Lost in Translation ภาพยนตร์โรแมนติก-คอมเมดี้-ดราม่า หรือที่เรารู้จักกันชื่อ “หลง/เหงา/รัก” เล่าเรื่องของ “บ๊อบ” นักแสดงวัย 50 กว่าจากอเมริกาที่ต้องไปถ่ายโฆษณาในญี่ปุ่น ที่นั้นเขาไม่รู้จักใคร สื่อสารกับใครก็ไม่เป็น เขาใช้เวลานอกจากการถ่ายโฆษณานอนเหงาอยู่ในโรงแรม Park Hyatt Tokyo ที่นั่น บ๊อบได้เจอกับชาร์ล็อตต์ หญิงสาววัย 20 จากอเมริกา ที่ตามของสามีตากล้องของเธอมาด้วย แต่ด้วยความที่สามีของเธอต้องออกไปถ่ายงานต่างเมือง ทำให้เธอรู้สึกเหงาและเปล่าเปลี่ยว เมื่อสองคนเหงามาเจอกัน ทั้งคู่ก็ตกลงออกไปเฮฮาปาจิงโกะกันตามประสาคนไม่มีอะไรทำ ภาพยนตร์เรื่อง Lost in Translation ออกฉายสู่สายตาและเข้าสู่หัวใจคนดูในปี 2003 ตัวหนังได้รับคำชมมากมาย และยังคงเป็นที่พูดถึงอยู่เรื่อยๆ
ตัวหนังถ่ายทำกันในปี 2002 ยุคที่ผู้คนยังใช้โทรศัพท์ฝาพับ (flip-phone) จะถ่ายรูปก็ต้องใช้กล้องฟิล์ม (ถึงแม้ว่าในตอนนั้นจะกำลังก้าวขาสู่กล้องดิจิทัลแล้วก็ตาม) การส่งข้อความนั้น จำเป็นต้องส่งผ่านเครื่องแฟกซ์ ดูทีวีผ่านจอ CRT หรือจอ LCD การชมภาพยนตร์ผ่านแผ่นวีซีดี (VCD) หรือดีวีดี (DVD) นั้น ก็ต้องไปซื้อแผ่นหรือไปร้านเช่า ไปไหนมาไหนอยากฟังเพลงผ่านแผ่นซีดีก็ต้องพก Walkman
และโลกก็ดำเนินมาสู่ 2021 ยุคที่ผู้คนใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนจนกลายเป็นเรื่องปกติ สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างง่ายดายตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพที่ความละเอียดสูง ส่งจดหมายหรืออีเมลก็ได้ไม่ต้องง้อเครื่องแฟกซ์ สามารถดูทีวีก็ได้ ดูภาพยนตร์ผ่านสตรีมมิ่งเจ้าไหนก็ได้ ฟังเพลงในโทรศัพท์ก็ยังได้ และการโทรศัพท์ติดต่อคนอื่นก็ไม่ใช่แค่ได้ยินเสียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ก็ยังสามารถวิดีโอคอลแบบเห็นหน้ากันได้อย่างเรียลไทม์อีกด้วย
นั่นก็เป็นข้อสงสัยระหว่างเฟิร์ส พิธีกรพอดแคสต์ The Eavesdropperings และหม่อน แขกรับเชิญ ที่ตั้งข้อสงสัยกันว่า ถ้าหาก Lost in Translation มันเซ็ตอยู่ในยุคปัจจุบัน ที่โทรศัพท์แทบจะเป็นเพื่อนคู่กายอยู่แล้ว บ๊อบกับชาร์ล็อตต์ยังจะเจอกันอยู่ไหม
เฟิร์ส: ถ้าเกิดมองในเลนส์ของสังคมยุคนี้ คิดว่าด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามา จะทำให้ทั้งบ๊อบกับชาร์ล็อตต์ไม่ได้เจอกัน
หม่อน: ไม่ได้เจอกันเลย ต่างคนต่างอยู่ในห้องเล่นโทรศัพท์กันอยู่ หรือไม่ก็แบบฉากที่ขึ้นลิฟต์ ต่างคนต่างเล่นโทรศัพท์
เฟิร์ส: อย่างเช่น สมมติฉันเป็นชาร์ล็อตต์ แล้วสามีไปถ่ายงานต่างเมือง แล้วก็คงแชตหรือ Facetime คุยกัน โทรหากัน วิดีโอคอลกัน ก็ไม่เหงาอยู่คนเดียว …
หม่อน: หรือแม้แต่บ๊อบเองที่อยากคุยกับลูก ก็ Facetime ไปหาลูกก็ได้
ทั้งคู่มองว่าด้วยการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารแบบในยุคนี้ ก็จะทำให้ไม่ได้รับบรรยากาศแบบเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเสียงรถ เสียงคน เสียงเมือง การได้เจอผู้คนใหม่ๆ มันอาจจะไม่เหมือนที่เห็นในหนัง แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรดีเท่าปฏิสัมพันธ์กับผู้คนด้วยกันเอง
นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของพอดแคสต์พิเศษประจำวันวาเลนไทน์ของ The Eavesdropperings เท่านั้น ยังมีอีกประเด็นที่รอให้คุณฟังเอาเองอยู่อีกเยอะ