เพราะคำว่ารัก อาจจะยังไม่พอ ‘Love is Love’ จึงต้องตระหนักให้ดี

| |

Happy Pride Month!!! เดือนไพรด์แบบนี้ แน่นอนว่าหลายๆ ครั้งก็ตามมาพร้อมกับประเด็นต่างๆ นานา ที่ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ บ้างก็เป็นเรื่องน่ารักๆ บ้างก็เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่ทำให้ใครต่อใครเซอร์ไพรส์ไปต่างๆ กัน แต่บางครั้งก็ยังมาพร้อมกับการผลักกลุ่มบุคคลบางกลุ่มในตัวอักษร LGBTQIAN+ ออกไป

โดยเฉพาะการใช้คำว่า ‘Love is Love’ ที่ในบางครั้งถูกนำมาใช้ในเดือนไพรด์ และบางครั้งก็อาจจะทำให้หลงลืมชาว Aromantic ไปได้ในเวลาเดียวกัน

‘Love is Love’ เป็นการผลักคนอื่นออกจากคอมมูนิตี้รึเปล่า?

วลี Love is Love และ Love Wins ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ถึงกระนั้น บางคนใช้วลีนี้เรียกแทนคอมมูนิตี้ LGBTQ+ ในเดือนไพรด์ บ้างก็บอกว่านิยามเยอะแยะอะไรก็ไม่รู้ แค่ ‘Love is Love’ ก็เพียงพอแล้วสิ และอื่นๆ อีกมากมาย และนั่นก็ทำให้พวกเราสงสัยว่า ในเมื่อคุณพูดถึงเดือนไพรด์ แน่นอนว่ายังมีกลุ่ม Aromantic รวมอยู่ในคอมมูนิตี้ LGBTQ+ ด้วย ต่อให้เขาไม่ได้มีแรงดึงดูดทางใจกับคนอื่น หรือมีน้อยมาก หรือไม่ได้ให้ความรู้สึกเชิงโรแมนติกตามบรรทัดฐานของสังคมก็ตาม นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถหลงลืม หรือผลักพวกเขาออกไปจากเดือนไพรด์ที่เฉลิมฉลอง หรือผลักออกไปจากคอมมูนิตี้ได้ แน่นอนว่ามันแปลกมาก ถ้าเกิดจะใช้วลี ‘Love is Love’ หรือ “Love Wins’ เมื่อพูดถึง LGBTQ+ ทั้งหมด นั่นอาจจะหมายความว่า คุณกำลังหลงลืมใครบางคนในคอมมูนิตี้นี้ไป แล้ว aromantic อยู่ไหนในวลีนี้ล่ะ? เรากำลังทำให้เขารู้สึกแย่กับการถูกหลงลืมและโดนผลักออกจากคอมมูนิตี้รึเปล่า?

สำหรับเดือนไพรด์แล้ว การใช้คำว่า ‘Love is Love’ หรือ “Love Wins’ เพื่อเรียกรวมอัตลักษณ์ต่างๆ ในเดือนไพรด์ ก็อาจจะไม่เข้ากรอบสักเล็กน้อย เนื่องจากภายในเดือนไพรด์นั้น ถือเป็นช่วงเวลาในการตระหนักซึ่งสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศตลอดเดือนมิถุนายนของทุกปี ทำให้อาจจะไม่เหมาะสักเล็กน้อยที่จะใช้วลีเหล่านั้นเพื่ออ้างถึงเดือนไพรด์

เพราะความรักเป็นอารมณ์สากล แต่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับความรักเช่นเดียวกัน

นอกจากประเด็นของการผลักคนออกไปแล้ว วลีที่ว่า ‘Love Wins’ และ ‘Love is Love’ ก็ยังอาจจะทำร้ายคนอื่นๆ ในคอมมูนิตี้นี้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าการใช้วลีนี้อาจจะอ้างอิงอย่างมีเหตุผลที่เหมาะสมในบริบทที่พูดถึงสิทธิการแต่งงานที่เท่าเทียมกัน และนั่นล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อขบวนการเรียกร้องสิทธิให้กับ LGBTQ+ เพราะว่าความรักนั้นเป็นอารมณ์สากล และสามารถเชื่อมโยงกันได้โดยง่าย

แต่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับความรักที่เหมาะสม วลีที่ว่า ‘Love is Love’ หรือ ‘Love Wins’ ก็อาจจะทำให้คนหลงลืมได้ว่า ยังมีกลุ่มคนที่ถูกเลือกปฏิบัติอีกด้วย แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในกลุ่ม LGBTQ+ ก็ตาม อย่างในสหรัฐอเมริกา ที่ทาง attn.com บอกว่ากลุ่ม Transgender women เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มในการถูกเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิด และความรุนแรงทางเพศ และมีกฎหมายที่สามารถไล่คนออกได้กรณีที่เป็นเกย์ใน 28 รัฐของสหรัฐอเมริกา นั่นหมายความว่าอะไร? นั่นหมายความว่า วลีพวกนั้นไม่ได้สร้างการขับเคลื่อนอย่างจริงจังในด้านอื่นๆ ด้วยรึเปล่า? เพราะว่าทุกวันนี้ LGBTQ+ ก็ยังไม่ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับ Cis Gender เท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นเกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล แพนเซ็กชวล คนข้ามเพศ ฯลฯ ก็ยังคงถูกเลือกปฏิบัติ แม้ว่าในสังคมจะเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น แต่พวกเขาเองก็ยังคงถูกกีดกันออกจากสังคม หรือถูกสังคมครอบกรอบและเหมารวมว่า คนที่มีอัตลักษณ์นั้นๆ จำเป็นที่จะต้องมีลักษณะท่าทางและการแสดงออกตามสิ่งที่เขาคิดหรือตามสิ่งที่สื่อเป็นคนนำเสนอออกมา ทั้งๆ ที่นั่นไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาเป็น

อย่างในประเทศไทย เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าสังคมและคนส่วนใหญ่ต่างมองว่า คนที่เป็นเกย์ ถ้าไม่หน้าตาดี ก็จะต้องเป็นคนตลกโปกฮา หรือคนที่เป็นเลสเบี้ยนจะต้องมีฝั่งหนึ่งเป็นทอมหรือมีความ masculinity อีกฝ่ายจะต้องมีความเป็นผู้หญิงหรือมีความ femininity อยู่ในตัว หรือคนที่เป็นทรานส์เจนเดอร์ ก็ต้องเป็นคนตลก เป็นคนเก่ง เป็นต้น และเมื่อพวกเขาไม่ได้เป็นในสิ่งนั้น สังคมก็จะไม่รักเขา สังคมก็จะไม่สนใจหรือผลักออกไปจากกลุ่มคนที่พวกเขาต้องการ และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่เมื่อพวกเขาเปิดตัวกับคนในครอบครัว กลับโดนผลักไสออกไป หรือโดนทำร้ายอยู่บ่อยครั้ง แล้ววลีที่ว่า ความรักก็คือความรัก หรือ ความรักชนะ มันจะเป็นจริงได้อย่างไร

กระแสอันฉาบฉวย กับการขายผลิตภัณฑ์ผ่านการทำการตลาด

นอกจากนี้แล้ว วลีพวกนั้นยังทำให้เกิดกระแส Rainbow washing (หรือ Pink Washing) ที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งในด้านการตลาด นั่นถือเป็นการตลาดอันฉาบฉวยที่แสร้งทำเป็นขับเคลื่อน LGBTQ+ แต่จริงๆ แล้วต้องการแค่เพียงขายผลิตภัณฑ์ผ่านการทำการตลาด ในรูปแบบที่เน้นประสบการณ์ร่วมของผู้ซื้อเท่านั้น แต่ไม่ได้เข้าใจหรือเป็นพันธมิตรในการสนับสนุนความเท่าเทียมของคนในคอมมูนิตี้ LGBTQ+ อย่างจริงจัง

แม้ว่าในประเทศไทย ที่มีการขับเคลื่อนเกี่ยวกับสิทธิของ LGBTQ+ และสมรสเท่าเทียมมาอย่างยาวนาน แต่ก็ยังคงถูกผลักออกจากสังคมหมู่มาก และในขณะเดียวกับ ประเทศไทยเองก็ส่งออกผลงานซีรีส์วาย ที่เป็นเรื่องราวความรักของเพศเดียวกันไปขายในต่างประเทศจำนวนมาก นี่อาจจะทำให้เราเห็นว่า มันคือฉากหน้าที่ต้องการจะสร้างผลกำไร แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนในคอมมูนิตี้ LGBTQ+ อย่างจริงจัง นี่คือสิ่งที่ตอกย้ำอยู่ว่า Love is Love ยังคงไม่เพียงพอ เพราะคนชายขอบส่วนใหญ่จากในอดีต ในปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นกลุ่มคนชายขอบอยู่เช่นเดิม

เมื่อไหร่ที่พวกเราจะได้รับสิ่งต่างๆ เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ได้รับสิทธิต่างๆ ได้เช่นเดียวกับ cisgender? เราต้องหันกลับไปมองว่า อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่แรก อะไรที่ทำให้คนเราแตกต่าง ทั้งๆ ที่พวกเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ทำไมพวกเขาถึงไม่ยอมรับและเห็นคุณค่าของพวกเรา

เมื่อไหร่ที่ LGBTQIAN+ ได้รับสิทธิเฉกเช่นเดียวกับ cisgender เมื่อนั้น love wins ถึงเกิดขึ้นจริง

References:

  • https://archive.attn.com/stories/2215/love-wins-marriage-equality-lgbt-next-steps
  • https://www.elle.com/culture/a37079/when-love-is-love-isnt-enough/
  • https://www.facebook.com/AroAceClusionist/
  • https://www.facebook.com/thematterco/posts/3101402020075179
  • https://www.firstpost.com/living/the-queer-take-what-catchy-phrases-like-love-is-love-overlook-about-the-lgbt-experience-6797681.html
  • https://www.sfweekly.com/news/love-is-not-enough-why-pride-must-include-a-fight/
Previous

Jodie Comer แสดงนำใน Big Swiss ซีรีส์เรื่องใหม่ของ Adam McKay จาก HBO กับ A24

ทำความรู้จัก Sapphic ร่มคันใหญ่ที่ครอบคลุมกว่าเดิม

Next