อย่างที่เห็นกันอยู่บ่อยครั้งในปัจจุบันนี้ที่ซีรีส์และภาพยนตร์เริ่มนำเสนอ Queerness หรือความเป็นเควียร์ให้เห็นชัดขึ้นเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับในอดีตที่มีการพูดถึงแล้วต้องหลบๆ ซ่อนๆ หรือมีการสวมใส่เรื่องราวอื่นๆ ลงไปเพื่ออุปมาอุปมัยถึงความเควียร์ที่ซ่อนอยู่ในเรื่องอีกด้วย
โดยเฉพาะในด้านของ Superheroes ที่มีการพูดถึงความแตกต่างในด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์แฟรนไชส์อย่าง X-Men ที่มีการพูดถึงมนุษย์กลายพันธุ์ที่อาจหยิบมาเป็นตัวแทนและประสบการณ์ของผู้ที่เป็น LGBTQIAN+ และสำหรับวันนี้ ผลงานที่เราอยากจะหยิบขึ้นมาชวนทุกคนติดตามและร่วมค้นหาไปพร้อมๆ กันก็คือซีรีส์ Supergirl จาก The CW นั่นเอง
* บทความนี้มีเนื้อหาสปอยล์ซีรีส์ชุด Supergirl *
ความเควียร์คืออะไร?
เมื่อพูดถึงเรื่องเพศแล้วเรามักจะนึกถึงเพศหญิงและเพศชายเป็นอันดับแรกซึ่งคือบรรทัดฐานของการแบ่งกลุ่มคนตามเพศสรีระ (sex) และนำไปสู่การแบ่งบทบาททางเพศ (Gender Role) ที่สังคมยอมรับ และรับรู้ แต่แนวคิดตามทฤษฎียุคใหม่ในเรื่องเควียร์ กลับมองว่าอัตลักษณ์ของความเป็นชายหรือหญิง ล้วนเป็นสิ่งที่สังคมกำหนดขึ้นและยึดถือเป็นกระแสหลักในขณะที่กลุ่มคนที่ต่างออกจากบรรทัดฐานเหล่านี้ กลับถูกมองหรือประนามว่าเป็นความผิดปกติ ส่วนพฤติกรรมทางเพศที่สังคมให้การยอมรับนั้น ถูกตีกรอบไว้ว่าจะต้องเป็นความรักแบบเพศตรงข้าม (Heterosexuality) กล่าวคือ ความรักที่ถูกต้อง จะต้องมาจากคู่ของเพศชายและเพศหญิงเท่านั้นโดยมากแล้วคนมักจะเข้าใจว่าเควียร์เป็นแค่กลุ่มเพศเดียวกัน (Homosexuality) อย่างเกย์และเลสเบี้ยนแต่แท้จริงแล้วเควียร์ครอบคลุมและขยายความหมายได้มากมายและหลากหลายกว่านั้น
แรกเริ่มเดิมที Queer (เควียร์) หมายถึง แปลก, แปลกประหลาด, แปลกแยก ในปลายศตวรรษที่ 19 คำว่า Queer (เควียร์) ใช้โดยกลุ่มบุคคลรักเพศตรงข้าม นำมาเรียกต่อกลุ่มคนที่ถูกมองว่าแปลกแยก แน่นอนว่าคนที่ถูกเหยียดก็คือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในตอนนั้นนั่นแหละ
การเป็น เควียร์ นั้น ยังถูกนำมาใช้ครอบความหมายของสเปกตรัมที่กว้างของอัตลักษณ์ทางเพศ เพศวิถี และการเมืองเรื่องเพศที่ไม่เป็นไปตามขนบธรรมเนียมของสังคม รวมทั้งสาขาทางวิชาการอย่างทฤษฎีเควียร์ และเควียร์ศึกษา ล้วนมีจุดร่วมในการเป็นสิ่งตรงข้ามของระบบเพศสองขั้วกันทั้งสิ้น
Alien (เอเลี่ยน) หมายความว่า คนต่างด้าว, คนต่างชาติ, คนนอก, มนุษย์ต่างดาว, แปลก ถ้าพูดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นที่เป็น “เอเลี่ยน” จะให้ความรู้สึกว่าสิ่งนั้น “แตกต่างออกไป” หรือ“แปลกไป” และเป็นสิ่งที่ “ไม่คุ้นเคย” ในสังคม โดยซีรีส์ Supergirl จะนำเสนอให้เห็นพื้นที่ทางสังคมที่มนุษย์ยัดเยียด สถานะ ต่างด้าว การแปลกแยก ความเป็นอื่น ให้กับมนุษย์ต่างดาว
Supergirl และความเป็นอื่น
เราจะขอยกตัวอย่างความเป็นเควียร์ และเอเลี่ยน อย่างง่ายๆ จากทีวีซีรีส์ที่เราทั้งรักทั้งเกลียด ชื่อว่า “Supergirl ซูเปอร์เกิร์ล” ซีรีส์ ในปี ค.ศ. 2015 – 2021 จากค่าย CBS Season1 และค่าย CW Season 2 – 6 ซีรีส์เรื่องนี้ถูกเซ็ตจากจุดเริ่มต้นเช่นเดียวกับการปรากฏตัวของ Superman ที่ทำให้มนุษย์บนโลกต่างรับรู้การมีอยู่ของเผ่าพันธุ์เอเลี่ยนหรือสิ่งมีชีวิตจากดาวดวงอื่นที่มีทักษะที่หลากหลาย เช่น พลังมหาศาล มีพลังควบคุมจิตใจ หายตัว บินบนอากาศ นิมิตเห็นลางบอกเหตุ เป็นต้น
คาร่า ซอร์เอล หรือ ซูเปอร์เกิร์ล เป็นเอเลี่ยนจากดาวคริปตอนที่ลี้ภัยมาอาศัยอยู่บนโลกหลังจากเกิดเหตุการณ์ดาวระเบิด ถึงแม้ว่าคาร่าจะเรียนรู้สังคมวัฒนธรรมในโลกของเรา แต่คาร่าก็ยังมีความเป็นเอเลี่ยนหรือความแปลกแยกจากสังคม เนื่องจากคาร่านั้นได้เติบโตในดาวคริปตอนและเรียนรู้ทั้งในด้านของสังคม วัฒนธรรมของดาวของตนเองมาก่อนแล้ว (คาร่ามีอายุมากกว่าคาร์ล เอล หรือซูเปอร์แมน ขณะที่เดินทางออกจากดาวบ้านเกิด แต่เกิดเหตุการณ์บางอย่างทำให้เธอติดอยู่ในแฟนทอมโซน ทำให้เธอเดินทางมาถึงดาวโลกในวันที่คาร์ล เอล เป็นซูเปอร์แมนแล้ว) การเติบโตและเรียนรู้วัฒนธรรมจากต่างโลกก็ยิ่งสร้างความรู้สึกไม่เข้าพวก ความแตกต่างจากสังคมโลกของคาร่าให้มากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งทำให้รู้สึกแปลกแยกแตกต่างมากขึ้นกว่าเดิมเข้าไปอีก เมื่อตัวเองจำเป็นต้องปิดบังตัวตน และสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมา ชื่อ “คาร่า แดนเวิร์ส” เพื่อสามารถจะใช้ชีวิตอยู่อย่างมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาบนโลกใบนี้ได้
นอกจากนี้ความเป็นเควียร์ของคาร่านั้นยังสามารถตีความในแง่ของการดิ้นรนเพื่อให้เป็นไปตามขนบธรรมเนียมของสังคมโลก การปฏิเสธตัวตนของเธอเอง ความสับสนในการเป็นตัวตนใดตัวตนหนึ่ง นั่นจึงอาจเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ต้องพยายามปิดบังตัวตนให้เป็นไปตามขนบของโลก เพื่อจะสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ถูกกีดกันออกจากสังคม
“โตมาบนโลก ฉันไม่เคยรู้สึกปกติ ฉันคิดมาตลอดว่าถ้าฉันเริ่มใช้พลัง ชีวิตฉันจะเป็นอย่างที่ควรเป็น แต่ฉันรู้แล้วว่า การเป็นตัวเองไม่ได้ทำให้ฉันรู้สึกเป็นเหมือนคนอื่น และจะไม่มีวันเป็น…”
Supergirl Series – Season 1 ep 6 “Red Faced” (2016)
รักเพศเดียวกัน = ต้องปิดบังตัวตน?
เช่นเดียวกับ อเล็กซ์ แดนเวิร์ส (Alex Danvers) ที่เป็นตัวละครมนุษย์คนหนึ่งที่เติบโตมาพร้อมกับคาร่าบนโลกมนุษย์ และคาร่าเคารพรักเหมือนพี่สาว ในซีรีส์ชุดนี้ก็ได้มีการนำเสนอถึงช่วงเวลาของอเล็กซ์ในการค้นหาตัวตนของตัวเอง และพบเธอว่าชอบเพศเดียวกัน การพยายามที่จะบอกกับน้องสาวของเธอว่ามันยาก และสับสนขนาดไหนกับการที่ค้นพบว่าตัวเองเป็นในสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ไม่ได้เป็น ในคราวแรกคาร่านั้นไม่เข้าใจว่ามันยากอย่างไร แต่ต่อมาคาร่าก็สามารถเชื่อมโยงสิ่งนี้กับการเป็นเอเลี่ยนของตนเองได้ แล้วมันก็คงเหงามากๆ ถ้าหากไม่มีคนในครอบครัวรับรู้และยอมรับในตัวตนของตัวเอง
แม็กกี้ ซอว์เยอร์ (Maggie Sawyer) ก็เป็นตัวละครหนึ่งที่เปิดเผยมาตั้งแต่ต้นว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน และยังเป็นอีกคนที่คนในครอบครัวไม่ยอมรับในความเป็นเธอเอง โดยเฉพาะพ่อของแม็กกี้ที่ผลักไสไล่ส่งเธอไปให้ป้าเลี้ยงดูแทนตั้งแต่อายุ 14 ปี หลังจากค้นพบว่าลูกสาวของตนเองไปสารภาพรักกับเพื่อนสาวอีกคนหนึ่ง และคำพูดสุดท้ายที่แทงใจแม็กกี้มากที่สุดจากปากพ่อของเธอเองคือ “แกทำให้ฉันอับอาย”
จนภายหลังก็ได้เฉลยที่มาที่ไปว่าครอบครัวของแม็กกี้คือผู้อพยพจากประเทศเม็กซิโก พ่อของเธอคือแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย (Illegal Aliens) และทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนขาวยอมรับ จนเขาเติบโต จนกลายเป็นที่นับถือ และชุมชนได้เลือกให้เขาเป็นนายอำเภอ นั่นจึงทำให้เห็นว่าที่พ่อของเธอพูดแบบนั้นไป นั่นเป็นเพราะเขาเองก็เคยรู้สึกแปลกแยกจากสังคมเพราะเขาไม่ใช่คนส่วนใหญ่ เป็นชนส่วนน้อย เป็นแรงงานต่างด้าว เป็นผู้อพยพ เป็นชนชั้น (Stata) อยู่ในระดับล่าง และยังมีเชื้อชาติ (Race) หรือชาติพันธุ์ (Ethnicity) ที่ถูกทำให้เป็นรองคนขาวอีก แสดงให้เห็นการทับซ้อนของการแปลกแยกจากสังคมได้อย่างมาก แน่นอนว่าถ้าเป็นผู้หญิงหรือคนที่เป็นเควียร์ก็ยิ่งมีสถานะที่ตกต่ำเข้าไปอีก
พ่อของแม็กกี้พูดย้ำอยู่ตลอดว่า “สิ่งเดียวที่พวกเขาเกลียดมากกว่าชาวเม็กซิกันก็คือพวกรักเพศเดียวกัน” และให้เหตุผลที่ว่าเขาไม่พอใจและไม่ยอมรับในสิ่งที่แม็กกี้เป็นด้วยเหตุผลที่ว่า “พ่อทำงานหนัก เพื่อลูกจะได้ไม่ต้องเจอกับความเกลียดชังแบบเดียวกัน”
ช่างเป็นประโยคข้ออ้างคลาสสิคจากคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ข้ออ้างนี้จะหายไปจากโลกได้เมื่อไหร่ แต่จากสิ่งที่เห็นก็คือพ่อของแม็กกี้ก็เลือกสิ่งที่ย้อนแย้งกับตัวเองมากที่สุดคือการผลักไสลูกออกไปให้ห่างไกลจากการหวาดกลัวของเขา นั่นก็คือการที่ลูกของตนเองเป็นในสิ่งที่อยู่นอกขนบธรรมเนียมของสังคม ทั้งๆ ที่จุดเริ่มต้นของตัวเขาเองก็ไม่ได้ต่างจากบุคคลที่ถูกให้สถานะว่าแปลกแยกจากสังคมมากเท่าไหร่นัก
แม็กกี้จึงเข้าใจว่าการเป็นเอเลี่ยนที่ต้องปกปิดตัวตน การดิ้นรนอยู่บนโลกนี้อย่างสงบสุขได้นั้นเป็นเช่นไร และเข้าใจถึงการสร้างชุมชนของเอเลี่ยนด้วยกันเพื่ออยู่ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้อย่างสบายใจ ถึงขนาดออกปากว่าชอบเอเลี่ยนมากกว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ เพราะจุดยืนของการเป็นเอเลี่ยนก็อยู่นอกกรอบของสังคมพอๆ กับจุดยืนของการเป็นเควียร์นั่นเอง
Transgender กับอคติในสังคม
สิ่งที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนก็คือ ซีรีส์ Supergirl เป็นซีรีส์ซูเปอร์ฮีโร่เรื่องแรกที่มีการนำนักแสดงทรานส์เจนเดอร์มารับบทซูเปอร์ฮีโร่เป็นเรื่องแรกของจักรวาลซีรีส์อีกด้วย นั่นก็คือ “เนีย นาล (Nia Nal)” เรื่องราวของเธอนั้นมีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะครอบครัวของเธอนั้นจะได้รับพลังจากความฝัน (Dreamer) และแม่เอเลียนของเธอก็ฝันเห็นว่าลูกสาวของตนเองจะได้รับพลัง Dreamer นี้ต่อจากเธอไป ทำให้ครอบครัวทุกคนต่างเข้าใจว่าคนที่จะได้รับพลังนี้ไปคือ “เมฟ” พี่สาวของเนียที่เกิดมามีเพศกำหนดเป็น “หญิง” และคงจะเป็นไปไม่ได้ที่ “เนีย” ที่เกิดมามีเพศกำหนดเป็น “ชาย” จะได้รับพลังนี้ไป
แต่ทุกอย่างกลับกลายเป็น “เนีย” เสียเองที่ได้พลังของ Dreamer และเรื่องราวก็ได้เฉลยทีหลังว่าสิ่งที่แม่ของเนียฝันนั้นเป็นเพียงภาพภายนอกของลูกตัวเองที่มีสรีระภายนอกเป็นหญิงก็เท่านั้น ถึงแม้ว่าแม่ของเนียจะเข้าใจและยอมรับมันได้ทันที แต่เมฟก็ไม่สามารถยอมรับสิ่งนี้ได้ เพราะพลังนี้เป็นสิ่งที่ตนเองใฝ่ฝันหาและเตรียมพร้อมรับพลังนี้มาตลอดกลับถูกช่วงชิงไป ทำให้เห็นได้ชัดเลยว่าว่านอกจากการถูกกีดกันออกจากสังคมด้วยเหตุผลว่าเป็นเอเลี่ยนแล้ว เธอยังถูกผลักออกนอกสังคมจากคนตรงเพศด้วยความอคติเพราะการเป็นทรานส์เจนเดอร์อีกด้วย
เควียร์และความหวาดกลัว
เป็นเช่นนี้แล้ว ผู้อ่านอาจจะตั้งคำถามว่า “แล้วเป็นเอเลี่ยนในเรื่องนี้ไม่ดีตรงไหนล่ะ? มีพลัง มีทักษะเยอะแยะมากมาย ก็แค่เปิดตัวแล้วก็ช่วยเหลือโลกอย่างที่เอเลียนฮีโร่ในเรื่องนี้ทำสิ แค่นี้เขาก็ยอมรับได้กันแล้ว”
เราในฐานะผู้เขียนก็คงจะตอบว่า “นี่เป็นคำถามที่เควียร์อย่างเราได้รับบ่อยครั้ง และถ้ามันเป็นอย่างนั้นมันก็คงจะง่ายมาก ทุกคนคงรักกันและใช้ชีวิตอย่างแฮปปี้เอนดิ้งกันไปนานแล้ว”
แทนที่สังคมโลกจะสามารถโอบรับพลังเหล่านี้เพื่อใช้ในการสรรค์สร้างคุณค่าแก่สังคมส่วนรวม แต่กลับกลายเป็นการสร้างอาการ “Xenophobia” ซึ่งคืออาการกลัวความเป็นอื่น กลัวในสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ และจะทำทุกวิถีทางเพื่อผลักความเป็นอื่น (The Otherness) ให้ออกไปจากกลุ่มของตนเอง เพราะการที่เอเลี่ยนได้รับสิทธิต่างๆ เช่น การได้รับการศึกษา ได้ทำงานร่วมกับมนุษย์ ได้ใช้ชีวิตและมีสถานะเป็นพลเมือง สร้างผลกระทบและสร้างความไม่พอใจกับผู้ที่อยู่ก่อน
ส่วนในโลกจริง “Xenophobia” ก็อาจจะคล้ายคลึงกับการที่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ก่อน มีอคติและกีดกันผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ. ผู้อพยพ, ต่างด้าว, ชนชาติ, เชื้อสาย, ศาสนา อื่นๆ ออกไป
คำถามที่ว่า สถานการณ์ในซีรีส์นั้นเลวร้ายขนาดไหน เราจะเห็นได้จากในซีซั่นที่ 4 สถานการณ์เลวร้ายขนาดที่ว่า เอเลี่ยนต้องพยายามปรับตัวโดยการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีของมนุษย์ ในการอำพรางตัวเองให้มีลักษณะรูปร่างเป็นมนุษย์หรือปฏิบัติตนให้เป็นไปตามกรอบสังคมมนุษย์ให้ได้มากที่สุด แต่กระนั้นความเกลียดชังยังไม่สิ้นสุด เมื่ออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate Crimes) ได้เกิดขึ้น
Hate Crimes นั้นเป็นอาชญากรรมที่แตกต่างจากอาชญากรรมปกติเนื่องจากอาชญากรรมทั่วไป ผู้กระทำหรืออาชญากรมักมีแรงจูงใจอยู่ที่เหยื่อ หรือผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ แต่ Hate Crimes แม้จะแปลเป็นภาษาไทยตรงตัวว่า “อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง” แต่ในความเป็นจริงมูลเหตุจูงใจของอาชญากรรมประเภทนี้กลับไม่ใช่ความเกลียด แต่คือ “อคติ” บางครั้งจึงเรียกอาชญากรรมประเภทนี้ว่า Bias-motivated Crimes ซึ่งอคตินี้ไม่ได้มีต่อเหยื่อคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่มุ่งเน้นไปที่เอกลักษณ์บางประการของกลุ่มคน หรือ Stereotypes เช่น ความแตกต่างของเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อ ความเป็นชนกลุ่มน้อย ความโน้มเอียงทางเพศ ความพิการ ความเชื่อทางการเมือง ชนชั้น หรือสถานะทางสังคม
จากความกลัว สู่การต่อต้าน
ใน Supergirl ซีซั่นที่ 4 มีการก่อตั้งของกลุ่ม Children of Liberty ขึ้นมาเพื่อต่อต้านหายนะจากต่างดาวนั้นทำให้เรานึกถึงการก่อตั้งกลุ่ม Ku Klux Klan เพราะมีลักษณะและพฤติการณ์ที่คล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก เช่น การเกาะกลุ่มถือคบเพลิง การใส่ชุดฟอร์มที่สามารถข่มขวัญฝั่งที่พวกของตนเองเกลียด เข้าข่มขู่คุกคามเหล่าเอเลี่ยนตามถนนในที่เปลี่ยว หรือการบุกรุกเข้าคุกคามถึงที่อยู่อาศัยของครอบครัวเอเลี่ยน เช่นเดียวกับการที่กลุ่ม Ku Klux Klan ทำกับคนดำ
คูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan) หรือเรียกง่ายๆ ว่า “เดอะแคลน” (the Klan) เป็นชื่อของสามขบวนการในสหรัฐซึ่งสนับสนุนกระแสปฏิกิริยาสุดโต่งอย่างความสูงสุดของคนขาว (white supremacy) ชาตินิยมผิวขาว (white nationalism) การต่อต้านการเข้าเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการปรากฎซ้ำในช่วงปลายที่เกิดขึ้น เช่น ลัทธินอร์ดิก (Nordicism) การต่อต้านคาทอลิก และการต่อต้านยิวในอดีต Ku Klux Klan ใช้การก่อการร้ายทั้งการทำร้ายร่างกายและการฆ่ากลุ่มคนหรือปัจเจกบุคคล Ku Klux Klan มีวาทกรรม “ทำให้บริสุทธิ์” ซึ่งสังคมอเมริกัน และทั้งหมดถือเป็นองค์กรฝ่ายขวาสุดโต่ง
กลุ่ม Children of Liberty สามารถเคลื่อนไหวไปไกลขนาดที่ว่า ผู้ก่อตั้งของกลุ่ม “เบน ล็อควูด” ได้พาตนเองขึ้นมาเป็น “ผู้อำนวยการด้านกิจการชาวต่างดาว” ของประธาธิบดีสหรัฐ และผลักดันกฎหมายการยกเลิกนิรโทษกรรมของชาวต่างดาวที่เข้ามารุกรานและอยู่อาศัยบนโลก พร้อมกับตั้งแถลงข่าวและนัดชุมนุมผู้ที่เห็นด้วยกับเขาเพื่อยืนหยัดในอุดมการณ์อันสุดโต่งของตนเอง
ในเวลาเดียวกันที่ชาวเอเลี่ยนรวมกลุ่มชุมนุมต่อต้านข้อเสนอ “ยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมชาวต่างดาว” และเคลื่อนพลมายังพื้นที่ที่ เบน ล็อควูด ปราศรัยอยู่ ทำให้เกิดการประจันหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองฝั่ง เบน ล็อควูด เพิ่มสถานการณ์ ให้ร้อนระอุขึ้น เริ่มมีการขว้างปาสิ่งของออกไปจากฝั่งมนุษย์ และการปะทะกันก็ได้เกิดขึ้น จากกลุ่ม “อีลีต (The Elite)” อาชญากรเอเลี่ยนที่ลอยนวลอยู่เข้ามาทีหลัง พยายามสร้างสถานการณ์ให้ทั้งสองฝั่งต่อสู้กัน
แต่ด้วยความที่ว่าซีรีส์ Supergirl ถูกจัดเรทให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงได้ทุกวัย และเป็นซีรีส์แห่งความหวัง เหตุการณ์แต่ละซีซั่นจะจบด้วยความสงบสุข และจบได้ด้วยดี สุดท้ายในเอพิโสดที่ 14 นี้ ก็จบลงด้วยเหตุผลว่า หลายคนไม่ต้องการเห็นอีกฝ่ายเจ็บปวดทางร่างกาย มีการเข้ามายื่นช่วยเหลือกันและกันออกจากสถานการณ์นี้ไป CatCo สื่อสำนักข่าวหลักที่คาร่าทำงานอยู่ ได้เผยแพร่รูปภาพการช่วยเหลือกันและกันระหว่างมนุษย์และเอเลี่ยน และนำไปตีแผ่ว่ามนุษย์กับเอเลี่ยนอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือกันได้ จากกระแสที่ตีกลับเช่นนี้ส่งผลทำให้ข้อเสนอกฎหมายยกเลิกนิรโทษกรรมชาวต่างดาวของ เบน ล็อควูด ถูกตีตกไป
การกล่าวถึง “ทฤษฎีเควียร์ เอเลียน และความเป็นอื่น” ในโลกของซีรีส์ Supergirl และโลกแห่งความจริงก็ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก เห็นได้ชัดว่าการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ นี้ไม่ตั้งอยู่บนเหตุผลที่ยอมรับได้ ตั้งแต่เหตุจลาจล Stonewall ที่เป็นการลุกขึ้นมาต่อสู้ของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันในสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิของคนชายขอบ
การจับกุม จอร์จ ฟลอยด์ ที่ทำให้ Black Live Matter เป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่อง, หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก จนเกิดความเกลียดชังต่อชาวเอเชีย และการทำร้ายชายชาวเอเชียจนเป็นกระแส Stop Asian Hate เพื่อต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวเอเชียทั่วโลก ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ยังคงวนเวียนและมีเกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้ง
ชีวิตจริงไม่มีฮีโร่ที่มีพลัง ที่ช่วยกำจัด ปัดเป่า อคติเหล่านี้ให้หมดไป ชีวิตจริงไม่มีการเปลี่ยนแปลงไหนที่เกิดขึ้นอย่างง่ายดายและเห็นผลทันตาภายใน 1 ซีซัน เหมือนอย่างในซีรีส์เรื่องนี้ เราเองก็ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนที่เราจะต้องใช้เวลาสู้ต่อไป เพื่อหวังว่าสังคมจะเข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ และเผ่าพันธ์ุได้
เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์การประท้วง การต่อสู้ให้ได้มาซึ่งศักดิ์ศรี สู่การปลดแอกการกดขี่ของชนชั้นทางเพศและเชื้อชาติ ในเดือนแห่งความภาคภูมิใจ Pride Month ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่เหนื่อยและท้อกับการพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อให้เป็นพื้นที่ที่โอบรับ “ความแตกต่าง” “ความหลากหลาย” อย่างแท้จริง
รับชม Supergirl ได้ทาง Netflix และ HBO GO
Resources:
- การศึกษาเปรียบเทียบความเป็นเควียร์ในบทแปลนวนิยาย เรื่อง The Picture of Dorian Gray ของออสการ์ ไวลด์ จากสำนวนการแปลของ อ.สนิทวงศ์ และกิตติวรรณ ซิมตระการ
- https://so04.tci-thaijo.org/index.php/JTIT/article/view/240058
- https://th.wikipedia.org/wiki/เควียร์
- https://www.crimjournalthai.com/hate-crimes-อาชญากรรมแห่งอคติในสังคมพลวัต.html