คุ้นหูกับคำว่า ยูริ (Yuri) กันบ้างไหม? สำหรับชาวคอมมูแซฟฟิคน่าจะคุ้นหูคุ้นตากับคำนี้อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะคนที่ติดตามอนิเมะ หรือดูซีรีส์ อ่านมังงะกันอยู่บ่อยๆ ก็น่าจะได้ยินคำว่ายูริกันอยู่เป็นประจำอย่างแน่นอน สำหรับคนที่ไม่เคยได้ยิน ก็ต้องขอกล่าวแบบสั้นๆ กันก่อนว่า คำว่า ยูริ หรือ Girl’s Love นั้น หมายถึงงานหญิงรักหญิงนั่นเอง เพราะชื่อก็บอกกันอย่างตรงตัว อีกอย่างหนึ่งก็คือ งานจำพวกนี้ก็ได้รับความนิยมกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงสเตรทหรือชาวแซฟฟิคก็ตาม แต่ในอีกหลายๆ แง่มุม คำๆ นี้ ก็เรียกได้ว่าสร้างปัญหาให้กับคนในคอมมูแซฟฟิคด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา วันนี้เราก็จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับคำว่า Yuri ว่าคืออะไร มีที่มามาจากไหน และส่งผลเสียอย่างไรต่อคนในคอมมูนิตี้ LGBTQIAN+ ถ้าพร้อมแล้ว ตามกันมาเลย
Yuri/Lily/GL คืออะไร?
ยูริ, Yuri หรือ 百合 ในภาษาญี่ปุ่น แปลว่าดอกลิลลี่ และในอีกความหมายหนึ่ง ก็ยังหมายถึงผลงานที่เล่าเรื่องราวความรักระหว่างผู้หญิงด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นผลงานอย่างนิยาย มังงะ เกม ภาพยนตร์ เป็นต้น
หลายๆ ที่มาก็บอกว่าคำว่า Yuri มีที่มาจากนิตยสารเกย์ชายในญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า Barazoku ที่แทนความรักระหว่างผู้ชายเป็นดอกกุหลาบ และความรักระหว่างผู้หญิงเป็นดอกลิลลี่ และในประเทศไทยเอง ก็ได้มีการใช้คำว่า ลิลลี่ แทนความหมายของยูริ นอกจากคำว่า ยูริ ก็ยังมีการใช้ GL ที่ย่อมาจาก Girl’s love เพื่อเรียกในความหมายเดียวกัน
แนวยูรินั้นก็มีต้นกำเนิดมาจากนิยายเลสเบี้ยนของญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งจะเน้นไปในด้านความสัมพันธ์ทางด้านอารมณ์ จิตวิญญาณ ระหว่างผู้หญิงด้วยกัน โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นในด้านโรแมนติกหรือเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยคำว่า Yuri ที่แปลว่า ลิลลี่ ก็จะสอดคล้องกับคำว่า Bara ที่แปลว่า กุหลาบ อันเป็นผลงานเกี่ยวกับมังงะเกย์ของญี่ปุ่น ซึ่งจะแตกต่างกับของ Yaoi เพราะว่า Bara จะโฟกัสไปที่คู่รักชายชาย ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเกย์ชาย ซึ่ง Bara เอง ก็ยังสร้างขึ้นมาโดยผู้ชายที่เป็นเกย์ ทำให้เนื้อหาต่างๆ จะมีการเล่าเรื่องราวทั้งในด้านโรแมนติกและในด้านอื่นๆ เพื่อเล่าเรื่องราวของเกย์ชายในญี่ปุ่น และมีความแตกต่างกับ Yaoi ที่สร้างขึ้นตัวละครที่มีความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายโดยผู้หญิง เพื่อผู้หญิง
อาจจะเรียกได้ว่า จุดเริ่มต้นของ Yuri และ Yaoi นั้นไม่เหมือนกัน
เพียงแต่ในปัจจุบันก็ได้มีการหยิบมาใช้ควบคู่กัน
แล้วความสัมพันธ์ของ Yuri กับ Lesbian ล่ะ?
สำหรับคำว่า Yuri ก็มีความหมายเช่นเดียวกันกับคำว่าเลสเบี้ยนทางฝั่งตะวันตก แต่ว่า Erin Subramian แห่ง Yuricon ก็ยังอธิบายว่า คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองคำว่า เลสเบี้ยน ในเชิงที่ว่า คนผิดปกติในสื่อลามก หรือคนแปลกหน้าในประเทศอื่นๆ ซึ่ง Verena Maser ก็ได้บอกเอาไว้ในธีสิส Beautiful and Innocent Female Same-Sex Intimacy in the Japanese Yuri Genre ว่า “ยูริ เป็นสื่อประเภทที่เน้นไปในด้านอุดมคติของความงาม ความบริสุทธิ์ ความไร้เดียงสา และจิตวิญญาณก่อนอัตลักษณ์ทางเพศ มุ่งเน้นการเชื่อมโยงกันระหว่างหัวใจ มากกว่าการเชื่อมโยงกันทางร่างกาย”
ในช่วงยุค 1990 คำว่า ยูริ ก็ได้มีการแพร่หลายเข้าไปทางฝั่งตะวันตกเพิ่มมากขึ้น โดยมากมักจะใช้เรียกถึงการ์ตูนโป๊เลสเบี้ยนสำหรับผู้อ่านชาย และในเวลาต่อมา คำนี้ก็ค่อยๆ หลุดออกจากความหมายในเชิงสื่อลามกอนาจาร และอธิบายภาพความรักที่ใกล้ชิด เซ็กซ์ หรือความเชื่อมโยงทางอารมณ์ระหว่างผู้หญิง และในช่วงกลางยุค 2000 ก็กลายมาเป็นชื่อเรียกผลงานที่อธิบายถึงความสนิทสนมของผู้หญิงเพศเดียวกัน ส่วนในช่วงต้นทศวรรษ 2000 การใช้ยูริของฝั่งตะวันตก ALC Publishing และ Seven Seas Entertainment ก็ได้มีการนำคำศัพท์นี้มาใช้แบ่งประเทศสื่อการ์ตูนของพวกเขาด้วย
สำหรับคำว่า GL หรือ Girl’s Love นั้น ถูกสร้างขึ้นมาโดยสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 2000 เพื่อนำมาใช้ควบคู่กับ Boy’s Love (BL) ที่นำมาแทนคำว่า Yaoi โดยทั่วไปก็จะมีความหมายเดียวกันกับคำว่า Yuri และมักจะใช้แทนกันได้
แล้ว Bara ต่างจาก Yaoi ยังไง?
เพื่อทำความเข้าใจภาพรวมของ Yuri ให้ดียิ่งขึ้น ก็ต้องมาทำความเข้าใจกับคำว่า Bara กันด้วย อย่างที่ได้บอกไปว่าคำว่า Bara นั้นจะโฟกัสในเรื่องของความรักและเซ็กซ์ของเกย์ชายเป็นหลัก แต่ว่า Yaoi หรือว่า Boy’s Love นั้น จะเป็นผลงานที่สร้างขึ้นมาโดยผู้หญิงเป็นหลัก และเพื่อผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิง ไม่มีการใส่กรอบเพศ ไม่ได้ระบุว่าตัวเองเป็นเกย์หรือไบเซ็กชวล สร้างบทบาททางเพศแบบ heteronormative ขึ้นมาใหม่อย่างที่เรียกกันว่าอุเคะ เซเมะ
เมื่อคำว่า Yuri ถูกนำมาใช้ในสื่อแบบเดียวกันกับ Yaoi
จากจุดเริ่มต้นที่เราได้บอกไปในข้างต้น ในปัจจุบันนี้ คำว่า Yuri ก็ถูกนำมาใช้ในสื่อเช่นเดียวกันกับ Yaoi เพียงแค่สลับจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชาย ให้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงแทน ซึ่งสิ่งที่เราจะเห็นได้ชัดเลยก็คือ การสร้างภาพแฟนตาซีให้เคียงคู่กับความสัมพันธ์ของสองบุคคลที่ต้องการจะเล่า โดยไม่ได้คำนึงถึงประสบการณ์ชีวิตของ LGBTQIAN+ จริงๆ อีกทั้งยังเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงอัตลักษณ์เหล่านั้น และสร้างภาพจำที่ผิดๆ ขึ้นมา ให้คนในสังคมและคนที่กำลังค้นหาตัวเองเข้าใจผิดได้
เมื่อลองมองย้อนกลับไป ประเทศญี่ปุ่นเองก็ยังไม่ได้มีการเปิดกว้างเรื่องเพศ ทั้งในด้านสังคมและด้านกฎหมาย ล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2022 ศาลญี่ปุ่นก็ยังได้มีคำวินิจฉัยออกมาว่า การที่มีคำสั่งห้ามการสมรสของคนเพศเดียวกันนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญ และถึงแม้ว่าจะมีการผลักดันด้วย ‘ใบรับรองการถือครองชีวิตครู่’ ของคู่รักเพศเดียวกันให้เป็น ‘หุ้นส่วนชีวิต’ ของกันและกัน แต่รายละเอียดต่างๆ นั้นก็ยังไม่ได้ครอบคลุมในเรื่องสำคัญต่างๆ เช่นเดียวกันกับการจดทะเบียนสมรสของคู่รักต่างเพศ ทั้งในด้านของการซื้อทรัพย์สินร่วมกัน การลงทุนต่างๆ การรับบุตรบุญธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย
ส่วนประเทศไทย ในฐานะที่รับสื่อ Yaoi/Yuri เข้ามา และเป็นกระแสมาเนิ่นนาน ก็ยังคงเผชิญหน้าปัญหาเดียวกันกับญี่ปุ่น ทั้งในด้านสังคม ที่ยังไม่ได้ยอมรับ LGBTQIAN+ อย่างชัดเจน บางครั้งก็เจอกับ homophobic, biphobic, transphobic และอื่นๆ อีกมากมาย รวมไปถึงปัญหาในด้านกฎหมาย ที่สมรสเท่าเทียมยังไม่ผ่าน การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ก็ยังมีการตัดสิทธิ์คนในคอมมู LGBTQIAN+ บางกลุ่มออกไปด้วย ในขณะเดียวกัน ซีรีส์วาย/ยูริ ก็ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด อาจจะเรียกได้ว่ามีจำนวนมากเลยก็ว่าได้ แต่ก็ยังไม่ทำให้สังคมมีความเข้าใจเกี่ยวกับคนในชุมชน LGBTQAIN+ ได้เท่าที่ควร
สำหรับในประเทศไทย สื่อ Yuri ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นฟิคชั่นหรือแฟนฟิคชั่นก็ตาม โดยเฉพาะในตอนนี้ ที่มีการผลิตซีรีส์ยูริในประเทศไทย เพื่อรองรับตลาดกลุ่มใหญ่ที่มีฐานแฟนคลับเป็นผู้หญิง แต่ก็สามารถสังเกตเห็นได้หลายๆ ครั้งว่าการสร้างผลงานเหล่านี้ ก็ยังคงผลิตซ้ำปัญหาเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาในวงของสื่อ Yaoi ในประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ก็ยังคงเป็นปัญหาที่เข้ามาทำร้ายชุมชน LGBTQIAN+ อย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่าจะไม่เคยห่างหายไปไหน มิหนำซ้ำ มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น
การสร้างภาพจำด้านตัวตน
ไม่ว่าจะเป็นในผลงาน yaoi หรือ yuri สิ่งที่เราเห็นได้บ่อยๆ ทั้งจากตัวละคร หรือจากตัวนักแสดง มักจะมีคำพูดติดปากว่า “ฉันไม่ได้ชอบผู้ชาย/ผู้หญิง ฉันชอบแค่เธอคนเดียว”, “ความรักไม่มีเพศ” หรือจะเป็นประโยคที่ว่า “คำว่า LGBTQ มันไม่จำเป็นเลย คุณจะเป็นอะไรก็ได้ แค่เรารักกัน ให้เกียรติกันก็พอ” และคำพูดอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้เราเห็นได้ว่า นี่คือการที่ตัวละครหรือนักแสดงที่มารับบทนั้น ไม่ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับคนในชุมชน LGBTQIAN+ อย่างดี อีกทั้งยังสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้กับผู้บริโภคอีกด้วย จนไปถึงการลบเลือนอัตลักษณ์ หรือการทำให้ตัวตนของคนในชุมชน LGBTQIAN+ ไม่มีอยู่จริง ซึ่งปัญหานี้ยังคงมีอยู่ และยังไม่เคยหายไป
หรือจะเป็นการบอกว่า คนที่ชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง หรือที่เป็น bi+ จะเป็นพวกสับสนในตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร หรือเอาไม่เลือก นั่นก็เป็นการสร้างภาพจำในด้านตัวตน และทำให้พวกเขารู้สึกสับสนกับตัวเองว่าอัตลักษณ์ของเขาไม่มีจริง ทั้งที่พวกเขาเองก็มีตัวตนจริงๆ และไม่ได้ไม่เข้าใจในตัวเองว่าเขาชอบเพศไหน นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของการลบเลือนอัตลักษณ์ของบุคคลที่ปรากฎอยู่บนสื่อ
การสร้างภาพจำด้านบทบาททางเพศ
หลายๆ ครั้งที่ผลงาน Yuri ยังคงเชื่อมโยงกับบทบาททางเพศในความสัมพันธ์รักต่างเพศ อย่างการที่จะต้องมีฝ่ายหนึ่งมีความเป็นชาย (masculinity) มากกว่า และต้องเป็นฝ่ายรุก ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องมีความเป็นหญิง (feminine) มากกว่า จะต้องเป็นฝ่ายรับ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป ซึ่งในหลายๆ ครั้ง การปักโพสิชั่นผ่านสื่อ ก็ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคู่รักด้วย จนทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้ ทั้งที่จริงแล้ว การที่เรามองภายนอกแล้วปักโพสิชั่นให้กับบุคคลนั้น ถือเป็นการสเตอริโอไทป์ในรูปแบบหนึ่ง ที่ทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้อีกด้วย อาจจะบอกได้ว่า หนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหานี้ ก็คือสื่อยูริที่ผู้บริโภคเสพ และเข้าใจตามแบบนั้น ต่อให้มันไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ตาม
ปัญหา rape culture
นอกเหนือจากการลบเลือนอัตลักษณ์แล้ว ยังมีในส่วนของการสร้าง rape culture อันเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก จริงอยู่ที่ rape culture ปรากฎให้เห็นในสื่อของไทย แต่ใช่ว่าจำเป็นต้องใส่เข้ามาในเรื่อง อีกทั้งยังควรจัดการให้ไม่มีการปรากฎในสื่ออีกด้วย เนื่องจากวัฒนธรรมการข่มขืนนั้น จะเป็นการทำให้ผู้บริโภคลดทอนความร้ายแรงของความรุนเรงทางเพศ ไปจนถึงการที่ไม่ได้รับความยินยอมเมื่อมีเซ็กซ์กับคู่รัก นั่นก็ยังคงเป็นการสื่อถึง rape culture เช่นกัน
สื่อเองก็เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมาก ทั้งต่อความคิดและทัศนคติของผู้รับสื่อ หากยังมีการผลิตผลงานที่สอดแทรกวัฒนธรรมการข่มขืนเข้าไป ก็จะส่งผลและสร้างภาพจำของการข่มขืนว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และทำให้เกิดความรักความเข้าใจมากขึ้น ทำให้สื่อจำเป็นที่จะต้องปรับหรือต้องปลูกฝังให้คนในสังคมเข้าใจถึง consent ตระหนักถึงต้นตอของปัญหา และมุกตลกข่มขืนไม่ควรถูกนำมาพูดเล่น เพราะมันไม่เคยเป็นเรื่องตลก
ปัญหาด้านสังคม
งานที่ผ่านมุมมองของ Y นั้น มักจะถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองคนที่พัฒนาขึ้นมา และลงเอยอย่างสมหวัง แต่ในที่จริงแล้ว สภาพสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศไทย คู่รัก LGBTQIAN+ ก็มีความแตกต่างจากผลงานยูริอย่างสิ้นเชิง ที่พวกเขาจำเป็นที่จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากครอบครัว สังคม เพื่อน ไปจนถึงการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน รวมไปถึงประเด็นของกฎหมาย ที่ยังไม่ได้รับการตรากฎหมายอย่างชัดเจนว่าพวกเขาจะได้ใช้ชีวิตคู่เช่นเดียวกันกับคู่รักชายหญิง ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนสมรส กฎหมายรับรองเพศสภาพ ไปจนถึงในด้านการซื้อสินทรัพย์ร่วมกัน การรับบุตรบุญธรรม ไปจนถึงการรับมรดก เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว ก็ยังรวมไปถึงกลุ่มคนที่บริโภคสื่อ yaoi และ yuri แต่ก็ยังคงมีทัศนคติเกลียดกลัวต่อคนรักเพศเดียวกัน (homophobia) อีกด้วย เพราะการที่สื่อไม่ได้มีการพูดถึงอัตลักษณ์ของตัวบุคคลนั้นๆ ว่าเขามี sexual orientation อะไร ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มไม่เข้าใจว่าการที่ผู้ชายสองคน หรือผู้หญิงสองคนรักกัน นั่นก็คือ Achilean หรือ Sapphic แล้ว แต่ก็ยังมีการอ้างว่า พวกเขาก็แค่คนสองคนที่รักกัน ไม่ได้เป็นเกย์ หรือ เลสเบี้ยน สักหน่อย นี่ก็คือปัญหาในด้านสังคมที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอ
หรือแม้กระทั่งการคัดเลือกนักแสดงที่เป็นคนตรงเพศมารับบทในซีรีส์ Y มากกว่านักแสดงที่เป็น LGBTQIAN+ และไม่ได้มีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนนี้ให้ดียิ่งขึ้น หรือยังไม่ได้เข้าใจถึงปัญหาว่าผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในไทยนั้น จะยังต้องเผชิญหน้ากับอะไร และต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับ กฎหมาย และการใช้ชีวิตคู่ได้ตามกฎหมาย
อนาคตของงานยูริในไทย
ในปัจจุบันนี้ นักเขียนนิยายไทยหลายๆ คน ก็เริ่มที่จะหันมาใช้คำว่า นิยายแซฟฟิค กันมากขึ้นกว่าเดิม หรือแม้กระทั่งนิยายยูริผ่านปลายปากกาของนักเขียนไทย ก็ยังคงสอดแทรกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับคนในชุมชนแซฟฟิค อีกทั้งยังมีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจหลากหลายแนวอีกด้วย ทั้งเปิดให้อ่านผ่านออนไลน์ หรือตีพิมพ์เป็นเล่มออกมาขายกับสำนักพิมพ์หรือ Self-Publishing ก็มีให้เลือกอ่านกัน แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่ตลาดฝั่งนี้ยังคงเป็นกระแสไม่มาก เมื่อเทียบกับผลงานฝั่ง BL
ส่วนซีรีส์ GL ในไทย ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะมีการเล่าเรื่องราวผ่านหน้าจอ แต่ปัญหาที่เห็นในหลายๆ ด้าน ก็ยังคงมีเสียงวิพากย์วิจารณ์จากคนในคอมมูแซฟฟิคเป็นจำนวนมากว่าสิ่งที่สื่อสารออกมานั้น ยังคงแตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง อีกทั้งยังมีการสร้างภาพจำผิดๆ เช่นเดียวกันกับซีรีส์ BL ทั้งๆ ที่เกิดขึ้นช้ากว่า ก็น่าจะมีการนำข้อมูลและฟีดแบคจากผู้ชมไปใช้ในการปรับปรุงผลงาน เพื่อสื่อสารสิ่งต่างๆ ออกมาได้ดีกว่า
สำหรับตอนนี้ เราก็ได้แต่หวังและภาวนากันว่า ผลงานใหม่ๆ ที่จะออกมา จะไม่ใช่แค่การขายแฟนตาซีให้กับผู้บริโภคเท่านั้น แต่ต้องสามารถทำให้คนเข้าใจถึงอัตลักษณ์ของ LGBTQIAN+ ได้อย่างดี อีกทั้งยังต้องลบล้างภาพจำเดิมๆ และทำให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงชุมชน LGBTQIAN+ ได้มากขึ้นกว่าเดิม
Sources:
- Sukthungthong, Natthanont, and Poowin Bunyavejchewin. 2019. “Wai Series: A Preliminary Statistical Study”. Thai Journal of East Asian Studies 23 (2):360-83.
- Maser, Verena (2013). Beautiful and Innocent: Female Same-Sex Intimacy in the Japanese Yuri Genre (PDF) (Thesis). University of Trier Department of Linguistics, Literature and Media Studies (PhD thesis).
- https://chillchilljapan.com/dictionary/yuri-girls-love/
- https://cont-reading.com/thinking/booky70/
- https://en.wikipedia.org/wiki/Bara_(genre)
- https://en.wikipedia.org/wiki/Yuri_(genre)
- https://superemeralds.tumblr.com/post/169895013585/yo-i-gotta-ask-ok-so-yuriyaoi-are-not-equal
- https://thematter.co/thinkers/y-culture-and-lgbtq/147689
- https://www.amnesty.or.th/latest/blog/923/
- https://www.facebook.com/2178609179035447/photos/a.2346598448903185/2336250203271343/?type=3
- https://www.lovecarestation.com/82592/
- https://www.nypl.org/blog/2019/06/17/beginners-guide-lgbtq-manga
- https://www.sanook.com/campus/1400451/
- https://www.youtube.com/watch?v=3E6d-yXUGOk
- https://www.youtube.com/watch?v=zFVIlPx6QVQ
- https://www.yuricon.com/oldessays/women-loving-women-in-modern-japan/