“นี่มัน Fucking Åmål แห่งยุค 2020 เลยนะ!” Göteborgs-Posten พูดถึงภาพยนตร์เรื่อง Så jävla easy going หรือ So damn easy going ภาพยนตร์ coming-of-age จากสวีเดน ที่เล่าเรื่องราวของเด็กที่เป็นสมาธิสั้น กับปัญหาเรื่องครอบครัว การยอมรับตัวเอง และการสร้างสัมพันธ์ใหม่กับคนที่เธอชอบ ซึ่งหากคุณเคยชมภาพยนตร์ Fucking Åmål หรือ Show Me Love ของสวีเดน ที่ฉายเมื่อปี 1998 คุณก็อาจจะรู้สึกแบบเดียวกับ ภาพยนตร์เรื่องนี้เลยก็ว่าได้
Så jävla easy going เป็นภาพยนตร์สวีเดน/นอร์เวย์ที่หยิบเอาเรื่องราวจากหนังสือ Jag är ju så jävla easy going ของ Jenny Jägerfeld นักเขียนชาวสวีเดนที่ได้รับรางวัลมาอย่างมากมาย ซึ่งหนังเรื่อเล่มนี้ถือเป็นหนังสือชุดแรกของเธอที่ได้สร้างเป็นภาพยนตร์ ที่ได้ผู้กำกับอย่าง Christoffer Sandler (จากซีรีส์ Sjukt Oklar (Eller & Vera) ซีรีส์วัยรุ่นทาง SVT) มากำกับ และฉายเปิดเทศกาลภาพยนตร์ Göteborg Film Festival 2022 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาอีกด้วย
ซึ่งในเรื่อง Så jävla easy going หรือ So damn easy going จะเล่าเรื่องราวของ Joanna ในวัย 18 ปี กับการเผชิญปัญหา ADHD (สมาธิสั้น) ที่หากเธอไม่ได้รับยา ในหัวของเธอก็เหมือนกับสวนสนุกที่เปิดปิดไฟกระพริบอยู่ตลอดเวลายิ่งกว่าในช่วงเทศกาล และเพื่อให้เธอสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เธอก็ต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง แต่นั่นก็คือปัญหา เพราะว่าเธอไม่มีเงินที่จะไปซื้อยามารับประทาน อีกทั้ง พ่อของเธอก็มีปัญหา ทำให้ไม่สามารถหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายให้กับเธอได้ แม้กระทั่งค่าเช่าก็ยังไม่สามารถจัดการได้ ทำให้ Joanna จำเป็นที่จะต้องหาเงินด้วยตัวเอง และในขณะเดียวกัน เด็กใหม่อย่าง Audrey ที่เพิ่งย้ายเข้ามาเมื่อเทอมที่แล้วก็ปรากฏตัวขึ้น และทำให้ทุกอย่างนิ่งลงอย่างเห็นได้ชัด
ตัวหนังไม่ได้เล่าแค่เพียงความล้มเหลวในการจัดการยาให้กับผู้ป่วยภายในประเทศสวีเดนแค่เพียงอย่างเดียว แต่ยังคงพูดถึงความหลงใหลของเด็กวัยรุ่นที่ให้ความสนใจต่อเพื่อนร่วมชั้นอีกด้วย ซึ่งการเล่าเรื่องราวอาการป่วยของโจแอนนานั้น ยิ่งพาเราไปสัมผัสกับสถานการณ์ ความรู้สึก และอาการของผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้นอย่างโจแอนนา โดยตัวภาพยนตร์จะใช้หลอดไฟ แสง และเสียง เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสได้ว่านี่คือช่วงเวลาที่เธอรู้สึก และนั่นก็ยังเป็นตัวบ่งบอกถึงสภาพจิตใจของตัวเธอเองด้วย และเมื่อหลอดไฟดับลง เสียงก็จะค่อยๆ เงียบสงบ เช่นเดียวกับช่วงเวลาที่โจแอนนาสงบลงด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้แล้ว ตัวหนังยังพาเราไปสัมผัสกับปัญหาสุขภาพจิต เศรษฐกิจ การช่วยเหลือของรัฐ ไปจนถึงการค้นหาตัวเอง การจัดการกับความโศกเศร้าของแต่ละคน และความรักที่เบ่งบานในช่วงวัยรุ่นของตัวละครอีกด้วย โดยเฉพาะตัวของโจแอนนา ที่คอยตั้งกำแพงและยืนอยู่ให้ห่างจากคนอื่นๆ เอาไว้ เพียงเพราะว่าเธอพยายามที่จะปกป้องความรู้สึกของตัวเอง และกลับว่าเมื่อคนอื่นได้รู้จักเธอจริงๆ แล้ว พวกเขาจะหนีหายไป ทำให้เธอผลักทุกคนออกไป แม้ว่าเธอจะชอบเพื่อนใหม่ที่เข้ามาทำความรู้จักเธออย่างออเดรย์ก็ตาม และเมื่อทุกอย่างเริ่มแย่ลง เธอก็จำเป็นที่จะต้องหาวิธีจัดการและประคับประคองทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของตัวเอง ความสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งครอบครัวของเธอ เพื่อให้สามารถจัดการและใช้ชีวิตรอดต่อไปได้
ภาพยนตร์เรื่องนี้รับบทโดยนักแสดงหน้าใหม่อย่าง Nikki Hanseblad (รับบท Joanna) และ Melina Benett Paukkonen รับบท Audrey นอกจากนี้แล้วก็ยังได้ Shanti Roney, Emil Algpeus มารับบทในภาพยนตร์นี้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้แล้วในทีมเขียนบทก็ยังได้ Christoffer Sandler (ผู้กำกับ) และ Lina Åström, Jessika Jankert และ Linda-Maria Birbeck มาร่วมเขียนบทด้วยกัน
สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้กำกับอย่าง Christoffer Sandler ก็ได้บอกกับ Nordisk Film & TV Fond ว่าพวกเขาต้องการที่จะเน้นเรื่องราวในด้านความรักและพาร์ทของ ADHD ของ Joanna ให้ชัดมากยิ่งขึ้น เพราะว่าโรคสมาธิสั้นนั้น แม้ว่ามันจะไม่ได้เห็นบ่อยนัก แต่ก็ถือว่าเป็นแง่มุมหนึ่งที่เขาสนใจ และอยากที่จะสำรวจสภาพจิตใจของ Joanna ด้วยเช่นกัน
เพื่อทำความเข้าใจตัวละครให้ดีมากยิ่งขึ้น Christoffer Sandler ผู้กำกับก็บอกว่าเขาทำความเข้าใจ ศึกษา และสัมภาษณ์ให้มาก เพื่อทำการบ้านและเข้าใจตัวละครให้ได้อย่างดี “ผมอ่านเยอะมากนะ สัมภาษณ์หลายคนเลย แล้วก็อ้างอิงจากเนื้อหาในหนังสือที่เจนนี่เขียนเพื่อบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวของโจแอนนาที่ว่า ‘ในหัวของเธอคือละครสัตว์ที่บ้าคลั่ง’ ผมไปสัมภาษณ์คนหนึ่งมา เขาบอกว่าทุกคนมีอาการ ADHD ที่แตกต่างกันออกไป ‘ลองนึกภาพว่าอยู่ในสถานีรถไฟแล้วทุกคนตะโกนเรียกชื่อของคุณ’ นั่นทำให้ผมมีไอเดียเรื่องเสียงและแสงในหนังด้วย นอกจากนี้แล้ว อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อคุณอ่านเกี่ยวกับมัน คุณจะรู้สึกว่าแบบ ‘เราสามารถติ๊กได้หลายข้อเลยนะ’ แล้ว Melina Paukkonen ที่รับบทเป็นออเดรย์ เธอก็เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นด้วย เธอก็บอกว่าเธอสามารถรีเลทกับเรื่องราวนี้ได้นะ”เขายังบอกอีกด้วยว่า “คนส่วนใหญ่อาจจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นนะ แต่มีน้อยคนที่จะบอกได้ว่ามันรู้สึกยังไง แต่ผมก็คิดว่ามันเป็นผลที่คุณกำลังพยายามจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับมันว่าเขารู้สึกว่าถูกรบกวนหรือไม่สามารถโฟกัสได้”
ในส่วนของแรงบันดาลใจในการสร้างภาพเหล่านั้นที่เกิดขึ้นในหนัง Christoffer Sandler ก็ได้บอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจมาจากหลายๆ อย่าง “ตอนเด็กๆ ผมชอบหนังของ Star Wars แล้วก็ชอบหนังของ Edgar Wright ด้วย เขาเล่าเรื่องราวให้เราได้ดูโดยไม่ต้องพูดอะไรมาก กับหนังเรื่องนี้ เราก็อยากที่จะสร้างความรู้สึกที่เหมือนฝันผ่านภาพ เสียง วิธีการตัดต่อ และอื่นๆ ให้มันคอนทราสต์กัน ผมก็ได้พูดคุยกับ DoP ของผมนะ (Nea Asphäll) ไม่ว่าจะเป็นวิธีการสร้างความรู้สึกที่มันแข็งกร้าว โดยเฉพาะเมื่อ Joanna มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ ให้มันมีกรอบที่แตกต่างกับตอนที่เธอไปเที่ยวกับ Audrey ที่มันจะเต็มไปด้วยความรู้สึกที่อบอุ่นและใกล้ชิดในช่วงเวลาเหล่านั้น แล้วก็มีความแตกต่างระหว่างแสงที่กระพริบขึ้นมา (เพื่อสะท้อนความปั่นป่วนภายในของโจแอนนา) กับสถานที่ที่เงียบสงบ เช่น สระน้ำ ที่ทำให้โจแอนนารู้สึกปลอดภัย
อย่างที่บอกไปข้างต้นแล้วว่าตัวผู้กำกับต้องการที่จะเน้นเรื่องปัญหา ADHD ที่โจแอนนาเจอ และในพาร์ทของความรัก ซึ่งเขาเองก็ไม่ต้องการที่จะสร้างภาพยนตร์ที่มันเศร้าหรือหมองหม่นออกมาให้เห็น แต่ปัญหาในครอบครัวของโจแอนนาก็เช่นกัน ที่นอกจากตัวของเธอจะมีปัญหาเรื่องสมาธิสั้นแล้ว เธอก็ยังดูแลพ่อของตัวเองที่เป็นโรคซึมเศร้าอีกด้วย ซึ่งเขาและ DoP ก็อยากที่จะยกระดับประสบการณ์และความลึกในพาร์นั้น ที่จะทำให้คุณประหลาดใจได้อีกด้วย
สิ่งสำคัญที่สุดของหนังเรื่องนี้ก็คือการค้นหาตัวเองและการยอมรับในสิ่งที่ตัวเอง Christoffer Sandler ก็บอกว่า “โจแอนนารู้สึกว่าเธอไม่ดีพอสำหรับทุกคน และคนอื่นๆ ก็ไม่อยากจะออกไปเที่ยวกับเธอเมื่อพวกเขารู้จักตัวจริงของเธอ ทำให้เธอต้องเรียนรู้วิธีจัดการกับความไม่มั่นคงของตัวเอง ซึ่งมันเป็นปัญหาสำหรับทุกคนจริงๆ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม”
สำหรับตัวนักแสดงทั้งสองคนอย่างเมลินาและนิกกี้นั้น พวกเขาก็ได้ให้สัมภาษณ์กับ nk เกี่ยวกับสไตล์ของตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย เมลิน่าบอกว่า “ออเดรย์เป็นสาวเท่นะ ที่เคลื่อนไหวเก่งอย่างเป็นธรรมชาติ เธอไม่กลัวที่จะแสดงว่าเธอเป็นใคร และไม่เคยลดค่าตัวเองเพื่อเห็นแก่คนอื่นด้วย มันเห็นได้ชัดผ่านการแต่งตัวของเธอนะ เธอสวมเสื้อผ้าที่เธอคิดว่าดี บางครั้งก็แต่งตัวในแบบที่คนอื่นคิดว่ามันจะเข้ากันไม่ได้เลยก็มี” ส่วนนิกกี้ก็บอกว่าตัวละครของเธอนั้นเป็นคนที่แต่งตัวหลวมๆ “เธอหุนหันพลันแล่น แล้วก็รู้สึกไม่ปลอดภัยด้วย โจแอนนาพยายามทำสิ่งที่ถูกต้องนะ แต่ส่วนใหญ่เธอก็มักจะทำเพื่อตัวเอง แต่เธอก็ยังคงมีเสน่ห์แล้วก็เป็นคนตลกด้วย ระหว่างถ่ายทำ เธอก็สวมชุดเดิมๆ ทุกวัน มีความแตกต่างนิดหน่อยตรงที่เสื้อยืดสีเทานี่แหละ”
แน่นอนว่าเรื่องของเครื่องแต่งกายล้วนส่งผลต่อการแสดงออกของตัวละครอีกด้วย เมลิน่าบอกว่า “เสื้อผ้ามีความสำคัญเป็นอย่างมากเมื่อสร้างตัวละครสักตัว โดยเฉพาะรองเท้าที่พวกเขาสวม เพราะมันสร้างความรับรู้ถึงตัวละครที่แตกต่างออกไป เวลาที่คุณเดินหรือเคลื่อนไหว มันก็จะแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีรองเท้าที่พอดีหรือไม่ รองเท้ามีส้นรึเปล่า ฉันไม่รู้สึกว่าฉันสามารถเป็นตัวละครนั้นได้จริงๆ จนกว่าฉันจะสวมรองเท้าของพวกเขา” สำหรับนิกกี้แล้ว เสื้อผ้าและการแต่งหน้าก็ล้วนแล้วแต่แสดงออกถึงตัวละครนั้นได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะกับบทโจแอนนา “ตัวละครของฉันเป็นคนที่ขี้งกเรื่องเงินนะ มันสะท้อนออกมาผ่านการเลือกเสื้อผ้าของเธอด้วย เธอมีทางเลือกไม่เยอะเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหรือรองเท้าที่ขาดก็ตาม โจแอนนามักจะไม่แต่งหน้าและแทบจะไม่ใส่เครื่องประดับเลยล่ะ เธอไม่ได้ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ของเธอเป็นอันดับแรกเลยด้วยซ้ำ”
So Damn Easy Going (Så jävla easy going)
ภาษา: Swedish
ความยาว: 91 minutes
ปีฉาย: 2022
สร้างจากหนังสือ: Jag är ju så jävla easy going ของ Jenny Jägerfeld
Director: Christoffer Sandler
Screenwriter: Christoffer Sandler, Lina Åström, Jessika Jankert, Linda-Maria Birbeck
Cinematographer: Nea Asphäll
Editors: Jens Christian Fodstad, Robert Krantz
Producers: Annika Hellström, Erika Malgren / Cinenic Film
Co-producers: Peter Possne / Film i Väst, Gudney Hummelvoll, Eléonore Anselme / Hummelfilm
Sources:
- https://cinenicfilm.se/so-damn-easy-going/
- https://nordiskfilmogtvfond.com/news/stories/so-damn-easy-goings-christoffer-sandler-on-making-an-uplifting-film-about-tough-issues
- https://triart.se/streama/sa-javla-easy-going
- https://www.nk.se/stil/mode–accessoarer/nks-stylist-stylar-galapremiar?selected-store=sth