ลืมภาพยนตร์หรือซีรีส์พ่อมดแม่มดที่คุณเคยดูมาไปก่อน เพราะซีรีส์เรื่องนี้ ผู้ใช้เวทมนตร์ไม่ได้ถือคทาหรือไม้กายสิทธิ์ แถมยังไม่ได้แบ่งออกเป็นบ้านเหมือนอย่างในแฮร์รี่พอตเตอร์ แล้ว Motherland: Fort Salem นั้นแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ อย่างไร? วันนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับจักรวาลฟอร์ตเซเลมคร่าวๆ กัน
Motherland: Fort Salem เป็นเรื่องราวของสหรัฐอเมริกาในจักรวาลที่มีทั้งเหล่าพลเมืองและแม่มดอยู่ร่วมกันในสังคม แถมแม่มดเหล่านี้ยังคอยทำหน้าที่เสมือนรั้วของชาติ คอยเป็นแนวหน้าดูแลปกป้องพลเมืองด้วยกองทัพที่เต็มไปแม่มดเยาว์วัย อันเป็นผลบังคับใช้เนื่องจากสนธิสัญญาเซเลม (Salem Accord) กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งถูกลงนามโดยซาร่าห์ อัลเดอร์ (Sarah Alder) หากแต่พลเมืองส่วนใหญ่จะยินดีกับการมีอยู่และการพยายามทำหน้าที่ของทหารเหล่านี้หรือไม่ คงต้องลองไปหาคำตอบกันเอาเองในเรื่อง สามารถอ่านรีวิวฉบับเต็มได้ที่นี่
ใครเป็นใครในจักรวาลแม่มด Motherland: Fort Salem
แม่มดและพ่อมดในเรื่องไม่ได้ต้องไปซื้อไม้กายสิทธิ์จากตรอกไดอะกอนเพื่อนำมาใช้ร่ายเวทมนตร์ แต่เวทมนตร์ในเรื่องกลับไม่ได้ถูกเรียกว่า “Magic” พวกเขาเรียกมันว่า “Work” (หมายเหตุ : ในซับไตเติ้ลไทยของดิสนี่ย์พลัสแปลเป็นคำว่า “เวทมนตร์“) — Work ที่ว่านี้คือความสามารถในการใช้เมล็ดพันธุ์แห่งเสียง (Seed / Seed Sounds) ซึ่งเป็นเสียงอันศักดิ์สิทธิ์ 61 เสียงที่ผูกติดอยู่กับโลก เสียงเหล่านี้สามารถแทรกสอดกันเป็นหลายชั้นเสียงเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือปรากฏการณ์ที่จำเป็นสำหรับการสู้รบหรือการใช้งานในชีวิตประจำวัน บางเมล็ดพันธุ์หรือบางงานเป็นพื้นฐานที่เหล่าทหารแทบทุกคนทำได้ เช่น เมล็ดพันธุ์แห่งเสียงหมายเลขที่ 32: เมล็ดพันธุ์แห่งการย้อนกลับ ที่หน่วยเบลล์เวเทอร์ใช้ในการฝึกวอร์มเสียงในตอนที่หนึ่ง, วินด์สไตรก์ (Windstrike) งานที่ใช้แรงกดอากาศในการตั้งรับหรือโจมตี เป็นต้น นอกจากนี้เมล็ดพันธุ์แห่งเสียงที่ต่างกันก็จะถูกนำเอาไปใช้ในงานที่ต่างกันตามความสามารถพิเศษที่ขึ้นอยู่กับแม่มดประเภทนั้นๆ อีกด้วย จุดที่น่าสนใจคือในชีวิตจริงนั้น กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าแม่มดก็มีการใช้มนตร์โดยใช้เสียงเช่นเดียวกัน เช่น การชำระโดยส่งเสียงออกมาให้เกิดการสั่นสะเทือนและพุ่งไปในทิศทางที่กำหนด, เสียงขันทิเบต, การร้องเพลงเล่นดนตรี, ทำให้เคลิบเคลิ้มหลงไหล, การสวดมนต์เป็นทำนอง เป็นต้น
กลับมาที่แม่มดในซีรีส์กันต่อ – แม่มดในจักรวาลฟอร์ตเซเลมจะถูกแบ่งประเภทออกตามความสามารถที่ต่างกัน ดังนี้
บลาสเตอร์ (Blaster)
บลาสเตอร์ เป็นแม่มดที่เชี่ยวชาญในการเสกพายุหรือสร้างปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาอื่นๆ โดยพายุที่พวกเขาสร้างขึ้นสามารถตัดผ่านโลหะหรือหินได้ เป็นประโยชน์อย่างมากในการเคลียร์เส้นทางในสนามรบ รวมถึงการทำลายและสังหารศัตรู ตัวอย่างของบลาสเตอร์ในเรื่องคือ อบิเกล เบลล์เวเทอร์ (Abigail Bellweather)
ฟิกเซอร์ (Fixers)
ฟิกเซอร์ เป็นแม่มดที่เชี่ยวชาญในรักษาผู้อื่น โดยการรักษานั้นคือการถ่ายโอนอาการบาดเจ็บจากผู้ถูกรักษามายังร่างกายของฟิกเซอร์เอง ปกติแล้วอาการบาดเจ็บบนตัวฟิกเซอร์จะค่อยๆ จางหายไปในเวลาไม่นาน ตัวอย่างของฟิกเซอร์ในเรื่องคือ ราเอลล์ คอลล่าร์ (Raelle Collar)
โนเวอร์ (Knowers)
โนเวอร์ เป็นแม่มดที่เชี่ยวชาญในการสอดแนมศัตรูหรือวิธีอื่นๆ ที่สามารถใช้ในการเก็บข้อมูลได้ โนเวอร์มักจะมองเห็นในสิ่งที่แม่มดประเภทอื่นไม่เห็น พวกเขามองเห็นทุกซอกทุกมุมและรู้ว่าควรจะทำอะไรเมื่อใด ตัวอย่างของโนเวอร์ในเรื่องนี้คือ แทลลี เครเวน (Tally Craven)
เนโคร (Necros)
เนโคร เป็นแม่มดที่เชี่ยวชาญในการควบคุมอำนาจดึงดูดและการสั่นพ้องที่เชื่อมโยงกับความตาย พวกเขาสามารถเก็บรวมรวมข่าวกรองจากร่างของคนตายได้ ในบางโอกาส, เนโครสามารถเปิดกระแสมรณะเพื่อสอบปากคำจากร่างที่เพิ่งตายได้อีกด้วย เนโครจะถูกแยกออกจากแม่มดประเภทอื่นในการฝึกฝน เนโครจึงมักถูกมองว่าเป็นพวกคนพิลึก เนื่องจากความลึกลับของพวกเขานั่นเอง ตัวอย่างของเนโครในเรื่องนี้คือ ซิลลา แรมซอร์น (Scylla Ramshorn), อิซาดอร่า (Izadora)
ผู้รับผิดชอบการจับคู่ (Matrimonialists)
นักจับคู่พลทหารเหล่านี้ดูแลเทศกาลเบลเทน (Beltane) และพิธีแต่งงานของเหล่าแม่มด ตัวอย่างของผู้รับผิดชอบการจับคู่ในเรื่องคือ เบอร์เรียสซา แทนซีย์ (Berryessa Tansey)
ปกติแล้ว แม่มดที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์จะได้รับหมายเรียก เมื่อหมายเรียกมาถึง พวกเขาจะต้องตอบรับด้วยคำปฏิญาณที่เหล่าแม่มดสามารถรับรู้ได้จากจิตสำนึก หลังจากนั้นพวกเขาจะต้องเดินทางไปรับการฝึกปฏิบัติพื้นฐาน ณ ฟอร์ตเซเลม อย่างที่เราเห็นทั้งอบิเกล, แทลลี และราเอลล์ ในตอนแรกของซีรีส์นั่นเอง — แม่มดที่เข้าไปใหม่จะถูกจัดเป็นหน่วย (Unit) หน่วยละสามคน จะมีการฝึกทางทหารต่างๆ และมีการจัดอันดับของแต่ละหน่วยด้วย หากหน่วยนั้นมีประสิทธิภาพมากพอ พวกเขาจะถูกส่งไปเรียนต่อที่วิทยาลัยการสงคราม (War College) แต่ถ้าหากโชคร้ายไม่ผ่านการฝึกล่ะก็ พวกเขาจะถูกส่งไปประจำที่แนวหน้าของการรบแทน
สำหรับคนที่อาจจะเข้าไปลองดูซีรีส์เรื่องนี้มาบ้างแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าแม่มดเหล่านี้ตอบโต้คำพูดปลุกใจของนายพลอัลเดอร์ด้วยการ “กระทืบเท้ารัว ๆ กับพื้น” ซึ่งดูแปลกใหม่ใช่มั้ยล่ะ? ใช่แล้ว – แม่มดในเรื่องจะแสดงออกถึงความกระตือรือร้นและแรงสนับสนุนด้วยการกระทืบเท้าลงกับพื้นเพื่อเลียนเสียงฟ้าผ่า หรือหากอยู่ในพิธีการที่ค่อนข้างมีความจริงจังมากกว่า การกระทืบเท้าจะถูกแทนที่ด้วยการใช้มือตีหรือเคาะกับโต๊ะแทนเพื่อเลียนเสียงที่คล้ายกันนั่นเอง อย่างคติประจำใจของชาวแม่มดที่ว่า
“ด้วยพายุและความโกรธา! (With Storm and Fury!)”
นอกจากนี้เหล่าแม่มดเขายังมีเทศกาลสำคัญต่างๆ ด้วยนะ ยกตัวอย่างเช่นเทศกาลเบลเทน (Beltane) ถือเป็นเทศกาลที่โฟกัสระหว่างการเชื่อมความสัมพันธ์และพลังงานระหว่างพ่อมดและแม่มด ยิ่งพ่อมดแม่มดหรือแม้แต่แม่มดด้วยกันเองจู๋จี๋ักันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มพลังให้แม่มดมากขึ้นเท่านั้น งานนี้ถูกจัดขึ้นทุกปีที่ฟอร์ตเซเลม, เทศกาลงานฉลอง (Pageant) เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกวันที่นายพลอัลเดอร์ได้ลงนามในสนธิสัญญาเซเลม โดยในงานจะมีการขายสินค้าเกี่ยวกับแม่มด รวมถึงจัดแสดงเหตุการณ์จำลองเหตุการณ์ที่เหล่าแม่มดเคยเผชิญที่นำไปสู่การทำสนธิสัญญาด้วย, เทศกาลซาวิน (Samhain) ที่ให้อารมณ์เหมือนเทศกาลฮัลโลวีนของชาวแม่มด และอีกมากมายเราคงต้องขออุบไว้ก่อน แล้วให้คุณไปติดตามได้ต่อในซีรีส์
ถ้าคุณอ่านมาถึงบรรทัดนี้, ยินดีด้วย! แสดงว่าคุณได้เรียนรู้วิชาแม่มดฟอร์ตเซเลม 101 เรียบร้อยแล้ว รับเหรียญตราและกล่าวคำปฏิญาณให้ดัง แล้วไปติดตามเรื่องราวของแม่มดในจักรวาลฟอร์ตเซเลมนี้ได้ใน Motherland: Fort Salem ดูได้แล้ววันนี้ที่ Disney+ Hotstar Thailand ซีซั่นสองลงในแพลตฟอร์มเดียวกันวันที่ 29 ตุลาคมนี้
Source :
– Motherland: Fort Salem Wiki : https://motherland.fandom.com/wiki/Motherland:_Fort_Salem
– สองแม่มด witches fortune : https://www.facebook.com/2witchesfortune/posts/127490629486032