หลังจากที่อยู่กับโควิดมาเป็นปี เรารู้กันดีว่าวิถีการใช้ชีวิตของพวกเราเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง New normal ที่ทุกคนต้องอยู่แต่บ้าน หลายสถานที่ต้องงดให้บริการไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โรงภาพยนตร์ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นเดียวกัน แต่ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะได้หวนคืนสู่บรรยากาศที่คุ้นเคย มาเสพภาพยนตร์ให้เต็มตาอีกครั้งกับ French Cinema Season (ฤดูหนังฝรั่งเศส) กิจกรรมสุดพิเศษจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย รวมทัพภาพยนตร์ฝรั่งเศสกว่า 70 เรื่อง และยังมีเนื้อหาอื่นๆ อีกหลากหลายแนวที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ทั้งหนังสั้น สารคดี และแอนิเมชั่น มาให้เราได้เสพกันอย่างจุใจ
เมื่อใดก็ตามที่เอ่ยถึงหนังคุณภาพที่ตีแผ่เรื่องเพศและความเป็นไปในสังคม ก็มักจะมีชื่อของเซลีน เซียมมาปรากฏขึ้นมาด้วยเสมอ เพราะฉะนั้นโปรแกรมฉายสุดพิเศษ Celine Sciamma Retrospective ก็เป็นสิ่งที่พลาดทุกคนไม่ควรพลาด รวมภาพยนตร์ของผู้กำกับชาวฝรั่งเศสมากฝีมืออย่างเซลีน เซียมมา (Celine Sciamma) มีรอบฉายให้เราได้เลือกชมตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม ไปจนถึง 16 มกราคม 2565 ที่กรุงเทพและเชียงใหม่ (SF Cinema, Major Cineplex, House Samyan และ Doc Club & Pub.) และหนึ่งในนั้นก็มี Portrait of a Lady on Fire ภาพยนตร์แซฟฟิกที่เชื่อว่าตอนนี้คงเป็นหนังขึ้นหิ้งของใครหลายๆ คนไปแล้ว ซึ่งนอกจากที่ทุกคนรู้จักเซลีนในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์แล้ว อีกด้านหนึ่งเธอใช้เวลาไปกับการเขียนบทภาพยนตร์ที่ทำให้เธอนั้นคว้ารางวัลเขียนบทยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาแล้วในปี 2019
Celine Sciamma Retrospective
Portrait of a Lady on Fire
ภาพของหญิงสาวพร้อมกับไฟที่ปลายกระโปรงที่ทั้งสวยงามและสะดุดตาในเวลาเดียวกันคงเป็นที่คุ้นตากันไม่น้อย รวมถึงผู้หญิงสองคนยืนอยู่ริมทะเล เสียงคลื่นซัด ภาพของสาวชุดเขียว และหนังสือหน้า 28 กลายเป็นภาพจำของภาพยนตร์เรื่อง Portrait of a Lady on Fire (Portrait de la jeune fille en feu) ที่ยากจะลืมเลือน
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ‘มาคิอาน’ (Marianne รับบทโดย Noémie Merlant) จิตรกรผู้ซึ่งถูกว่าจ้างให้เดินทางไปยังเกาะอันห่างไกลเพื่อที่จะแอบวาดภาพเหมือนของ ‘เอโลอิส’ (Héloïse รับบทโดย Adèle Haenel) หญิงสาวที่กำลังอยู่ในช่วงการดูตัวและต้องส่งรูปของเธอให้กับหนุ่มมิลานคนหนึ่ง ความจริงแล้วเธอไม่ได้ต้องการที่จะแต่งงานเลยแม้แต่น้อย ทำให้เธอไม่เปิดใจและไม่พอใจกับมาถึงของมาคิอาน แต่ด้วยความพยายามของมาคิอานที่พยายามเข้าหาเอโลอิสมาตั้งแต่ต้น ทุกสิ่งทุกอย่างไปไกลเกินกว่าที่คิด เพราะความรู้สึกของพวกเขาไม่ได้หยุดอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างนางแบบกับจิตรกรอีกต่อไปแล้ว
เรื่องงานภาพเซลีนตั้งใจถ่ายทำด้วยความละเอียดแบบ 8k ด้วยเหตุผลที่ว่าอยากคงคุณภาพของสีในแต่ละฉากไว้ให้ได้มากที่สุด และเพื่อจะทำให้คนดูรู้สึกเหมือนกำลังดูภาพวาดที่มีชีวิต แต่กลับจำเป็นที่จะต้องลดความละเอียดลงมาระดับ 4k เมื่อเข้าฉายในโรงภาพยนตร์
ภาพยนตร์แซฟฟิคจากมุมมองของผู้หญิงเรื่องนี้เข้าชิงและคว้ารางวัลไปมากมาย ตัวเซลีนเองก็คว้ารางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ในสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Screenplay) และสาขาหนังเควียร์ยอดเยี่ยม (Queer Palm) รวมถึงยังได้เข้าชิงในรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดของคานส์
ฉายที่ House Samyan พร้อมกันกับ Central Festival เชียงใหม่ ในวันที่ 9 มกราคม และ Doc Club & Pub. ในวันที่ 13 และ 15 มกราคมนี้
Girlhood
Girlhood (Bande de filles: group of girls) ภาพยนตร์ที่ได้เข้าชิงรางวัลซีซาร์ถึง 4 รางวัล หนึ่งในนั้นเป็นของเซลีนที่ได้เข้าชิงในสาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Director) รวมถึงยังได้ฉายรอบพรีเมียร์ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์และเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์อีกด้วย
เรื่องนี้เป็นหนังแนว Coming of age เรื่องที่สามแล้วของเซลีน ทว่าเธอยังคงนำเสนอมุมมองแปลกแหวกแนวออกมาได้เสมอ คราวนี้เธอตั้งใจที่จะสื่อถึงการปลุกพลังหญิง (Women Empowerment) ผ่านเรื่องราวของกลุ่มสาวๆ ที่คอยสนับสนุนกันและกัน จากมุมมองของตัวละคร ‘มาเรียม’ (Marieme รับบทโดย Karidja Touré) วัยรุ่นสาวที่อาศัยอยู่แถวชานเมืองของปารีส เผชิญกับปัญหาด้านการเรียน การเงิน ไปจนถึงพี่ชายที่คอยทำร้ายเธอ จึงทำให้มาเรียมตัดสินใจหนีออกมาและเข้าร่วมแก๊งของ ‘เลดี้’ (Lady รับบทโดย Assa Sylla) รวมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น ‘วิค’ (Vic ย่อมาจาก Victory) การผจญภัยครั้งนี้ทำให้เธอได้ใช้ชีวิตแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ส่งผลให้ชีวิตของเธอหลังจากนี้เปลี่ยนไปตลอดกาล
นอกเหนือจากการปลุกพลังหญิงในเรื่องแล้ว การที่เซลีนเลือกจะฉายสปอร์ตไลท์ไปยังเรื่องราวของเด็กวัยรุ่นผิวดำ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเธอมองว่าวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศสยังไม่เปิดกว้างมากนักกับความหลากหลายทางเชื้อชาติ เพศ และชนชั้นทางสังคม ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องราวยังสะท้อนเราให้เห็นถึงปิตาธิปไตยที่ว่า แม้แต่ในบ้านก็ยังไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง กลับเป็นโลกภายนอกที่ใจดีกับเธอมากกว่าคนในครอบครัว
ฉายที่ Doc Club & Pub. พร้อมกับ Maya เชียงใหม่ ในวันที่ 10 มกราคม และ House Samyan ในวันที่ 14 มกราคมนี้
Tomboy
สำหรับใครหลายคนการค้นหาตัวตนอาจจะเริ่มขึ้นช่วงวัยรุ่น แต่ ‘ลอร์’ (Laure รับบทโดย Zoé Héran) นั้นมันเกิดขึ้นตั้งแต่ที่เขาอายุเพียง 10 ปี ลอร์มีเพศกำเนิดเป็นเพศหญิงแต่เขารู้สึกว่าอึดอัดกับร่างกายที่เป็นอยู่ เขาตัดสินใจที่จะแต่งกายต่างออกไป ภายนอกของเขาจึงแทบไม่ต่างจากเด็กผู้ชายคนอื่นๆ เมื่อช่วงฤดูร้อนมาถึง ครอบครัวของลอร์ได้ย้ายบ้านไปอยู่ในละแวกบ้านใหม่ ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกของเขาก็ทำให้ทุกคนเข้าใจว่าเขาเป็นเด็กผู้ชาย เขาก็ปล่อยให้มันเป็นไปเช่นนั้น ทั้งยังบอกว่าตนเองนั้นชื่อ ‘มิคาเอล’ (Mickaël) ทีนี้เราคงต้องมาลุ้นไปด้วยกันว่าสุดท้ายแล้วเขาจะบอกความจริงหรือเก็บงำมันไว้
อย่างไรก็ตามถึงหนังเรื่องนี้จะเป็นหนัง Coming of age แต่จริงๆ แล้ว Tomboy กลายเป็นหนังครอบครัวที่ตอนนี้ยังคงฉายตามโรงเรียนหลายแห่งในฝรั่งเศส สำหรับพ่อแม่ในการทำความเข้าใจความรู้สึกและความคิดของเด็ก รวมถึงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของเบื้องหลังเซลีนเล่าว่าเธอใช้เวลาเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้เพียงแค่ 3 อาทิตย์ และหลังจากนั้น 2 เดือนก็เริ่มถ่ายทำซึ่งใช้เวลาประมาณ 20 วันเท่านั้นเอง ถึงจะเป็นระยะเวลาอันสั้นแต่คุณภาพก็คับจอ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้คว้ารางวัลจากเทศกาลหนังเบอร์ลินในสาขาภาพยนตร์แอลจีบีทียอดเยี่ยม (Best Film with LGBT Themes) และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย
ฉายที่ Paragon Cineplex พร้อมกับ Central Festival เชียงใหม่ ในวันที่ 11 มกราคม และ SF Central World ในวันที่ 15 มกราคมนี้
Water Lilies
Water Lilies (Naissance des Pieuvres) เป็นภาพยนตร์เรื่องแรงของเซลีน ทั้งในแง่ของการกำกับและการเขียนบทภาพยนตร์ แม้ตอนนั้นจะใหม่มากในวงการนี้ แต่เธอก็ได้เข้าชิงรางวัลซีซาร์ ในสาขาภาพยนตร์เรื่องแรกยอดเยี่ยม (Best First Feature Film) และชนะในสาขาผลงานเรื่องแรกยอดเยี่ยม (Best Debut) รวมถึงนักแสดงนำทั้ง อแดล แอแนล (Adèle Haenel) และ ลุยอิส์ บลาแชร์ (Louise Blachère) ก็ได้เข้าชิงสาขานักแสดงดาวรุ่งหญิงยอดเยี่ยม (Most Promising Actress) ด้วยเช่นกัน
เรื่องราวว่าด้วยปัญหาวุ่นๆ ของเด็กสาววัย 15 ปีทั้งสามคน ‘มารี’ (Marie รับบทโดย Pauline Acquart), ‘ฟลอเรียน’ (Floriane รับบทโดย Adèle Haenel) และ ‘แอนน์’ (Anne รับบทโดย Louise Blachère) พวกเธอต้องเผชิญกับความรู้สึกสับสนและความยุ่งเหยิงของการตกหลุมรักและเรื่องเพศ วันหนึ่งมารีได้ไปชมระบำใต้น้ำที่แอนเพื่อนสนิทของเธอร่วมแสดง เมื่อการแสดงจบลง เธอได้พบกับฟลอเรียน กัปตันทีมที่ใครได้เห็นเธอก็คงหยุดมองไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่มารีเองก็มีความรู้สึกบางอย่างเกิดขี้น จะเรียกว่าตกหลุมรักฟลอเรียนก็คงไม่ผิดนัก แต่ใดๆ แล้วเสน่ห์ของฟลอเรียนก็เหมือนกับดาบสองคม เธอเองก็ต้องเผชิญกับความอึดอัดใจจากผู้ชายและผู้คนรอบข้างที่ต่างเข้าใจเธอผิด หนึ่งในนั้นมีผู้ชายที่แอนน์ตกหลุมรักแต่เขาคนนั้นกลับมีใจให้ฟลอเรียนมากกว่า
ฟังเผินๆ อาจดูเหมือนหนัง Coming of age ทั่วไป แต่ Water Lilies สำหรับผู้หญิงแล้วสิ่งเหล่านี้อาจจะเคยเกิดขึ้นหรือกำลังพบเจออยู่ การดูหนังเรื่องนี้ก็เหมือนได้เจอกับคนที่เผชิญปัญหาเดียวกัน กลับกันผู้ชายก็จะได้เห็นเรื่องราวในอีกแง่มุมที่ไม่เคยได้รับรู้มาก่อน อีกทั้งยังให้ความรู้สึกแปลกใหม่ที่คุณจะไม่ได้สัมผัสจากหนังเรื่องอื่นแน่ๆ สิ่งพิเศษที่เซลีนตั้งใจใส่ลงไปก็คือการไม่ให้เรารับรู้ว่าเวลาผ่านไปเท่าไหร่แล้วในขณะที่ชม จึงไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือนาฬิกาให้เห็นเลยแม้แต่ฉากเดียว
ฉายที่ SF Central World พร้อมกับ Maya เชียงใหม่ ในวันที่ 12 มกราคม และ Paragon Cineplex ในวันที่ 16 มกราคมนี้
My Life As a Zucchini
สำหรับคนรักแอนิเมชันสต็อปโมชัน พลาดไม่ได้กับภาพยนตร์สุดแสนน่ารักอย่าง My life as a Zucchini (Ma vie de Courgette) ซึ่งเซลีนและทีมเขียนบทได้ดัดแปลงมาจากนิยาย Autobiographie d’une Courgette ของ กิลล์ ปาคี (Gilles Paris) ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าชิงออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยม (Best Animated Feature Film of the Year) และทำให้เซลีนคว้ารางวัลซีซาร์ สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (Best Adapted Screenplay) มาครอง และนี่เป็นอีกหนึ่งเครื่องพิสูจน์ได้ดีเลยทีเดียวสำหรับบทบาทการเขียนบทของ เซลีน เซียมมา
เปิดมาด้วยชีวิตของเด็กชายที่มีชื่อว่า ‘อิการ์’ (Icare) แต่เขาเลือกที่จะเรียกแทนตัวเองว่า ‘ซูกินี’ (Zucchini) วันหนึ่งก็มีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น แม่ของเขาผลัดตกจากตึกเสียชีวิต ซูกินีจึงถูกส่งตัวไปยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เหมือนกับการก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่สำหรับเขา
จากวันแรกที่เป็นคนแปลกหน้ากลับแปรเปลี่ยนเป็นมิตรภาพที่ตัดกันไม่ขาด เด็กๆ ต่างเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปให้กันและกัน ซึ่งทำให้สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้กลายเป็นที่ที่เต็มไปด้วยความรักอบอุ่นอย่างไม่น่าเชื่อ
ฉายเฉพาะที่ Paragon Cineplex ในวันที่ 11 มกราคมนี้เท่านั้น
Petite Maman
เซลีนจะพาเราดำดิ่งสู่เรื่องราวที่อบอุ่นและเคล้าน้ำตาไปในเวลาเดียวกันในภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเธอ Petite Maman หนังดราม่ากึ่งแฟนตาซีที่เล่าถึงการสูญเสียและความเศร้าที่ได้เข้ามาปกคลุมจิตใจของ ‘เนลลี่’ (Nelly) เด็กหญิงอายุ 8 ขวบต้องเผชิญกับการจากไปของคุณยายและทำให้ ‘มาคิยง’ (Marion) แม่ของเนลลี่จะต้องกลับมายังบ้านสมัยเด็ก การมาเจอสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยยิ่งทำให้เธอทำใจกับการสูญเสียยากขึ้นไปอีก จึงทำให้มาคิยงหนีออกจากบ้านไป ในวันเดียวกันนั้นเนลลี่เจอกับเด็กวัยเดียวกันที่มีชื่อเหมือนกับแม่ของเธอ รวมถึงมีหลายสิ่งเหมือนกันอย่างน่าไม่เชื่อ เธอจึงสงสัยว่าหรือมาริออนคนนี้จะเป็นแม่ของเธอในวัยเด็ก
บทของภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งเซลีนเผยว่าเธอได้แรงบันดาลใจมาจากอนิเมะญี่ปุ่น โดยเฉพาะเรื่อง Princess Mononoke และ My Neighbor Totoro ของฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) ที่นำเสนอเรื่องราวในมุมของเด็กๆ และเชื่อมั่นว่าเด็กเป็นกลุ่มคนดูสำคัญไม่แพ้กันกับช่วงวัยอื่น ยิ่งไปกว่านั้นองค์ประกอบอื่นๆ อย่างฉากหรือเสื้อผ้าในเรื่องนี้เธอยังคงความไร้กาลเวลาเอาไว้ เป็นเพราะเธออยากจะสื่อมุมมองที่ว่า ‘ถึงแม้เราจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว วัยเด็กของเราก็จะยังคงอยู่ในตัวเราเสมอไม่ว่าจะผ่านมากี่ปีแล้วก็ตาม’
ฉายพร้อมกันทั้ง SF Central World, Major Cineplex, Doc Club & Pub. และ House Samyan ในวันที่ 13 มกราคมนี้
Sources:
- ioncinema.com/news/uncategorized/interview-celine-sciamma-water-lilies
- dailytitan.com/lifestyle/review-portrait-of-a-lady-on-fire-is-like-watching-a-painting-come-to-life/article_2a8497d9-ff76-50d3-8037-acf3dd8e6c12.html
- twitter.com/HalDistribution/status/1476492305708109825
- twitter.com/HalDistribution/status/1471777053045235716
- twitter.com/HalDistribution/status/1472109747046215687
- twitter.com/HalDistribution/status/1472897416420466689
- fb.me/e/1sXgoOARQ
- hollywoodreporter.com/movies/movie-news/berlin-film-festival-2021-celine-sciamma-interview-petite-maman-4143344/
- anothermag.com/design-living/13723/its-about-sisterhood-celine-sciamma-on-her-new-film-petite-maman
- seventh-row.com/2015/02/01/celine-sciamma-girlhood/
- womenandhollywood.com/interview-with-celine-sciamma-writer-director-of-tomboy-f3987112b60b/
- jezebel.com/an-interview-with-celine-sciamma-director-of-girlhood-1683367053