Evan Rachel Wood จากเหยื่อผู้ถูกคุกคาม สู่นักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ

| | ,

คำเตือน
บทความนี้กล่าวถึงผู้รอดชีวิตจากการถูกคุกคามทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว, PTSD, บาดแผลทางจิตใจ

Evan Rachel Wood for WWD

ในฐานะนักแสดง ก็คงไม่มีใครไม่รู้จัก Evan Rachel Wood เจ้าของบทบาทแอนดรอยด์สาวในสวนสนุก Westworld หรือบทของควีนอิดูน่าจาก Frozen II อย่างแน่นอน ซึ่งเธอเป็นทั้งนักแสดง นางแบบ ศิลปิน และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ

อีวาน ราเชล วูด เริ่มบทบาทในวงการบันเทิงมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ มีผลงานมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Practical Magic, Thirteen, The Ides of March, A Case of You, Frozen II, Kajillionaire ไปจนถึง Westworld ซีรีส์ไซไฟจากค่าย HBO อีวานเคยเข้าชิงรางวัล Golden Globe, Emmy Award, Chritics’ Choice Award และ SAG Award

นอกจากนี้แล้ว เธอยังเป็นเควียร์ที่ถือว่าเป็น Bicon (Bi Icon) ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ในอีกมุมหนึ่งอีวานเองก็ยังเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของผู้รอดชีวิตจากการถูกคุกคามทางเพศและความรุนแรงในครอบครัวอีกด้วย

Evan Rachel Wood ในฐานะนักเคลื่อนไหว

ในฐานะนักเคลื่อนไหว Evan Rachel Wood ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในสิทธิของผู้รอดชีวิตจากการถูกคุกคามทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว เพราะเธอเองก็คือหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากการถูกคุกคามทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว และเธอก็หวังว่าจะไม่มีใครต้องพบกับเหตุความรุนแรงและเรื่องราวแบบที่เธอต้องเจอมาอีก

อีวาน ราเชล วูด ออกมาพูดถึงเรื่องนี้อันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เธอให้กำลังใจผู้ประสบเหตุการณ์นั้นๆ เบิกความเพื่อร่าง the Survivors’ Bill of Rights Act ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้รอดชีวิตจากการถูกคุกคามทางเพศและการข่มขืนเพื่อให้พวกเขาได้รับการคุ้มครองที่ร่างและเสนอต่อสภาโดยองค์กรไม่แสวงหากำไร ‘Rise’ และเธอยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการร่างกฎหมายเพื่อเสนอต่อสภารัฐแคลิฟอร์เนียเกี่ยวกับสิทธิของ ผู้รอดชีวิตจากการถูกคุกคามอย่าง Phoenix Act ซึ่งเป็นกฎหมายที่เรียกร้องสิทธิให้กับผู้รอดชีวิตจากการโดนทำร้ายภายในครอบครัว

Evan Rachel Wood ขณะขึ้นเป็นพยานต่อหน้าสภาคองเกรส / Getty Image

Survivors’ Bill of Rights Act คืออะไร

The Survivors’ Bill of Rights Act เป็นพระราชบัญญัติที่จะให้ความคุ้มครองผู้รอดชีวิตของความรุนแรงทางเพศในสหรัฐอเมริกา เสนอโดย Amanda Nguyen ผู้รอดชีวิต และผู้ก่อตั้งองค์กร Rise องค์กรไม่แสวงหากำไรที่พิทักษ์และเรียกร้องสิทธิให้แก่เหยื่อจากความรุนแรงทางเพศ ซึ่งกฎหมายนี้จะใช้กับคดีกลางของรัฐบาลเท่านั้น ได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์ผ่านสภาคองเกรส ลงนามโดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา โดยมุ่งเน้นให้เป็นแบบอย่างเพื่อให้รัฐอื่นนำไปปฏิบัติตามและออกมาตรการของตนเองเพื่อให้ความคุ้มครองและให้สิทธิต่อผู้รอดชีวิตจากการกระทำทางเพศ ให้ความคุ้มครองและดูแลผู้รอดชีวิตทั้งการได้รับสิทธิต่างๆ อย่างการตรวจสุขภาพทางนิติเวชฟรี ชุดเก็บหลักฐานการข่มขืนที่จะได้รับการเก็บรักษาในนามของพวกเขาโดยที่ไม่เสี่ยงต่อการถูกทำลาย

ตัวของ Evan Rachel Wood นั้น คือหนึ่งในผู้ขึ้นพูดต่อหน้าสมาชิกของคณะอนุกรรมการ เธอบอกว่าเธออยู่ที่นั่นเพื่อสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ไม่ใช่เพียงเพราะตัวเองอย่างเดียว แต่รวมไปถึงผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ ด้วย เพื่อให้พวกเขาเติบโตขึ้นมาในโลกที่ปราศจากการสเตอริโอไทป์เชิงลบที่ว่าผู้ชายควรจะต้องปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างไร

ซึ่ง The Survivors’ Bill of Rights Act นั้น จะครอบคลุมไปถึงเรื่องของ

  • สิทธิในความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย
  • สิทธิ์ในขั้นตอนและการแจ้งเตือนชุดข่มขืน
  • สิทธิในการสนับสนุนของผู้รอดชีวิต
  • สิทธิ์ในการยุติความสัมพันธ์ทางกฎหมายทั้งหมดกับผู้ทำร้าย
  • สิทธิ์ในการรักษาสิทธิ์ทั้งหมดไม่ว่าจะมีการรายงานการทำร้ายร่างกายต่อผู้บังคับใช้กฎหมายหรือไม่
Implementation of the "Survivors Bill of Rights Act"

Phoenix Act คืออะไร

Phoenix Act เป็นกฎหมายที่เสนอโดย Evan Rachel Wood เพื่อเพิ่มสิทธิ์ให้กับผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงในครอบครัว แต่ไม่ได้เพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดให้รุนแรงขึ้น ผ่านการพิจารณาในรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2019 และจะบังคับใช้ในปี 2020 ก่อนที่จะบังคับใช้ไปทั่วในสหรัฐอเมริกา เพราะว่าแต่ละรัฐจะมีการจัดการที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในรัฐแคลิฟอร์เนีย อายุความคดีอาญาในการดำเนินคดีเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวจะมีอายุความ 2-4 ปี นั่นหมายความว่ารัฐสามารถยื่นฟ้องผู้ต้องหาในนามของผู้รอดชีวิตได้ และในกรณีของการฟ้องร้องในคดีแพ่ง ผู้เสียหายจะต้องฟ้องร้องภายใน 3 ปี นับตั้งแต่ถูกทำร้ายร่างกาย

เนื่องจากผู้รอดชีวิตจำนวนมากต่างหวาดกลัวต่อการคุกคาม การถูกข่มขู่และบีบบังคับจากผู้กระทำผิด อีกทั้งยังใช้เวลานานกว่าพวกเขาจะรู้สึกปลอดภัย รวมไปถึงความกลัวจากการถูกไล่ล่า จับกุม หรือสูญเสียลูกไปจากการรายงานของตำรวจ ผู้รอดชีวิตหลายคนได้รับผลกระทบและเป็น PTSD (หรือ Post-Traumatic Stress Disorder คือสภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรงและส่งผลให้เกิดความเครียดเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ที่เผชิญเหตุการณ์นั้นๆ รอดชีวิตมาได้ ก็อาจจะทำให้เกิดความเครียดด้านจิตใจจนทำให้เกิดความรุนแรงอย่างมาก และกระทบต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน) บางคนอาจจะไม่ได้สังเกตอาการ กว่าจะรู้สึกพร้อมก็ทำให้ไม่สามารถร้องขอความยุติธรรมได้อีกต่อไป

บาดแผลทางจิตใจที่ไม่สามารถลบเลือนได้

ในฐานะของผู้รอดชีวิตจากความสัมพันธ์ที่ถูกคุกคามและทำร้ายร่างกาย Evan Rachel Wood เองก็เคยพยายามที่จะเอาตัวผู้กระทำการละเมิดเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เธอบอกกับ SELF Magazine ว่าหลังจากที่เธอจบความสัมพันธ์นั้น เธอรวบรวมหลักฐาน แล้วไปพบกับทนายของเธอ แต่นั่นดูเหมือนว่ามันไม่สำคัญไปเสียแล้ว “มันดูแย่มากเลยที่คุณเดินไปยังสถานีตำรวจพร้อมวิดีโอของใครบางคนที่กำลังทำร้ายคุณ และไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งมันได้ นั่นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ฉันอยากที่จะร่างกฎหมายนั่นขึ้นมาเพื่อให้คุ้มครองผู้รอดชีวิตเหล่านั้น”

และถึงแม้ว่า Evan Rachel Wood จะออกมาพูดถึงเรื่องราวนี้อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นกลายเป็นบาดแผลทางจิตใจของเธอ และฝังลึกลงไปจนทำให้เธอรู้สึกไม่ปลอดภัยตลอดเวลา และโดยเฉพาะเมื่อได้ยินชื่อของผู้กระทำการละเมิดต่อเธอ “ฉันยังคงกลัวมาจนถึงทุกวันนี้ มันเหมือนถูกขังเอาไว้ และไม่ง่ายเลยที่จะออกมาจากจุดตรงนั้น บางครั้งที่ฉันอยู่บ้านคนเดียว ฉันก็ยังไม่กล้ามากพอที่จะออกไปหน้าบ้านเพื่อรับพัสดุ เพราะเหตุการณ์นั้นยังคงตามหลอกหลอนฉัน และทำให้ฉันกลัวอยู่ตลอด” เธอยังบอกอีกว่า “ไม่มีใครอยากที่จะพูดหรือคิดถึงเรื่องราวเหล่านั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทุกคนต่างต้องการที่จะก้ามข้ามผ่านความรู้สึกนั้นออกไป แต่มันไม่ง่ายเลย บางครั้งมันก็เป็นความรู้สึกที่มันยากมากๆ ที่จะลุกออกจากเตียงในบางเวลา” เธอยังเล่าต่ออีกว่าเธอนั้นมีเพื่อนที่เข้าใจว่าเธอผ่านอะไรมา และเข้าใจถึงอาการ PTSD ของเธอด้วย “มันไม่สำคัญเลยว่าจะเป็นเวลาไหน ทั้งกลางดึกหรือตอนตีสาม เพียงแค่ฉันโทรหาเพื่อนว่าต้องการใครสักคนมาอยู่ด้วยตอนนี้ พวกเขาก็จะมาหาฉันทันที และกุมมือฉันจนกระทั่งฉันหลับไป”

“มันมีช่วงเวลาหนึ่งที่คุณจะมีทางเลือกนอกเหนือจากตัวเลือกแรกที่คุณเลือกไปเพื่อขอความช่วยเหลือ: คุณยังตายไม่ได้ หรือว่าคุณสามารถกลับมามีชีวิตได้ แล้วการขอความช่วยเหลือสำหรับอาการเจ็บป่วยทางจิตใจนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่ฉันสามารถพูดออกไปได้”

– Evan Rachel Wood –

Evan Rachel Wood ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวชตอนอายุ 22 ปี จากการพยายามฆ่าตัวตายทำให้มันเข้าไปกระตุ้นความอยากขอความช่วยเหลือ อีวานบอกว่านั่นเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดและเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นมา และนั่นทำให้เธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น PTSD เธอเขียนจดหมายเปิดผนึกกับ Nylon ถึงเรื่องราวที่ผ่านมา “สุขภาพจิตมีชื่อเสียงเรื่องตราบาปอยู่แล้ว เรามักจะได้ยินการเรียกว่าอาการป่วยกับพวกไข้หวัดมากกว่าที่เราเป็นดีเพรส เรามักได้รับความสงสารเห็นใจจากการที่เราแขนหักมากกว่าตอนที่เราเศร้าเสียอีก […] แต่เรารู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องจริง และส่งผลกระทบกับเราไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง แม้ว่าเราจะมองไม่เห็นภาวะซึมเศร้า มันก็เลยง่ายที่จะเขียนออกมา ง่ายกว่าที่คนอื่นจะมองเชิงลบกับคุณ และถือเป็นการโกหกคำโตในสังคมปัจจุบัน”

ตัวของ Evan Rachel Wood ยังบอกในจดหมายเปิดผนึกกับ Nylon ว่า “โรคซึมเศร้าไม่ใช่จุดอ่อนนะ มันไม่มีข้อแตกต่างด้านชนชั้นทางเศรษฐกิจ เชื้อชาติ เพศวิถี เจนเดอร์ ที่จะปลอดภัยจากปัญหาจิตใจของพวกเขา เรารู้ว่าความสำเร็จไม่ใช่สิ่งที่จะรักษาโรคซึมเศร้าได้ เรารู้ว่าการที่ผู้คนบอกรักคุณว่าพวกเขารักคุณแค่ไหนก็ไม่สามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้ เรารู้ว่าการคิดบวกก็ไม่ได้รักษาโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน [….] โรคซึมเศร้าไม่ใช่ความอ่อนแอ มันเป็นความเจ็บป่วย บางครั้งก็อันตรายถึงชีวิต และบางครั้งทุกคนก็จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าพวกเขาเป็นที่รักและมีคนอื่นอยู่เพื่อพวกเขา […] พวกเขาอาจจะไม่สามารถช่วยเหลือคุณได้ทันที แต่รู้ไว้นะว่าวันหนึ่งแล้วก็อาจจะช่วยชีวิตพวกเขาได้”

“มันไม่ใช่เรื่องที่ควรจะโอเคกับมัน (เรื่องของการคุกคามทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว) แต่ข่าวดีก็คือ ไม่มีใครเดียวดายอีกต่อไป”

– Evan Rachel wood –

อัปเดต ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021: Evan Rachel Wood ได้ออกมาเปิดเผยชื่อของผู้ที่ทำร้ายเธอว่าเขาคือ Brian Warner หรือที่รู้จักกันในชื่อ Marilyn Monson ผ่านอินสตาแกรม เธอบอกว่า

“ชื่อของผู้ที่ทำร้ายฉันก็คือไบรอัน วอร์เนอร์หรือที่ทั้งโลกรู้จักกันในชื่อมาริลีน แมนสัน
เขา grooming* ฉันตั้งแต่ฉันยังเป็นวัยรุ่นและทำร้ายฉันอย่างรุนแรงมาเป็นปี ฉันถูกล้างสมองและถูกควบคุม ทำให้ต้องยอมจำนน
ฉันพอแล้วกับความกลัวต่อการตอบโต้ การพูดให้ร้าย หรือการแบล็กเมล
ฉันอยู่ที่นี่เพื่อเปิดเผยถึงความอันตรายของผู้ชายคนนี้ และเรียกร้องต่อหลายๆ วงการที่ให้โอกาสเขา ก่อนที่เขาจะทำร้ายอีกหลากหลายชีวิต ฉันยืนหยัดข้างผู้รอดชีวิตจำนวนมาก และเลือกจะไม่เก็บเงียบอีกต่อไป”

*Grooming คือ การที่บุคคลที่โตกว่าสร้างความเชื่อใจให้กับเด็กที่เป็นเหยื่อเพื่อให้เด็กตายใจ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ กับเด็ก

ในประเทศไทย

ในประเทศไทยยังพบกับปัญหาเหล่านี้กันอยู่เสมอ โดยเฉพาะข่าวที่ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ หรือแม้กระทั่งสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ในปัจจุบันนี้ผู้ถูกกระทำต่างออกมาเปิดเผยถึงเหตุการณ์ที่พวกเขาได้เผชิญ สำหรับเหตุการณ์ในประเทศไทยนั้น อ้างอิงจาก มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2020 ข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์มีการนำเสนอเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 623 ข่าว และหนึ่งในนั้นเกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางเพศในครอบครัวอีกด้วย และเมื่อมีการเปรียบเทียบข่าวความรุนแรงในครอบครัวช่วงครึ่งปี 2020 กับปี 2016 พบว่าพุ่งขึ้นกว่า 50% และสูงกว่าปี 2018 ถึง 12% ซึ่งความรุนแรงในครอบครัวนั้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นหลัก และคาดว่ามีผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้าขอคำปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือเนื่องจากหวาดกลัวคู่กรณี

evan rachel wood

ช่องทางสำหรับขอความช่วยเหลือเมื่อเป็นเหยื่อของความรุนแรง

The HUG Project Thailand

โครงการที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อป้องกัน ปกป้อง และเยียวยาผู้เสียหายเด็กจากการล่วงละเมิดทางเพศ การฉวยเอาผลประโยชน์และการค้ามนุษย์ โดยให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่และความต้องการของผู้เสียหายเป็นอันดับแรก ปฏิบัติต่อผู้เสียหายอย่างให้เกียรติ และร่วมมือกับฝ่ายกฎหมายเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนในการดำเนินคดี รวมไปถึงกฎหมายด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีในการควบคุมและต่อสู้กับการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมทางเพศต่อเด็กออนไลน์

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

องค์กรพัฒนาเอกชนที่ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติมห้เข้าใจผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ มุ่งเน้นการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิของหญิงและชายที่ประสบปัญหาความรุนแรง

มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี

องค์กรสาธารณประโยชน์ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการถูกข่มขืน ทารุณกรรม ทำร้ายร่างกาย การบังคับค้าประเวณี การนำเด็กมาเร่ขอทาน แรงงานทาส ปัญหาครอบครัว ฯลฯ

มูลนิธิเพื่อนหญิง

องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีบทบาทในการพิทักษ์สิทธิและให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากภัยคุกคามทางเพศเป็นหลัก ทั้งการข่มขู่คุกคาม การเผยแพร่คลิปวิดีโอ การถูกทำร้าย ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การค้ามนุษย์ การถูกเลือกปฏิบัติ โดยมูลนิธิเพื่อนหญิงจะให้ที่พักพิงกับผู้หญิงไม่ว่าจะเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นก็ตาม ซึ่งมูลนิธิเพื่อนหญิงมีเครือข่าย

  • เว็บไซต์ http://www.fowomen.org/
  • Facebook https://www.facebook.com/มูลนิธิเพื่อนหญิง-121183548068441/
  • ศูนย์กรุงเทพฯ 02-513-2780, 02-513-1001
  • ศูนย์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ 053-800-565
  • ศูนย์ภาคอีสาน จังหวัดมุกดาหาร 042-612232 จังหวัดอุบลราชธานี 045-950305
  • ศูนย์ภาคใต้ จังหวัดสงขลา 074-422-836 จังหวัดปัตตานี 073-451-581

มูลนิธิผู้หญิง

องค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งดำเนินการพัฒนาสตรี โดยให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ประสบปัญหาต่างๆ ทั้งจากการโดนทำร้ายร่างกาย การใช้ความรุนแรงจากสามี การทารุณกรรมทางเพศ การข่มขืน และทุกๆ กรณีที่ผู้หญิงได้รับความเดือดร้อน

บ้านพักฉุกเฉินดอนเมือง สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี

เป็นองค์กรที่ให้การช่วยเหลือกับผู้หญิงทั้งด้านของการให้คำปรึกษาปัญหาและพิงกับผู้หญิงทุกคนที่มีปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ การถูกทำร้ายร่างกาย การถูกทอดทิ้ง ถูกล่วงละเมิด ถูกข่มขืน การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และการมีบุตรนอกสมรส

มูลนิธิพิทักษ์สตรี

องค์กรเพื่อคุ้มครองผู้หญิงและเด็กจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศและการค้ามนุษย์ทางเพศ มีขอบเขตการทำงานในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่อเนื่องไปถีงประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ทำงานผ่านทางเครือข่ายและศูนย์ประสานงานที่ตั้งอยู่ให้จุดสำคัญต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาค มีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค 2 ที่ คือ กรุงเทพฯ ประเทศไทย และกรุงโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม

เครือข่ายผู้หญิงชุมชนแออัด สมาคมเพื่อการพัฒนาสิทธิมนุษยชนและสิทธิผู้หญิง

โครงการที่ต้องการช่วยเหลือผู้หญิงในยามวิกฤติ ทั้งที่โดนทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืนกระทำชำเราทางเพศ และการเดือดร้อนในเรื่องความยากจนและขาดแคลน โดยเฉพาะผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด

source:

  • https://phoenixact.com/home
  • https://phoenixact.com/s/phoenixact-deck.pdf
  • https://www.congress.gov/bill/114th-congress/house-bill/5578
  • https://www.nylon.com/evan-rachel-wood-domestic-violence
  • https://www.nylon.com/evan-rachel-wood-mental-hospital
  • https://www.nylon.com/articles/evan-rachel-wood-full-testimony-congress-sexual-assault-survivors-bill-of-rights-act
  • https://www.nytimes.com/2020/09/19/style/self-care/evan-rachel-wood-kajillionaire.html
  • https://www.self.com/story/evan-rachel-wood
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Sexual_Assault_Survivors%27_Rights_Act
  • https://www.insider.com/evan-rachel-wood-congress-sexual-assault-survivor-bill-video-2018-2
  • https://www.wmagazine.com/story/evan-rachel-wood-testimony-sexual-assault/
  • https://hellogiggles.com/news/evan-rachel-wood-essay-california-domestic-violence-phoenix-act/
  • https://www.youtube.com/watch?v=1eKa8ju_b2A
  • https://www.washingtonpost.com/news/reliable-source/wp/2018/02/27/cause-celeb-evan-rachel-wood-for-sexual-assault-survivors-rights/
  • https://www.risenow.us/campaigns/sexual-assault-survivors-bill-of-rights
  • https://www.elle.com/uk/life-and-culture/culture/news/a41988/evan-rachel-wood-domestic-sexual-abuse-speech-congress/
  • https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/ptsd-ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุ/
  • https://www.wmp.or.th/post/ส-ขสร-างได

Previous

นักแสดงใหม่ใน Stranger Things ซีซั่น 4

Elliot Page นักแสดงจาก Umbrella Academy ประกาศว่าเขาเป็น Transgender

Next