Queerbaiting 101 การตลาดเหยื่อล่อ เหยื่ออันโอชะของผู้ผลิตสื่อ

| |

เมื่อพูดถึงคอมมูนิตี้ LGBTQIAN+ ที่มีการนำเสนอผ่านทางช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะในสื่อบันเทิงทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ มิวสิควิดีโอ หนังสือ หรือแม้กระทั่งการนำเสนอในรูปแบบของคู่จิ้น ที่ล้วนแล้วแต่สร้างภาพลักษณ์หรือสร้างการจดจำที่ไม่ดีให้กับผู้ที่ได้พบเห็น แม้ว่ามันจะมีการพยายามนำเสนอสิ่งที่ถูกต้องออกไป แต่เมื่อเทียบกับสื่อที่เป็นเควียร์เบต (Queerbaiting) กลับกลายเป็นว่ามีจำนวนน้อย และโดนแย่งพื้นที่ไปได้เช่นกัน วันนี้ Sapphicity อยากที่จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับกรณีเควียร์เบตและเรื่องราวที่อยู่ในจำพวกเดียวกันให้คุณได้รู้จักกันเพิ่มขึ้น

Queerbaiting คืออะไร?

Queerbaiting คือ กลยุทธ์ทางการตลาดของสื่อในยุคปัจจุบันที่มีการนำเอาความ queer เข้ามาใส่ในสื่อต่างๆ เพื่อล่อให้ผู้ชมเลือกตัดสินใจที่จะเข้าไปดู โดยการล่อที่ว่านั้น อาจจะใช้ในการสร้างกระแส สร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจ อาจจะเป็นการบอกใบ้ว่าตัวละครเหล่านั้นอาจจะมีการบอกใบ้ถึงความสัมพันธ์โรแมนติกระหว่างตัวละครเพศเดียวกัน แต่ไม่ได้มีการบอกอย่างชัดเจนว่าตัวละครนั้นๆ เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงการขาดความตระหนักรู้ และไม่ได้มีการการสนับสนุนถึงสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือช่วยขับเคลื่อนหรือเป็นกระบอกเสียงให้กับชาว LGBTQIAN+ อย่างแท้จริง

เราอาจจะพูดถึงเรื่อง Queerbaiting ในง่ายยิ่งกว่าเดิมก็คือ Queerbaiting เป็นการเอาอัตลักษณ์จากกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อทำการตลาด โดยไม่ได้แคร์ในสิ่งที่ LGBTQIAN+ เป็น เพียงเพราะว่าต้องการรักษาฐานผู้ชมหรือแฟนคลับที่เป็น Homophobic

ทำไมมันถึงกลายมาเป็นประเด็น?

อันที่จริงแล้ว ประเด็นเควียร์เบตล้วนแล้วแต่วนเวียนอยู่ในคอมมูนิตี้นี้มาอย่างยาวนาน และไม่ได้ส่งผลดีต่อคนในคอมมูนิตี้เลยแม้แต่น้อย เพราะนอกจากจะเป็นการหยิบเอาอัตลักษณ์คนที่มีความหลากหลายทางเพศไปใช้ ยังทำให้กลายเป็นเรื่องที่น่าอาย เพราะต้องแอบซ่อนอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถเปิดเผยได้ หรือใช้เป็นแค่เครื่องมือเท่านั้น เพื่อเรียกให้คนเข้ามาดู ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันนี้ กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังไม่ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับ cis people เลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิที่จะเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ สิทธิในการแต่งงานกับเพศเดียวกัน สิทธิที่จะรักอย่างเปิดเผย หรือแม้กระทั่งการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน เหมือนที่เราเคยได้พูดกันไปในครั้งที่แล้วเกี่ยวกับปัญหา Love is Love is not enough นั่นเอง

เราอาจจะบอกได้ว่า Queerbaiting เป็นการสร้างภาพลวงตาให้กับคนนอกได้เห็นและรับรู้ว่า อ๋อ คนที่เป็นเกย์ก็มักจะเป็นแบบนี้ คนที่เป็นเลสเบี้ยนก็คือแบบนี้ รวมไปถึงการสร้างแฟนตาซีให้กับผู้พบเห็น แถมยังมีเรื่องเกี่ยวกับการวางกรอบเจนเดอร์ไบนารี่ให้กับตัวละครนั้นๆ ทั้งที่จริงแล้ว นั่นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาเป็นด้วยซ้ำ

นอกจากนี้แล้ว เควียร์เบตสร้างกระแสและพื้นที่สื่อให้ไปสนใจในสิ่งนั้นมากกว่าชาว LGBTQIAN+ กันเองด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกระแสพื้นที่บนเวทีรับรางวัล ที่มีผู้หญิงสองคนจูบกัน สร้างความฮือฮาให้กับสื่อ หรือการนำคู่จิ้นมาเป็นจุดขายให้กับซีรีส์ ภาพยนตร์ ทั้งที่ทั้งสองบุคคล ไม่ใช่คนในคอมมูนิตี้ LGBTQIAN+ แต่เป็นแค่เพียงการสร้างกระแสให้กับแฟนๆ ได้ติดตาม ทั้งในตัวบุคคลจริงๆ และรวมไปถึงผลงานที่จะมีการนำเสนอออกมาก็ตาม

ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคปัจจุบันที่ใครๆ ก็สามารถสร้างคอนเทนต์ได้ ก็อาจจะทำให้หลายๆ คนไม่ได้ตระหนักถึงอันตรายของ queerbaiting ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อปัญหานี้อยู่ในสื่อกระแสหลักมากขึ้น อย่างการที่เราเห็นตัวละครเพศเดียวกันแกล้งจูบเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับคนอื่นๆ ในโชว์เรื่องนั้น ก็อาจจะทำให้ cis people หลายๆ คนคิดว่า สามารถทำได้เช่นกัน อย่างบนแพลตฟอร์ม TikTok ที่มีครีเอเตอร์แกล้งทำคลิป come out ในวัน April Fool โดยทำเป็นเรื่องตลกออกมา หรือแกล้งจูบเพื่อนแต่แก้ตัว เป็นต้น นั่นก็ถือว่าเป็นเควียร์เบตเช่นกัน และทำให้กลายเป็นเรื่องตลก โดยที่พวกเขาอาจจะไม่ทันได้คิด แต่นั่นก็คือปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและยังคงเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง

trans lgbtqian australia lgbtq
Protest of the Religious Discrimination Bill by LGBTQI+ Activists in Sydney, Australia (Feb 12, 2022)
Photo by Nikolas Gannon on Unsplash

ผลงานที่เห็นชัดๆ เลยว่า Queerbaiting

Supergirl (2015-2021) ซีรีส์ที่ถูกขนานนามว่าเป็นซีรีส์ Queerbaiting ของแท้ แม้ว่าแฟนๆ จะพยายามแค่ไหนก็ตาม ด้วยตัวเรื่องที่เล่าเรื่องราวของ Kara Danvers หรือ Kara Zor-El หรือที่ทุกคนรู้จักกันในนาม Supergirl กับความสัมพันธ์ระหว่างเธอและ Lena Luthor น้องสาวของ Lex Luthor คู่ปรับของซูเปอร์แมนนั่นเอง แม้ว่าในตัวของคาร่าและลีน่าต่างจะมีแฟนเป็นผู้ชายกันทั้งคู่ ต่อให้เลิกกันบ้าง คบกันบ้าง แต่คู่นี้ก็ไม่เคยที่จะกลายมาเป็นคู่รักต่อกัน ทั้งๆ ที่ตัวโชว์เองก็พยายามสร้างโมเมนต์ให้กับคู่นี้ ตั้งแต่เริ่มจนถึงตอนสุดท้ายของซีรีส์เรื่องนี้ สุดท้ายแล้ว ก็เป็นแค่การสร้างภาพลวงให้กับแฟนๆ ได้ชิป เพื่อสร้างเป็นกระแสให้ผู้ชมยังคงติดตามชมกันต่อไป แม้ว่าซีรีส์เรื่องนี้จะมีการนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มเลสเบี้ยนและทรานส์เจนเดอร์ก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนว่า ซีรีส์ก็ยังอาศัยความเควียร์เบตของ Supercorp เป็นแกนหลักอยู่ดี

นอกจากนี้แล้วยังรวมไปถึงกลุ่มคู่จิ้นต่างๆ ที่เป็นตัวบุคคลจริงๆ ซึ่งนั่นก็ล้วนแล้วแต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียกกระแส เรียกเรตติ้ง แล้วก็สร้างเอนเกจเมนต์ให้กับตัวเอง โดยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนในคอมมูนิตี้ LGBTQIAN+ เลยแม้แต่น้อย อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเกาะกระแสเพื่อหากินบนอัตลักษณ์ของคนอื่นๆ โดยไม่ได้สร้างการตระหนักรู้ อีกทั้งยังส่งผลให้คนนอกมองเข้ามาแล้วรู้สึกไม่ดี ไปจนถึงทำให้คนในคอมมูนิตี้เองรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อการกระทำที่คู่จิ้นทำขึ้นมา

แล้ว Queerbaiting ทำร้ายคนใน LGBTQIAN+ อย่างไร

หลายคนอาจจะคิดว่า Queerbaiting เป็นเรื่องเล็กๆ ที่ไม่ได้ทำร้ายอะไรคนในชุมชนแห่งนี้เลยสักนิด แต่รู้หรือไม่ว่านี่คือหนึ่งในสาเหตุที่เห็นได้ชัดเลยว่า สังคมยังไม่ได้มีการยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศเลยด้วยซ้ำ อีกทั้งยังเป็นการลดทอนอัตลักษณ์และตัวตนของแต่ละคนอีกด้วย อาจจะบอกได้ว่า พวกเขาพยายามที่จะเอาอัตลักษณ์ของคนอื่นมาขาย มาสร้างเป็นคอนเทนต์ เพื่อผลประโยชน์ทางการตลาดแค่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้เล็งเห็นว่ามันคืออันตรายและย้อนกลับมาทำร้ายชุมชนในระยะยาว เมื่อผู้ผลิตสื่อเห็นว่ามีคนสนใจและตกเป็นเหยื่อของการตลาด ก็ยิ่งมีการสร้างคอนเทนต์แบบ queerbaiting ออกมาเรื่อยๆ และไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างแท้จริง

สามารถรับฟังพอดแคสต์เกี่ยวกับ Queerbaiting ได้ทาง YouTube, Spotify และ Apple Podcasts

Sources:

  • https://bookriot.com/what-is-queerbaiting-vs-queer-coding/
  • https://hypebae.com/2020/6/queer-baiting-what-is-it-why-harmful-lgbtq-community-tv-shows
  • https://time.com/5922679/lavender-scare-history/
  • https://twitter.com/femfemfoofoo/status/1387330332588863489
  • https://westerngazette.ca/features/special_editions/pride_isssue/let-s-talk-about-queerbaiting/article_d70f3e42-7b7b-11eb-ba73-03a22a314f76.html
  • https://www.blockdit.com/posts/5f81dac8d74c3a12adb87484
  • https://www.facebook.com/brandthink.me/posts/3126515981007266
  • https://www.health.com/mind-body/lgbtq-health/queerbaiting
  • https://www.pinknews.co.uk/2018/02/26/what-is-queerbaiting-everything-you-need-to-know/
  • https://www.rollingstone.com/culture/culture-features/queerbaiting-lgbtq-community-1201273/
  • https://www.theoxfordblue.co.uk/2022/02/08/the-tropes-of-tiktok-lesbians/
  • https://www.voicesfromfirends.org/post/selling-the-rainbow-การตลาดส-ร-ง
Previous

Jodie Comer กับการรับบท Tessa ในละครเวทีเรื่อง Prima Facie

เปิดลิสต์ผลงานสุดปังของ Jodie Comer ที่คุณไม่ควรพลาด

Next