อบอุ่นหัวใจส่งท้ายปีไปกับ CODA หัวใจไม่ไร้เสียง

| |

CODA / Mongkol Major
CODA / Mongkol Major

CODA เป็นผลงานการกำกับและเขียนบทของ Siân Heder ที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม และได้รับการตอบรับอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นจากการฉายในงาน Sundance Film Festival 2021 ที่ได้รับรางวัล Grand Jury, รางวัลขวัญใจผู้ชม, รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม และรางวัลพิเศษสำหรับทีมนักแสดง

เข้าชิง Golden Globe Awards ครั้งที่ 79 ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Troy Kostur) และเข้าชิง Critics Choice Awards ครั้งที่ 27 ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม นักแสดงดาวรุ่งหญิง (Emilia Jones) และนักแสดงสมทบชาย (Troy Kostur)

ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นภาพยนตร์ที่เป็นกระแสและชนะใจมาแล้วทั่วโลก ได้รับการรีวิวจากสื่อสำนักต่างๆ ว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้คุณหัวเราะ ร้องไห้ มีความสุข เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และอบอุ่นเป็นอย่างมาก

เข้าฉายในไทยวันที่ 30 ธันวาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์

แล้วสามารถรับชมทาง Netflix ได้แล้ววันนี้ https://www.netflix.com/title/81423558

คำว่า CODA ของชื่อเรื่องนั้นมาจากชื่อเต็มที่ว่า Child Of Deaf Adult(s) หรือลูกของพ่อ-แม่ที่หูหนวก ซึ่งในเรื่องนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับรูบี้ เด็กสาวที่หูปกติ จากครอบครัวที่หูหนวก ทั้งพ่อ แม่ และพี่ชายของเขา หูหนวกทั้งหมด พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง พ่อและพี่ชายเป็นชาวประมงต้องออกไปหาปลา และได้รูบี้ เป็นคนคอยช่วยงานตั้งแต่เช้า เพื่อฟังเสียงวิทยุ คอยตอบ ฟังสัญญาณ ก่อนที่จะเข้าเรียนในตอนเช้านั่นเอง จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอสมัครเข้าชมรมคณะนักร้องประสานเสียงของโรงเรียน และได้พบว่าดนตรีคือสิ่งที่เธอตามหามาแสนนาน และทุกๆ อย่างเริ่มก็เข้ามาสู่จุดพลิกผัน ที่ทำให้เธอต้องตัดสินใจเพื่ออนาคตของตัวเอง

CODA โคด้า หัวใจไม่ไร้เสียง - Official Trailer [ ตัวอย่างซับไทย ]

กว่าจะมาเป็น CODA

La Famille Bélier
La Famille Bélier / Mongkol Major

Siân Heder บอกว่าเขาได้ชมภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่อง La Famille Bélier (2014) ที่เกี่ยวกับเด็กสาวที่เกิดในครอบครัวที่ตาบอดและหูหนวก แต่เธอเป็นคนเดียวในครอบครัวที่ได้ยินและมองเห็นทุกอย่างเหมือนคนปกติ และจุดเปลี่ยนของชีวิตก็คือเธอได้รับคัดเลือกให้ไปเรียนร้องเพลงต่อในกรุงปารีส และนั่นก็ทำให้เธอและครอบครัวต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้เข้าชิงรางวัลเซซาร์ เวทีใหญ่สุดของวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศสอีกด้วย Siân บอกว่าเขารู้สึกประทับใจมากเมื่อได้ดูหนังเรื่องนั้น เพราะว่าเขาแทบไม่เคยเห็นตัวละครที่หูหนวกในจอเลย

“ฉันพยายามไปหาภาพยนตร์ที่มีตัวละครหูหนวกในนั้นนะ แล้วก็ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 35 ปีก่อนเลย เพื่อที่จะเจอหนังเรื่อง ‘Childen of a Lesser God'” ซึ่งในเรื่องนั้น ก็ได้ Marlee Matlin (ผู้รับบท Jackie ในหนัง CODA) นักแสดงหูหนวกและนักเคลื่อนไหว ก็ได้รับรางวัลออสการ์จากหนังเรื่องนี้เมื่อปี 1986 ด้วยอีกด้วย ซึ่งตัวผู้กำกับ Siân Heder ก็ได้เรียน ASL (American Sign Language) ในการถ่ายทำด้วย “ฉันเขียนเป็นภาษาอังกฤษ และฉันก็เขียนวิธีที่ฉันเขียนกับทุกๆ บทที่ฉันเคยทำ พอฉันพูดมันออกมาดังๆ กับตัวเอง และเล่นเองในทุกๆ พาร์ท และได้ยินตัวละครนั้นจริงๆ”

Siân Heder และที่ปรึกษา ASL ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็มานั่งอ่านและทำความเข้าใจทีละบรรทัด บทสนทนาทุกๆ ส่วน และกลับมาหารือกันกับ Ann Tomasetti และ Alexandra Wailes (ที่ปรึกษาด้าน ASL ของ CODA) ก็จะแสดงตัวเลือกภาษามือที่จะเป็นไปได้ให้ Heder ได้ดู “ในฐานะของนักเขียนที่คุณจะได้เห็นตัวอักษรของคุณมีชีวิต และนี่คือรูปแบบที่แท้จริงที่สุดของสิ่งนี้ มันน่าทึ่งมากๆ” นอกจากนี้เขายังบอกกับ The OCR ว่า ตอนทำ CODA นั้น เขายังใหม่กับ ASL มากๆ จนไม่ได้พยายามเขียนโดยคำนึงถึง ASL เลย “ฉันเขียนเรื่องตลกเป็นคำพูดติดปากนะ แล้วทั้ง Ann กับ Alexandra ก็แปลสคริปต์มา เรื่องตลกบางอย่างในบางบทสนทนาก็ใช้ไม่ได้ มันมีหลายอย่างที่รอให้เราค้นหาอยู่ จากนั้น นักแสดงเขาก็มีความคิดเป็นของตัวเองในการเลือกภาษามือมาใช้ มันเป็นเรื่องสนุกที่ได้เห็นสคริปต์กลายเป็นสิ่งที่ไหลลื่นและมีชีวิตขึ้นมาได้กับเหล่านักแสดงที่แตกต่างกัน

เขายังบอกอีกด้วยว่าเขาค้นพบวิธีด่าอีกวิธีหนึ่งด้วย และในการทำภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาเองก็ยอมรับว่ารู้สึกกดดันที่เป็นคนนอก เมื่อเข้ามาในชุมชนแห่งนี้ แต่ว่าการเขียนด้วยภาษาที่ไม่ได้มีรูปแบบการเขียน ทำให้สามารถเจาะลึกสคริปต์ของได้ด้วยวิธีที่ทรงพลังเอามากๆ

การคัดเลือกนักแสดง

Marlee Matlin คือนักแสดงคนแรกที่ถูกแคสต์มาในหนัง CODA

ในการคัดเลือกนักแสดงหูหนวกทั้งสามคนในบทนำนั้น Siân บอกว่าเขาได้รับแรงกดดันอย่างมากว่าจะต้องมีนักแสดงที่เป็นดาวด้วย และเขาก็เป็นคนเดียวที่ผลักดันให้มีนักแสดงหูหนวกทั้งสามคน และเมื่อ Marlee Matlin ได้รับการคัดเลือก แล้วพวกเขาก็คุยกันว่า ‘พวกคุณต้องทำยังไงก็ได้ให้ได้เงินมานะ เพื่อทำหนัง’ นั่นเป็นบทสนทนาที่ยุ่งยากนะ ท้ายที่สุด มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับสตูดิโอต่างๆ ที่มีเงินเป็นตัวขับเคลื่อน มันเกิดขึ้นกับค่ายหนังอิสระ

CODA, Apple TV+
Amy Forsyth, Daniel Durant, Marlee Matlin and Troy Kotsur in “CODA”

ตัวผู้กำกับก็วางแผนเอาไว้แล้วว่าเขาต้องการนักแสดงหูหนวกมารับบทตวัละครหูหนวกตั้งแต่เริ่มโครงการ “ฉันรู้ว่ามันไม่มีทางสำเร็จได้ตามที่ฉันต้องการในครอบครัวนี้และตัวละครเหล่านี้ ถ้าหากไม่ได้พบกับนักแสดงหูหนวกที่น่าทึ่งที่สามารถรับบทบาทเหล่านั้นได้อย่างดี” ซึ่งบุคคลแรกที่ถูกแคสต์มาก็คือ Marlee Matlin “ฉันคิดว่ามันเป็นโอกาสที่สนุกสำหรับเธอนะ เพราะส่วนใหญ่แล้ว เธอมักจะเล่นเป็นตัวละครที่มีระดับๆ” เขายังบอกต่ออีกด้วยว่า “ในชีวิตจริง มาร์ลีตลกกว่ามากๆ แล้วเธอก็มีอารมณ์ขันแบบทะลึ่งๆ หน่อยๆ ด้วย แล้วบทบาทนี้ก็เป็นภรรยาของชาวประมง ซึ่งเธอเองก็มีหลายๆ ส่วนที่เหมาะกับตัวละครตัวนี้”

ตอนที่เขาได้รับสคริปต์ครั้งแรก เขาตกหลุมรักมัน และขอบคุณ Siân Heder ที่เขียนมันขึ้นมา “เราได้มีโอกาสคุยเกี่ยวกับหนังก่อนถ่ายทำเพื่อพิจารณามุมมองที่แตกต่างกันของตัวละครและเรื่องราวที่ถูกพูดถึง และฉันรู้เลยว่าฉันจะต้องอยู่ในหนังเรื่องนี้ เมื่อฉันอ่านสคริปต์ ฉันอยากที่จะเล่น และฉันบอกกับเธอประมาณร้อยล้านครั้งได้ว่าฉันอยากที่จะอยู่ในหนังเรื่องนี้ ฉันต้องทำมันให้ได้” แม้ว่าในตอนแรกเธอมีความกังวลเกี่ยวกับภาษามือ นักแสดงหูหนวก และความคิดเห็นต่างๆ “แต่ว่าหนังเรื่องนี้มันเป็นเรื่องราวสากลมากๆ ที่เกี่ยวกับครอบครัวที่ดูแลกันและกัน มอบความบันเทิงให้แก่กัน พวกเขาเผอิญเป็นคนหูหนวก และมีลูกเป็นคนหูดีในครอบครัวคนหูหนวก”

ทั้งฌอนและมาร์ลีต่อสู้กันเพื่อให้ได้นักแสดงหูหนวกคนอื่นๆ มาร่วมแสดง

แต่ในช่วงแรก การแคสต์นักแสดงหูหนวกดูจะเป็นประเด็นสำหรับคนที่ดูแลด้านการเงินของหนัง เพราะว่าพวกเขาค่อนข้างไม่เห็นด้วยที่จะให้แคสต์นักแสดงหูหนวกมารับบทตัวละครหูหนวกที่เหลือ นอกเหนือจาก Marlee Matlin แต่ตัวมาร์ลีเองก็ขู่ว่าเขาจะทิ้งบทนี้ไป ยกเว้นเสียแต่ว่าจะมีการคัดเลือกนักแสดงหูหนวกมารับบทตัวละครหูหนวกที่เหลือ “นี่เป็นครั้งแรกจากระยะที่ผ่านมาเนิ่นนาน อันที่จริง นี่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกของฉัน (Children of a Lesser God) ฉันรู้สึกว่าผู้ชมจะได้เห็นคนหูหนวกในหนังจริงๆ”

Marlee Matlin ยังบอกอีกด้วยว่ากับ CODA นั้นทำให้เขารู้สึกหลงใหลอย่างมาก “มีผู้คนหลากหลายส่วนให้เอ่ยถึง สำหรับผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องเลย ไม่เคยได้พบกับคนหูหนวก ได้เห็นภาษามือ ได้เห็นคนหูหนวกได้ใช้ชีวิตปกติในแต่ละวัน หลายคนอาจจะคิดว่าคนหูหนวกเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ในแง่ของวิธีที่พวกเขาพยายามใช้ชีวิต แล้วหนังเรื่องนี้ก็ระเบิดความคิดพวกนั้นไป แต่การที่จะเอาความคิดพวกนั้นออกไป มันต้องได้รับการบอกเล่าอย่างจริงจังที่สุด และมันก็แปลกเพราะสตูดิโอมีศักยภาพในการสร้างหนังและคัดเลือกนักแสดงจริงๆ ก็ยังขาดความตระหนักรู้ว่าคุณสามารถบอกเล่าเรื่องราวที่มันเป็นสากลนี้ได้ด้วยตัวละครที่หูหนวกได้”

สำหรับตัวละครหูหนวกคนอื่นๆ ในเรื่อง Marlee Matlin เป็นคนช่วย Siân Heder ค้นหานักแสดงที่เหมาะสมสำหรับบทบาทเหล่านี้จากชุมชนคนหูหนวกจาก Deaf West Theatre ครั้งแรกที่ Siân ได้พบกับ Troy Kostur เขาก็ได้บอกว่า “คนนี้น่าทึ่งมากๆ และเขาเหมาะกับบทบาทนี้มาก เขาเป็นคนตลก ดูเจ้าเล่ห์ และมีอารมณ์ร่วมมากๆ เขาให้ความรู้สึกเหมือนกับแฟรงก์ที่ฉันตามหา”

CODA — "You're All I Need To Get By" - A Music Video with Deaf West Theatre | Apple TV+

ส่วนบทของ Leo พี่ชายคนโตของบ้าน ก็ได้ Daniel Durant มารับบทนี้ Siân เล่าว่าเขาได้เห็นเทปออดิชั่นและได้สไกป์คุยกัน “เขามีความเป็นคนหนุ่ม เข้ากับคนทำงานระดับชนชั้นแรงงาน แต่ก็ยังเป็นคนที่ถือความโกรธและความคับข้องใจทั้งหมดนี้เอาไว้ด้วย” ซึ่งตัวของแดเนียลก็ได้บอกว่า เขาอยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ CODA หลังจากที่ได้อ่านสคริปต์ “ผมร้องไห้นิดหน่อยนะหลังจากอ่านสคริปต์จบ” เขาบอกกับ Gold Derby “ในสคริปต์มีทุกสิ่งที่คนหูหนวกจะทำตามสัญชาตญาณของพวกเขา และเป็นเฉพาะกับคนหูหนวกด้วยกันด้วย” เขาบอกเสริมด้วยว่า “คนหูหนวกจำนวนมากตื่นเต้นมากที่พวกเราจะโชว์ให้เขาเห็นถึงวัฒนธรรมของคนหูหนวกผ่านชีวิตของคนหูหนวกได้ นี่เป็นโอกาสของพวกเราที่ในที่สุดคนหูหนวกจะได้บอกว่า ‘เฮ้ พวกเราตลกนะ พวกเราก็ยังพูดทะลึ่งได้นิดหน่อยด้วย’ เขายังบอกอีกด้วยว่าเรื่องนี้รับเสียงตอบรับที่ดีจากเพื่อนของเขา

สิ่งที่ยากมากๆ คือการค้นหานักแสดงมารับบท ‘รูบี้’

Siân Heder บอกกับ SAGindie ว่าการค้นหารูบี้เป็นเรื่องยาก เพราะว่าเขาต้องการใครสักคนที่เป็นนักร้องที่น่าทึ่ง มีเสียงที่พิเศษที่มากพอจนครูต้องดึงเธอออกจากกลุ่มนักเรียนและบอกว่า ‘คุณต้องทำแบบนี้ด้วยชีวิตของคุณเอง’ และต้องการใครสักคนที่สามารถใช้ภาษามือได้อย่างคล่องแคล่วเหมือนเจ้าของภาษาที่โตมากับภาษานี้เป็นภาษาแรกของพวกเขา ต้องออกไปนั่งเรือหาปลา ควักปลา คัดแยกปลา และขับเรือเหล่านั้นจริงๆ เขายังบอกอีกด้วยว่า “ฉันต้องการใครสักคนที่เป็นวัยรุ่นจริงๆ เพราะฉันรู้สึกว่าฉันเห็นบ่อยมากที่เอาคนอายุ 28 ปี มาเล่นเป็นเด็กมัธยม และพอเจอเอมิเลียที่อายุ 17 จริงๆ นั่นยิ่งทำให้ฉันคิดว่าตัวละครได้ใช้เวลาในการเดินทางจริงๆ และเอมิเลียก็ทำให้ฉันรู้สึกว่าตอนที่เห็นเธอตอนออดิชั่น ฉันก็รู้เลยว่าเธอคือรูบี้จริงๆ”

Coda Emilia Jones
Emilia Jones and Eugenio Derbez in “CODA”

แม้ว่า Emilia Jones จะไม่รู้ภาษามือหรือวัฒนธรรมของคนหูหนวกมาก่อน แต่หลังจากที่อ่านบทแล้วเธอก็อยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับทุกอย่างทันที

“ฉันอยากเรียนรู้มาโดยตลอด แต่ไม่มีโอกาสเลย ฉันอ่านบทแล้วก็ได้แต่คิดว่า ใครก็ตามที่โชคดีพอที่จะได้เล่นเป็นรูบี้ คนนั้นโชคดีมาก แล้วพอฉันรู้ว่าฉันได้บทนั้น ฉันก็มีความสุขสุดๆ”

เขาใช้เวลาเรียน ASL (American Sign Language หรือภาษามืออเมริกัน) เป็นเวลา 9 เดือน แล้วพอเข้ากองถ่าย มาร์ลี ทรอย และแดเนียล ก็ช่วยกันดูแลและสอนเขาอย่างดี

“พวกเขาดูแลและสอนฉันดีมากๆ ทำให้ฉันได้เติบโตและเรียนรู้มากขึ้น มันยากและท้าทายมาก แต่ฉันคิดว่านั่นคือสิ่งที่ดึงให้ฉันมารับบทบาทนี้ ฉันรู้เลยหลังจากที่คุยกับผู้กำกับว่าเขาต้องการความเป็นธรรมชาติ และรักการที่นักแสดงต่างสะท้อนถึงกันและกันในกองถ่าย มันเป็นอะไรที่อ่อนโยนมากๆ คุณสามารถแลกเปลี่ยนบท เป็นตัวละครนั้นๆ และฉันคิดกับตัวเองว่าฉันไม่รู้ภาษานี้นะ ฉันกำลังเรียนรู้บทพวกนี้อยู่ แต่ฉันไม่มั่นใจเลยสักนิด เพราะว่าภาษามือของรูบี้มีเยอะมาก พอไปถึงกองถ่ายแล้วคุยกับทั้งสามคน ฉันก็ได้รู้เลยว่าฉันเข้าใจภาษามือเยอะกว่าที่คิดมาก ดังนั้น มันก็เลยช่วยให้พวกเราสามารถด้นสดในกองถ่ายได้นิดหน่อย”

แล้วเธอยังบอกอีกว่าช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ พวกเขาก็ใช้เวลาด้วยกัน “ฉันตกหลุมรักภาษามือ และรักการถ่ายทำ CODA ด้วย บางครั้งมันท้าทายนะ” เธอบอกเสริมด้วยว่า “โค้ช ASL ทั้งหมดของฉันยอดเยี่ยมสุดๆ พวกเขาต่างช่วยฉัน และฉันตกหลุมรักภาษานี้แล้วด้วย”

ส่วนบทครูสอนร้องเพลง Siân ได้พบกับ Eugenio Derbez แล้วก็รู้ว่าเขาเหมาะกับบทบาทนี้อย่างมาก “เขาเป็นที่รู้จักในฐานะคอเมเดี้ยน แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เขาเป็นคนที่เปิดเผย อบอุ่น และเป็นกันเองมาก และฉันรู้ว่าเขาสามารถไปด้านดราม่าได้ ฉันชอบที่ได้ทำงานร่วมกับเขา การแสดงเขามันน่ารักและมีเหตุผลสุดๆ”

Siân บอกปิดท้ายใน Sundance Film Festival 2021 ว่า “นี่คือเรื่องราวที่เป็นจดหมายรักถึงครอบครัว และฉันคิดว่าถ้ามีอะไรดีๆ เกิดขึ้นจากโรคระบาดนี้ สำหรับฉันและคนจำนวนมากในชีวิตของฉัน (คือ) เวลาในครอบครัวและความเชื่อมโยงระหว่างพ่อแม่และลูกมากขึ้น การที่ต้องอยู่บ้านตลอดเวลานั้นยากเย็นแสนเข็ญ ฉันคิดว่าผู้คนจำนวนมากได้พบความสุขอันน่าทึ่งในสิ่งนั้น และฉันคิดว่ามันเป็นเครื่องหมายที่ดีสำหรับเวลาที่เราอยู่”

รับชมความอบอุ่นหัวใจจากภาพยนตร์ CODA ได้ที่โรงภาพยนตร์ เข้าฉาย 30 ธันวาคมนี้ และทาง Netflix

CODA — Audience Reactions From Real-Life CODAs | Apple TV+

source:

  • https://deadline.com/2021/10/coda-director-sian-heder-interview-contenders-london-1234851280/
  • https://youtu.be/jRg391WJ5B8
  • https://youtu.be/sq3i1HrDmiw
  • https://www.dailymoth.com/blog/interview-with-marlee-matlin-and-daniel-durant
  • https://www.goldderby.com/video/sian-heder-interview-coda-director-writer/
  • https://www.hollywoodreporter.com/movies/movie-features/coda-film-representation-1234991797/
  • https://www.latimes.com/entertainment-arts/movies/story/2021-01-28/marlee-matlin-coda-sundance-film-festival
  • https://www.ocregister.com/2021/08/10/how-the-writer-director-of-coda-fought-to-feature-deaf-actors/
  • https://www.parkrecord.com/entertainment/sundance-film-festival-2021-opens-with-coda/
  • https://www.sagindie.org/interviews/sian-heder-coda/
  • https://www.wbur.org/hereandnow/2021/08/11/coda-gloucester-sian-heder
Previous

Sapphicity EP.2 SOGIESC คืออะไร? สำคัญไฉน? มาดูกัน

ท็อปลิสต์ Series ประจำปี 2021 ที่ The Noize คัดมาให้คุณ

Next