iDKHOW : I don’t know how but I found them

| | ,

“And now Ladies and Gentlemen and everyone in between, I don’t Know how but they found me”

– iDKHOW

I Dont Know How But They Found Me (iDKHOW) วงน้องใหม่จากศิลปินหนุ่มเพื่อนรักสองคน Dallon Weekes (ดัลลอน วีกส์) และ Ryan Seaman (ไรอัน ซีแมน) ที่อัดแน่นไปด้วยความตั้งใจและข้อความที่ลึกซึ้งผสมผสามกับดนตรีแนวอินดี้ป๊อปบวกกับสไตล์ที่เป็นตัวของตัวเองเป็นอย่างมากของวง Two man band นี้ ทำให้พวกเขากำลังเป็นที่จับตามองของวงการเพลง Alternative รวมถึงคำถามที่พ่วงตามหลังมาอย่าง “พวกเขาไปอยู่ที่ไหนกันมาน่ะ? ” (ล้อกับชื่อวงที่ว่า ฉันก็ไม่รู้ว่ายังไง แต่พวกเขาเจอฉันเสียแล้ว)

ซ้าย Ryan Seaman ขวา Dallon Weekes
iDKHow
ซ้าย Ryan Seaman ขวา Dallon Weekes
Facebook: I Dont Know How But They Found Me

“Second Boy(s) will be the first choice” 

สมาชิกทั้งสองคนในวันสามสิบตอนปลายได้ใช้ชีวิตในวงการดนตรีเป็นสมาชิกสมทบของวงต่างๆ มาเป็นส่วนใหญ่ หรือที่แฟนๆ อาจจะเรียกกันอย่างสนุกปากว่า “ลูกจ้างชั่วคราว” กล่าวคือเป็นสมาชิกที่ไม่ถาวร ส่วนใหญ่มีบทบาทเพียงแค่แทนที่สมาชิกวงที่ลาออกไปหรือทำหน้าที่เล่นเครื่องดนตรีที่ขาดคนเท่านั้น

Dallon Weekes เด็กชายจากครอบครัวที่ถือลัทธิมอร์มอนจากเมืองยูทาห์ ใช้ชีวิตเป็นนักเผยแผ่ศาสนา (Mormont Missionary) ในเมืองโอคลาโฮมาเป็นเวลาสองปีเต็มในช่วงหลังปี 1999 ก่อนที่จะกลับมาเข้าเรียนที่มหาลัยในบ้านเกิดและลาออกไปเพื่อเดินตามตามสายอาชีพดนตรีที่เคยใฝ่ฝันไว้

ดัลลอนเป็นที่รู้จักดีที่สุดในฐานะมือเบสของวง Panic! At the disco ในการทัวร์แสดงอัลบั้ม Pretty Odd ซึ่งถือเป็นอัลบั้มสุดท้ายของวง P!ATD ที่สร้างขึ้นโดยมีสมาชิกดั้งเดิมทั้งหมดร่วมกันทำ หลังจากนั้นสมาชิกวงสองคนคือ Ryan Ross และ Jon Walker เหลือเพียง Brendon Urie นักร้องนำ และ Spencer Smith มือกีตาร์เหลืออยู่เท่านั้น ฝีมือของดัลลอนต้องตาสมาชิกวงสองคนหลังจากที่ทำการทัวร์ในปี 2009 เสร็จ สถานะของดัลลอนถูกเปลี่ยนจาก “ลูกจ้างชั่วคราว” มาเป็น “สมาชิกกึ่งถาวร” ของวง P! ATD และถูกประกาศอย่างเป็นทางการให้แฟนๆ ได้รับรู้ในช่วงปี 2012 โดยเขาได้รับหน้าที่ในการวางคอนเซปต์และออกแบบงานศิลป์ของอัลบั้ม Vice and Vitues (2011) และร่วมเขียนเพลงให้กับอัลบั้ม Too Weird to Live, Too Rare to die! (2012) และในช่วงหลังปี 2015 หลังการปล่อยอัลบั้ม Death of a Beachlor (2015) ดัลลอนได้ทำการประกาศผ่านโซเชียลมีเดียว่าเขา “ไม่ได้มีส่วนร่วมในเชิงสร้างสรรค์) กับวง P! ATD อีกแล้ว กล่าวคือเปลี่ยนสถานะกลับไปเป็นเพียงนักดนตรีที่มีหน้าที่ในการขึ้นแสดงสดเท่านั้น ก่อนที่จะประกาศลาออกจากวงอย่างเป็นทางการในปี 2017

Ryan Seaman เป็นหนุ่มมือกลองอารมณ์ดีจากแคลิฟอร์เนียที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับวงฮาร์ดคอร์/อีโม-อัลเทอร์เนทีฟหลายวงและเป็นที่รู้จักดีที่สุดในฐานะมือกลองของวง Falling In reverse แทนที่  Scott Gee ที่ลาออกจากวงไปในปี 2011 ไรอันอาศัยอยู่กับวงมาจนถึงปี 2017 จึงได้ทำการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเขาไม่ได้เป็นสมาชิกของวง Falling In Reverse อีกต่อไปแล้ว โดยมีข่าวลือหนาหู (และหลักฐานการตอบโต้กันไปมาผ่านทวิตเตอร์) ว่า Ronnie Ranke และไรอันไม่ลงรอยกันจนเป็นสาเหตุให้วงต้องทำการยกเลิกการแสดงสามวันสุดท้ายในการทัวร์ในปีนั้นด้วย

กาลครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นเพื่อนร่วมวงกัน(มาแล้ว) 

วงอินดี้เล็กๆ อย่าง The Brobecks ในเมืองซอลต์เลกซิตี รัฐยูทาห์ คือวงที่เกิดขึ้นหลังจากที่ดัลลอนเดินทางกลับจากการทำงานเป็นนักเผยแผ่ศาสนาและเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย ซึ่งที่นั่นเองเขาได้เจอกับเพื่อนๆ ร่วมวงของเขา โดยไรอันได้มาเป็นมือกลองให้วงในปี 2009

The Brobecks -Love At First Sight (Airport Edition)

The Brobecks ถือว่าเป็นวงที่ประสบความสำเร็จแต่ไม่ไม่ถึงกับประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น หลังจากการได้เล่นเปิดให้กับวงดังอย่าง Fall Out Boy และวง Alternative อีกมากมาย ดัลลอนได้รับข้อเสนอในการเซ็นสัญญาเป็นศิลปินเดี่ยวจากค่ายเพลงใหญ่อย่าง Sony BMG และ Interscope Records โดยแลกกับการที่เขาจะต้องทิ้งเพื่อนร่วมวงไป แน่นอนว่าดัลลอนปฏิเสธข้อเสนอเหล่านั้นไปจนหมดและทำวงนี้อย่างเป็นเอกเทศไม่ขึ้นตรงกับค่ายเพลงใดมาจนถึงปี 2013  

ดัลลอนและไรอันยังมีผลงงานเล็กๆ ร่วมกันเป็นครั้งคราวตามโอกาสพิเศษและผลงานเดี่ยวของดัลลอนอย่างเพลงในวันคริสต์มาสอัลบั้ม Xmas Jambz (2015) ประกอบด้วยเพลง Sicky Sweet Holiday, Christmas Drag  และ Please Don’t Jump (It’s Christmas) ที่ได้ลงให้แฟนๆ ได้ฟังกันฟรีในเว็บไซต์ Bandcamp.com 

I don’t know how but they ‘Found’ me 

ในช่วงปี 2015-2016 ดัลลอนเป็นคนนำเสนอไอเดียของวง I Dont Know How But They Found me ให้กับไรอันและแน่นอนว่าเขาตอบตกลง ทั้งสองคนมีความคิดเห็น สไตล์ และความชื่นชมกันและกันเป็นพื้นฐานของการสร้างวงนี้ขึ้นมา โดยดัลลอนมีความคิดที่จะสร้างฐานแฟนคลับที่มั่นคงให้กับวงนี้โดยทำความรู้จักกับวัฒนธรรมของแฟนๆ และสนุกไปกับมัน แตกต่างกับในช่วงการทำวง The Brobecks ที่ทำดัลลอนเข้าใจถึงความพยายามที่สูญเปล่าของการทำผลงานที่เขาทุ่มเทให้กับมันแต่ผู้ฟังกลับเข้าไม่ถึง 

ดัลลอนใช้ศิลปะในการออกแบบและสื่อสารเพื่อนสร้างคาแรคเตอร์ของวงให้ออกมาเป็นที่น่าสนใจและน่าติดตามสำหรับใครก็ตามที่ได้ผ่านมาเห็น ทีเซอร์และข้อความปริศนา (transmition) ต่างๆ ผ่านโพสในโซเชียลมีเดียทำให้แฟนๆ รู้สึกสนุกกับการเป็นส่วนหนึ่งของวงนี้

“เราเริ่มจากการเป็นวงลับๆ ที่คนรู้กันเฉพาะวงใน เป็นวงลับๆ ที่รู้จักกันแบบเพื่อนสู่เพื่อน และตอนนั้นเองผมก็เริ่มคิดได้ว่าตอนนี้เราได้ทำการสร้างโทนให้กับกลุ่มแฟนๆ ของเราแล้ว ไม่เพียงแค่พวกเขาตื่นเต้นกับการที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของวงลับๆ นี้ แต่เราได้สร้างกลุ่มนักสืบขึ้นมาด้วย และนั่นล่ะครับ ทุกวันนี้พวกเขาสืบจนรู้ว่าพวกเรากำลังทำอะไรทั้งเล็กใหญ่ บางทีรู้ก่อนที่พวกเราจะประกาศอะไรออกไปเสียอีก ซึ่งนั่นมันบ้าไปเลยล่ะครับ” ดัลลอนกล่าว

ความใส่ใจในวัฒนธรรม “ติ่ง” นี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการทางการตลาด แต่เป็นการสนองความต้องการของตัวดัลลอนเองในฐานะ “นักติ่งตัวยง”ของหลายๆ แฟนด้อมตั้งแต่ Doctor Who, นินจาเต่า, ภาพยนตร์จากค่ายดิสนีย์ ฯลฯ

อย่างในชื่อของวงเองก็ได้มาจากภาพยนตร์เรื่อง Back to the future (1985) ครอบครัว Weekes เป็นเนิร์ดตัวจริงตั้งแต่ตัวดัลลอนและภรรยาไปจนถึงลูกๆ สองคนที่พวกเขาได้ชื่อมาจากหนังเรื่องโปรดของพวกเขาอย่าง Amelie ลูกสาวคนโตที่ได้ชื่อมาจากภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่อง Amélie (2001) และ Knox ลูกชายคนเล็กที่ได้ชื่อมา Knox Overstreet จากภาพยนตร์เรื่อง Dead poet society (1989) รวมถึงในเทศกาลฮาโลวีนในปีที่ผ่านมา คู่สามีภรรยา Weekes ก็ได้แปลงโฉมตัวเองให้เป็นตัวละครจากเรื่อง The Umbrella Academy อีกด้วย

1986 Extended play (2018) EP และ Razzmatazz (2020)

iDKHow '1986 Extended play' (2018)
iDKHow ‘1986 Extended play’ (2018)

วง iDKHOW ได้ปล่อย EP แรกชื่อว่า 1986 Extended play (2018) ประกอบไปด้วยเพลงทั้งหมด 6 เพลงด้วยกัน โดยอัลบั้มถูกออกแบบโดยดัลลอนเอง รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ถูกวางไว้กระตุกต่อมความอยากรู้อยากเห็นของแฟนๆ เป็นความใส่ใจในการวางคาแรคเตอร์ของวงทั้งสิ้น โดยรูปถ่ายโปรโมทของวงจะเป็นสไตล์ที่ค่อนข้างแปลกตาสำหรับวงแนวอัลเทอร์เนทีฟ สมาชิกวงทั้งสองคนมักจะในหน้าในภาพถ่ายแบบไร้อารมณ์และท่าโพสที่ดูแข็งทื่อไม่เป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องราวของ Alter-ego สองคนนี้ก็เริ่มถูกนำเสนอครั้งแรกอย่างเต็มตัวในมิวซิควีดีโอเพลง Do It All The Time และเปิดเผยเรื่องราวออกมาในอัลบั้มแรกของวงอย่าง Razzmatazz (2020) ที่ตัวอัลบั้มถูกดีไซน์มาให้มีความคล้ายคลึงกับตัว EP แรกที่ปล่อยออกมาเมื่อสองปีก่อนหน้า แต่ภายในมีเอกสารการทดลองของบริษัท TELLEXX เกี่ยวกับการทดลองในตัวอย่างทั้งสองนั่นก็คือดัลลอนและไรอันนั่นเอง เรื่องราวที่เปิดเผยออกมายังไม่มีเนื้อหาที่ชัดเจนมานัก เพียงแต่ตอนนี้โลกที่ iDKHOW ได้สร้างขึ้นมากำลังเติบโตและมีชีวิตที่โลดแล่นจากการที่เพลง Leave Me Alone ได้เข้าสู่อันดับหนึ่งของชาร์จเพลงอัลเตอร์เนทีฟของประเทศสหรัฐอเมริกาไปเป็นที่เรียบร้อย

iDKHow 'Razzmatazz' (2020)
iDKHow ‘Razzmatazz’ (2020)

จิตวิญญาณ/Showmanship และความสัมพันธ์กับแฟนๆ

ถ้าคุณมีโอกาสได้ไปชมคอนเสิร์ตของวง iDKHOW
คุณจะพบกับประสบการณ์คอนเสิร์ตที่ไม่มีที่ใดเหมือน 

รูปแบบการแสดงคอนเสิร์ตที่คล้ายกับการแสดงละครเวทีที่มีผู้ชมเป็นส่วนหนึ่งของโชว์ได้มอบความประทับใจไม่รู้ลืมให้กับแฟนๆ ของวงอยู่เสมอ ในช่วงเชื่อมต่อระหว่างเพลงหนึ่งไปสู่อีกเพลงดัลลอนมักจะทำการสื่อสารกับแฟนๆ ผ่านการพูดคุยด้วยถ้อยคำที่เรียบเรียงมาให้มีความรู้สึกคล้ายกับว่าเขากำลังแสดงบทบาทสมมุติ แต่ในอีกมุมหนึ่งมันกลับสร้างสีสันและความเป็นกันเองให้กับคอนเสิร์ต บวกกับการที่สมาชิกทั้งสองทำการหยอกล้อกันอยู่เป็นระยะๆ อย่างเช่นการแบ่งทีมผูชมออกเป็นสองทีมตามสมาชิกวงทั้งสองและให้ช่วยกันขับร้องเพลงตามจังหวะและคีย์ที่แตกต่างกันจนออกมาเป็นเสียงประสานราวกับว่าพวกเขากำลังสอนวิชาดนตรีพื้นฐานให้กับผู้ชม

ในส่วนของไรอันเอง แม้ว่าตัวเขาจะถูกกลองชุดล้อมตัวไว้และมือสองข้างที่ยังต้องถือไม้กลอง มันดูแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมได้เหมือนกับมือกลองของวงอื่นๆ ที่มักจะถูกจัดให้ไปอยู่ในมุมที่ลึกที่สุดของเวที แต่ไรอันเป็นคนที่มีใบหน้ายิ้มแย้มอยู่ตลอดราวกับว่าการได้มาเล่นกลองบนเวทีแห่งนี้คือความสุขหนึ่งเดียวที่เขามี สายตามักจะมองไปรอบๆ ส่งยิ้มกว้างให้ผู้ชม หรือเมื่อพอเห็นกล้องที่ถูกยกขึ้นมาถ่ายเขาก็จะโพสท่าที่เป็นที่น่าจดจำให้ทันที ไมค์ตัวเล็กที่ถูกวางไว้ข้างๆ นั้นก็เป็นอีกช่องทางที่ทำให้เขาได้ต่อล้อต่อเถียงกับเพื่อนร่วมวงและทักทายผู้ชมด้วย

I Don’t Know How But They Found Me performs the song Leave Me Alone of Jimmy Kimmel Live.

การแสดงสดของเพลงนี้ไม่ได้มีดนตรีประกอบ มีแต่เพียงจังหวะการปรบมือและการกระทืบเท้าจากกลุ่มผู้ชมเป็นทำนองให้ดัลลอนได้ทำการร้องเพลงเท่านั้น เนื้อเพลงกล่าวถึงชีวิตของวงดนตรีที่ต้องไปเล่นเปิดให้กับวงดังวงอื่นที่รู้ๆ กันอยู่ว่าผู้ชมมีเป้าหมายมาเพื่อดูวงหลัก และวงเปิดอย่างพวกเขาก็คือตัวน่ารำคาญที่ใครๆ อยากให้เล่นจบๆ ไปเพื่อวงหลักจะได้ทำการขึ้นแสดง ซึ่งเพลงนี้ได้แรงบรรดาลใจมาจากช่วงที่วง iDKHOW เริ่มขึ้นเวทีแสดงในบทบาทของวงเปิดก่อนที่วงจะเป็นที่รู้จัก 

“Nobody likes the opening band,
They set time far to early and I’ve never heard of them. 
But if you lent an ear and give them just one little chance,
You may just like the opening band” 

(ไม่มีใครหรอกที่ชอบวงเปิด 
พวกเขาขึ้นเล่นเร็วเกินไป แถมฉันก็ไม่เคยจะรู้จักพวกเขามาก่อน 
แต่ถ้าคุณจะลองเปิดหูและให้โอกาสกับพวกเขาสักนิด 
บางทีคุณอาจจะชอบวงเปิดก็ได้นะ)

และในวันที่พวกเขาได้เป็นวงหลักที่มีวงเปิดมาเล่นให้แล้ว ความขี้เล่นของสองหนุ่มก็ทำให้เกิดความสนุกตามมาอีกด้วยการเชิญสมาชิกวงเปิดออกมาร่วมร้องเพลงนี้ในการทัวร์ที่ประเทศอังกฤษในช่วงกลางปี 2019 และเปลี่ยนเนื้อหาเล็กน้อยในเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน 

“Nobody likes the Headlining band,
Their ego too inflated and their music far to blant 
If you came to see them, get a refund while you can.
Cuz’ no one like the headlining band” 

(ไม่มีใครชอบวงหลักหรอก 
อีโก้ของพวกเขาพองโตเกินไป แถมเพลงของพวกเขาก็งั้นๆ ล่ะ 
ถ้าคุณตั้งใจจะมาดูพวกเขาล่ะก็ รีบขอเงินคืนซะก่อนที่จะไม่มีโอกาส 
เพราะไม่มีใครชอบวงหลักเลย) 

เงาแค้น P!ATD 

“ผมได้รับชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากับวงที่เครื่องหมายวรรคตอนเป็นเรื่องสำคัญมาก พอมาทำวงนี้ผมเลยคิดระบบไวยกรณ์ขึ้นมาเอง และไม่ให้ความสำคัญกับเครื่องหมายวรรคตอนอีกเลย”

(ชื่อวงที่สะกดว่า I Dont Know How But They Found Me แทนที่จะเป็น  I don’t know how but they found me และชื่อย่อ iDKHOW) 

แน่นอนว่าการลาออกอย่างสมัครใจจากวง Panic! At The Disco ที่ดูไม่มีเรื่องอะไรไปมากกว่าการที่ดัลลอนอยากจะเติบโตในเส้นทางของวงการดนตรีบนขาของเขาเองบ้างไม่ได้ทำให้แฟนๆ เชื่ออย่างนั้นเลย ทฤษฎีของแฟนคลับมากมายเกิดขึ้นในช่วงที่วง iDKHOW กำลังจะเป็นที่รู้จัก บ้างก็ว่าเป็นเรื่องความความขัดแย้งด้านความสร้างสรรค์ สไตล์ที่ไม่ตรงกับวง หรือแม้ปัญหาด้านการเงิน แต่แล้วคำตอบของก็ถูกเปิดเผยออกมาผ่านทวิตเตอร์ของ Breezy Weekes ภรรยาของดัลลอน กล่าวถึงเรื่องราวน่ารังเกียจที่บอดี้การ์ด/ผู้จัดการวง P!ATD ได้ทำไว้กับพวกเขาสองคน 

นอกจากเรื่องของการที่แซคได้ทำการทิ้งของที่แฟนๆ ฝากให้กับดัลลอนและทำเหมือนเขาไม่เคยได้รับอะไรจากแฟนคลับเลย บรีซซี่ได้อ้างถึงการที่เธอถูก Zack Hall บอดี้การ์ดของเบรนดอน ยูรี ผู้ทำหน้าที่คล้ายกับผู้จัดการวงไปในตัวพูดจาแทะโลม/ลวนลามเธอด้วยคำพูดและข้อความต่างๆ มาเป็นเวลาอย่างยาวนานในระหว่างที่ดัลลอนยังคงเป็นสมาชิกของวงอยู่และเธอได้เก็บเรื่องนี้ไว้กับตัวตลอดเพราะกลัวจะกระทบเรื่องงานของสามี และในช่วงเวลาสามปีให้หลังเธอจึงสามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้อย่างเปิดเผย รวมถึงตัวดัลลอนเองที่ได้ออกมากล่าวว่าแซคคือบุคคลที่ “น่ารังเกียจที่สุด” เท่าที่เขาเคยได้พบเจอมา

หลังจากที่เรื่องราวได้ถูกกระจายออกไปก็มีแฟนๆ ของวง P!ATD อีกหลายคนที่ออกมาเปิดเผยประสบการ์ณการเป็นเหยื่อของแซค บ้างก็ถูกเรียกด้วยคำที่ส่อเสียด (boobs girls, bl*w job girls)  และอีกส่วนได้ย้อนกลับไปดูวีดีโอ Vlog ของวงและได้พบว่าแซคมีการพูดถึงกำแพงบ้านของเขาที่มีรู้เปลือยของเยาวชนแปะอยู่ทั่วโดยเบรนดอนที่นั่งฟังอยู่นั้นได้แต่หัวเราะราวกับว่านั่นเป็นเรื่องปรกติ หรือแม้แต่การพูดจากเชิง Sexual Harassment ในการพูดถึง Taylor Swift ที่ครั้งหนึ่งเคยมีโปรเจคทำเพลงร่วมกับเบรนด้อน  

ในด้านของเบรนดอน ยูรี หลังจากที่ได้รับทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น เจ้าตัวได้ทำการประกาศผ่านการไลฟ์ใน Twitch ว่าเขาได้ทำการปลด Zack Hall ออกจากตำแหน่งที่เกี่ยวของกับวง P!ATD แล้ว แต่เขาทั้งสองคนยังคงเป็นเพื่อนกันอยู่ และเบรนดอนยังได้กล่าวอีกว่าเขาเชื่อในการให้โอกาสครั้งที่สองกับแซค และคิดว่ามันจะทำให้เขาเป็นคนที่ดีขึ้นในอนาคต แต่นอกเหนือจากไลฟ์นี้แล้วก็ไม่ได้มีการประกาศอะไรออกมาอย่างเป็นทางการ หรือมีการกล่าวขอโทษกับครอบครัว Weekes เลย 

I DONT KNOW HOW BUT THEY FOUND ME - Leave Me Alone

ดัลลอนเคยกล่าวลอยๆ ในทวิตเตอร์ส่วนตัวถึงการที่เขาถูกบูลลี่ (โดยที่ไม่ได้กล่าวถึงใครโดยเฉพาะเจาะจง) ทั้งในเรื่องที่เขาเป็นคนถือลัทธิมอร์มอนต์ และเรื่องยิบย่อยอื่นๆ คำว่า “Leave Me Alone” ปรากฏขึ้นบนทวิตเตอร์ / สติกเกอร์บนของส่วนตัวของดัลลอนบ่อยครั้ง และการตอบโต้ของเขาและแซคที่ดูเผินๆ คล้ายการหยอกล้อจิกกัดกัน แต่สายตาของแฟนๆ ที่มองไปลึกกว่านั้นก็พอจะสัมพัสได้ว่ามันมีความไม่ลงรอยกันเกิดขึ้น และในตอนนี้เรื่องราวทั้งหมดถูกเปิดเผยออกมาแล้ว แน่นอนว่าที่ผ่านมานั้นดัลลอนพูดถึงแซคอย่างชัดเจน 

และแน่นอนว่าแฟนๆ ก็คิดว่าเพลง Leave Me Alone ในอัลบั้ม Razzmatazz ของ I Dont Know How But They Found Me น่าจะเป็นการบอกถึงเรื่องราวที่ดัลลอนเจอมาด้วย 

สไตล์เพลงและแรงบันดาลใจ 

สมาชิกของวงได้ให้นิยามของวงไว้ว่าเป็นวงอินดี้ป๊อปที่มีกลิ่นอายของแนวเพลงแบบ New Wave จากยุค 80’ ความโดนเด่นของเสียงเบสซึ่งเป็นเครื่องดนตรีเอกของดัลลอนและเสียงร้องที่มี Range กว้างของดัลลอนทำให้เพลงของ iDKHOW มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดนตรีที่ไม่ได้หนักหน่วงจนเกินไป ฟังสนุกด้วยความหลากหลายของจังหวะและตัวเลือกของเสียงที่ถูกนำมาประกอบกัน 

เนื้อหาของเพลงส่วนมากได้แรงบรรดาลใจมาจากเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของดัลลอนเอง อย่างอัลบั้ม  Razzmatazz ที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงการระบาดของ COVID-19 เป็นจุดกำเนิดของเพลง Cluster Hug และ Leave me alone  หรือเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเขาอย่างการที่ได้พบภรรยาของเขาเป็นครั้งแรกที่บอกเล่าออกมาเป็นเพลง Kiss Goodnight (และก่อนหน้านี้ในเพลง Love at first sight ของวง The Brobecks) และความคิดถึงที่เขามีให้กับลูกๆ ในระหว่างการออกทัวร์คอนเสิร์ตในเพลง Need you here ที่มีเสียงร้องและข้อความเสียงของเอมิลี่ ลูกสาวคนโตของเขาได้พูดไว้ตอนสมัยที่ดัลลอนไม่ได้มีโอกาสอยู่บ้านกับเธอบ่อยนัก

“Sometimes daddy has to leave
That makes me sad
But daddy will always come back
He promised”

“That makes me happy”

(บางทีคุณพ่อก็จำเป็นต้องไป 
มันทำให้หนูเศร้า
แต่คุณพ่อจะกลับมาเสมอ 
พ่อสัญญาเอาไว้)

(นั่นทำให้หนูมีความสุข) 

และในอีกมุมหนึ่ง เพลงที่จิกกัดสังคมและความไม่สวยงามของวงการบันเทิงอย่าง Social Climb, Do it all the time และ Razzmatazz ก็ได้แสดงความเห็นและจุดยืนของพวกเขาไว้ได้ชัดเจนและคมคายเช่นกัน

เบื้องหลังของเอ็มวีเพลง Do It All The Time ของ iDKHow
Photo by: Dana Willax

อัลบั้มของ I Dont Know how But they found me ทั้ง EP และ LP อย่าง 1981 Extended play และ Razzmatazz มีวางจำหน่ายทั้งในรูปแบบของแผ่นซีดี, เทปคาสเซ็ต, แผ่นไวนิล สั่งซื้อได้ที่นี่ และมีให้ได้ฟังกันผ่านช่องทางการสตรีมทั้งใน Spotify, Apple Music และ YouTube แล้ววันนี้ 

Happy Jamming!

Previous

จาก Vita ถึง Virginia ใน Vita and Virginia

Moxie ซีนสุดเท่ แรงบันดาลใจจากแม่สายพังก์เพื่อโต้กลับพวกปิตาธิปไตยในโรงเรียน

Next