นี่อาจจะเป็นเครื่องยืนยันได้แล้วว่า การแคนเซิลซีรีส์ที่มีตัวละคร LGBTQ ถือเป็นการลดการมองเห็นและการทำความเข้าใจถึงตัวตนของผู้มีความหลากหลายทางเพศผ่านสื่อ เพราะจากรายงาน Where Are We on TV 2022-2023 ของ GLAAD (Gay & Lesbian Alliance Against Defamation) ก็ได้เผยว่ามีตัวละคร LGBTQ ผ่านสื่อลดลง อีกทั้งยังมีการแคนเซิลซีรีส์เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ที่ฉายผ่านจอ ผ่านเคเบิล และผ่านสตรีมมิ่งต่างๆ ซึ่งรายงานฉบับนี้ ทาง GLAAD จะมีการจัดทำขึ้นมาทุกปี จะนับเฉพาะซีรีส์ที่มีการฉายตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2022 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2023 โดยจะเป็นการคาดเดาถึงปรากฎตัวของตัวละคร LGBTQ ที่ได้มีการประกาศหรือยืนยันการคัดเลือกนักแสดงจากช่อง เคเบิล และสตรีมมิ่งต่างๆ
ภาพรวมของซีรีส์อเมริกาในฤดูกาล 2022-2023 จาก GLAAD
เป็นเรื่องที่น่าเศร้า หลังจากที่เมื่อฤดูกาลที่แล้ว GLAAD รวบรวมข้อมูลและเปิดเผยผ่านรายงานของปีที่แล้วว่า ตัวละคร LGBTQ มีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกๆ ช่องทาง แต่สำหรับในฤดูกาลนี้ ดูเหมือนว่าอะไรๆ ก็กำลังจะเปลี่ยนไป เพราะภาพรวมของซีรีส์ในฤดูกาล 2022-2023 มีตัวละครที่เป็น เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล+ คนข้ามเพศ และเควียร์ (LGBTQ) ทั้งหมดเพียง 596 ตัวละคร ซึ่งลดลงจากฤดูกาลที่แล้วถึง 41 ตัวละคร โดยจะมีการแยกรายละเอียดตามช่องทางการฉาย ทั้งการฉายผ่านโทรทัศน์ ฉายบนช่องเคเบิล และฉายบนสตรีมมิ่ง
ในรายงานฉบับนี้เผยว่า ซีรีส์ที่ฉายทางโทรทัศน์ในช่วงไพร์มไทม์มีทั้งหมด 659 เรื่อง และมีแค่ 70 เรื่องเท่านั้น (นับเป็น 10.6% จากจำนวนซีรีส์ทั้งหมด) ที่มีตัวละคร LGBTQ ซึ่งตัวละคร LGBTQ ลดลงจากฤดูกาลก่อนถึง 22 ตัวละคร (หรือ 1.3% จากจำนวนตัวละครทั้งหมด) และมีตัวละคร LGBTQ ใหม่เพิ่มขึ้นมาเป็น 34 ตัวละคร ทำให้มีตัวละครทั้งหมด 101 ตัวละครที่ออกอากาศในฤดูกาลนี้ ซึ่งลดลงจากเดิมถึง 40 ตัวละครจากฤดูกาลก่อนหน้านี้
สำหรับซีรีส์ที่ฉายบนช่องเคเบิล GLAAD นับตัวละคร LGBTQ ที่เป็นตัวละครเดิมได้ถึง 86 ตัวละคร และมีตัวละครใหม่เพิ่มขึ้นมา 53 ตัวละคร เท่ากับว่ามีตัวละคร LGBTQ ทั้งหมด 139 ตัวละคร เพิ่มขึ้นมา 1 ตัวละครจากยอดรวมของปีที่แล้ว
ส่วนซีรีส์ที่ให้บริการบนสตรีมมิ่ง Apple TV+, Amazon Prime, Disney+, HBO Max, Hulu, Netflix, Paramount+ และ Peacock ทาง GLAAD นับตัวละคร LGBTQ เดิมได้ถึง 239 ตัวละคร และตัวละครใหม่อีก 117 ตัวละคร รวมเป็น 356 ตัวละคร ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วถึง 2 ตัว
นอกจากจำนวนตัวละครจะลดลงแล้ว ในปีนี้ GLAAD ก็ยังมีการทำรายงานในส่วนของซีรีส์และตัวละครในทุกแพลตฟอร์มที่จะไม่กลับมา ไม่ว่าจะเป็นเพราะซีรีส์โดนแคนเซิล เป็นซซั่นสุดท้าย มินิซีรีส์ ซีรีส์แบบจบในตอน หรือตัวละครเสียชีวิต หรือออกจากซีรีส์ไป สำหรับตัวละครที่จะไม่กลับมามีถึง 175 ตัวละคร (คิดเป็น 29% จากจำนวนตัวละคร LGBTQ ทั้งหมด) และมีตัวละครถึง 140 ตัวละครที่จะไม่กลับมา เนื่องจากซีรีส์โดนแคนเซิล
และเมื่อลองมาแยกตามเพศวิถีของตัวละคร LGBTQ ทั้งหมดในทุกแพลตฟอร์ม มีตัวละครที่เป็นเกย์ชาย 210 คน (คิดเป็น 35%) เป็นเลสเบี้ยน 180 คน (คิดเป็น 30%) เป็นไบเซ็กชวล+149 คน (คิดเป็น 25%) เป็นเควียร์ 25 คน (คิดเป็น 4%) เป็นตัวละครข้ามเพศที่เป็นสเตรท 14 คน (คิดเป็น 2%) เป็นตัวละครที่มีรสนิยมทางเพศไม่แน่นอน 12 คน (คิดเป็น 2%) และมีตัวละครที่เป็น asexual ถึง 6 คน (คิดเป็น 1%)
ซึ่งทาง GLAAD เขาก็ได้อธิบายว่าตัวละครที่มีเครื่องหมายว่า มีรสนิยมทางเพศไม่ชัดเจน เป็นตัวละครข้ามเพศ และหรือตัวละครนอนไบนารี่ ที่ทางช่องไม่ได้ยืนยันรสนิยมทางเพศของตัวละครเหล่านั้น บางส่วนเป็นตัวละครที่มีอายุน้อยที่ยังไม่ได้สนใจในเรื่องของความรัก ซีรีส์บางเรื่องไม่ได้มีโครงเรื่องโรแมนติกว่าเอาไว้ และรวมไปถึงการขาดความเข้าใจเกี่ยวกับตัวละครข้ามเพศที่สามารถมีรสนิยมทางเพศได้เช่นกัน
Cancelled Series การนำเสนอที่ลดลง เพราะซีรีส์โดนแคนเซิล
ประเด็นหลักที่เราอยากจะหยิบมาพูดถึงจากรายงานฉบับนี้ของ GLAAD ก็คือหมวด Cancelled Series ที่ในปีนี้ถือเป็นปีแรกที่มีการเขียนรายงานในหมวดนี้เข้ามา ซึ่งทาง GLAAD ก็ได้เปิดเผยว่านี่ถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่เกิดความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ที่สั้นลง หรือการรับชมแบบต่อเนื่องบนสตรีมมิ่งหรือเคเบิลแบบพรีเมียม ที่นำไปสู่การแคนเซิลซีรีส์หลังจากฉายผ่านไปแค่เพียงหนึ่งหรือสองซีซั่นเท่านั้น สิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก และผู้ชมที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศต่างกังวล นั่นเป็นเพราะว่าซีรีส์จำนวนมากที่เป็น LGBTQinclusive ถูกแคนเซิลไป ทำให้ผู้ชมต้องหาซีรีส์ใหม่ๆ ในการรับชม อีกทั้งยังต้องเร่งดูให้จบอย่างรวดเร็ว และรักษาฐานผู้ชม รวมถึงบอกต่อเพิ่มอีกด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ซีรีส์ที่พวกเขารัก โดนแคนเซิลไปในที่สุด
ข้อสรุปของ GLAAD ได้เผยว่า ตลอดช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซีรีส์ที่มีตัวละคร LGBTQ ยุติลงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะซีรีส์ที่มีตัวละคร LGBTQ ที่เป็นตัวนำโดนแคนเซิลไป ไม่ว่าจะเป็น 4400 (แคนเซิล), Batwoman (แคนเซิล), Charmed (แคนเซิล), DC’s Legend of Tomorrow (แคนเซิล), Legacies (แคนเซิล), Naomi (แคนเซิล), The Big Leap (แคนเซิล), Ordinary Joe (แคนเซิล), Astrid and Lily Save the World (แคนเซิล),The Wilds (แคนเซิล), Genera+ion (แคนเซิล), Y: The Last Man (แคนเซิล), Gentefied (แคนเซิล), Q-Force (แคนเซิล), Saved by the Bell (แคนเซิล), Search Party (จบ), Search Party (จบ), Dear White People (จบ), Feel Good (จบ), Claws (จบ), Killing Eve (จบ) และ Dickinson (จบ)
ในปีนี้ มีซีรีส์ที่มีตัวละคร LGBTQ โดนแคนเซิลไปแล้วถึง 54 เรื่อง นั่นเท่ากับว่า ตัวละครที่เป็น LGBTQ ถึง 140 ตัวละคร ถูกลบหายไปในพริบตา และนับเป็น 24% ของตัวละคร LGBTQ ทั้งหมดที่ถูกนับในรายงานฉบับนี้ และมีตัวละคร LGBTQ อีก 35 ตัวละคร ที่ไม่ได้กลับมาหรือกำลังจะออกจากซีรีส์ หรือเป็นมินิซีรีส์ อีกด้วย
ซีรีส์เรื่องไหนบ้างที่โดนค่ายแคนเซิล
ซีรีส์ช่วงไพร์มไทม์บนช่องเคเบิลถูกแคนเซิลไปถึง 15 เรื่อง ส่งผลให้ตัวละคร LGBTQ หายไปถึง 30 ตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์บนช่อง AMC อย่าง The Walking Dead ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานและในซีซั่นล่าสุดมีตัวละคร LGBTQ อย่าง Aaron, Yuniko Magna และ Kelley หรือจะเป็นซีรีส์ดราม่าอย่าง Kevin Can F**k Himself ที่มีตัวละครเควียร์อย่าง Patti O’Connor ก็โดนแคนเซิลไปหลังจากจบซีซั่นสอง
ทางฝั่งของ Disney Channel ก็เช่นกัน ที่ตัดสินใจแคนเซิล The Owl House ซีรีส์แอนิเมชั่นที่มีตัวเอกนาม Luz เป็นไบเซ็กชวล และคนรักที่ชื่อ Amity นอกจากนี้แล้ว ซีรีส์บนช่อง Freeform ของ Disney ก็ได้ฉายซีซั่นสุดท้ายของ Motherland: Fort Salem ที่มีคู่เควียร์อย่าง Raelle Collar และ Scylla Ramshorn รวมไปถึงช่อง OWN ที่ฉายซีซั่นสุดท้ายของ Queen Sugar ที่มีตัวละครไบเซ็กชวลผิวดำที่ชื่อ Nova นำแสดง นอกจากนี้แล้วยังมีซีรีส์ที่จบและโดนแคนเซิลไปเป็นจำนวนมากบนช่องเคเบิล ไม่ว่าจะเป็น Better Call Saul, Snowfall, His Dark Materials, American Gigolo, Dangerous Liaisons, Step Up และ Westworld
แต่สำหรับซีรีส์ Westworld และซีรีส์หลายๆ เรื่องที่ถูกแคนเซิลนั้น เป็นเพราะว่าการควบรวมกันระหว่าง Warner Bros. Discovery ทำให้มีซีรีส์ที่ถูกลบออกจากบริการสตรีมมิ่งแล้ว นั่นหมายความว่า แฟนซีรีส์กลุ่มเก่าและผู้ชมใหม่ที่อยากดู จะไม่สามารถรับชมได้อีก
ทาง GLAAD ยังได้ให้ความเห็นด้วยว่า นี่อาจจะเป็นผลเสียที่ส่งผลต่ออาชีพของนักเขียน ผู้กำกับ และนักแสดงที่เป็น LGBTQ ที่ทำงานในซีรีส์เหล่านี้ เพื่อให้ผู้บริหารมองเห็นและตัดสินใจจ้างงานพวกเขา ซึ่งสื่อในทุกวันนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น และการลบการเข้าถึงสื่อ ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กัน
ในส่วนของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง มีซีรีส์ที่เป็น LGBTQinclusive ถึง 30 เรื่องที่โดนแคนเซิล ส่งผลให้ตัวละคร LGBTQ ทั้งหมด 86 ตัวละคร จะไม่กลับมาอีก ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์บน Prime Video อย่าง Hunters และ Carnival Row ที่จะฉายในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ มีตัวละครสมทบหญิงที่เป็นเควียร์รวมอยู่ด้วย สำหรับสตรีมมิ่งอย่าง HBO Max ที่ล่าสุดก็ได้แคนเซิลซีรีส์ DC Doom Patrol และ Titans ที่มีซูเปอร์ฮีโร่ที่เป็นเกย์ และแคนเซิล Gossip Girl ภาครีบูต ที่มีตัวละคร LGBTQ หลายตัวในนั้น
ช่อง Hulu ก็ได้แคนเซิลซีรีส์คอเมดี้เรื่อง Reboot หลังจากผ่านไปหนึ่งซีซั่น เรื่องนี้มีตัวหลักเป็นเลสเบี้ยน และในทีมเขียนบทก็มีเหล่านักเขียนที่เป็นเควียร์รวมอยู่ด้วย รวมไปถึงซีรีส์เรื่อง Love, Victor ที่โดนแคนเซิลไปหลังจากฉายไปสามซีซั่น
รวมไปถึงช่อง Paramount+ ที่ฉายซีซั่นสุดท้ายของ Star Trek: Picard ที่มีคู่เควียร์อย่าง Raffi และ Seven of Nine ช่อง Peacock แคนเซิลซีรีส์สามเรื่องที่มีตัวละคร LGBTQ หลายตัวด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง One of Us is Lying, Vampire Academy และ Queer as Folk ซึ่งตัวละคร LGBTQ ใน Queer as Folk มีถึง 11 ตัว รวมไปถึงตัวละครนำที่เป็นทรานส์และนอนไบนารี่ รวมไปถึงเควียร์ที่เป็นผู้พิการอีกหลายคน
มาถึงสตรีมมิ่งเจ้าใหญ่ที่มีออริจินัลคอนเทนต์บนช่องเป็นจำนวนมากอย่าง Netflix กลายเป็นที่เป็นที่จดจำผ่านว่าแคนเซิลซีรีส์เป็นจำนวนมากหลังจากฉายไปได้ไม่นาน ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ First Kill ที่โดนแคนเซิลหลังจากจบซีซั่นแรก และ Warrior Nun ซีรีส์ดราม่าแอคชั่นที่โดนแคนเซิลหลังจากฉายจบซีซั่นสองไปได้ไม่นาน ซึ่งทั้งสองเรื่องนั้นจะเน้นไปที่ตัวละครหลักที่เป็นผู้หญิง และการแคนเซิลซีรีส์ทั้งสองเรื่อง ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์จากกลุ่มผู้ชมแซฟฟิคในชุมชนเป็นอย่างมาก ซึ่งจำนวนมากก็ได้มีการอ้างว่าซีรีส์ทั้งสองเรื่องติดสิบอันดับแรกของซีรีส์บน Netflix นั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว Netflix ก็ยังแคนเซิลซีรีส์ 1899 ที่มีตัวละครเกย์ละตินเอ็กซ์หลายคนในเรื่อง รวมไปถึง Blockbuster ซีรีส์ตลกที่มีตัวละครชายละตินเอ็กซ์ไบเซ็กชวลเป็นตัวละครหลัก ซีรีส์แอนิเมชั่นเรื่อง Dead End: Paranormal Park ที่นำเสนอตัวละครหลักที่เป็นทรานส์ และตัวละครสมทบที่เป็นเควียร์ออทิสติก ซึ่งหาได้ยากในสื่อ โดยเฉพาะสื่อสำหรับเด็ก แต่ก็โดนแคนเซิลหลังจากฉายจบซีซั่นสอง นอกจากนี้แล้ว Netflix ก็ยังแคนเซิลซีรีส์ LGBTQinclusive อีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น The Bastard Son and the Devil Himself, The Imperfects, Jurassic World: Camp Cretaceous, Locke and Key และ The Midnight Club
จากรายงานข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า ซีรีส์ที่มีตัวละครเควียร์จำนวนมากที่เปิดตัวบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ส่วนใหญ่จะโดนแคนเซิลไปอย่างรวดเร็ว และถือเป็นปัญหาที่สอดคล้องกันในทุกแพลตฟอร์ม
งบประมาณในการถ่ายทำและการโปรโมต ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ
นอกจากนี้แล้ว ทาง GLAAD ก็ยังมีรายงานต่อด้วยว่า ซีรีส์ที่มีกลุ่มตัวละคร LGBTQ จำนวนมากที่ยังไม่โดนแคนเซิลอย่าง A League of Their Own (ได้ไปต่อเพียงแค่ 4 ตอนเท่านั้น), Harlem ของ Prime Video หรือ Smiley ของ Netflix นั้น ก็ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะในปัจจุบันนี้ แม้ว่าจะมีแพลตฟอร์มใหม่เปิดตัวขึ้นเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการแข่งขันที่สูง และมีการนำเสนอถือเนื้อหาที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อเป็นซีรีส์ที่มีตัวละคร LGBTQ เป็นศูนย์กลาง ก็มักจะถูกแคนเซิลทิ้ง หลังจากผ่านไปแล้วหนึ่งหรือสองซีซั่น หรือไม่ได้รับการโปรโมตด้วยงบประมาณเดียวกันกับซีรีส์เรื่องอื่นๆ ในแพลตฟอร์มเดียวกัน
แล้วในกรณีที่แพลตฟอร์มโปรโมตและให้งบประมาณที่เพียงพอล่ะ? เราจะเห็นได้จากซีรีส์ที่แพลตฟอร์มต่างๆ ให้งบการผลิต และงบในการโปรโมตและลงโฆษณา ยอดผู้ชมก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว อย่างในปี 2022 ซีรีส์ Stranger Things ของ Netflix ที่มีตัวละครเลสเบี้ยนอย่าง Robin และตัวละครเกย์ที่เป็นตัวหลักอย่าง Will Byers ก็ถือได้ว่าเป็นออริจินัลซีรีส์ที่มีผู้ชมมากที่สุดในรอบปี จากบริการสตรีมมิ่งทั้งหมดตามจำนวนนาทีที่มีการรับชม นอกจากนี้แล้วก็ยังมีซีรีส์ The Boys ของ Prime Video ที่มีซูเปอร์ฮีโร่หญิงอย่าง Queen Maeve ที่เป็นไบเซ็กชวล ไปจนถึงซีรีส์ The Umbrella Academy ของ Netflix ที่มีตัวละครเควียร์สองพี่น้องทั้ง Viktor และ Klaus เป็นตัวละครหลัก
ท่ามกลางความมืดมิด เราก็ยังคงมีแสงสว่างให้มองเห็น
สำหรับซีรีส์บนช่องเคเบิลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปี 2022 คือซีรีส์เรื่อง Yellowstone ของ Paramount Network ครองอันดับสูงสุด โดยมี Clara ตัวละครเลสเบี้ยนในเรื่องด้วย นอกจากนี้แล้ว สำหรับซีรีส์เรื่องอื่นๆ ที่มียอดผู้ชมรายสัปดาห์เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Chicago Fire, NCIS: Hawaii ที่มีตัวละคร LGBTQ เป็นตัวหลัก รวมไปถึงซีรีส์เรื่องล่าสุดของ HBO อย่างเรื่อง The Last of Us ที่หยิบเอาวิดีโอเกมมาดัดแปลง และมีตัวละครหลักเป็นเลสเบี้ยน อีกทั้งยังมีตอนที่เป็นที่พูดถึงและได้รับการยกย่องถึงการเล่าเรื่องราวความรักระหว่างเกย์ชายสองคนระหว่างวันสิ้นโลก และกลายเป็นซีรีส์ที่มีผู้ชมสูงสุดเป็นอันดับสองในการเปิดตัวของ HBO ในรอบทศวรรษ
นอกจากนี้แล้วก็ยังมีซีรีส์ที่เล่าเรื่องราวของ LGBTQ ได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็น Abbott Elementary, Barry, Euphoria, Hacks, Only Murders in the Building, Severance, What We Do in the Shadows, Yellowjackets และอีกมากมาย ซึ่งซีรีส์เหล่านี้ถือเป็นซีรีส์เรือธงของเครือข่ายและบริการ ที่มีทั้งงบประมาณ การทำการตลาด และการประชาสัมพันธ์ที่อยู่เบื้องหลังความประสบความสำเร็จ และเพื่อเชื่อมให้ผู้ชมได้รู้จักและรับชมซีรีส์เหล่านี้
GLAAD ได้ให้ความเห็นว่า มันเป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าเมื่อมีการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากเบื้องหลังของซีรีส์ในทุกๆ ภาคส่วน ทั้งการโฆษณา งบประมาณการผลิต การประชาสัมพันธ์ และการตลาด ก็ถือว่าเป็นการให้ความสำคัญต่อซีรีส์ได้อย่างครอบคลุม และได้รับเสียงวิจารณ์จากนักวิจารณ์และผู้ชม ตลอดจนประสบความสำเร็จได้ดีเยี่ยม
ผู้ชมต้องกังวล หรือยังคงวางใจได้?
ด้วยท่าทีที่ผ่านมาของแพลตฟอร์มต่างๆ ยังคงมีการนำเสนอซีรีส์ที่มีตัวละคร LGBTQ และซีรีส์เหล่านั้นล้วนถูกแคนเซิลบ้าง ให้ไปต่ออีกหนึ่งซีซั่นเพื่อปิดปมจบตัวละครบ้าง ผู้ชมอย่างเราๆ จำเป็นที่จะต้องแนะนำซีรีส์และบอกต่อซีรีส์ที่ชอบให้ทุกคนได้รับรู้ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ชมให้กับซีรีส์เหล่านั้น รวมไปถึงการเลี้ยงกระแสซีรีส์ไปจนกว่าจะได้รับการอนุมัติให้ไปต่อ นี่ถือเป็นเรื่องยาก เพราะจากสิ่งต่างๆ ข้างต้น ก็ยังไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับเราผู้ชมได้ว่า แพลตฟอร์มเหล่านั้นจะอนุมัติให้ซีรีส์ได้ไปต่อหรือไม่ หรือจะโดนแคนเซิลทันทีหลังจากที่ฉายจบ
หลังจากรายงานของ GLAAD ในปีนี้เผยมาแล้ว หวังว่าแพลตฟอร์มต่างๆ จะเพิ่มการมองเห็น และให้พื้นที่กับผู้มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่ของงบประมาณ พื้นที่สื่อ และพื้นที่ในการนำเสนอผ่านซีรีส์ต่างๆ เพื่อให้โลกทั้งใบมองเห็นทุกอัตลักษณ์อย่างเท่าเทียม เพื่อเล่าเรื่องราวของแต่ละคนได้อย่างดี อีกทั้งยังรวมไปถึงคนที่กำลังค้นหาตัวเอง ได้เข้าใจและพบว่าพวกเขาก็มีตัวตนและได้รับการมองเห็นเช่นเดียวกับคนอื่นๆ