โลกของดนตรีคอนเสิร์ตในเชิงประวัติศาสตร์มักมีผู้ชายเป็นผู้นำ สำหรับ TÁR นำเสนอภาพของผู้หญิงในชีวิตของลิเดียทั้งในเรื่องส่วนตัวและหน้าที่การงาน ซึ่งรวมถึง ชารอน ที่เป็นคู่รักของเธอ ทั้งคู่ได้ร่วมกันทำหน้าที่แม่ให้กับเด็กที่พวกเธอรับอุปการะเอาไว้ และยังเป็นนักไวโอลินนำของวงออร์เคสตร้า (Concert Master), ฟรานเชสก้า ผู้ช่วยของทาร์ ผู้อยากเดินตามรอยเท้าเจ้านายของเธอ และโอลก้า เม็ตคิน่า นักเชลโลสาวชาวรัสเซีย ผู้ซึ่งความวัยเยาว์และความเชื่อมั่นในตัวเองของเธอ ช่วยเติมเชื้อไฟให้กับพลังในการสร้างสรรค์ของทาร์ และทำให้ความสัมพันธ์ของเธอกับออร์เคสตร้าและชารอนยุ่งยากขึ้นด้วย
“เรื่องนี้มีเรื่องชีวิตคู่เป็นหัวใจของเรื่อง” ฟิลด์บอก “มันคุ้มค่าที่จะรู้ว่านับแต่ แฮร์แบร์ท ฟ็อน คารายัน ถูกขับไล่ออกจากเบอร์ลิน ก็ไม่มีคอนดัคเตอร์หลักที่ได้รับการแต่งตั้งตลอดชีวิตเหลือในเยอรมันอีกเลย วงออร์เคสตร้าเยอรมันทุกวงมีความเป็นประชาธิปไตย นั่นหมายความว่านักดนตรีจะโหวตเลือกคอนดัคเตอร์หลักเข้ามา และ “คำเชื้อเชิญ” นั้นสามารถเพิกถอนได้ทุกเมื่อ นักไวโอลินนำของวงอาจเป็นมือที่มองไม่เห็นที่ชักนำผู้ชมคอนเสิร์ต แต่สำหรับวงออร์เคสตร้า นักไวโอลินนำคือผู้กุมอำนาจอย่างแท้จริง ด้วยวิถีนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างทาร์กับชารอน จึงมีความซับซ้อนอย่างมาก และกลายเป็นกระแสโต้แย้งเมื่อพวกเธอเปิดเผยความสัมพันธ์ให้ทุกคนรับรู้”
เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ ฟิลด์รู้จักผลงานของ นีน่า ฮอสส์ จากภาพยนตร์ที่เธอได้ร่วมงานกับ คริสเตียน เพ็ทซอลด์ และจากผลงานของเธอในบทนักไวโอลินอาชีพที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท ในภาพยนตร์ของ อิน่า ไวเซอ เรื่อง The Audition
“จากการสนทนาครั้งแรกระหว่างผมกับนีน่า มันกลายเป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าทำไม เพ็ทซอลด์ ถึงได้เขียนบทภาพยนตร์มากมายให้กับเธอ เธอพูดถึงฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนั้น และบอกว่า ‘ฉันคิดว่าคุณอาจทำสิ่งนี้แตกต่างออกไป ฉันคิดว่าสิ่งสำคัญในความสัมพันธ์นี้ ไม่ใช่เรื่องที่ว่าใครเป็นคนสวมกางเกง มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเข้าไปเกี่ยวข้องกัน’ การสนทนานั้นได้เติมเต็มบทภาพยนตร์เรื่องนี้ในแบบที่สำคัญมาก ไม่งั้นมันอาจจะหลงทางไปแล้วก็ได้”
เพื่อหาทางที่จะสวมวิญญาณเป็นตัวละครของเธอในภาพยนตร์ TÁR ฮอลล์ได้ศึกษาผลงานของ เอลการ์ และมาห์เลอร์ กับมารี ค็อกก์ โค้ชไวโอลินของเธอ โดยได้พูดคุยกันว่าผลงานเหล่านี้อาจมีความหมายกับชารอนอย่างไรบ้าง และเธอกุมอำนาจแบบไหนเอาไว้ในฐานะที่เป็นนักไวโอลินหลักในวงออร์เคสตร้า “อำนาจของเธอแตกต่างไปจากอำนาจของลิเดีย คุณต้องพิสูจน์ตัวเองในทุกวันในฐานะนักไวโอลินมือหนึ่ง เพราะทุกคนในวงต่างต้องการตำแหน่งของคุณ คุณไม่เคยรู้สึกปลอดภัยเลย” ฮอสส์บอก “ชารอนเป็นคนรวมทุกอย่างเอาไว้ด้วยกันในวงออร์เคสตร้านี้ เธอช่วยค้นหาโทนอารมณ์ และช่วยแปลงสิ่งที่ ทาร์ ต้องการจะดึงออกมาจากวง และความสัมพันธ์ของเธอกับ ทาร์ ก็อยู่ทั้งภายในและนอกวงออร์เคสตร้า”
ฮอสส์กล่าวเสริมว่า “ชารอนไม่เคยเป็นคนไร้เดียงสาเลยในสายตาฉัน ก็เหมือนกับทาร์ เธอมีหลักการเช่นกัน เธออยากให้ ทาร์ เป็นดาวดัง เพื่อที่พวกเธอจะได้รักษาสถานะในฐานะคู่รักที่ทรงอำนาจได้ เธอมองข้ามพฤติกรรมของคู่ชีวิตด้วยการหุบปากเงียบไว้ เรื่องราวนี้ดำเนินไปรอบๆ ความมีอำนาจ กระแสอำนาจ และวิธีที่กระแสนั้นถูกใช้จากทั้งสองฝ่าย มักจะมีสองฝ่ายเสมอเมื่อเป็นเรื่องของอำนาจ ทุกความสัมพันธ์ต่างมีความตึงเครียด มีการรุกและรับ ความสัมพันธ์ต่างมีกฎเกณฑ์ ทั้งสองฝ่ายต่างมีส่วนในการสร้างและทำลายกฎ ก็หวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นแรงบันดาลใจและเป็นการพูดคุยอย่างมีคุณภาพเกี่ยวกับธรรมชาติที่แท้จริงของเรื่องเหล่านี้”
ความซับซ้อนพอๆ กันก็คือความสัมพันธ์ระหว่างทาร์กับฟรานเชสก้า เลนตินี่ ผู้ช่วยของเธอ “ภาพยนตร์ของ เซลีน เซียมมา เรื่อง Portrait of a Lady on Fire คือภาพยนตร์ที่ผมชอบมาก” ฟิลด์บอก “มันเป็นผลงานที่ชักนำผมให้ไปดูภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเซียมมา อย่าง Bande de filles และ Ma vie de Courgette แต่ที่สำคัญที่สุด อย่างน้อยก็สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือกับผู้ที่มีความสามารถพิเศษมากๆ อย่างโนเอมี่ แมร์ล็อง”
ฟรานเชสก้าคือตัวละครที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลง เธอต่างจากทาร์ ฟรานเชสก้ามาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่ได้รับการอบรมสั่งสอน เธอเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยดนตรี Conservatoire de Paris, ได้รับปริญญาศิลปกรรมศาสตร์มหาบัณฑิตจากเยล จากนั้น เธอได้เข้ามูลนิธี Accordion Foundation ที่ซึ่งเธอได้พบกับทาร์ ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเธอมีความใกล้ชิด และเป็นเรื่องของงานล้วนๆ เมื่อหลายปีก่อน ทาร์เคยชวนฟรานเชสก้า ไปเป็นผู้ช่วยเธอในเบอร์ลิน มันชัดเจนระหว่างทั้งสองคนว่านี่คือก้าวสำคัญที่ในที่สุดแล้ว เธอจะกลายเป็นผู้ช่วยคอนดัคเตอร์ ฟรานเชสก้ารู้ทันเล่ห์เหลี่ยมและการเคลื่อนไหวของเจ้านายเธอ เพราะแบบนี้ เธอจึงมีเหตุผลทุกอย่างที่จะไม่เชื่อใจทาร์ และกำลังสร้างสถานการณ์อย่างเงียบๆ
แมร์ล็องกล่าวเสริมว่า “ที่ไม่เหมือนกับตัวละครตัวอื่น เราไม่เคยเห็น ฟรานเชสก้า เล่นดนตรีในภาพยนตร์เรื่องนี้เลย ทักษะของเธออยู่ที่หู เธอเป็นนักฟัง นักดู ดังนั้น ความท้าทายสำหรับฉันก็คือ การรวบรวมความรักที่เธอมีต่อดนตรีและความปรารถนาของเธอที่จะได้ทำหน้าที่คอนดัคเตอร์ ผ่านทางภาษาร่างกายและสายตาของเธอ เธอชื่นชมทาร์และอยากจะเรียนรู้จากทาร์ แต่ขณะเดียวกัน เธอก็กลัวทาร์ด้วย”
โอลกา เม็ตคิน่า นักเชลโล่ชาวรัสเซีย คือเลนส์ที่แตกต่างไปในการมองดูการเคลื่อนไหวในเรื่องอำนาจในวงออร์เคสตร้านี้ นี่คือตัวละครที่มีความเชื่อมั่นในตัวตนและความสามารถของตัวเอง คนเหล่านี้ไม่ได้เรียกขอสิ่งใด พวกเขามาเติมเต็มความว่างเปล่าให้กับทาร์ เป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่สำหรับเธอแล้ว ความเกรี้ยวกราดของศิลปะได้ถูกบดบังโดยพลังงานที่ถูกใช้ไปในการบริหารดูแลสถาบันทางวัฒนธรรมใหญ่แห่งนี้ ทาร์มองเห็นตัวเธอเองสมัยสาวๆ ในตัวโอลกา เพราะฉะนั้น ทาร์จึงตัดสินใจก้าวผิดทางการเมือง ที่ในที่สุดแล้ว มันจะช่วยปลดเปลื้องให้เธอ
“แคสติ้ง ไดเร็คเตอร์ อาวี คัฟแมน และผมต่างก็รู้ดีว่าการตามหา โอลกา เม็ตคิน่า จะต้องเป็นความท้าทายในการหาตัวนักแสดงมากที่สุด เพราะเป็นบทที่ต้องการตัวนักเชลโลรัสเซียวัยรุ่นที่สามารถแสดงได้ด้วย” ฟิลด์กล่าว “เป็นคนในอุดมคติที่เป็นลูกผสมระหว่างล็อตเต เลนย่า และฌาคเคอลีน ดู เปร ในทางทฤษฎี นี่คือภารกิจที่สมเหตุผลทีเดียว และอาวีก็เลือกนักแสดงจากวงกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่บรรทัดฐานในเรื่องประเทศเกิดของ โอลกา ก็มีความจำเพาะมาก ดังนั้น เราจึงเปิดรับคนทุกชนชาติ”
คลิปภาพที่บันทึกด้วยตัวเองจำนวนมาก ถูกส่งมาถึงสำนักงานแคสติ้ง บริจิตต์ วิทไมร์ ผู้ช่วยของคัฟแมน ได้รับมอบหมายให้นั่งดูเทปออดิชั่นของนักดนตรีรุ่นใหม่จำนวนหลายร้อยที่พูดสำเนียงแบบรัสเซียกระท่อนกระแท่น แต่ก็ยังไม่มีใครเข้าตา “เรารู้ดีว่าเราต้องเปิดรับนักแสดงที่สามารถเล่นเชลโลได้นิดหน่อย หรืออย่างน้อยก็จับเชลโลได้อย่างถูกต้อง ขณะที่มันน่าตื่นเต้นที่ได้เห็นความลึกของนักแสดงรุ่นใหม่ แต่ความสามารถทางด้านดนตรีก็ยังมีไม่พอ” ฟิลด์เล่า “ไม่ต้องสนใจว่าเวลาของเราเหลือน้อยลงทุกที หรือไม่มีใครในกลุ่มพวกเราที่อยากจะใช้วิธีปลอม หรือให้ใครมาแสดงแทนเพื่อทำให้นักแสดงดูเหมือนเป็นนักเชลโลระดับโลกจริงๆ เป็นเรื่องสำคัญมากที่ทุกคนที่จะต้องแสดงดนตรีในภาพยนตร์เรื่องนี้ จะต้องเล่นดนตรีได้จริงๆ”
ในที่สุด ในช่วงอาทิตย์สุดท้ายของการแคสติ้งตัวนักแสดง อีกเทปหนึ่งก็ถูกส่งมา มันเป็นเทปออดิชั่นของนักเชลโลวัย 19 ปีที่มีผมสีทองยาวถึงเข่า เธอแต่งตัวดี มาจากครอบครัวชนชั้นกลางนอกลอนดอน เพียงไม่นาน ฟิลด์กล่าวว่า “โซฟีไม่เหมือนกับตัวละครตัวนี้เลย แต่เมื่อเธอเริ่มแสดง โอลกาก็ปรากฎตัวขึ้นตรงนั้น เมื่อผมถามเธอว่าเธอเรียนสำเนียงรัสเซียมาจากไหน เธอตอบว่า ‘ยูทูบ’ โห และอีกอย่างหนึ่ง เธอสามารถเล่นเชลโลได้ เธอเล่นได้จริงๆ โซฟีเป็นนักเชลโล่ที่พิเศษมาก เรายังไม่รู้เรื่องนี้ด้วยซ้ำ เพราะเธอเป็นนักเชลโลเพียงคนเดียวที่เราได้ดู และไม่เล่นโซเชียลมีเดีย เมื่อเราถามเธอเรื่องนี้ เธอบอกว่ามันถูกออกแบบเอาไว้ เธอไม่อยากให้คนอื่นได้ยินเธอจนกว่าเธอจะพร้อม นั่นคือการแนะนำตัวโซฟีที่สมบูรณ์แบบมาก และมันสอดคล้องกับประสบการณ์ที่ผมมีกับเธอในฐานะนักแสดง และในฐานะนักดนตรี ตลอดการถ่ายทำ โซฟี คาวเออร์คือพลังจริงๆ”
คาวเออร์เริ่มต้นเล่นเชลโล ตอนเธออายุ 8 ปี “พวกเขาเสนอให้ฉันเล่นไวโอลิน แต่ฉันไม่เอา เพราะคุณต้องยืนเล่น” คาวเออร์กล่าว “ฉันเลือกเชลโล เพราะว่าฉันอยากจะนั่งนิ่งๆ” เธอเริ่มมีความมั่นใจในฝีมือตอนอายุ 14 ปี และได้เข้าเรียนที่สถาบันดนตรีในสวิตเซอร์แลนด์ กับนักดนตรีเยาวชนคนอื่นๆ จากยุโรป “ฉันรู้ในตอนนั้นแล้วว่านี่คือสิ่งที่ฉันอยากใช้ชีวิตที่เหลือทำสิ่งนี้ คุณต้องเสียสละมากมายเพื่อจะดำรงชีวิตแบบนี้ ขณะที่ทุกคนออกไปปาร์ตี้กัน แต่คุณต้องอยู่บ้านเพื่อฝึกซ้อมเพลงของเอลการ์”
ฟิลด์ส่งบทภาพยนตร์ TÁR ไปให้คาวเออร์ ผู้ตอบรับในทันที “ฉันตื่นเต้นมากที่มีคนอยากจะสำรวจโลกของดนตรีคลาสสิคในแบบนี้ และนำเสนอปัญหาหลายอย่างที่สอดคล้องกับปัจจุบัน” คาวเออร์กล่าว “การเขียนของท็อดด์งดงามมาก แม้กระทั่งส่วนที่ไม่ได้ปรากฎบนจอภาพยนตร์ อย่างเช่นฉากที่ทั้งวงออร์เคสตร้า เห็นพ้องที่จะเล่นเพลงของ เอลการ์ และเขาอธิบายว่าฉากนั้นเหมือนกับ ‘ป่าที่เติบโตหนาแน่นขึ้น จนกระทั่งมันเติบใหญ่อย่างเต็มที่’”
ด้วยความช่วยเหลือของโค้ชฝึกสำเนียง เฮเลน ซิมมอนส์ และอินน่า เรสเนอร์ คาวเออร์สามารถพูดสำเนียงรัสเซียได้อย่างสมบูรณ์แบบ “พวกเขาช่วยให้ฉันเข้าสู่พื้นที่ในการแสดงในหัวของฉัน และผลักดันให้ฉันได้ลองอะไรใหม่ๆ ขณะที่ฉันพยายามที่จะสร้างชีวิตให้กับ โอลกา” คาวเออร์เล่า “งานสำเนียงพูดก็ช่วยให้ฉันพัฒนาเธอขึ้นมาในฐานะตัวละครตัวหนึ่ง มันคืองานดนตรี และเป็นสิ่งที่หูของฉันคุ้นเคยได้อย่างรวดเร็ว”
เพื่อให้เข้าใจการแสดงได้ดีขึ้น คาวเออร์ หันไปหายูทูปอีกครั้ง โดยเธอได้ดูคลิปการสอนของ ไมเคิล เคน เพราะเธอไม่เคยแสดงมาก่อน คาวเออร์จึงขออยู่ที่กองถ่ายในระหว่างการถ่ายทำ แม้ว่าเธอจะไม่ต้องเข้าฉากก็ตาม โดยเธอจะคอยนั่งดู นีน่า ฮอสส์ และเคต แบลนเชตต์ บริหารฝีมือของพวกเธอ “ฉันมักจะอยู่ที่กองถ่ายเสมอ เพื่อพยายามเรียนรู้จากคนที่เก่งที่สุด” คาวเออร์เล่า “คุณมีนักแสดงระดับโลกอยู่รอบๆ ตัวคุณ ทำไมจะไม่ไปอยู่ในกองถ่ายล่ะ”
คาวเออร์ยังไม่เคยเล่นโซโล่กับวงออร์เคสตร้าอาชีพมาก่อน “บทนี้มีความน่ากลัวอยู่ เด็กอายุ 19 ส่วนใหญ่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในวงออร์เคสตร้ามาก่อน ดังนั้น การมาถึงกองถ่ายและต้องแสดงเลย จากนั้นก็ต้องบันทึกภาพในภาพยนตร์ ถือเป็นเรื่องกดดันมากเลย” คาวเออร์กล่าว “ฉันไม่รังเกียจอะไรที่จะต้องเล่นเชลโลเป็นคนอื่น ไม่ได้เล่นในแบบที่ฉันเล่นตามปกติ ท็อดด์มีไอเดียพิเศษมากว่าเขาอยากให้สิ่งต่างๆ ถูกถอดความออกมายังไงในทางดนตรี เคตกำลังคอนดัคอยู่ ดังนั้น ฉันต้องเข้ากับเธอ และผู้เล่นที่เก่งๆ ของวง Dresden Philharmonie ซึ่งล้วนแต่เป็นนักดนตรีระดับโลกที่มีประสบการณ์ในการเล่นดนตรีด้วยกันในฐานะวงออร์เคสตร้ามานานหลายปี ซึ่งไม่เหมือนกันเลย”
TÁR
Genre: Psychological drama
Year: 2022
Country: United States, Germany
Language: English, German, French, Tagalog
Run time: 158 minutes
Director: Todd Field
Screenwriter: Todd Field
Actors: Cate Blanchett, Noémie Merlant, Nina Hoss, Sophie Kauer, Julian Glover, Allan Corduner, Mark Strong
Producers: Todd Field, Alexandra Milchan, Scott Lambert
Cinematography: Florian Hoffmeister
Editor: Monika Willi
Music: Hildur Guðnadóttir (Joker, Sicario: Day of the Soldado), Lucy Bright
Distributor: Focus Features, UIP Thailand