วันที่ 31 มีนาคมของทุกปีคือวัน Transgender Day of Visibility เป็นวันที่พวกเราจะได้แสดงความยินดีและความภาคภูมิใจกับคนข้ามเพศ รวมทั้งเพิ่มความตระหนักและยืนหยัดเพื่อคนกลุ่มนี้ ในฐานะเพื่อนในกลุ่ม LGBTQIAN+ และในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งให้มีพื้นที่และไม่ถูกละเลยจากสังคม วันนี้เรามาทำความรู้จักคนข้ามเพศให้มากขึ้น ผ่านบทความนี้กัน
แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับเพศ
โดยปกติ เมื่อเราพูดถึงคำว่า “เพศ” ความคิด (อัตโนมัติ) ของคนส่วนใหญ่มักนึกถึงเพศหญิงและเพศชาย คำตอบเหล่านี้อาจไม่เกินความคาดหมาย เพราะเราถูกปลูกฝังมาเป็นเวลานานทั้งทางสังคม รวมถึงในบทเรียนเชิงวิชาการว่าสิ่งมีชีวิตทั่วไปไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือพืชก็แบ่งเป็นสองเพศทั้งนั้น ดังนั้น คำว่า “เพศ” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Sex” นั้นหมายถึงเพศที่เราได้รับมาตั้งแต่เกิด ซึ่งแนวคิดลักษณะนี้เกิดจากการแบ่งโครงสร้างทางสรีระภาพของมนุษย์ (รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย) เราทราบกันดีว่าหลักๆ เราแบ่งเพศได้เป็นชายและหญิง แต่ว่าบนโลกนี้ก็มีคนบางกลุ่มเกิดมามีอวัยวะเพศที่กำกวม (Ambiguous Genitalia) เราจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “Intersex” ซึ่งเพศที่กำกวมนี้อาจเป็นได้ทั้งอวัยวะเพศทั้งภายนอกและภายใน เช่น บางคนเกิดมามีรังไข่อยู่ภายใน แต่ลักษณะอวัยวะเพศภายนอกคล้ายเพศชาย (มีคลิตอริสที่ใหญ่) เป็นต้น
และนั่นคือความหมายของคำว่า “Sex” หรือ “เพศกำเนิด” ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดจากกระบวนการทางกายภาพ (Physical Construction) แต่ว่าเพศในบริบทสังคมปัจจุบันไม่ได้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นสิ่งที่สามารถเกิดจากกระบวนการทางสังคม (Social Construction) ได้อีกด้วย ซึ่งจะนำไปสู่คำว่า “เพศสภาพ” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “Gender” หรือบางคนอาจเรียกว่า “อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity)” ซึ่งหมายถึงเพศที่เกิดจากความรู้สึกภายใน ว่าตัวเรานั้นอยากที่จะเป็นเพศอะไร เช่น อยากเป็นผู้หญิง (Female) ผู้ชาย (Male) หรือบางคนอาจจะรู้สึกว่าการเลือกความเป็นหญิงหรือชายทางใดทางหนึ่ง อาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับตนเอง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน
บางครั้งเพศก็ส่งผลกระทบกับชีวิตของของคนบางกลุ่ม เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นมักถูกคาดหวังให้มีความเป็นหญิงหรือความเป็นชาย ผ่านเพศกำเนิดของตนเอง เช่น ถ้าเป็นผู้ชายต้องใส่กางเกง ห้ามร้องไห้ หรือเล่นของเล่นที่เกี่ยวกับอาวุธ (เช่น ปืน และมีด) ส่วนผู้หญิงต้องอ่อนหวาน ชอบสีชมพู หรือทำงานบ้านเก่ง คำพูดเหล่านี้ เป็นสิ่งที่คอยตีกรอบและกำหนดว่าตัวเราสมควร/ไม่สมควรที่จะทำอะไร ทั้งๆ ที่จริงแล้วกิจกรรมต่างๆ หรือไลฟ์ไตล์ในการใช้ชีวิตเป็นเรื่องปัจเจก ทุกคนควรมีอิสระที่จะชอบหรือไม่ชอบทำกิจกรรมอะไรโดยที่ไม่ควรถูกจำกัดที่เพศ
บางคนอาจรู้สึกพึงพอใจกับเพศที่ได้รับมาตั้งแต่เกิด เช่น เพศกำเนิดเป็นเพศหญิง และรู้สึกพอใจที่ได้ตนเองเป็นเพศหญิง สบายใจกับการถูกเรียกด้วยสรรพนาม She/Her แต่สำหรับบางคนอาจพบว่าเพศที่ตนเองได้รับมาแต่กำเนิดไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง รู้สึกอึดอัดที่ถูกบังคับให้ใส่กระโปรง หรือเรียกด้วยสรรพนาม She/Her แม้ตนเองจะมีเพศกำเนิดเป็นเพศหญิง ซึ่งการที่คนคนหนึ่งจะรู้สึกเช่นนี้ เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด และนั่นคือโลกของกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า “คนข้ามเพศ (Transgender)”
ทำความรู้จักกับ Transgender
“คนข้ามเพศ” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Transgender” หรือ อาจเรียกสั้นๆ ว่า “ทรานส์ (Trans)” คือกลุ่มคนที่อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ไม่ตรงกับเพศกำเนิด (Sex) ยกตัวอย่างเช่น บุคคลหนึ่งมีเพศกำเนิดเป็นเพศชาย แต่มีความรู้สึกว่าตนเองมีความเป็นเพศหญิง และรู้สึกสบายใจที่จะอธิบายตนเองว่าเป็นเพศหญิง หรือในบางคนรู้สึกว่าการเลือกที่จะเป็นเพศหญิงหรือเพศชายอย่างใดอย่างหนึ่งอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมที่สำหรับตัวเอง อาจจะเหมาะสมกับคำว่า “นอนไบนารี่ (Non-Binary)” หมายถึงคนที่ไม่เข้ากรอบทั้งเพศหญิงหรือเพศชาย ก็ได้ ส่วนคนกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับเพศกำเนิดจะเรียกว่า “Cisgender” ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่ทางบวกที่เรียกกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนข้ามเพศ ใช้เรียกแทนตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์อื่นที่ไม่สุภาพ เช่น คนบางกลุ่มที่ไม่ใช่ทรานส์อาจเรียกตนเองว่าคนปกติ (Normal People) ซึ่งเป็นคำที่ไม่สุภาพและไม่เคารพกลุ่มคนข้ามเพศเป็นอย่างมาก
คนข้ามเพศจะมีวิธีแสดงออกในเพศสภาพของตนแตกต่างกันออกไป เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง กระบวนการเหล่านั้นเราเรียกว่า “Transitioning” ซึ่งกระบวนการนี้แบ่งได้คร่าวๆ สองแบบ ได้แก่ “Social Transitiong” หมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตน นั่นคือการที่คนคนหนึ่งจะปฏิบัติต่อสังคมและผู้อื่นอย่างไรในฐานะคนข้ามเพศ เช่น การบอกให้เพื่อนหรือครอบครัวทราบว่าตนเองเป็นทรานส์ (Coming Out) การใช้ห้องน้ำที่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตน การเปลี่ยนชื่อใหม่ หรือเปลี่ยนสรรพนามในการเรียกตนเอง เป็นต้น ส่วน “Physical Transitioning” หมายถึงการเปลี่ยนแปลงลักษณะภายนอกให้เป็นไปตามสิ่งที่รู้สึกเหมาะสมและตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง เช่น การเปลี่ยนแปลงเสื้อผ้า ทรงผม หรือการพบแพทย์เพื่อรับฮอร์โมน หรือผ่าตัด เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการ Transitioning ของคนข้ามเพศก็มีความแตกต่างกันไป คนข้ามเพศทุกคนไม่ได้อยากพบแพทย์เพื่อรับฮอร์โมน แล้วจบด้วยการผ่าตัดเสมอไป หรือการจะเป็นคนข้ามเพศได้ต้องผ่าตัดเท่านั้น ก็เป็นเรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับกลุ่มทรานส์ เพราะแต่ละบุคคลก็มีข้อจำกัด (ทั้งทางสังคม ครอบครัว และการเงิน) ในกระบวนการ Transitioning แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมและความสบายใจ บางคนอาจเลือกที่จะผ่านหรือไม่ผ่านกระบวนการ Transitioning เลยก็ได้ ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ทำให้คุณ ไม่ได้เป็นคนข้ามเพศ หรือ มีคุณค่าลดลงเลยแม้แต่น้อย กระบวนการนี้ล้วนขึ้นอยู่กับความพร้อมของทั้งร่างกายและจิตใจ แต่สิ่งสำคัญคือ ขอเพียงแค่รู้ว่าตัวเราเองคือใคร สิ่งใดที่ใช่ และเหมาะสม เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับคนข้ามเพศมากขึ้น การเป็นทรานส์ ไม่ใช่ความผิดปกติ หรือเรื่องที่ผิดบาป แต่พวกเขาคือความหลากหลายที่สวยงามอย่างหนึ่งของธรรมชาติ คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีสิทธิเท่าเทียมกับซิสเจนเดอร์ และสมควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมโดยที่ไม่ถูกล้อเลียนและทำร้ายร่างกาย พวกเราควรให้เกียรติและปฏิบัติกับคนข้ามเพศเช่นเดียวกันกับเพื่อนมนุษย์ทั่วไป นั่นคือการยอมรับในตัวตนของบุคคลนั้นและให้เกียรติกัน พยายามเรียนรู้แนวคิดพื้นฐานของ LGBTQIAN+ เรียกชื่อที่เขาต้องการที่จะให้เรียก และใช้สรรพนามให้ถูกต้อง และไม่นำเรื่องคนข้ามเพศมาล้อเลียน เพียงแค่นี้ทุกคนก็สามารถเป็นเพื่อนที่ดีของคนข้ามเพศได้แล้ว
นอกจากนี้แล้วยังสามารถทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SOGIESC ได้ เพื่อทำความเข้าใจขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับ LGBTQIAN+ ได้อย่างง่ายดาย ผ่านทาง YouTube, Spotify และ Apple Podcasts ของ Sapphicity ได้เลย
เพจที่เกี่ยวข้องกับคนข้ามเพศ
- https://www.facebook.com/profile.php?id=100064172494155
- https://www.facebook.com/thaitga/
- https://www.facebook.com/THATHAPPINESS/
- https://www.glaad.org/transgender/transfaq
Source:
- https://medlineplus.gov/ency/article/001669.htm
- https://www.cdc.gov/lgbthealth/transgender.htm
- https://www.glaad.org/transgender/transfaq
- https://www.plannedparenthood.org/learn/gender-identity/sex-gender-identity/whats-intersex
- https://www.plannedparenthood.org/learn/gender-identity/transgender/what-do-i-need-know-about-transitioning