เมื่อพูดถึงภาพยนตร์ TÁR แล้ว สิ่งที่ทุกคนต่างให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ นอกเหนือจากเรื่องของโปรดักชั่นดีไซน์ นั่นก็คือเรื่องของเสียงและดนตรีประกอบของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งในส่วนของดนตรีและการสร้างสรรค์เพลง รวมไปถึงการแสดงดนตรีคลาสสิคที่จะเข้ามาช่วยสำรวจในด้านของบทละครและเพื่อเร้าอารมณ์ในแต่ละสถาการณ์ของภาพยนตร์นั่นเอง
ผู้แต่งดนตรีประกอบเจ้าของรางวัลออสการ์ ฮิลดูร์ กืดนาดอตเตียร์ (Joker) ได้รับภารกิจด้วยหน้าที่ที่สุดท้าทายในการแต่งดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์ที่ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับดนตรีและการสร้างสรรค์ดนตรีเท่านั้น แต่ยังพูดถึงการแสดงดนตรีคลาสสิคหลายเพลงแบบสดๆ อีกด้วย วิธีในการแต่งดนตรีประกอบของ กืดนาดอตเตียร์ ที่ทำให้กับ TÁR ก็คือการไม่เน้นย้ำ “นี่คือภาพยนตร์เกี่ยวกับผู้คนที่ทำดนตรี เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับฮิลดูร์ที่เราจะต้องไม่ทำอะไรซ้ำๆ โดยไม่จำเป็น” ฟิลด์กล่าว “วิธีการของเธอในการทำดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์ของเราก็คือ การสำรวจความสนใจของเธอที่มีต่อความถี่ เสียงดัง และไม่ยึดติดกับการจะบ่งชี้ไปที่สิ่งใดในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผลงานของเธอดูบอบบางและไม่สร้างความรำคาญเพราะมีเหตุผล”
กืดนาดอตเตียร์ บอกว่าการทำงานกับโปรเจ็กต์นี้ คือกระบวนการความร่วมมือที่น่าตื่นเต้นตั้งแต่เริ่มแรก “ท็อดด์เปิดรับไอเดียต่างๆ จากเพื่อนร่วมงานอย่างมาก ดังนั้นเราก็เลยมีการสนทนาที่น่ารักมากจริงๆ” กืดนาดอตเตียร์บอก “ขณะที่เขากำลังตระเวณหาโลเกชั่นอยู่ เราจะนัดพบกัน และนั่งวิเคราะห์บทภาพยนตร์ โลเกชั่น และกระบวนการแต่งเพลงด้วยกัน รวมถึงสิ่งที่เราจินตนาการว่า ทาร์ กำลังแต่งอยู่ อิทธิพลที่มีต่อตัวเธอ และจังหวะของเธอ และอื่นๆ ฉันได้แต่งเพลงแบบเครื่องดนตรีสี่ชิ้นโดยอิงจากบทสนทนาเหล่านั้น ก่อนที่พวกเขาจะถ่ายทำกัน”
ทางทีมผู้สร้างต้องการวงดนตรีบนจอภาพยนตร์ทั้งหมดสี่วงในสี่ประเทศ แรกเริ่มเลยก็คือ วงออร์เคสตร้าเบอร์ลินของ ทาร์ “มีกฎข้อหนึ่งเมื่อถึงเวลาของนักดนตรี” ฟิลด์กล่าว “นั่นก็คือพวกเขาจะต้องไม่รู้สึกว่าเป็นวงที่ถูกจ้างมา หรือเป็นตัวประกอบ เรามีเวลาสองวันในขั้นตอนการเลือกตัวคนกับวงออร์เคสตร้า เพื่อดูว่าเราจะสามารถเลือกนักแสดงในบทโกเซียและนัท เราคาดหวังไว้ว่าจะมีนักดนตรีห้าหรือสิบคนที่อาจสนใจ เราเจอกับคนถึง 40 คน ส่วนใหญ่ดีเลยแหละ โดโรเธีย แพลนส์ คาซัล (โกเซีย) และ ฟาเบียน เดอร์ (นัท) โดดเด่นมากเลย”
“มันอาจไม่ค่อยสบายใจนักสำหรับทั้งคู่ที่คว้าสองบทนี้มาครองโดยชนะนักดนตรีคนอื่นๆ แต่นักดนตรี ก็เหมือนกับนักแสดง พวกเขาคุ้นเคยกับการออดิชั่นอยู่แล้ว และนักดนตรีในระดับนี้ ก็มีวิธีรับมือกับการโดนปฏิเสธได้เป็นอย่างดี ด้วยจิตวิญญาณนั้น พวกเขาอาสาที่จะทำงานในแบบอื่นๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ จนกระทั่งเราปิดกล้อง นี่หมายถึงการขับรถจากเดรสเดน ไปถึงเบอร์ลิน เพื่อจะเดินไปตามทางเดิน เทน้ำหนึ่งแก้ว หรืออาจปรากฎตัวให้เห็นแค่ในฉากแบ็คกราวน์ในห้องซ้อมเท่านั้น ความทุ่มเทของนักดนตรีเหล่านี้ได้ช่วยสร้างบรรยากาศให้ทั้งทีมนักแสดงและทีมงาน ซึ่งทำให้เกิดความร่วมมือที่มีความหมายอย่างมาก ทำให้เรามีโอกาสได้เรียนรู้จากกันและกัน”
วูล์ฟกัง เฮนทริช ผู้เล่นไวโอลินหลักของวง ได้ตอบรับคำชวนของทีมผู้สร้าง และทำตัวให้ว่างสำหรับ นีน่า ฮอสส์ โดยเขาคอยให้คำแนะนำเธอในเรื่องของการเป็นนักไวโอลินหลักของวง และยังแสดงเป็นเพื่อนร่วมโต๊ะของเธอตลอดการถ่ายทำ เขาทุ่มเททุกอย่างให้กับทีมผู้สร้าง “เราโชคดีมากที่ได้ร่วมงานกับศิลปินอย่าง วูล์ฟกัง” ฮอสส์กล่าว “สถานะของเขาในวงออร์เคสตร้าไม่เหมาะกับคนใจเสาะ ด้วยเหตุผลทางด้านการเมืองและในด้านการปฏิบัติ มันไม่ใช่เรื่องผิดปกติสำหรับคนที่มีงานอย่างเขา จะเป็นคนที่ดูห่างเหินและทำตัวไม่รู้จักใคร อย่างไรก็ดี วูล์ฟกังเป็นคนที่มีความกระตือรือร้นสูงจริงๆ และเขาก็รักในการสอน ท่ามกลางสิ่งต่างๆ เขาได้คอนดัควงออร์เคสตร้าเยาวชนแถวหน้าในเยอรมัน ซึ่งแสดงเป็นวงออร์เคสตร้าเยาวชนมอสโคว์ของ โอลกา และเขาก็ทำตัวเองให้ว่างสำหรับทุกคนในกองถ่ายของเราด้วย”
“ฉันจะไม่มีวันลืมวินาทีที่ เคต เริ่มคอนดัค และฉันก็เล่นไวโอลินอยู่ข้างๆ วูล์ฟกัง แล้วจู่ๆ เราก็อยู่กลางวงออร์เคสตร้า มันเป็นวินาทีที่ทรงพลังอย่างมากถ้าคุณไม่ใช่นักดนตรีที่ทำงานอยู่” ฮอสส์กล่าว “นักดนตรีของวงเดรสเดน ฟิลฮาร์โมนี่ รู้ดีอยู่แล้วว่าพวกเขาทำอะไรอยู่ และมันงดงามแค่ไหนในการสร้างเสียงดนตรีบนเวทีคืนแล้วคืนเล่า บางทีในบางจุด คุณอาจลืมพลังของดนตรี เพราะคุณมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำ อย่างเช่นการพาลูกๆ ไปโรงเรียน แต่ไม่มีใครในหมู่พวกเราที่ช่วยกันสร้างภาพยนตร์เรื่อง TÁR ที่จะลืมความงดงามของความรู้สึกที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมืออาชีพงานนี้ แม้จะแค่ชั่วคราวก็ตาม”
การสร้างงานดนตรีอื่นๆ
นอกจากดนตรีคลาสสิคที่แสดงกันบนจอภาพยนตร์ และดนตรีประกอบของ ฮิลดูร์ กืดนาดอตเตียร์ แล้ว ยังมีการบันทึกเพลงแจ๊สมาตรฐานอีกสองเพลงที่ ฟิลด์ ใส่เอาไว้ในบทภาพยนตร์ด้วย “บ่อยครั้งที่คนทำเพลง จะฟังเพลงแนวอื่นๆ ที่บ้านเพื่อให้รู้สึกเหมือนได้พักจากการทำงาน”
เพลงแรก Lil’ Darlin’ เป็นเพลงที่ ฟิลด์ เคยเล่นกับวงของเขาสมัยเรียนมหาวิทยาลัย การบันทึกเสียงเป็นการแต่งและออร์เรนจ์โดย นีล เฮฟติ ให้กับวง Count Basie Orchestra เพลงนี้ถูกเล่นในระหว่างฉากแรกของ ทาร์กับชารอน ในตอนที่หัวใจของฝ่ายหลังเต้นระรัว และ ทาร์ ใช้ซาวน์นี้เป็นดนตรีในฉากฟีดแบ็ค เพื่อทำให้ทุกอย่างช้าลงจนถึงระดับ “60 ครั้งต่อนาที”
เพลงที่ 2 Here’s That Rainy Day โดย จิมมี่ ฟาน ฮอยเซน และคำร้องโดย จอห์นนี่ เบิร์ก คืองานที่เราได้ยินในฉากที่สองระหว่างชารอนและทาร์ที่บ้าน การบันทึกเสียงเพลงนี้ในแบบที่ฟิลด์ต้องการ ซึ่งอยู่ในอัลบัมชื่อ 21 Trombones featuring Urbie Green คือเพลงที่เป็นตำนานจากนักดนตรีทรอมโบน สุดท้ายแล้ว เรื่องของลิขสิทธิ์ก็ยังไม่มีความชัดเจน “เรื่องนี้ทำให้รู้สึกปั่นป่วนในสองด้านด้วยกัน อย่างแรกเพราะนี่คืออัลบัมที่สำคัญมาก ซึ่งประชาชนน่าจะเข้าถึงได้ และอย่างที่สอง ผมรู้ว่านี่คือเพลงเดียวที่เหมาะกับฉากนี้” ฟิลด์กล่าว “มันถูกบันทึกเสียงในนิวยอร์กซิตี้ ในปี 1967 กับนักดนตรีทรอมโบนที่เก่งที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 และไม่ใช่สิ่งที่คนปกติทั่วไป จะสามารถเลียนแบบได้”
ลูซี่ ไบรต์ มิวสิค ซูเปอร์ไวเซอร์ของ TÁR ได้พบคนบ้าๆ แบบนั้นในวงชาวดัทช์ที่รู้จักกันในชื่อ The New Trombone Collective
ไบรต์, ฟิลด์ และมอนิกา วิลลี่ ขึ้นเครื่องบินเดินทางไปฮอลแลนด์ เพื่อบันทึกเสียงพวกเขา ขณะที่นักดนตรีทรอมโบน 20 คนเล่นหนุนให้กับศิลปินเดี่ยว “แต่ศิลปินเดี่ยวจะต้องเล่นแบบเออร์บี กรีน” ฟิลด์กล่าว “มันเหมือนการขอให้ใครสักคนแสดงให้เหมือนกับแบรนโด ไม่ว่าพวกเขาจะมีทักษะฝีมือระดับไหน แต่ก็มีเพียงแบรนโดหนึ่งเดียวเท่านั้น”
ฟิลด์ได้โทรศัพท์หาเพื่อนร่วมวงเก่า เบน วูล์ฟ ซึ่งเคยตระเวณทัวร์กับ แฮร์รี่ คอนนิค จูเนียร์ และวินตัน มาร์ซาลิส อยู่นานหลายปี เพื่อดูว่า วูล์ฟ จะมีไอเดียอะไรไหม “เบนบอกผมว่านักดนตรีที่ผมต้องการ ก็คือ ครูเก่าของผม เจฟฟ์ อูซิติลโล ผมรู้ว่าเขาพูดถูก แต่ผมไม่ได้คุยกับเจฟฟ์มานานกว่า 40 ปีแล้ว ผมโทรหาเขา แต่เขาวางมือแล้วในระหว่างช่วงโควิด-19 ระบาด และเขาก็หันมาวาดภาพแนวแอ๊พสแตร็ค เจฟฟ์บอกว่าคนที่ผมต้องการอยู่ในแคนาดา เขาก็คือ อัล เคย์ ผู้ยิ่งใหญ่”
เคย์ดีใจมากที่จะได้มาเล่นให้ฟิลด์ ไบรต์ส่งเพลงจากฮอลแลนด์ไปให้เขา เคย์เล่นโซโล่ได้อย่างงดงามเหมือนที่ กรีน เล่น “และในเทกเดียวด้วย!” ฟิลด์ยิ้มกริ่ม “ผมกล้าท้าทุกคน แม้กระทั่งตัวผมเอง ให้ลองหาความแตกต่างระหว่างเพลงที่บันทึกเสียงในปี 1967 กับเพลงที่เราบันทึกเสียงเอาไว้เมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี้เอง”
อัลบั้มคอนเซ็ปต์
ในเดือนกรกฎาคม ปี 2022 แบลนเชตต์, กืดนาดอตเตียร์, คาวเออร์ และฟิลด์ ได้พบกันในช่วงเวลาสองสุดสัปดาห์ที่ แอ๊บบี้ โร้ด สตูดิโอส์ เพื่อบันทึกเสียงดนตรีให้กับอัลบั้มคอนเซ็ปต์ที่เกิดจากการสนทนาระหว่าง กืดนาดอตเตียร์, นาตาลี เฮย์เด้น และไมก์ น็อบลอช ที่ยูนิเวอร์แซล มิวสิค และทีมครีเอทีฟที่ Deutsche Grammophon
แนวคิดมีอยู่สองชั้นด้วยกัน ชั้นแรกเกี่ยวพันกับเป้าหมายของ ลิเดีย ทาร์ เมื่อดูภาพปกแค่เพียงแว่บเดียว จะต้องเพียงพอที่จะเข้าใจว่าในจักรวาลคู่ขนานนั้น ในที่สุดแล้ว ลิเดีย ทาร์ ก็สามารถกล่อมให้คนดีๆ ที่ DG สร้างภาพไวนิลที่ตกแต่งด้วยภาพของเกลาดิโอ อับบาโดได้
ส่วนที่สองของแนวคิดก็คือ เพลงเหล่านี้ ก็เหมือนกับตัวภาพยนตร์ มันคือความตั้งใจที่จะเชิญชวนให้ผู้ฟังได้สัมผัสกับความวุ่นวายของกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเพลงขึ้นมา ในกรณีนี้ ซึ่งรวมถึงวงดนตรีที่แตกต่างกันสามวง และผู้นำของพวกเขา นั่นก็คือ แบลนเชตต์ (ในบท ลิเดีย ทาร์) ที่กำลังซักซ้อมเพลง มาห์เลอร์ หมายเลข 5 ซึ่งเธอกำลังทำหน้าที่คอนดัคเตอร์ให้กับวง Dresdner Philharmonie กืดนาดอตเตียร์ ได้ให้คำแนะนำกับ โรเบิร์ต อาเมส ที่ทำหน้าที่คอนดัคเตอร์ให้กับวง London Contemporary Orchestra และสุดท้ายก็คือ นาตาลี เมอร์เร่ย์ บีล ที่ทำหน้าที่คอนดัคเตอร์ให้กับวง London Symphony Orchestra เพราะไม่เคยมีใครเคยทำอัลบั้มแบบนี้มาก่อน มันจึงต้องอาศัยความกล้าเพราะเต็มไปด้วยการเป็น “ครั้งแรก” เยอะมาก” กืดนาดอตเตียร์กล่าว
หนึ่งในครั้งแรกเหล่านั้นก็คือ โซฟี คาวเออร์ ได้แสดงผลงานอาชีพชิ้นแรกด้วยการเล่นเพลง Elgar Cello Concerto ไปพร้อมกับวง London Symphony Orchestra คอนแชร์โตดังกล่าวได้รับการบันทึกเสียงครั้งแรกโดย เบียทริซ แฮร์ริสัน ให้กับวง London Symphony Orchestra (ซึ่งในเวลานั้นมีสมาชิกเป็นชายล้วน) โดยมี เอลการ์ ทำหน้าที่คอนดัคด้วยตัวเอง ตัวละคร โอลกา เม็ตคิน่า ของ คาวเออร์ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากการบันทึกเพลงของ ฌาคเกอลีน ดู เปร ณ ที่แห่งนี้ “สำหรับโซฟี นี่คือฝันที่เป็นจริง” แบลนเชตต์กล่าว “ที่นี่ เธอกำลังเล่นในสตูดิโอเดียวกัน และกับวงออร์เคสตร้าวงเดียวกับที่ ดู เปร ได้เล่นเอาไว้ในปี 1965”
อัลบั้มนี้เริ่มต้นด้วย ฮิลดูร์ กืดนาดอตเตียร์ ร้องเพลงธีมซึ่ง ลิเดีย ทาร์ ได้แต่งเอาไว้ในภาพยนตร์ และปิดท้ายด้วย เอลิซ่า วาร์กัส เฟอร์นันเดซ ร้องเพลง อิกาโร ซึ่งจะต้องบันทึกเสียงกันในอเมซอน โดย ทาร์ ในปี 1990
ฟิลด์กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าผมจะอยู่ด้วยตอนบันทึกเสียงเหล่านี้ แต่การได้มาฟังเพลงพวกนี้ในตอนนี้มันเหมือนเป็นคนละโลกเลย ก็อย่างที่พวกเขาบอกกัน คุณไม่สามารถเหยียบย่ำลงไปในสายน้ำสายเดียวกันได้สองครั้ง มันน่าตื่นเต้นมากที่ได้มาเห็นเบื้องหลังม่าน และได้เห็นถึงพลังงานและพลังสร้างสรรค์ที่ศิลปินเหล่านี้ทำขึ้น มันคือสิ่งที่หาได้ยาก และใช่ มันคือ “ครั้งแรก” และผมก็มีความสุขมากที่อัลบั้มชุดนี้มีตัวตนอยู่ในโลกคู่ขนานกับภาพยนตร์ของเรา แต่มันก็ปรากฎอยู่ในโลกใบนี้เช่นกัน มันคือการกลับมาร่วมงานกันอย่างมีความสุขหลังจากไม่ได้เจอกันมานานถึงหกเดือน ภาพยนตร์เรื่องนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และทุกคนก็สามารถที่จะมีความสุขกับการสร้างเสียงขึ้นมาได้”
TÁR
Genre: Psychological drama
Year: 2022
Country: United States, Germany
Language: English, German, French, Tagalog
Run time: 158 minutes
Director: Todd Field
Screenwriter: Todd Field
Actors: Cate Blanchett, Noémie Merlant, Nina Hoss, Sophie Kauer, Julian Glover, Allan Corduner, Mark Strong
Producers: Todd Field, Alexandra Milchan, Scott Lambert
Cinematography: Florian Hoffmeister
Editor: Monika Willi
Music: Hildur Guðnadóttir (Joker, Sicario: Day of the Soldado), Lucy Bright
Distributor: Focus Features, UIP Thailand