดื่มน้ำในช่วงเวลาที่คุณหิวน้ำมากๆ มันคือความพึงพอใจ”
Social Media ตัวช่วยสำคัญของเลเวย์
เลเวย์มาเล่น TikTok เพราะยูเนียเป็นคนชักชวนให้มาเล่น “ยูเนียใช้เวลาส่วนใหญ่บน TikTok แล้วเธอก็บอกว่า ‘เล่น TikTok สิ หลายคนโพสต์วิดีโอร้องเพลงแล้วก็ไวรัลมาก เธอควรลองนะ ฉันว่ามันต้องมีอะไรเจ๋งๆ เกิดขึ้นแน่นอน’ ฉันก็แบบ ‘ไม่หรอก มันไม่มีอะไรเกิดขึ้นแน่นอน แต่เดี๋ยวลองก็แล้วกัน'” ซึ่งเธอบอกว่า มันเป็นสิ่งที่ดีมากๆ “ฉันสนุกกับมันมาก มันเหมือนกับการค้นพบเพลงเลยนะ ฉันได้รับความเห็นจากคนรุ่นใหม่หลายคนเลยว่าแบบ ‘นี่เหมือนเพลงที่คุณยายเคยเปิดเลย’ หรือแบบ ‘มันฟังดูเหมือนเพลงจากหนังเก่าๆ เลยนะ’ แม้กระทั่งมีคนบอกว่า ฟังดูเหมือนเพลงคริสต์มาสเลย แล้วฉันก็แบบ ‘ใช่ๆ มันฟังดูเหมือนเพลงคริสต์มาส แต่ว่าฟังได้ตลอดปีเลยนะ สุดเจ๋ง’
ในช่วงเริ่มต้นของอาชีพ เลเวย์ทุ่มเวลาให้กับการทำเพลง จนกระทั่งเริ่มเล่น Instagram และ TikTok “ฉันรัก Instagram และ TikTok เพราะว่าตอนที่ฉันเริ่มต้นอาชีพนี้ คือเอาเริ่มต้นเลยก็คือโปรเจ็กต์ของฉันเริ่มต้นขึ้นในห้องนอน ฉันต้องการพื้นที่ที่จะได้ปลดปล่อยตัวเองออกไป และฉันคิดว่ามีคนที่นั่งเบื่ออยู่บ้านเยอะแน่ๆ ที่อยากจะหาอะไรออนไลน์มาเอนเตอร์เทนตัวเอง และมันก็สนุกมากด้วยวิธีที่ได้ยอดรีชเหล่านั้นมา เหมือนแบบ ฉันเริ่มที่จะสร้างคอมมูนิตี้ออนไลน์ขึ้นมา และจากเริ่มต้นเลยนะ ฉันมีแฟนๆ ที่มีส่วนร่วมกับงานของฉันและทิศทางของฉันด้วยว่าเพลงไหนที่ควรจะต้องพักก่อน เพลงไหนที่ควรจะต้องทำให้เสร็จ แบบ หลังจากฉันเขียนเพลงเสร็จ ฉันมักจะเปิดไลฟ์และเล่นมัน และรอดูคอมเมนต์ต่างๆ และอื่นๆ ฉันสามารถประเมินได้ว่า เพลงไหนมันดูพิเศษกว่าใครเพื่อน แล้วฉันก็แบบ จะอัดเพลง และปล่อยเพลงนั้นออกไป”
เธอยังบอกต่อด้วยว่า “ฉันรู้สึกขอบคุณมากๆ ที่มีสิ่งนั้น และด้วยโกลด์ทั้งหมดของฉันต่อการเป็นนักดนตรี คือการที่นำเพลงคลาสสิก เพลงแจ๊ส ที่ฉันเติบโตมาและรักมัน และมอบให้กับผู้ฟังรุ่นใหม่ และให้เขานำมันออกไปด้วย และอยากที่จะทำให้มันเข้าถึงได้ง่ายสำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่ง TikTok กับ Instagram เป็นช่องทางที่ดีมากๆ เพราะว่า ฉันโพสต์บางท่อนที่ฟังดูเก่าๆ หรือเป็นเพลงแจ๊สธรรมดาๆ แล้วก็ได้รับคอมเมนต์จากแฟนๆ ถามว่าแบบ ‘นี่เพลงแนวไหน’ หรือแบบ ‘นี่มันเหมือนเสียงจากหนังเก่าเลย’ หรือ ‘มันเหมือนที่คุณย่าคุณยายฉันชอบฟังเลย'”
Rom Com คือชีวิต
เลเวย์บอกผ่านหลายๆ บทสัมภาษณ์ว่าบทเพลงของเธอมักมาจากประสบการณ์ของเธอ ซึ่งโดยมากมาจากคนอื่นและผ่านการดูภาพยนตร์ ซึ่งหนังรอมคอมเป็นแนวที่เธอโปรดปราน แต่ด้วยในช่วงปี 2021 เป็นปีที่ขาดแคลนหนังรอมคอมเป็นอย่างมาก และนั่นก็ทำให้เธอเศร้าใจสุดๆ แต่ในอีกแง่ เธอก็เฝ้ารอว่าใครที่จะมาเป็น Nora Ephron ที่จะมาเขียนบทหนังรอมคอมให้เธอได้ดูอีกครั้ง
“When Harry Met Sally คือหนังเรื่องโปรดตลอดกาลของฉันเลย” เธอบอก “อย่างเพลง Like The Movies คือเพลงที่แบบ Nora Ephron มากๆ เอาจริง ถ้าชีวิตของฉันเป็นหนังได้ ฉันก็อยากให้มันเป็นหนังของ Nora Ephron นะ ทั้งเสื้อผ้า วิธีการถ่ายทำ สีสัน วิธีการแสดง และการพูดคุย เธอใช้ดนตรีที่ดีที่สุด และนั่นแหละ นั่นเป็นเหตุผลที่มันทำงานในหัวของฉันเลย”
The Laufey Project
“หลายคนบอกฉันว่าฉันเกิดผิดยุค ฉันมั่นใจว่าฉันไม่ได้เกิดผิดยุคแน่นอน ไม่มียุคไหนที่ฉันจะอยากเกิดเป็นผู้หญิงและเป็นนักดนตรีมากเท่าศตวรรษที่ 21 แล้ว แต่ฉันชอบเสียงของเพลงยุคก่อน ฉันก็เลยพยายามรวมมันไว้ด้วยกัน”
ผลงานของเลเวย์คือการนำเอาเพลงแจ๊สกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ผ่านบทเพลงของเธอ และทุกอย่างก็หล่อหลอมเธอให้เป็นนักเขียนเพลงชวนฝันกับความรักหลากหลายรูปแบบ “ฉันเป็นนักฝันกลางวันตัวฉกาจเลยนะ ฉันคิดว่ามันมีความตื่นเต้นและความหวังอีกมากที่เรายังไม่รู้ มันเป็นมุมมองล่วงหน้าที่โรแมนติกมากๆ แล้วมันก็เข้ากับเพลงและการเขียนเพลงของฉันอย่างแน่นอน”
นอกจากอัลบั้มของตัวเองแล้ว เลเวย์ยังร่วมคอลแลปกับศิลปินหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็น dodie ในเพลง ‘Love To Keep Me Warm’ ของศิลปินระดับตำนานอย่าง Irvin Berlin มาขับร้องใหม่คูกัน และบันทึกเสียงในสตูดิโอ พร้อมกับคลาริเน็ตแจ๊ส dodie อีกด้วย
“คริสต์มาสเป็นเทศกาลที่ฉันรักมากๆ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนเริ่มฟังเพลงแจ๊สกัน ก็เลยรู้สึกว่านี่เป็นเวลาของฉันที่แบบ ฟังเพลงนี้สิ นี่มันบรรยากาศดีชะมัด ทำไมเราไม่เก็บมันไว้ตลอดทั้งปีล่ะ” และเมื่อพูดถึง dodie แล้ว เธอก็ยังบอกด้วยว่า “ฉันเป็นแฟนคลับของ dodie มานานแล้ว และเป็นเกียรติมากๆ ที่ได้เธอมาร่วมร้องในเพลงนี้” เลเวย์เล่าว่าเธอและ dodie ติดตามกันและกัน และสร้างเวอร์ชันของตัวเองด้วยในช่วงเดือนกันยายน 2020 ช่วงที่เลเวย์ยังอยู่ในลอนดอน
“Let You Break My Heart Again” เป็นเพลงโปรดของเลเวย์ “เพลงนี้เป็นเพลงโปรดของฉัน ฉันบันทึกเสียงกับวง London Philharmonic Orchestra มันเป็นสถานที่พิเศษในใจของฉัน ฉันเขียนมันในตอนที่ฉันเศร้ามากๆ ในฐานะเด็กดนตรีคลาสสิกที่ชอบฟังเพลง Nocturne ของ Chopin การได้ร่วมงานกับวงซิมโฟนีออร์เครสตร้าเป็นช่วงเวลาที่เหนือจริงสำหรับฉัน มันเปลี่ยนช่วงว่าที่น่าเศร้าให้กลายเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของฉัน”
As a songwriter
เมื่อพูดถึงการเขียนเพลงของเธอ แพลนของเลเวย์ก็คือ “การนำเอาความรู้สึกโหยหาและเสียงที่อบอุ่นที่หลายๆ คนคุ้นเคย แต่ไม่รู้จริงๆ ว่าควรจะต้องทำตัวอย่างไร มาไว้รวมกัน”
“ฉันได้รับคอมเมนต์แบบนี้ตลอดเลย ไม่ว่าจะเป็น มันฟังดูเหมือนเพลงคริสต์มาสหรือเพลงดิสนีย์เก่าๆ จัง หรือแบบ มันคล้ายกับสิ่งที่ฉันได้ยินจากบ้านคุณย่าเลย เพราะงั้น ฉันก็ค้นพบว่าคนรุ่นใหม่ชื่นชมดนตรีประเภทนี้แบบที่พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำ และนั่นทำให้ฉันตื่นเต้นมาก”
นอกจากความรักในดนตรีคลาสสิกและเพลงแจ๊ส ภาพยนตร์คืออีกหนึ่งสิ่งที่เธอโปรดปราน และเธอเองก็นำมันมาร้อยเรียงผ่านบทเพลงของเธอ “ทุกเพลงที่ฉันเขียน ฉันเขียนผ่านการเล่าเรื่องด้วยภาพ มันก็เลยกลายเป็นภาพยนตร์จิ๋ว นั่นคือสิ่งที่ฉันชอบเกี่ยวกับดนตรี มันเกี่ยวพันกับความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์”
ในด้านการเขียนเพลง เลเวย์บอกว่าเธอเขียนมันจากประสบการณ์ส่วนตัวของเธอ “โปรเซสการเขียนเพลงของฉันค่อนข้างจะแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นจากคอนเซปต์ไอเดียของเนื้อเพลงก่อน ฉันเขียนมันมาจากประสบการณ์ส่วนตัวเป็นหลัก” เธอยังบอกต่อด้วยว่า “ฉันเขียนบันทึกเยอะมาก ฉันจะนั่งลงและจดทุกอย่างที่ฉันรู้สึกและเลือกคำ แนวคิด หรือไอเดียเล็กๆ จากมัน ฉันต้องการรวบรวมเพลงตามความรู้สึก ไม่ใช่ตามสไตล์ เพราะงั้น ขั้นต่อไปของฉันคือการทลายกำแพงของแนวเพลง”
การเขียนเพลงแต่ละเพลงใช้เวลาไม่เท่ากัน งานเขียนเพลงของเลเวย์จะมีเพลงที่เขียนเสร็จในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง ไปจนถึงเขียนทิ้งค้างไว้ แล้วกลับมาเขียนต่อในจบ “เพลงมันออกมาเร็วมาก ฉันพบว่าเพลงที่ฉันชอบมากๆ มักจะเป็นเพลงที่ฉันเขียนเสร็จภายในหนึ่งชั่วโมง เพราะว่ามันเหมือนแบบ ช่วงเวลาพิเศษมหัศจรรย์ด้วยวิธีที่มันถูกเขียนขึ้นมา แต่บางเพลงที่ฉันเขียนขึ้นมาแค่ครึ่งทาง แล้วจู่ๆ ก็ลืมมันไป แล้วหลังจากนั้นปีต่อมาก็กลับมาดูใหม่แล้วเขียนต่อให้จบ ฉันก็ยังรักเพลงพวกนั้นอยู่ มันแค่แตกต่างกันไป”
“ฉันรักการร้องแบบเลียนเสียงเครื่องดนตรี มันเป็นศิลปะที่เรานำกลับมาได้ หรือบางครั้งฉันก็พร้อมที่จะเอามันกลับมา มันเป็นวิธีที่ฉันได้รู้จักดนตรีแจ๊ส มันเป็นพื้นที่กลางสำหรับฉัน มีการจัดเรียงเครื่องสายเต็มที่ที่ฉันชอบในฐานะของนักเชลโล่และนักดนตรีคลาสสิก” เธอบอกต่อด้วยว่า “แต่ฉันก็รู้สึกเหมือนกับว่าทุกเพลงของฉันเหมือนกับภาพยนตร์เลยนะ ฉันเดาว่าส่วนใหญ่พวกเขาก็ถอดแบบมาจากมิวสิคคัลนี่แหละ แต่มันสวยงามมากเลยนะ มันไม่ซับซ้อน แค่บอกว่า มันเป็นอย่างไร และเล่าเรื่องราวออกมาอย่างสวยงาม นั่นคือสิ่งที่ฉันพยายามทำผ่านเพลงของตัวเอง”
ตอนนี้ เลเวย์ปล่อยอัลบั้ม EP ออกมาให้ฟังอย่าง Typical of Me และอัลบั้มเต็มออกมาให้ฟังแล้วหนึ่งอัลบั้ม นั่นคือ Everything I Know About Love ในตอนนี้ รวมไปถึงบันทึกการแสดงสดของเธอกับ the Iceland Symphony Orchestra ณ Reykjavik’s Harpa Concert Hall ในปี 2022 ในอัลบั้มที่มีชื่อว่า ‘A Night At The Symphony’ สำหรับตอนนี้ เธอปล่อยอัลบั้มสตูดิโอลำดับที่สองอย่าง Bewitched ออกมาให้ฟังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
Sources:
- https://1883magazine.com/laufey/
- https://diymag.com/feature/get-to-know-laufey
- https://fromtheintercom.com/interview-laufey/
- https://newsoundsmag.co.uk/2020/07/06/introducing-laufey-lin/
- https://notion.online/laufey-on-love-songs-and-letting-go/
- https://thefortyfive.com/interviews/laufey-interview-revitalising-jazz-for-the-21st-century/
- https://vmagazine.com/article/v-girls-laufey/
- https://www.cbc.ca/kidsnews/post/watch-tiktok-sensation-laufey-is-bringing-jazz-to-young-people
- https://www.clashmusic.com/features/laufey-is-turning-gen-z-back-on-to-vintage-jazz/
- https://www.fwordmag.com/single-post/laufey-everything-i-know-about-love
- https://www.onestowatch.com/en/blog/meet-laufey-the-gen-z-artist-making-us-fall-in
- https://www.thelineofbestfit.com/features/interviews/laufey-on-the-rise
- https://www.vogue.com/article/laufey-profile
- https://www.wonderlandmagazine.com/2022/03/28/laufey-magazine-spring-22/
- https://www.youtube.com/watch?v=pWQVW-tPqgM
- https://www.youtube.com/watch?v=x48WOMTBgds
- https://www.youtube.com/watch?v=yRYXXRrQFz8
- https://www.youtube.com/watch?v=KfBnS8gLA_A